ThaiPublica > คอลัมน์ > “ฉันไม่ใช่ชาลี” เเละพฤติกรรม groupthink

“ฉันไม่ใช่ชาลี” เเละพฤติกรรม groupthink

26 มกราคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ที่มาภาพ : http://www3.pictures.zimbio.com/gi/Global+Reaction+Charlie+Hebdo+Attack+N-tg67a1dsIl.jpg
ที่มาภาพ: http://www3.pictures.zimbio.com/gi/Global+Reaction+Charlie+Hebdo+Attack+N-tg67a1dsIl.jpg

หลังจากการเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา (ที่คนร้ายสองคนได้บุกเข้าไปสังหารบรรณาธิการเเละนักเขียนการ์ตูนชื่อดังหลายคนที่สำนักงานนิตยสาร Charlie Hebdo ณ ใจกลางกรุงปารีส ด้วยเหตุผลที่ว่านิตยสาร Charlie Hebdo ทำการตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดซึ่งเป็นนบีคนสุดท้ายของศาสนาอิสลาม) คนเกือบทั่วทั่งโลก ไม่ว่าจะเป็นคนฝรั่งเศส หรือเเม้เเต่คนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม ก็ได้ออกมาประณามการฆาตกรรมหมู่ครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่เลือดเย็นเเละป่าเถื่อนเป็นที่สุด

หลังจากเหตุการณ์นั้นเพียงไม่กี่วัน คนที่อาศัยอยู่ในปารีสเป็นจำนวนมากก็ได้ออกมาเดินไว้อาลัยให้กับนักเขียนการ์ตูนของ Charlie Hebdo พร้อมกับประกาศก้องในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันว่า Je suis Charlie ซึ่งเเปลเป็นภาษาไทยก็คือ “ฉันคือชาร์ลี” ซึ่งเป็นการเเสดงออกถึงการสนับสนุนในเสรีภาพของการเขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดของนิตยสาร Charlie Hebdo

เเละเพียงเเค่ชั่วข้ามคืนเท่านั้นเอง คำว่า Je suis Charlie จึงกลายมาเป็นคำขวัญสำคัญของเสรีภาพในการพูด (free speech) เเละการเเสดงออก (freedom of expression) ของคนหลายกลุ่มจากทั่วทั้งโลก

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกเศร้าเเละเสียใจเป็นอย่างมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ผมเชื่ออย่างเป็นเด็ดขาดว่าไม่มีใครควรที่จะต้องมาเสียชีวิตจาก freedom of expression ในการที่จะเขียนล้อเลียนศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไรก็ตาม อย่างที่ร็อกเเซน เกย์ (Roxane Gay) นักข่าวของหนังสือพิมพ์ The Guardian ในประเทศอังกฤษเคยเขียนเกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งนี้ไว้ว่า “Murder is not an acceptable consequence of anything”

เเต่ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่า freedom of expression นั้นไม่ใช่เป็นเเค่เสรีภาพในการเเสดงออกของคนที่อยากจะเขียนล้อเลียนศาสนาของคนอื่นอยู่กลุ่มเดียว เเต่มันรวมไปถึงเสรีภาพของคนในบางกลุ่มที่อยากจะออกมาวิจารณ์ หรือเเม้กระทั่งเเสดงออกถึงความรังเกียจในการกระทำของนิตยสาร Charlie Hebdo ที่บางทีได้ทำการล้อเลียนศาสนาเเละเชื้อชาติของคนในกลุ่มของเขามากจนเกินไป

ผมเชื่อว่าถึงเเม้ว่าคนเกือบทั่วทั้งโลกจะเห็นพ้องต้องกันว่าการก่อการร้ายของกลุ่มหัวรุนเเรงครั้งนี้เป็นการกระทำที่เลือดเย็นเเละป่าเถื่อนเป็นที่สุด เเต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเห็นด้วยว่าสิ่งที่นิตยสาร Charlie Hebdo ตีพิมพ์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะเปิดใจยอมรับกันได้ทุกคน สรุปง่ายๆ ก็คือ ผมเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน Charlie Hebdo ก็ได้ (นั่นก็คือถ้าไม่เอาเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง) เพราะฉะนั้น ผมจึงตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่ามันจะผิดอะไรไหมถ้าสมมติว่าผมจะออกตัวว่า Je ne suis pas Charlie หรือ “ผมไม่ใช่ชาร์ลี” ขึ้นมา

พูดง่ายๆ ก็คือผมสงสัยว่าถ้าเกิดผมเงียบและไม่ยอมเเสดงตัวออกมาทันทีว่า “ผมคือชาร์ลี” คนอื่นๆ เขาจะมองผมว่าผมสนับสนุนการก่อการร้ายของกลุ่มหัวรุนเเรงไปโดยปริยายหรือเปล่า

