ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (1): อธิบดีกรมศุลฯ เตรียมสั่งเชือดนายตรวจ 27 คน พัวพันขบวนการโกงภาษีนำเข้า “ซูเปอร์คาร์”

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (1): อธิบดีกรมศุลฯ เตรียมสั่งเชือดนายตรวจ 27 คน พัวพันขบวนการโกงภาษีนำเข้า “ซูเปอร์คาร์”

13 มกราคม 2015


หลังจากที่ประเทศไทยนำ “ระบบราคาแกตต์” มาบังคับใช้ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรมีปัญหาข้อพิพาทกับผู้นำเข้า สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะผู้นำเข้าในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์หรู หรือ ซูเปอร์คาร์ ผู้นำเข้าต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐสูงเกือบ 300% ของราคาต้นทุนนำเข้า (ภาษีนำเข้า+สรรพสามิต+มหาดไทย+ภาษีมูลค่าเพิ่ม) นำเข้าไวน์เสียภาษี 200% นำเข้าบุหรี่เสียภาษี 600-700% ดังนั้น สูตรสำเร็จที่ผู้นำเข้าบางรายนิยมนำมาใช้ในการลดต้นทุนภาษี คือ สำแดงราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริง กรมศุลกากรเปรียบเสมือนต้นน้ำ หากยอมรับราคาที่ไม่ถุกต้องมาตั้งแต่ต้น กรมที่อยู่กลางน้ำ-ปลายน้ำ อย่างกรมสรรพสามิต หรือ กรมสรรพากรก็เก็บภาษีผิดกันทั้งหมด

10 ปีที่แล้วกรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวบริษัทนำเข้าบุหรี่สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงซองละ 3-7 บาท ต่อสู้กันในชั้นศาล ปรากฏกรมศูลกากรแพ้คดี ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จึงตรวจปล่อยบุหรี่นำเข้าออกจากด่านในระดับราคาประมาณนี้ ล่าสุดก็มีพ่อค้าบางรายนำเข้าบุหรี่จากประเทศจีนสำแดงราคาซองละ 1.03-1.05 บาท กรมศุลกากรก็ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ และที่หนักที่สุด คือ กรณีนำเข้ารถหรูสำแดงราคาคันละ 1-2 ล้านบาท แต่โชว์รูมตั้งราคาขายกันคันละหลายสิบล้านบาท

กรณีนำเข้ารถหรู เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งมาถึงช่วงกลางปี 2553 ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ (authorized dealer) ได้รับผลกระทบจากการที่มีผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ หรือ “เกรย์มาร์เก็ต”ประมาณ 110 ราย สั่งรถยนต์หรู 13 ยี่ห้อจากต่างประเทศเข้ามาขายตัดราคา จนทำให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ถูกต้องขายรถยนต์ไม่ได้ จึงทำเรื่องไปร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ขอให้กรมศุลกากรตรวจสอบราคาที่ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระแจ้งต่อกรมศุลกากร น่าจะต่ำกว่าราคาซื้อ-ขายที่แท้จริง

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต (ซ้าย) และนายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (ขวา) พร้อมกับรถยนต์ของกลาง ที่มาภาพ :  http://photo.mof.go.th/
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต (ซ้าย) และนายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (ขวา) พร้อมกับรถยนต์ของกลาง
ที่มาภาพ: http://photo.mof.go.th/

วันที่ 10 สิงหาคม 2553 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เข้าพบนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรและผู้บริหารระดับสูง กรมศุลกากร ณ ห้องประชุมภาสกรวงศ์ กรมศุลกากร คลองเตย เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาการนำเข้ารถหรู สำแดงราคาต่ำ

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร อดีตรองอธิบดีกรมศุลกากร รายงานต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันกรมศุลกากรมีกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบราคาค่อนข้างครอบคลุมแล้ว แต่เนื่องจากการตรวจปล่อยรถยนต์ สามารถดำเนินการได้ที่ท่าเรือและด่านศุลกากรหลายแห่ง โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจปล่อยรถยนต์ในราคาที่แตกต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรมศุลกากรได้มีการดำเนินการดังนี้

