ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ครม. “ประยุทธ์” ตั้งรับอียูตัดจีเอสพี 6,200 รายการ สูญ 3 หมื่นล้าน สั่งคุมราคาสินค้าพุ่งสวนทางราคาน้ำมัน แก้ กม. ล้างท่อคอนโดค้างค่าส่วนกลาง 14,287 ยูนิต

ครม. “ประยุทธ์” ตั้งรับอียูตัดจีเอสพี 6,200 รายการ สูญ 3 หมื่นล้าน สั่งคุมราคาสินค้าพุ่งสวนทางราคาน้ำมัน แก้ กม. ล้างท่อคอนโดค้างค่าส่วนกลาง 14,287 ยูนิต

6 มกราคม 2015


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 มีการอนุมัติและรับทราบแผนงาน โครงการ และงบประมาณที่สำคัญ ตามที่ ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสักนายกรัฐมนตรี แถลงร่วมกับ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดดังนี้

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสักนายกรัฐมนตรี แถลงร่วมกับ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html
ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสักนายกรัฐมนตรี แถลงร่วมกับ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html

ตั้งรับอียูตัดจีเอสพี 6,200 รายการ สูญ 3 หมื่นล้าน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับคณะรัฐมนตรีว่า กรณีที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องของความสูญเสีย เพราะการถูกตัดสิทธิพิเศษนี้สืบเนื่องมาจากประเทศไทยภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น สามารถขยับขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง ทางออกของประเทศไทยก็คือต้องเปลี่ยนการแข่งขันจากสินค้าที่มีต้นทุนราคาถูกมาเป็นการแข่งขันในเรื่องคุณภาพสินค้าแทน ซึ่งเรื่องนี้ยังเกี่ยวกับการพัฒนาการวิจัยและพัฒนาซึ่งได้มอบหมายให้นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปตั้งคณะทำงานในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเพื่อเพิ่มการสร้างนวัตกรรมใหม่ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ร่วมชี้แจงด้วยว่า การถูกตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีของไทยจะไม่ส่งผลกระทบมากนักเนื่องจากมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และภาคเอกชนที่มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศมีการเตรียมความพร้อมรองรับไว้แล้ว

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานเรื่องการถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีและแนวทางการดำเนินการของกรมการต่างประเทศให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ โดยสาระสำคัญระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 จากการที่ไทยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper middle Income countries) คือประชากรมีรายได้ต่อหัว 3,946–12,195 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันตามการจัดอันดับของธนาคารโลก ส่งผลให้ไทยถูกระงับสิทธิพิเศษจีเอสพีใน EU ทุกรายการเป็นจำนวนสินค้ากว่า 6,200 รายการ ทั้งนี้ ในการตัดสิทธิในครั้งนี้มีประเทศที่ถูกตัดสิทธิ์พร้อมกับประเทศไทย ได้แก่ จีน เอกวาดอร์ และมัลดีฟส์

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศประเมินว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคิดเป็นวงเงินประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งไปยัง EU หรือคิดเป็นผลกระทบ 0.4% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศไทยในแต่ละปี โดยมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงคืออาหารทะเลแช่แข็ง เช่น กุ้ง ปลาหมึก รถจักรยานยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ผลกระทบถือว่าอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทยในภูมิภาคถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางจีเอสพีเช่นกัน ขณะที่สินค้าที่ไทยจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับต่ำ และประเทศในกลุ่ม EU ยังคงต้องนำสินค้าหลายรายการเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก ประกอบกับเอกชนของไทยมีการปรับตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศได้ทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ลดการพึ่งพาสิทธิประโยชน์จีเอสพีลงและเพิ่มทางเลือกในการดำเนินการธุรกิจ ได้แก่ 1. แนะให้เร่งหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าไทย โดยเฉพาะตลาดที่มีศักยภาพจากการที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง FTA และมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี เช่น จีน เกาหลีใต้ อาเซียน กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกา

2. แนะนำให้ผู้ประกอบการไทยผันตัวเองเป็นนายหน้า (trader) โดยนำสินค้าจากประเทศที่ยังได้รับสิทธิจีเอสพี เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (หรือเรียกรวมว่า CLMV) ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV เป็นต้น และ 3. การเร่งรัดเจรจาความตกลง FTA กับสหภาพยุโรปให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะทดแทนจีเอสพีได้อย่างยั่งยืน

สั่งพาณิชย์-มหาดไทย ออกกฎคุมราคาสินค้าแพง

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ถึงข้อร้องเรียนจากประชาชนเรื่องราคาสินค้าอุปโภค บริโภค บางรายการมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทยไปร่วมกันพิจารณาออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งโดยหลักการให้ยึดจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก ให้เทียบเป็นสัดส่วนว่าสินค้าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันอย่างไร เมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าควรจะต้องลดลงเท่าใด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สอบถามถึงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ว่ามีเป้าหมายอยู่ที่เท่าใด ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายตัวได้ 4% ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้ หลังจากที่ไตรมาส 1 ปี 2557 จีดีพีหดตัว -0.5% ไตรมาส2 ขยายตัวได้ 0.4% และไตรมาส 3 ขยายตัว 0.6% ขณะที่ไตรมาส 4 สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าทั้งปี 2557 จีดีพีจะขยายตัวได้ประมาณ 1% โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทุกส่วนช่วยกันขยันทำงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

อนุมัติกฏหมาย 8 ฉบับ ตั้งกระทรวงดิจิทัลอีโคโนมี

ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด 8 ฉบับ ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศหรือไอซีทีได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งร่างกฎหมายทั้งหมด 8 ฉบับนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ ส่วนที่เป็นการปรับปรุงกฎหมายฉบับเก่า และส่วนที่เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาใหม่

ในส่วนกฎหมายที่ต้องแก้ไขปรับปรุงมี 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการใช้การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations Convention on The Use of Electronic Communications in International Contracts) เพื่อลดอุปสรรคจากความแตกต่างของกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งมีการทำธุรกรรมที่มีการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-document) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้ามากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลด้วย

ฉบับที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จะมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ครอบคลุมความผิดที่เกิดจากคอมพิวเตอร์โดยตรง โดยเพิ่มฐานความผิดเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น เช่น การเผยแพร่ภาพอนาจารเด็ก การโจรกรรมข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลที่ส่งผลต่อความมั่นคง รวมถึงมีการประสานงานความผิดด้านอื่นอย่างการค้ายาเสพติดหรือการพนันออนไลน์ด้วย พร้อมให้เจ้าหน้าที่ได้ฝึกอบรมและเพิ่มมาตรการที่ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามผู้กระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้นโดยเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานกลาง

ฉบับที่ 3 ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะมีการกำหนดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. เหลือเพียง 1 ชุด ซึ่งต้องทำตามนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และแผนกำกับการใช้ความถี่วิทยุให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามที่คณะกรรมการดิจิทัลฯ กำหนด ส่วนการกำหนดนโยบายภาพใหญ่ด้านบริหารคลื่นจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ฉบับที่ 4 ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีการปรับปรุงเพิ่มอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ให้สามารถเข้าถือหุ้นกับองค์กรเอกชนอื่น เพื่อทำงานร่วมกับเอกชนก่อนได้ระหว่างรอพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนกฎหมายที่มีการร่างขึ้นใหม่มีอีก 4 ฉบับด้วยกัน ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง พร้อมตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อกำหนดแผนแม่บท แนวทาง และมาตรการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Center of Command) ในการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่นๆ แต่ในช่วงปีแรกให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่ไปพลางๆ ก่อน

ฉบับที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการและพระราชบัญญัติข้อมูลเครดิต โดยมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีการกำหนดการใช้หรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้รั่วหลุดออกไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และมีบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน ทั้งยังมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแห่งชาติ โดยให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นองค์กรสนับสนุน
ฉบับที่ 3 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการลงทุน การผลิต และการให้บริการได้มาตรฐานสากล รวมถึงการตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชน โดยมีเลขาธิการสำนักงานขึ้นตรงต่อคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมเนื้อหา (digital content) ให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยในวาระเริ่มแรกให้ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติทำหน้าที่เลขาธิการไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้