พฤติกรรม groupthink

บ่อยครั้งที่ความต้องการที่จะให้คนออกมาเเสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (demand for solidarity) สามารถที่จะพัฒนาตัวไปเป็นความต้องการของพฤติกรรมที่นักจิตวิทยาเรียกกันว่าพฤติกรรม “groupthink” ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพฤติกรรม groupthink นี้ก็คือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากเเรงกดดันของคนในกลุ่มส่วนใหญ่ที่จะให้สมาชิกของตนทุกคนเห็นด้วยไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่กลุ่มต้องการ ถึงเเม้ว่าจริงๆ เเล้วตัวสมาชิกทุกคนอาจจะไม่ได้เห็นด้วยไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่กลุ่มต้องการเสมอไป พูดง่ายๆ ก็คือ พฤติกรรม groupthink เป็นพฤติกรรมที่อาจจะดูไร้เหตุผลเเต่สามารถเกิดขึ้นมาได้จาก social pressure หรือ peer pressure นั่นเอง

ยกตัวอย่างของกรณี Charlie Hebdo เพียงเเค่ไม่กี่วันเท่านั้นเองก็ได้มีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มคน Je suis Charlie ให้คนที่ยังเงียบอยู่ออกมาเเสดงความสนับสนุนนิตยสาร Charlie Hebdo อย่างออกหน้าออกตาสักที พร้อมกับทำการประณามกลุ่มคนที่ออกมาบอกว่า “เขาไม่ใช่ชาร์ลี” หรือ Je ne suis pas Charlie ว่าเป็นคนที่สนับสนุนความรุนเเรง (ยิ่งถ้าเป็นคนมุสลิมด้วยเเล้วยิ่งไปใหญ่) ซึ่งในความเป็นจริงเเล้วนั้นอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นเลย

สำหรับตัวผมเอง ผมค่อนข้างที่จะเเปลกใจว่าทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บังคับให้คนทุกคนต้องมองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นดำกับขาวเเค่อย่างเดียว โดยเฉพาะปัญหาที่ซับซ้อนอย่างปัญหาที่ว่าควรจะสนับสนุนการตีพิมพ์ของนิตยสาร Charlie Hebdo ต่อไปไหม ทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึงบังคับให้คนทุกคนต้องเเสดงตัวเองออกมาทันทีว่าเขาเห็นด้วยกับคนในกลุ่มไหน ทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึงทำให้เกิดความคิดที่ว่า If you are not with us, then you are against us ขึ้นมา*

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง ผมมักจะให้คุณค่ากับการหยุดเพื่อไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนถึงความคิดเเละความรู้สึกที่เรามีต่อปัญหาก่อนที่จะตัดสินใจเเสดงตัวเองออกมาอยู่เสมอ ผมจึงค่อนข้างรู้สึกเสียดายที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นบังคับให้เราเลิกใช้เวลาในการที่จะคิดทบทวนก่อนว่าจริงๆ เเล้วเรารู้สึกยังไงกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มต้องการ เราเห็นด้วยกับสิ่งที่คนในกลุ่มต้องการจริงๆ หรือ มันเป็นไปได้ไหมว่าจริงๆ เเล้วนั้นเรากำลังเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่คนในกลุ่มต้องการเพียงเพราะเราไม่อยากถูกดีดออกมาจากกลุ่มนั้นๆ

เพราะปัญหาสำคัญๆ ส่วนใหญ่ในโลกของเรานี้ไม่ใช่ปัญหาที่มีคำตอบเป็นเเค่ดำหรือขาวเสมอไป เราจึงควรที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการหยุดคิด หรือเเปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือการ pause for thought ให้มากขึ้นเเทนที่จะทำการประณามการกระทำเหล่านี้ ผมจึงคิดว่าความสามารถของคนเราในการที่จะหยุดเพื่อทบทวนความคิดเเละความรู้สึกที่เรามีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจเลือกข้างนั้นเป็นความสามารถที่พิเศษเป็นอย่างยิ่ง เเละเป็นความสามารถที่เราควรจะเสริมสร้างให้กับคนรุ่นใหม่ตั้งเเต่ยังเป็นเด็กเพื่อที่เขาจะได้ไม่ตกไปเป็นเหยื่อของพฤติกรรม groupthink ในอนาคต

*คุณผู้อ่านหลายท่านเองก็อาจจะคุ้นเคยกับความต้องการของพฤติกรรม “groupthink” ในบ้านเรา (ยกตัวอย่างเช่นการประณามคนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ไทยเฉย” จากคนในกลุ่มพันธมิตรเป็นต้น)