1. ออกระเบียบในการประเมินราคาใหม่ โดยใช้แนวทางเดียวกับคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ว่าด้วยเรื่องแนวทางในการพิจารณาราคารถยนต์นั่งสำเร็จรูป
2. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถตรวจสอบราคารถยนต์นำเข้าได้
3. กรณีเจ้าหน้าที่ยอมรับราคารถยนต์ต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในศูนย์ข้อมูลกลาง ต้องชี้แจงเหตุผลและรายงานผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร เป็นผู้อนุมัติเท่านั้น
4. หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรละเว้นไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าปกปิดข้อมูลมีโทษทางวินัยและทางกฎหมายต่อไป

วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 กรมศุลกากรออกคำสั่งที่ 69/2553 จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาและการประเมินภาษีอากรรถยนต์นำเข้า” จากนั้นก็ได้ออกแนวปฏิบัติตามคำสั่งที่ 317/2547 กำหนดให้ด่านศุลกากรทุกแห่งที่ยอมรับราคาตามที่ผู้นำเข้าสำแดง นำข้อมูลราคาบันทึกลงในระบบ intranet ภายใน 5 วันทำการนับตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่รับราคาตามที่ผู้นำเข้าสำแดง โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ข่าวศูนย์ควบคุมราคารถยนต์-ผลการพิจารณาของสำนักงานศุลกากรพื้นที่….” ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดราคาศุลกากร

โดยมีตัวอย่างเช่น ด่านศุลกากรแหลมฉบัง ยอมรับราคาตามที่ผู้นำเข้ารถยนต์แจ้งที่ราคา 100 บาท ข้อมูลการยอมรับราคานำเข้าจะไปปรากฏอยู่ในศูนย์ควบคุมราคารถยนต์ฯ กรณีที่มีผู้นำเข้ารายใดสำแดงราคามา 70 บาท ต้องปรับราคาประเมินขึ้นไปเป็น 100 บาท หากนายตรวจปล่อยสินค้าต่ำกว่าราคามาตรฐาน ต้องระบุเหตุผลและส่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร (นายด่าน) อนุมัติ จึงตรวจปล่อยสินค้าออกไปได้

ปรากฏว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2555 กรมศุลกากรปรับราคาประเมินรถยนต์นำเข้า 3 ครั้ง ประมาณ 21% โดยไม่แจ้งให้ผู้นำเข้าทราบล่วงหน้า ทำให้ผู้นำเข้ามีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้นำเข้าต้องส่งมอบรถให้กับลูกค้าในราคาที่กำหนดไว้ในใบจอง ผู้นำเข้าอิสระจึงทำเรื่องไปร้องเรียน “คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา”

นำเข้ารถหรู

ตลอด 4 ปีผ่านมา กรมศุลกากรพยายามออกมาตรการต่างๆ มาแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถจัดการกับขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำได้ จากข้อมูลกรมศุลกากร เฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนธันวาคม 2554 มีผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ 110 บริษัท นำเข้ารถยนต์หรูทั้งสิ้น 11,788 คัน คิดเป็นมูลค่าตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้า 9,336 ล้านบาท หรือสำแดงราคานำเข้าเฉลี่ยคันละ 792,034 บาท

เดือนพฤษภาคม 2555 “คณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)” ส่งหนังสือลับถึงนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร ให้ดำเนินการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ศุลกากร 40 คน มีพฤติการณ์น่าสงสัยว่ามีการตรวจปล่อยรถหรูที่นำเข้าจากต่างประเทศในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ต่ำกว่าความเป็นจริง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 นายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายสาธิต ภู่หอมเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สำนักกฎหมาย เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรรมการประกอบด้วย นายพินิจ นิ่มตระกูล นักวิชาการศุลกากรชำนาญการพิเศษ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร, นางกัลยา อริยฉัตร นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล, นางรัดใจ สีละวงศ์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการพิเศษ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร และนายอนันต์ สิทธิฤทธิ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักกฎหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยให้รายงานผลการสืบสวนพร้อมกับเสนอความเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรรายใดได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับกรมศุลกากรว่าด้วยจรรยาข้าราชการกรมศุลกากร 2552 หรือ บกพร่อง ประมาทเลินเล่อ ต่อหน้าที่ราชการ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ

หากคณะกรรมการเห็นว่าไม่มีมูลความผิด ก็ให้ยุติเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่ามีความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงให้ระบุด้วยว่าได้กระทำผิดวินัยในกรณีใด ตามมาตราใด แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 หรือประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน หรือข้อบังคับกรมศุลกากรว่าด้วยจรรยาข้าราชการกรมศุลกากร 2552 โดยให้คณะกรรมการฯ สรุปผลสอบส่งให้สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลก่อนดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ หากกรมศุลกากรพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลความผิดตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ให้คณะกรรมการฯ แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าตนตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และต้องให้โอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา

หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทางราชการ และมีบุคคลภายนอกต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ก่อนที่คณะกรรมการฯ ส่งสำนวนการสืบสวนให้สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลให้ทำสำเนาเรื่องส่งสำนักกฎหมาย พิจารณาดำเนินคดีกับบุคคลภายนอกด้วย ทั้งนี้ให้ระมัดระวังอย่าให้คดีขาดอายุความ

ต่อมา คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง สรุปผลการสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ทำหน้าที่ประเมินราคาและตรวจปล่อยรถยนต์ (นายตรวจ) จำนวน 27 ราย มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ยอมรับราคารถยนต์นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีและค่าธรรมเนียมน้อยกว่าที่ต้องชำระ และทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

วันที่ 25 มกราคม 2556 นายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายอวยชัย กุลทิพย์มนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนนายตรวจ 27 คน (สอบวินัย) กรรมการประกอบด้วย นายสุวัฒน์ ด้วงปั้น ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรกรุงเทพฯ, นายประสงค์ศักดิ์ บุญมา นักวิชาการศุลกากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง, นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ นายด่านศุลกากรเกาะสมุย รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการศุลกากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง, นายสมยศ ไม้หลากสี นักวิชาการศุลกากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ, นายศักดิ์พัฒน์ รุ่งเรือง นักวิชาการศุลกากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนายสินศักดิ์ ตวงหิรัญวิมล นิติกรชำนาญการ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการในตำแหน่งนิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักกฎหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า หลังจากที่กรมศุลกากรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายตรวจ 27 คน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ด้วยข้อกล่าวหาตรวจปล่อยรถหรู โดยยอมรับราคารถยนต์ที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ล่าสุดนี้ทางคณะกรรมการสอบวินัย เตรียมสรุปผลสอบเสนอนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ลงโทษทั้งทางวินัยและทางแพ่ง

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสอบวินัยเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้ารถหรูว่า ขณะนี้กรมศุลกากรได้มีคำสั่งไล่ออกข้าราชการไปแล้ว 3 ราย และกำลังจะทยอยออกคำสั่งไล่ออกอย่างต่อเนื่อง โดยข้าราชการที่ถูกไล่ออกบางรายตรวจปล่อยรถหรูสำแดงราคาต่ำออกไปเป็นพันคันและมีการทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนรถหรูที่สูญหายไปจากคลังเก็บของกลางในเขตปลอดอากรและคลังสินค้าทัณฑ์บนจำนวน 500 คัน ขณะนี้ตนได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแล้ว

“ตามหลักการของระบบราคาแกตต์ กรมศุลกากรต้องยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงเอาไว้ก่อน จากนั้นจะมีหน่วยเข้าไปตรวจสอบราคาย้อนหลัง หรือที่เรียกว่า post review และ post audit ซึ่งกรมศุลกากรไม่จำเป็นต้องยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงทุกกรณี หากนายตรวจสงสัยต้องเรียกเอกสารจากผู้นำเข้ามาตรวจสอบ และเมื่อตรวจสอบแล้วไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำ นายตรวจสามารถตรวจปล่อยรถยนต์ออกไปก่อนได้ แต่ต้องแจ้งให้หน่วย post audit เข้าไปตรวจสอบราคาย้อนหลัง” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว