ThaiPublica > คอลัมน์ > ฤาไทยจะพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนเสียแล้ว

ฤาไทยจะพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนเสียแล้ว

25 มกราคม 2015


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในบรรดากลุ่มคนที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ นักบริหารองค์กรเอกชน ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งนักวิชาการ ต่างรู้จักคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Development หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า SD กันทั้งสิ้น และนอกจากรู้จักศัพท์คำนี้แล้ว ยังเข้าใจถึงความหมายของมันด้วยว่าหมายถึงการพัฒนาในรูปแบบที่ต้องสนองต่อ TBL หรือ Triple Bottom Lines อันได้แก่การพัฒนาที่ต้องได้ดุลยภาพในสามขา คือ Economics, Social and Environment หรือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่เขียนเอา “เศรษฐกิจ” มาก่อน “สังคม” และ “สิ่งแวดล้อม” ตามมาในอันดับสุดท้ายนี้ ไม่ได้เขียนเรียงตามตัวอักษร แต่เขียนเรียงตามวิวัฒนาการของสังคมโลกซึ่งรวมถึงไทยด้วย เพราะแต่ก่อนมนุษย์เราในขณะที่ยังมีปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอันรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติไม่มาก มนุษย์เราจึงได้เน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ต่อมาเมื่อพบว่าการพัฒนาเฉพาะด้านเศรษฐกิจได้นำมาซึ่งปัญหาทางสังคม โลกเราจึงได้หันมาเน้นสองเรื่องนี้ไปด้วยกัน แต่จากที่ปรากฏเป็นเหตุการณ์เชิงประจักษ์โลกเราก็ยังเน้นสองเรื่องนี้ไม่เท่ากัน และยังเอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำอยู่ดี

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย หรือที่แต่ก่อนเรียกกันว่า “สภาพัฒน์ฯ” นี้ก็เช่นกัน เดิมเป็นเพียง “สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ก่อนที่จะประสบปัญหาด้านสังคมอย่างรุนแรง เกิดความมั่งคั่งมากขึ้น แต่ความมั่นคงอย่างน้อยก็ในทางสังคมลดลง มีการเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจ ในโอกาส ในการใช้ทรัพยากร ฯลฯ มากขึ้นๆ ตลอดมา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ในที่สุด แต่ก็อย่างที่ทราบๆ กันดีอยู่ ประเด็นสังคมอย่างไรเสียก็ยังเป็นมวยรองบ่อนของภาคเศรษฐกิจอยู่ดี

และทั้งหมดนี้ยังพูดกันอยู่เพียงสองเรื่อง คือ เศรษฐกิจและสังคม ยังไม่ได้ก้าวเลยไปถึงความสำคัญของมิติด้านสิ่งแวดล้อมสักกี่มากน้อย และนี่คือตัววัดที่ชัดเจนว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมอันรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติยังไม่มีความสำคัญในระดับที่เท่าเทียมกับอีกสองมิติในความคิดของผู้บริหารประเทศไทย และเป็นเครื่องวัดที่ชัดเจนในเชิงความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติ ว่าไทยไม่ได้กำลังพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือจะพูดให้แรงไปกว่านั้นว่าไทยเรากำลังพัฒนาประเทศแบบไม่ยั่งยืนก็คงจะพูดได้ ไม่ผิดไปจากความจริงสักเท่าใด

ประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น (หลายคนเชื่อ หลายคนหวังไว้เช่นนั้น) และหลายคนรวมทั้งผมด้วยได้หวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้นั้นจะนำพาประเทศไปสู่ TBL และ SD หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะเป็นโอกาสเดียวเท่าที่ผ่านมาเกือบร้อยปีที่จะทำเช่นนั้นได้

แต่ก็ต้องผิดไปจากความคาดหวัง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งก็ยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ประเด็นสิ่งแวดล้อมอีกเช่นเคย จริงอยู่ อาจมีคนแย้งว่าการทำงานอาจควบรวมประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการได้ โดยชื่อนั้นสำคัญไฉน และไม่จำเป็นต้องรวมเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในชื่อนี้ด้วยก็ได้ แต่ก็คงมีอีกมากคนที่จะบอกว่าชื่อนั่นแหละที่บ่งบอกวิธีคิดและพื้นฐานความเข้าใจของผู้คิด

