ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมควบคุมมลพิษคุย ขจัดควันดำรถเมล์ในกรุงเทพฯ สำเร็จ แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้แก๊ส ด้านฝุ่นละอองที่สระบุรีและสารระเหยง่ายที่มาบตาพุดยังน่าเป็นห่วง

กรมควบคุมมลพิษคุย ขจัดควันดำรถเมล์ในกรุงเทพฯ สำเร็จ แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้แก๊ส ด้านฝุ่นละอองที่สระบุรีและสารระเหยง่ายที่มาบตาพุดยังน่าเป็นห่วง

6 มกราคม 2015


อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงผลการจัดการมลพิษทางอากาศของไทยที่สำคัญปี 2557 ใน 3 เรื่อง พบว่า กรุงเทพฯ ปลอดควันดำจากรถประจำทางแล้วตามเป้าหลังดำเนินการมา 9 เดือน แต่ไม่มีผลให้คุณภาพอากาศโดยรวมในกรุงเทพฯ ดีขึ้น ในขณะที่ฝุ่นละอองจากอุตสาหกรรมหินก่อสร้างที่ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี แม้มีแนวโน้มลดลงแต่ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ลุ้นอีก 4 เดือนมีฝุ่นเกินค่ามาตรฐานได้เพียง 25 วันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากท้องถิ่นและผู้ประกอบการในการควบคุมการปล่อยฝุ่นละออง ส่วนสถานการณ์สารระเหยง่ายหรือ VOCS ในมาบตาพุดยังคงเกินค่ามาตรฐานและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้าน คพ. เร่งดำเนินการผลักดันทางนโยบายให้หน่วยงานผู้มีอำนาจเข้าควบคุมตรวจสอบ

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา คพ. จัดการมลพิษทางอากาศ 3 เรื่อง เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน คือ การแก้ไขปัญหาควันดำจากรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การบริหารจัดการฝุ่นละอองในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และการแก้ไขปัญหาสถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในบรรยากาศในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง

ด้านการแก้ไขปัญหาควันดำจากรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเป้าหมายคือคืนคุณภาพอากาศที่ดีให้คนกรุงเทพฯ ภายใน 1 ปี พบว่าช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมากเนื่องจากปัจจุบันไม่มีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการของเอกชนใดปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน ซึ่ง 3 เดือนต่อจากนี้ไป คพ. ก็ต้องคงมาตรฐานที่ดีนี้ไว้

นายวิเชียรกล่าวว่า คพ. ใช้ 4 มาตรการเพื่อควบคุมควันดำ ได้แก่ 1. ให้ ขสมก. และรถร่วมบริการตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียรถทุกคัน 2. สุ่มตรวจรถประจำทางที่ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐานบนถนน โดย คพ. ร่วมกับ ขสมก. กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกองบังคับการตำรวจจราจร 3. ขอความร่วมมือจาก ขสมก. และรถร่วมบริการให้ตรวจสภาพเพิ่มขึ้นจากปีละครั้งเป็น 2 ครั้งต่อปี และ 4. ปลดระวางรถประจำทางเก่า

“จากการตรวจรถ ขสมก. จำนวน 2,700 คัน พบควันดำเกินค่ามาตรฐาน 11 คัน และจากการสุ่มตรวจควันดำบนถนนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาก็ยังไม่พบรถ ขสมก. คันใดที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐาน แต่จากการสุ่มตรวจควันดำรถสองแถวจำนวน 110 คัน พบควันดำเกินค่ามาตรฐาน 20 คันในช่วงเดือนแรกๆ ของการสุ่มตรวจแต่ภายหลังก็ไม่พบเพิ่มอีก ทั้งนี้ ขสมก. ปลดระวางรถประจำทางเก่าไปแล้ว 16 คัน และอยู่ระหว่างเสนอขอปลดระวางอีก 158 คัน” นายวิเชียรกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การควบคุมควันดำจาก ขสมก. และรถร่วมบริการได้นั้น ไม่ได้ส่งผลให้คุณภาพอากาศโดยรวมของกรุงเทพฯ ดีขึ้น เนื่องจากคุณภาพอากาศที่ดีมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง อีกทั้งควันดำจะเกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งปัจจุบันรถประจำทางส่วนใหญ่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี

ขณะที่ผลการสำรวจสังคมไลเคนในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด 214 จุด ในช่วงเวลา 9 เดือน จากกันยายน 2552 ถึงพฤษภาคม 2553 โดยมูลนิธิโลกสีเขียวพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณครึ่งหนึ่งมีคุณภาพอากาศ “แย่” ถึง “แย่มาก” โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง ถนนสายหลักที่มีการจราจรรถยนต์หนาแน่น และพื้นที่ชานเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น บริเวณเขตบางขุนเทียนและเขตบางนาทางด้านใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งติดกับเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ

ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีคุณภาพอากาศ “พอใช้” จนถึง “ดีพอใช้” คือพื้นที่เกษตรและสวนผลไม้ ชุมชนริมคลองที่ถนนเข้าไม่ถึงหรือการจราจรไม่หนาแน่น เช่น เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา และพื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางกรุง เช่น สวนลุมพินี สวนสัตว์ดุสิต และสวนหลวง ร.9

