ThaiPublica > คอลัมน์ > ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี

ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี

23 มกราคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2014/11/28/hk5d7aeccfhaa9cehbg5d.jpg
ที่มาภาพ: http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2014/11/28/hk5d7aeccfhaa9cehbg5d.jpg

“ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” เป็นข้อความที่ยั่วยุให้คนไทยเปิดอ่านหนังสือชื่อนี้ซึ่งฟังแปลกหูและแปลกใหม่ คนญี่ปุ่นก็เป็นเช่นเดียวกันเพราะเป็นหนังสือยอดฮิตในประเทศนั้น โดยมีเนื้อหาปลุกเร้าให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและต่อกระเป๋า

หนังสือ “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” แปลจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งผู้เขียนคือนายแพทย์โยะชิโนะริ นะงุโม (Yoshinori Nagumo) ผู้แปลคือคุณพิมพ์รัก สุขสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น

ปิยมิตรของผมคนหนึ่งคือคุณอดิศร ธรรมาพฤทธิ นักธุรกิจใหญ่แนวหน้าของไทยในเรื่องการหล่อโลหะ ได้ซื้อหนังสือเล่มนี้เป็นร้อยเล่มเพื่อแจกเพื่อนๆ และยิ่งไปกว่านั้นยังได้เขียนสรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้และโพสต์ออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน ผมขอนำเอาสิ่งที่คุณอดิศรเขียนไว้มานำเสนอดังต่อไปนี้

“ผู้เขียนเป็นนายแพทย์และเป็นผู้อำนวยการใหญ่ในโรงพยาบาลสี่แห่งในญี่ปุ่น เป็นนักเขียนชื่อดังในญี่ปุ่น และเป็นแขกประจำรายการทีวีหลายรายการ เป็นประธานกิตติมศักดิ์ของ Anti-Aging Medicine World Congress ผู้เขียนค้นพบวิธีการลดน้ำหนักด้วยการทานเหลือวันละมื้อ และพบว่าความหิวเป็นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วยยีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา

คุณหมอบอกว่า “…สิ่งที่ผมมุ่งหวังคือการวางแผนสำหรับชีวิตที่มีอายุยืนถึงหนึ่งร้อยปี โดยยังมีหน้าท้องที่แบนราบและมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูอ่อนเยาว์ บางคนบอกว่าไม่อยากอายุยืนขนาดนั้น… แต่คนที่พูดแบบนั้นพอถึงคราวเจ็บป่วยก็รีบวิ่งโร่มาหาหมอทุกราย …เมื่อเข้าสู่วัยชรา ทุกวันจะมีแต่ความทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นผลจากการละเลยสุขภาพ…. …ผมว่าต้องเลือกแล้วละว่าจะใช้เวลานอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแล้วทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน หรือจะมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง มีกำลังวังชา รูปลักษณ์ภายนอกดูอ่อนเยาว์จนถึงวาระสุดท้าย แล้วจากไปอย่างสง่างาม…”

ในบทนำมีการเกริ่นว่าผู้เขียนเริ่มทานอาหารเหลือวันละมื้อเมื่ออายุ 45 ปี เพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ ผ่านไปสิบปีเมื่อเขาไปตรวจร่างกายพบว่าอายุหลอดเลือดของเขาเท่ากับคนอายุ 26 ปี

เขาเล่าว่ามนุษย์ในอดีตไม่ได้มีกินอุดมสมบูรณ์โดยกินสามมื้อเหมือนปัจจุบันนี้ ในอดีตเรากินวันละมื้อก็บุญแล้ว ดังนั้นร่างกายเราจึงมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง เมื่อเราหิวไม่มีกินเราจะมียีนที่ชื่อเซอร์ทูอินออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆ ภายในร่างกาย ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา ซึ่งเจ้า Growth Hormone นี้ทำให้เรากลับเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อการอยู่รอด

ปัญหาก็คือเมื่อร่างกายอิ่ม กลไกนี้ไม่เกิด เราจึงแก่ไปเรื่อยๆ สรุปง่ายๆ ก็คือ การกินมากไปคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ และที่สำคัญ ร่างกายเราไม่ได้ถูกออกแบบให้กินอิ่ม เราจึงปรับตัวให้การกินอิ่มได้ไม่ดี ทำให้กระบวนการธรรมชาติของร่างกายเรารวนนั่นเอง

ในเรื่องการกินวันละมื้อ ผู้เขียนได้แนะนำสิ่งที่เขาทำมาแล้วได้ผล เขาบอกว่าเขาเพลิดเพลินกับการที่ได้ยินเสียงท้องร้องจ๊อกๆ เพราะว่าเขารู้ว่าร่างกายเรากำลังซ่อมแซมและปรับตัวให้เยาว์วัยด้วยกระบวนการที่กล่าวถึงข้างต้น

ในเชิงหลักการทางวิทยาศาสตร์เขาอธิบายดังนี้ (1) ปากทางเข้าลำไส้เล็กจะมีเซ็นเซอร์เตรียมรอรับของกินอยู่ ถ้าไม่มีอาหารไหลลงมาเสียที ลำไส้เล็กก็จะรีบหลั่งฮอร์โมนสำหรับย่อยอาหาร โมลิติน (Molitin) ออกมา ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัว เพื่อส่งของกินที่อาจจะตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเข้าไปในลำไส้เล็ก เรียกว่า “การบีบตัวเมื่อหิว” และเป็นตัวการที่แท้จริงของอาการท้องร้องจ๊อกๆ