และฉบับที่ 4 ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการอุดหนุน กู้ยืม ให้ความช่วยเหลือ และจัดสรรให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลและสังคม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ ซึ่งมีกองทุนการวิจัย ลงทุน พัฒนา โดยมีเงินจากรัฐบาล เงินตามกฎหมาย กสทช. รวมถึงมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลด้วย

นอกจากร่างกฎหมาย 8 ฉบับข้างต้นแล้ว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลขึ้นมาเพื่อกำหนดนโยบาย พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 5 ด้าน เพื่อติดตามและประเมินผล และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยมีการตั้งกระทรวงดิจิทัลอิโคโนมี ตั้งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งทำหน้าเป็นฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการดิจิทัล

ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html

แก้กฎหมายแพ่ง-ล้างท่อคอนโดค้างค่าส่วนกลาง 14,287 ยูนิต

พล.ต. สรรเสริญกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในส่วนของการบังคับคดี โดยมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของเดิมค้างชำระ ก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของห้องชุดเดิม โดยนิติบุคคลอาคารชุดสามารถใช้สิทธิ์ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์เหนือห้องชุดเพื่อขอรับการชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีทรัพย์สินประเภทห้องชุด อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม ที่ผู้ซื้อไม่มีกำลังจ่ายเงิน ค้างค่างวด และค่าบริการส่วนกลาง สุดท้ายต้องถูกฟ้องร้อง บังคับคดี โดยจากการสำรวจพบว่า มีทรัพย์สินประเภทห้องชุดที่ยังคงค้างดำเนินการอยู่ในชั้นบังคับคดี ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้จำนวน 14,287 รายการ คิดเป็น 8.4% ของทรัพย์ที่ยึดไว้ทั้งหมด มีราคาประเมินรวม 62,172 ล้านบาท คิดเป็น 26.33 ของราคาประเมินทั้งหมด ซึ่งห้องชุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้มักไม่เป็นที่สนใจของตลาดเท่าที่ควร เพราะผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบในค่าภาระส่วนกลางค้างชำระ

ส่วนห้องชุดที่เคาะขายทอดตลาดไปแล้ว มักมีปัญหาในขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ เพราะผู้ซื้อไม่สามารถนำใบปลอดหนี้จากนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินได้ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น ไม่มีนิติบุคคลอาคารชุดที่จะออกใบปลอดหนี้ไห้ได้ หรือหนี้ค่าภาระส่วนกลางค้างชำระมีจำนวนสูงเกินควร ซึ่งผู้ซื้ออาจจะไม่ทราบว่ามีค่าส่วนกลางที่ค้างชำระ เมื่อลดปัญหาเหล่านี้ไปได้ การซื้อขายห้องชุดจะดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการซื้อขายห้องชุดได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในส่วนของการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดประเภทของทรัพย์ที่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเป็นการบังคับคดีอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างเท่านั้น เช่น บ้าน ที่ดิน เงิน ทอง ยังไม่ครอบคลุมถึงสังหาริมทรัพย์ไม่มีรูปร่างซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น หุ้น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า สัญญาซื้อขายทองล่วงหน้า เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถได้รับชำระหนี้อย่างเต็มสิทธิจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับในคำพิพากษาของศาล

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดการใช้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี โดยแยกประเภทของผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจน ได้แก่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ เจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกบังคับคดี รวมทั้งกำหนดให้อำนาจการบังคับคดีและความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและดุลพินิจโดยศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่อาจถูกฟ้องให้ต้องรับผิดต่อศาลปกครองได้ และลดขั้นตอนให้ระยะเวลาในการบังคับคดีมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน โดยขั้นตอนการดำเนินการเฉลี่ยปกติจะใช้เวลา 1-1.5 ปี หรือกว่า 450 วัน ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือวิปพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