นอกจากนี้ข้อมูลจาก คพ. ระบุว่า คุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซโอโซน และ VOCs เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนรถยนต์ที่มากขึ้น

ทั้งนี้ แผนลดควันดำจากรถประจำทาง คพ. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2557 ที่ให้ คพ. กำหนดแผนปฏิบัติการในการกำกับดูแล ติดตาม ควบคุมไม่ให้ ขสมก. ปล่อยรถโดยสารและรถร่วมบริการของเอกชนออกวิ่งโดยปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน และรายงานผลการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวต่อศาลทุก 1 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ส่วนคำพิพากษาที่ให้ คพ. ควบคุมการปล่อยอากาศเสียของ ขสมก. และรถร่วมตามกฎหมายนั้น คพ. ไม่มีอำนาจดำเนินการและชี้แจงต่อศาลแล้ว

ผลตรวจวัดฝุ่นหน้าพระลาน

ด้านปัญหาฝุ่นละอองที่หน้าพระลาน หลังจากที่ คพ. ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุม ป้องกัน และลดฝุ่นละออง พบว่าหน้าพระลานมีฝุ่นละอองลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และแม้ว่าฝุ่นจะเกินค่ามาตรฐานแต่ก็ไม่เกินมากนัก ทั้งนี้ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 เมษายน 2558 มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานได้ 75 วันนั้นขณะนี้มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมา 50 วันแล้ว แต่จะคุมเข้มให้บรรลุตามเป้าหมายให้ได้

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง คพ. กำหนดไว้ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เน้นควบคุมและป้องกันฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง ได้แก่ ถนนและการซ่อมแซมถนนจราจรขนส่ง ซึ่งสร้างฝุ่นละอองร้อยละ 43 โรงโม่หินและโรงแต่งแร่ ร้อยละ 35 โรงปูนขาวและโรงงานปูนซีเมนต์ร้อยละ 21 และเหมืองแร่ร้อยละ 1

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า สถานประกอบการประเภทโรงโม่บดหรือย่อยหินในจังหวัดสระบุรีมีทั้งหมด 53 แห่ง ซึ่งสระบุรีเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด 284 แห่งทั่วประเทศ โดยตำบลหน้าพระลานมีสถานประกอบการประเภทโรงโม่บดหรือย่อยหินรวม 36 แห่ง

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า คพ. ยังประชุมร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการควบคุม ป้องกัน และลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น ล้างทำความสะอาดถนน เข้มงวดและตรวจจับรถบรรทุกหินที่ไม่มีการปิดคลุม และควบคุมการระบายฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเริ่มครั้งแรกอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม หรือวันสิ่งแวดล้อมไทย ในกิจกรรม Big Cleaning day เพื่อทำความสะอาดถนนและสถานประกอบการ และมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจควบคุมฝุ่นละอองตั้งแต่แหล่งกำเนิด เช่น พรมน้ำในโรงโม่หิน หรือช่วงระเบิดเหมือง ทำความล้อรถบรรทุกก่อนออกมายังถนนสาธารณะ ฯลฯ

ผลการตรวจัดฝุ่นหน้าพระลานช่วงตุลาคมถึงธันวาคม 2557

“ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กที่หน้าพระลานเป็นวิกฤติมาตั้งแต่ปี 2539 จน คพ. ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2547 แต่ปริมาณฝุ่นก็ยังคงเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอดและมีฝุ่นสูงที่สุดในประเทศไทย แม้ว่าจะมีแนวโน้มว่าฝุ่นลดลงเรื่อยๆ ก็ตาม ทั้งนี้ การควบคุมฝุ่นละอองให้ลดลงเท่ากับศูนย์คงเป็นไปได้ยาก แต่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ภายใน 2-3 ปีนี้”นายวิเชียรกล่าว

สำหรับพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงนั้นมีปัญหาเรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในบรรยากาศ ซึ่งจาก VOCs กว่า 40 ชนิด พบว่ามี 3 ชนิดที่เป็นปัญหาหลักที่มาบตาพุดซึ่ง คพ. ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข นั่นคือ เบนซีน, 1,3-บิวทาไดอีน และ 1,2-ไดคลอโรอีเธน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

นายวิเชียรกล่าวว่า ผลการตรวจวัด VOCs ทั้ง 3 ชนิดที่จังหวัดระยอง โดยเทียบกับค่ามาตรฐานในบรรยากาศเฉลี่ยต่อปี พบว่า สารทั้ง 3 ชนิดมีความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานทั้งหมดและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสารเบนซีนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.2 สาร 1,3-บิวทาไดอีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และสาร 1,2-ไดคลอโรอีเธน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 แต่หากวัดจากค่ามาตรฐานในบรรยากาศเฉลี่ยต่อวัน พบว่า สารเบนซีนไม่เกินค่ามาตรฐาน ยกเว้นเดือนพฤษภาคม