(2) เมื่อกระเพาะรู้ตัวว่าหิวจะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ออกมา เกรลินจะถูกหลั่งออกมาจากเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งถูกกระตุ้นเพราะความหิว โดยจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำให้เกิดความอยากอาหาร ขณะเดียวกันก็จะออกฤทธิ์ที่ต่อมใต้สมอง ทำให้หลั่ง Growth Hormone ออกมา เจ้า Growth Hormone นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮอร์โมนที่ทำให้กลับไปเป็นหนุ่มสาว” นั่นหมายความว่าตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆ เพราะหิว คุณจะค่อยๆ มีเสน่ห์ขึ้นจากฮอร์โมนที่ทำให้กลับเป็นหนุ่มสาว ถึงท้องจะร้องก็อย่าเพิ่งรีบกินอาหาร ให้มาลองเพลิดเพลินกับประสิทธิภาพของการกลับเป็นหนุ่มสาวที่ได้จาก Growth Hormone กันสักครู่หนึ่งก่อน

(3) ตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆ นั้น ความสามารถในการอยู่รอดอันยอดเยี่ยมกำลังพลุ่งพล่านขึ้นมา นั่นก็คือ “ยีนเซอร์ทูอิน” ที่มีสมญาว่า “ยีนต่ออายุขัย” หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยีนที่ทำให้อายุยืน” กำลังทำงาน จากการทดลองกับสัตว์หลายชนิดพบว่า เมื่อลดปริมาณอาหารลง 40% จะทำให้อายุยืนขึ้น 1.5 เท่า ทว่ายีนนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขบางประการ นั่นคือ “ความหิว” ตราบใดที่ท้องไม่ร้องจ๊อกเพราะหิว ยีนนี้ก็จะไม่ทำงาน ดังนั้น การกินอาหารทั้งที่ยังไม่หิวจึงหมายถึงการมีของดีอยู่กับตัวแต่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ มาทำให้ท้องร้องจ๊อกด้วยการกินอาหารวันละมื้อดีกว่า แล้วยีนเซอร์ทูอินนี้จะช่วยสแกนยีนในร่างกายอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งค่อยๆ ฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย กล่าวกันว่าความแก่ชราและโรคมะเร็งก็มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีน

ดังนั้น เราสามารถทำให้กลับเป็นหนุ่มสาวและป้องกันโรคมะเร็งด้วยการกินอาหารวันละมื้อ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อหิวแล้วอาหารยังตกไม่ถึงท้อง ร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้ในช่องท้องมาเปลี่ยนเป็นสารอาหาร ทำให้หน้าท้องแบนราบ

นอกจากการกินวันละมื้อแล้ว ผู้เขียนมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติมอีกว่า การนอนที่ดีคือนอนในช่วงร่างกายผลิต Growth Hormone ได้ดีที่สุดนั่นก็คือช่วงเวลาระหว่างสี่ทุ่มถึงตีสอง

หลังอ่านจบผมมีความเห็นส่วนตัวว่าสิ่งที่จะทำคือ (1) รอให้ท้องร้องจ๊อกๆ บ่อยๆ เพื่อซ่อมแซมตัวเองและทำให้เยาว์วัยลง และ (2) ทานน้อยลง 60% ของแต่ละมื้อ…….”

นอกจากที่คุณอดิศรเขียนแล้ว ผมไปค้นคว้าเพิ่มเติมและพบว่าเมื่อตอนคุณหมอนะงุโมมีอายุ 37 ปี เขาหนัก 77 กิโลกรัม และเมื่ออายุ 57 ปี หนัก 62 กิโลกรัม ความดันโลหิตเท่ากับคนอายุ 26 ปีอายุมวลกระดูกเท่ากับคนอายุ 28 ปี และสมองมีอายุเท่ากับคนอายุ 38 ปี จากที่ดูรูปในอินเทอร์เน็ตถึงแม้ขณะนี้คุณหมออายุ 59 ปี แต่หน้าตาเหมือนไม่ถึง 40 ปี ด้วยซ้ำ

คุณหมอพูดในโทรทัศน์ว่าแค่เริ่มต้นไม่กี่วันก็จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพแล้ว กลิ่นตัวจะหายไป ผิวหนังจะเนียนขึ้น หน้าท้องจะเรียบขึ้น รูปลักษณ์ของคนผอมจะเริ่มปรากฏ และจิตใจคึกคักขึ้นกว่าเก่า

คุณหมอแนะนำให้ทำติดต่อกัน 52 วัน โดยกินอาหารวันละหนึ่งมื้อคือมื้อกลางวัน ในมื้อนี้อยากกินอะไรก็ตามใจตัวเองได้ หากหิวมากก็อาจเสริมด้วยผลไม้และอาหารเบาๆ ก่อนอาหารเย็น

การกินอาหารน้อยลงมีประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะมนุษย์เราโดยทั่วไปก็กินกันเกินพอดีอยู่แล้ว การทำตามคำแนะนำของคุณหมอ แค่กินอาหารน้อยลง กินหลังจากที่ท้องร้องนานพอควร และหากแถมด้วยการเดินและออกกำลังกายก็ย่อมดีต่อสุขภาพ

“ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” เป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้แง่มุมที่ชวนคิดสำหรับสุขภาพอย่างยิ่ง ปีใหม่นี้เราจะไม่ให้อะไรเป็นของขวัญแก่ร่างกายของเราบ้างหรือครับ เราจะทำอย่างเดิมๆ ดังที่เคยทำมาตลอดชีวิตอย่างนั้นหรือ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่อังคาร 20 ม.ค. 2558