แล้วการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่พูดกันแต่ปากมาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น จะเกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร หากแค่พื้นฐานความคิดเพียงแค่นี้ยังทำความเข้าใจกันไม่ได้

รถไฟทางคู่

ยกตัวอย่างของการไม่เข้าใจนี้ให้เห็นกันจะจะอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็เพิ่งประกาศจะใช้งบ 4 แสนล้านบาท สร้างทางรถไฟทางคู่เป็นระยะทางรวม 873 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-มาบตาพุด-นครราชสีมา และหนองคาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ต้องยอมรับ เพราะประเทศเรากำลังประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากการเมืองในประเทศเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา และปัญหาเศรษฐกิจฟุบในยุโรปและอเมริกาในเวลาที่จะถึงนี้ จึงต้องเร่งฟื้นฟูประเทศ

แต่ที่ต้องตกใจ (ต้องใช้คำว่า “ต้อง” ณ ตรงนี้) เพราะในการแถลงข่าวของทางการ ปรากฏชัดว่าจะเริ่มก่อสร้างระบบรางเฟสแรกในเดือนกันยายนปีนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงอีกเพียงครึ่งปีกว่าเท่านั้น และจะทำรายงานอีไอเอให้เสร็จ (รวมทั้งผ่าน) ก่อนเดือนกันยายนนี้ด้วย เพราะหากไม่ผ่านก็จะผิดกฎหมายและสร้างไม่ได้ ซึ่งจากประสบการณ์ในด้านนี้มาหลายสิบปีและจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ ผมมองไม่ออกว่าการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้จะเร่งให้อนุมัติได้อย่างไร อย่าว่าแต่เร่งการอนุมัติเลย เอาแค่คำถามว่าโครงการฯ ควรอนุมัติหรือไม่ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้เลยว่าควรจะอนุมัติหรือไม่ จนกว่าจะมีการศึกษาอีไอเอ หรือแม้กระทั่งอีเอชไอเอ ได้อย่างลึกซึ้งมากพอ รอบคอบ และตอบโจทย์ TBL ได้

การที่รัฐบาลปักธงว่าจะสร้างแน่ในเดือนกันยายนและอนุมานว่ารายงานอีไอเอต้องอนุมัติผ่านแน่ เพราะเป็นโครงการของรัฐบาล แบบนี้ละก็มีปัญหาแน่ครับ รับรอง!

จึงอยากจะขอส่งความปรารถนาดีฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาอีกครั้งโดยรอบคอบ อย่าทำให้สังคมเข้าใจไปผิดๆ ว่าการทำรายงานอีไอเอเป็นเพียงแค่กระบวนการหรือขั้นตอนหนึ่งที่ต้องทำให้เพียงครบๆ จบๆ ไปเท่านั้น ประชาชนนักอนุรักษ์และภาควิชาการเขาคงไม่ยอม และเมื่อถึงจุดนั้น การก่อสร้างจริงเริ่มไม่ได้ ผลเสียหายระดับนานาชาติที่ไปตกลงกับจีนไว้ก็จะมากมายมหาศาล พาเอาบรรยากาศการลงทุนอื่นๆ เสียตามไปอีก รวมทั้งมันไม่ได้มีผลต่อโครงการนี้เพียงโครงการเดียว แต่มันจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และเป็นการส่งสัญญาณว่ารายงานอีไอเอน่ะหรือ ไม่มีอะไรหรอก ทำๆ ไปเถอะ ทำให้ครบ เดี๋ยวก็เร่งให้ผ่านได้จนได้เอง ซึ่งหากและเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องตั้งคำถามกับผู้บริหารประเทศว่า “ฤาไทยจะพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนเสียแล้ว”

รถไฟทางคู่มาตรฐาน