เปลี่ยนใช้เงินเฟ้อทั่วไปแทนเงินเฟ้อพื้นฐานกำหนดนโยบายการเงิน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินปี 2558 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังและได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกัน ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2558 โดยข้อตกลงมีสาระสำคัญดังนี้ คือ เป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2558 ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2558 อัตรา 2.5% สามารถเบี่ยงเบนไปจากค่ากลางนี้ได้ บวกลบ 1.5% หลังจากที่ในปี 2552-2557 ที่ผ่านมา กำหนดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่าง 0.5-3.0%

สำหรับการใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นดัชนีเป้าหมายแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะช่วยสะท้อนค่าครองชีพของประชาชนได้ดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นดัชนีที่ครัวเรือนและธุรกิจใช้อ้างอิงในชีวิตประจำวัน จึงเอื้อต่อการสื่อสาร ง่ายต่อความเข้าใจ และสามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่ได้นำราคาเชื้อเพลิงและอาหารมาคำนวณด้วย ขณะเดียวกัน การกำหนดระยะเวลาของเป้าหมายให้ยาวขึ้นจากรายไตรมาสเป็นรายปีจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินในการรองรับปัจจัยที่ไม่คาดฝันต่างๆ ง่ายต่อการสื่อสารและสอดคล้องกับระยะเวลาที่ใช้ในการส่งผ่านนโยบายการเงินซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4-8 ไตรมาส รวมถึงการทบทวนเป้าหมายนโยบายการเงินที่ทำเป็นประจำทุกปีด้วย

นักท่องเที่ยวเข้าไทยปีใหม่ 9 วัน 9.4 แสนคน

ร.อ. ยงยุทธ กล่าวว่า นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานที่ประชุม ครม. ให้รับทราบตัวเลขนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่รวม 9 วัน นับจากวันที่ 27 ธ.ค. 2557 – 4 ม.ค. 2558 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทย 947,038 คน เพิ่มขึ้น 7.2% หรือเฉลี่ยวันละ 105,226 คน เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 มีต่างชาติเดินทางเข้าไทย 883,412 คน เฉลี่ยวันละ 98,157 คน ขณะที่คนไทยเดินทางออกนอกประเทศ 471,435 คน ลดลง 3.04% หรือเฉลี่ยวันละ 52,382 คน เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 มีคนไทยไปต่างประเทศ 486,225 คน หรือวันละ 54,025 คน

ขณะเดียวกัน ได้รายงานสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยตลอดทั้งปี 2557 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 24.7 ล้านคน ลดลง 6.6% จากปี 2556 และก่อให้เกิดรายได้ 1.13 ล้านล้านบาท ลดลง 5.8% โดยเหตุผลสำคัญของการหดตัวเป็นผลจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศครึ่งปีแรกท่ีผ่านมา ทำให้ลดลง 10% อย่างไรก็ตาม พบว่ารายได้ต่อทริปของนักท่องเที่ยว 46,541 บาท เพิ่มขึ้น 2.35% สะท้อนว่ายังคงมีคุณภาพไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ส่วนคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศในปี 2557 มี 6.61 ล้านคน ขยายตัว 10.8% ก่อให้เกิดจ่ายด้านการท่องเที่ยว 117,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% จากปีที่ผ่านมา โดยมีค่าใช้จ่ายต่อทริป 25,947 บาท

ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศ ตลอดปี 2557 มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยว 136 ล้านคน/ครั้ง ก่อให้เกิดรายได้ 680,000 ล้านบาท ขยายตัว 3% จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อรวมรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและคนไทยเที่ยวในประเทศ ทำให้มีรายได้รวม 1.81 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2 ล้านล้านบาท

ส่วนแนวโน้มปี 2558 กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬายังคงมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้สู่ภูมิภาค จึงวางเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 29 ล้านคน สร้างรายได้ 1.40 ล้านบาท และคนไทยเที่ยวในประเทศ 139 ล้านคน/ครั้ง เกิดรายได้หมุนเวียน 800,000 ล้านบาท