ThaiPublica > เกาะกระแส > WEF เผยปี 2015 โลกมีความเสี่ยง 5 ด้าน วิกฤตน้ำ-โรคระบาด-อาวุธ-เศรษฐกิจล่ม-การเมือง

WEF เผยปี 2015 โลกมีความเสี่ยง 5 ด้าน วิกฤตน้ำ-โรคระบาด-อาวุธ-เศรษฐกิจล่ม-การเมือง

28 มกราคม 2015


เมื่อวันที่ 21-24 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา มีการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2015 หรือ WEF 2015 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เป็นการประชุมระดับโลกที่รวมบุคคลชั้นนำจากหลากหลายวงการ อาทิ ผู้นำภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์โลก ตลอดจนเสนอแนะทิศทางในการกำหนดนโยบายในระดับโลกและระดับภูมิภาค มีการคาดการณ์ว่าจะมีบุคคลชั้นนำใน ฝั่งธุรกิจ รัฐบาล นักวิชาการ ไปร่วมด้วยมากกว่า 2,500 คน ซึ่งในปีนี้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีไปประชุมทีเมืองดาวอสด้วย

01-23-2015-Davos2
ที่มาภาพ: http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=49884#.VMd8Li6UcYc

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2552 ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศไทยเข้าร่วมและมีบทบาทในเวที WEF อย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Economic Forum on East Asia เมื่อปี 2555 ที่กรุงเทพฯ ด้วย

หัวข้อหลักของการประชุม WEF ในครั้งนี้ คือ “The New Global Context: What will we do about it?” ในรายงาน Global Risk 2015 โดย WEF นี้ บอกถึงความเสี่ยงของโลกที่จะเกิดขึ้นอันใกล้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย

รายงานของ WEF ได้จัดความเสี่ยงของโลกไว้ 5 กลุ่ม นั่นคือ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี

โดยความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นความเสี่ยงครอบคลุมถึงวิกฤตการคลังและสภาพคล่อง ความล้มเหลวของสถาบันหรือกลไกทางการเงิน ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ภาวะว่างงาน และความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในปี 2015  นี้ มีการคาดการณ์ว่าโลกอาจมีปัญหาสภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ภาวะเงินฝืด ราคาพลังงานโลกตกลงอย่างน่ากลัว การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาวะการว่างงานสูง หรือการทำงานที่ไม่เต็มกำลังความสามารถ และภาวะเงินเฟ้อที่ควบคุมยาก

A-village-boy-runs-through-a-parched-field-on-World-Water-Day-in-berhampur.-Clean-Water-for-a-Healthy-World-is-the-days-theme
ที่มาภาพ: http://becausewater.org/global-water-crisis/what-is-the-water-crisis-2/

ต่อมา ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (environmental) ที่ต้องเผชิญในปีนี้ไดแก่ การขาดแคลน แหล่งน้ำจืด ความล้มเหลวในการบริหารจัดการบรรเทาและแผนฟื้นฟูผลกระทบ สถานการณ์ความรุนแรงของสภาพอากาศ (อาทิ น้ำท่วม พายุ) ความล้มเหลวในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การสูญหายทางชีวภาพที่สำคัญและการล่มสลายของระบบนิเวศ (แผ่นดิน หรือ มหาสมุทร) ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (อาทิ แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด พายุแม่เหล็กโลก) ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (อาทิ การรั่วไหลของน้ำมัน การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี)

นอกจากความเสี่ยงทางธรรมชาติแล้วยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) เป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับการเมือง การฑูต ความขัดแย้ง การก่อการร้าย การแย่งชิงทรัพยากร การต่อสู้กับคอร์รัปชั่น การค้าผิดกฎหมาย อาชญากรรมและธรรมาภิบาลในระดับโลก ความล้มเหลวของการบริหารจัดการรัฐ ความขัดแย้งระหว่างรัฐซึ่งส่งผลกระทบในระดับภูมิภาค การก่อการร้ายในระดับโลก การล่มสลายหรือวิกฤติการณ์ภายในรัฐ และภัยจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

Kurdish armed fighters
ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/world/2014/jun/15/iraq-isis-arrest-jihadists-wealth-power

ส่วนความเสี่ยงด้านสังคม (societal) เป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางสังคม ประกอบด้วย ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ วิกฤตด้านอาหาร ปัญหาด้านสาธารณสุข เช่น โรคระบาด ความล้มเหลวของการวางผังเมือง และการเพิ่มขึ้นของการย้ายถิ่นฐานโดยไม่ได้สมัครใจ

สุดท้าย ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (technological) คือ การที่โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย ข้อมูลสูญหาย ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ (การโจมตีความมั่นคงทางสารสนเทศ) และการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด

นอกจากนี้ในรายงานของ WEF ระบุถึง 10 ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดมากที่ในปีนี้ คือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง ความล้มเหลวของการบริหารจัดการรัฐ การล่มสลายหรือวิกฤติการณ์ภายในรัฐ ปัญหาการว่างงาน หรือ การทำงานต่ำระดับ (ทำงานไม่เต็มที่ หรือ เต็มอัตรา) ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความล้มเหลวในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ การทุจริต หรือการจารกรรมข้อมูล และอาชญากรรมไซเบอร์ (การโจมตีความมั่นคงทางสารสนเทศ)

ส่วนสถานการณ์ความเสี่ยงที่เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรงสูงสุดในปีนี้ คือ วิกฤตด้านทรัพยากรน้ำ การแพร่กระจายของโลกติดต่อ ภัยจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ความล้มเหลวในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวของราคาพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย และข้อมูลสูญหาย วิกฤตการคลัง ปัญหาการว่างงาน หรือการทำงานทำงานไม่เต็มที่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศล่มสลาย

World Economic Forum

เป็นหน่วยงานที่วิจัยและจัดทำรายงานด้านการบริหารความเสี่ยง โดยในแต่ละปีมีการจัดทำรายงาน “The Global Risk” ในปี 2015 นี้ เป็นรายงานฉบับที่ 10 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์มากมาย

รายงานของ World Economic Forum แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันในแง่ของความเสี่ยงประเภทต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อประชาคมโลก เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างระบบ รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวตามผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทัน

The Global Risk 2015 ฉบับนี้ เชื่อมโยงข้อมูลการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ระบบการเงิน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน แม้กระทั่งเทคโนโลยี ไว้ด้วยกัน ซึ่งในแต่ละปีก็จะทวีความซับซ้อนขึ้น จึงเป็นเหตุให้ต้องตระหนักถึงสิ่งที่อาจจะเป็นภัยคุกคามหรือสิ่งซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดวิกฤตในอนาคตได้ เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด การนำเอาความเสี่ยงต่างๆมาประกอบการดำเนินธุรกิจ การตัดสินใจ หรือการบริหารประเทศก็ดี จึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับภาวะการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 นี้

อนึ่ง รายงานฉบับปี 2015 นี้ มาจากบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสมาชิกของ WEF เกือบ 900 คน