สถานการณ์เบนซีนทั่วประเทศ

“มาตรการระดับนโยบายที่ คพ. จะผลักดันเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นคือ กรณีสารเบนซีนและสาร 1,3-บิวทาไดอีน จากยานพาหนะนั้นได้บังคับใช้นํ้ามันเบนซินหรือนํ้ามันแก๊สโซลีนมาตรฐาน EURO 4 แล้วตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งมีองค์ประกอบสารเบนซีนต่ำจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1 และจะปรับปรุงมาตรฐานตาม EURO 5 ในปี 2560 ส่วนกรณี VOCs จากอุตสาหกรรม เน้นกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยสารจากแหล่งกำเนิด” นายวิเชียรกล่าว

เช่น กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งสาร 1,2-ไดคลอโรอีเธน และสารไวนิลคลอไรด์ จากโรงงานอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งบังคับใช้ในปี 2553 และปัจจุบันเริ่ม ณ เดือนธันวาคม 2557 ได้กำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งสารเบนซีน และสาร 1,3-บิวทาไดอีน จากโรงงานอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งบังคับกับโรงงานแห่งใหม่ทั้งหมด ส่วนโรงงานเดิมกำหนดให้ปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน และกำหนดมาตรการควบคุมสาร VOCs จากท่าเรือที่มีการเก็บรักษา ขนถ่าย หรือขนส่งสารทั้ง 3 ชนิด

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า นอกจากกำหนดมาตรฐานแล้ว คพ. ยังประสานงานกับอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองเพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนผลการตรวจวัดสาร VOCs ที่สูงเกินค่ามาตรฐานแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาสาเหตุและควบคุมการระบาย VOCs จากแหล่งกำเนิด รวมถึงผลักดันเชิงนโยบายให้หน่วยงานผู้มีอำนาจกำหนดมาตรฐาน ควบคุม ตรวจสอบการระบาย VOCs เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ค่ามาตรฐานสารเบนซีนในบรรยากาศเฉลี่ยต่อปีของไทยถือว่าเข้มงวดมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นกำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือยุโรปที่กำหนดค่ามาตรฐานไว้ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากใช้ค่ามาตรฐานของญี่ปุ่นจะทำให้กรุงเทพฯ คือจังหวัดเดียวของไทยที่เบนซีนเกินค่ามาตรฐาน

สถานการณ์ 1,3-บิวทาไดอีนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบความเข้มข้นของ VOCs ในบรรยากาศเฉลี่ยต่อปีของประเทศไทย พบว่า กรณีสารเบนซีนระยองมีค่าความเข้มข้นไม่แตกต่างกับจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น มากนัก เนื่องจากแหล่งกำเนิดที่สำคัญของเบนซีนคือโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนถ่ายสารเคมีหรือน้ำมันเชื้อเพลิง และยานพาหนะ จึงไม่น่าแปลกใจที่กรุงเทพฯ จะมีเบนซีนในบรรยากาศเข้มข้นมากที่สุดในประเทศ

ส่วนกรณีสาร 1,3-บิวทาไดอีน ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ 0.33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งระยองเป็นจังหวัดเดียวที่ความเข้มข้นของสารดังกล่าวเกินมาตรฐานและสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ มาก โดยปี 2557 มีความเข้มข้นสารอยู่ที่ประมาณ 0.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นั่นคือ แหล่งกำเนิดของสารดังกล่าวคือโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก แม้ว่าจะเกิดจากยานพาหนะได้เช่นเดียวกับสารเบนซีนก็ตาม

ส่วนสาร 1,2–ไดคลอโรอีเธน มีแหล่งกำเนิดมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นจังหวัดระยองจึงมีความเข้มข้นของสารนี้สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ มาก และเกินค่ามาตรฐานเพียงจังหวัดเดียว โดยประเทศกำหนดค่ามาตรฐาน 1,2–ไดคลอโรอีเธนในบรรยากาศเฉลี่ยต่อปีไว้ที่ 0.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในปี 2557 ระยองมีค่าความเข้มข้นถึง 0.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์ 1,2-ไดคลอโรอีเธนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจคุณภาพอากาศผ่านไลเคนในจังหวัดระยองของมูลนิธิโลกสีเขียวระหว่างกรกฎาคม 2554 ถึงมีนาคม 2555 พบว่า ระยองมีคุณภาพอากาศค่อนข้างดี ยกเว้นในเขตอุตสาหกรรมและเขตเมืองที่การจราจรหนาแน่นจะมีอากาศแย่ถึงแย่มาก ซึ่งคุณภาพอากาศแตกต่างกันอย่างชัดเจนมากระหว่างบริเวณนิคมอุตสาหกรรมกับนอกนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับจังหวัดระยองปัจจุบันมีมีนิคมอุตสาหกรรมรวม 8 แห่ง เขตประกอบการอุตสาหกรรม 5 แห่ง และชุมชนอุตสาหกรรม 4 แห่ง รวมแล้วมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 2,212 แห่งในจังหวัด