ThaiPublica > คอลัมน์ > เปลี่ยนพฤติกรรมเพิ่มความสุข (1): ลืมเสียเถิดกับเจ้าต้นทุนจมทั้งหลาย

เปลี่ยนพฤติกรรมเพิ่มความสุข (1): ลืมเสียเถิดกับเจ้าต้นทุนจมทั้งหลาย

12 มกราคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ยกมือขึ้นถ้าคุณผู้อ่านเคย

ซื้อตั๋วไปดูหนัง เเต่สิบนาทีก่อนที่จะเข้าไปในโรงหนังเพื่อนของคุณซึ่งได้ดูหนังเรื่องนี้ไปเเล้วได้ไลน์มาบอกกับคุณว่า “อย่าไปดูเรื่องนี้นะ ห่วยเเตก ดูไปก็เสียเวลาเปล่า” เเต่คุณก็ยังเข้าไปดูอยู่ดีเเละก็พบว่าเพื่อนของคุณพูดถูก เเต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ยอมทนนั่งดูหนังที่เเย่ๆ เรื่องนั้นต่อไปจนจบ

คุณสมัครฟิตเนสไว้ตั้งเเต่ตอนต้นปีเเต่ก็ไม่ได้เข้าไปใช้บริการอีกเลยหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ เเต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ยังไม่ยอมไปยกเลิกการเป็นสมาชิกสักที

คุณคบกับเเฟนคุณมานานถึงสามปี เเต่คุณรู้ตัวมานานเเล้วว่าคุณไม่มีความสุขกับการคบกับเเฟนของคุณคนนี้เลย เเต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ยังไม่ยอมบอกเลิกกับเเฟนของคุณสักที

คุณจ่ายเงินไปกินบุฟเฟ่ต์ที่โรงเเรมเเห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หลังจากกินไปได้ไม่นาน (เเค่สองจานกว่าๆ) คุณก็รู้สึกอิ่ม เเต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ยังไม่ยอมที่จะหยุดกินจนกว่าคุณจะรู้สึกว่าคุณกินคุ้มกับเงินที่จ่ายไป

คุณเปลี่ยนที่ทำงาน เเต่หลังจากทำไปได้สองเดือนคุณก็รู้สึกว่าคุณตัดสินใจผิดที่เปลี่ยนงานมาทำที่นี่ เเต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ไม่คิดที่จะลาออกเพื่อไปหาที่ทำงานใหม่

ถ้าคุณผู้อ่านเคยมีประสบการณ์เหมือนหรือคล้ายๆ กับประสบการณ์ข้างบน นั่นก็เเสดงว่าคุณผู้อ่านเคยตกเป็นเหยื่อของความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับต้นทุนจม หรือภาษาอังกฤษก็คือ sunk cost fallacy นี่เอง

ปัญหา”มอนตี้ ฮอลล์”

คุณผู้อ่านหลายท่านที่มีเคเบิลทีวีอาจจะเคยดูรายการทีวีที่มีชื่อว่า Let’s Make a Deal มาก่อน เเต่สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่เคยได้ยินรายการนี้ Let’s Make a Deal เป็นรายการทีวีประเภทเกมโชว์ของอเมริกาที่ดังมากในช่วงปี 60 ถึงปี 90 Let’s Make a Deal ซึ่งมีมอนตี้ ฮอลล์ (Monty Hall) เป็นพิธีกรรายการรวมกว่ายี่สิบปีด้วยกัน เป็นเกมโชว์ที่ให้ผู้เล่นในห้องส่ง “make a deal” กับมอนตี้เเลกกับการเสี่ยงที่จะได้รางวัลดีๆ อย่างเช่นรถยนต์หรือทริปไปเที่ยว หรือการได้รางวัลเเย่ๆ อย่างเช่นกระดาษทิชชู่หรือขยะธรรมดาๆ

เเละในตอนท้ายของรายการ Let’s Make a Deal ในทุกๆ ตอนนี้เองที่ทำให้มอนตี้ ฮอลล์ เป็นที่รู้จักของนักคณิตศาสตร์ทั่วโลกในฐานะที่มาของปัญหา “มอนตี้ ฮอลล์” หรือ Monty Hall Problem

สมมติว่าคุณผู้อ่านเป็นผู้เล่นเกมในห้องส่งนะครับ เเละสมมติอีกว่าข้างหน้าของคุณผู้อ่านมีประตูที่ปิดอยู่สามประตู (ประตูหมายเลข 1, ประตูหมายเลข 2, ประตูหมายเลข 3) พิธีกรรายการมอนตี้บอกให้คุณเลือกประตูไหนก็ได้มาประตูหนึ่ง เเต่คุณต้องเลือกดีๆ เพราะข้างหลังประตูหนึ่งจะมีรถยนต์ซ่อนอยู่ ส่วนข้างหลังอีกสองประตูนั้นจะมีเเพะตัวเป็นๆ ซ่อนอยู่

ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/59937401@N07/5857412037/in/photostream/
ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/59937401@N07/5857412037/in/photostream/

สมมติว่าคุณผู้อ่านบอกกับมอนตี้ว่าคุณเลือกประตูหมายเลข 1 มอนตี้ก็เดินไปเปิดประตูหมายเลข 3 ให้คุณเเละคนในห้องส่งดู ปรากฏว่าข้างหลังของประตูหมายเลข 3 มีเเพะซ่อนอยู่ข้างหลัง จากนั้นมอนตี้ก็หันมาหาคุณพร้อมกับบอกกับคุณว่า “ผมจะให้โอกาสคุณเปลี่ยนใจจากประตูหมายเลข 1 มาเป็นประตูหมายเลข 2 คุณจะยอมเปลี่ยนใจไหม”

ถ้าเป็นคุณผู้อ่าน คุณผู้อ่านจะยอมเปลี่ยนใจจากประตูหมายเลข 1 ที่คุณผู้อ่านเลือกเอาไว้ตอนต้นมาเป็นประตูหมายเลข 2 ไหมครับ

ผมขอเดาว่าคุณผู้อ่านเกือบร้อยทั้งร้อยที่ไม่เคยเห็นปัญหานี้มาก่อนคงจะตัดสินใจเหมือนกับผู้เล่นในห้องส่งของรายการ Let’s Make a Deal เกือบร้อยทั้งร้อย นั่นก็คือเลือกที่จะไม่เปลี่ยนใจจากประตูหมายเลข 1 ไปเป็นประตูหมายเลข 2 อย่างเเน่นอน “เเล้วทำไมจะต้องเปลี่ยนใจด้วยล่ะ” คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิด “ในเมื่อโอกาสที่จะเปิดได้รถมันเท่ากันทั้งสองประตูนั่นก็คือ 50:50”

เเต่ในความเป็นจริงเเล้ว โอกาสที่ประตูหมายเลข 1 จะมีรถอยู่ข้างหลังนั้นมีอยู่เเค่ 33% เมื่อเทียบกันกับ 66% ที่ประตูหมายเลข 2 จะมีรถอยู่ข้างหลัง พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณตัดสินใจเปลี่ยนจากประตูหมายเลข 1 มาเป็นประตูหมายเลข 2 โอกาสที่คุณจะเปิดประตูเเล้วได้รถเเทนที่จะได้เเพะจะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวด้วยกัน

Throwing good money after bad

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะกำลังสงสัยว่า “ทำไมการเปลี่ยนใจถึงสามารถเพิ่มโอกาสที่จะเปิดได้รถมากถึงเท่าตัวจาก 33% เป็น 66%” ในการทำความเข้าใจปัญหามอนตี้ ฮอลล์ นั้น เราต้องตั้งข้อสันนิษฐานที่เกี่ยวกับหน้าที่ของพิธีกรรายการในการเล่นเกมนี้ทุกๆ ครั้งกันก่อนว่า

ประตูที่พิธีกรจะต้องเปิดเป็นประตูเเรกต้องเป็นประตูที่ตัวผู้เล่นไม่ได้เลือกในตอนเเรก

ประตูที่พิธีกรจะต้องเปิดเป็นประตูเเรกต้องเป็นประตูที่มีเเพะ ไม่ใช่ประตูที่ไม่มีรถ

พิธีกรจะต้องให้โอกาสตัวผู้เล่นเปลี่ยนใจจากประตูที่ตัวเองเลือกไว้ตอนเเรกไปอีกประตูหนึ่งที่ยังปิดอยู่

พูดง่ายๆ ก็คือ พิธีกรรู้ว่าประตูไหนมีรถเเละประตูไหนมีเเพะ เเละเพื่อที่จะให้เกมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ประตูเเรกที่เขาจำเป็นที่จะต้องเปิดจะต้องเป็นประตูที่มีเเต่เเพะเท่านั้น

ในตอนเริ่มเกมตัวผู้เล่นมีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะเลือกประตูที่มีรถเเละ 2 ใน 3 ที่จะเลือกประตูที่มีเเพะ สมมติว่าตัวผู้เล่นเลือกประตูหมายเลข 1 เเล้วสมมติว่าประตูมีรถซ่อนอยู่ข้างหลัง พีธีกรซึ่งรู้ว่าประตูไหนมีรถเเละประตูไหนมีเเพะสามารถเปิดประตูไหนก็ได้ระหว่างประตูหมายเลข 2 กับ 3 ถ้าตัวผู้เล่นตัดสินใจเปลี่ยนประตูทีหลังเขาก็จะเปิดได้เเพะเเละก็เสียรถไป

เอาใหม่ สมมติว่าตัวผู้เล่นเลือกประตูหมายเลข 1 เเต่ว่าจริงๆ เเล้วรถนั้นถูกซ่อนไว้อยู่ข้างหลังประตูหมายเลข 2 ตามข้อสันนิษฐานที่ 2 พีธีกรซึ่งรู้ว่าประตูไหนมีรถเเละประตูไหนมีเเพะสามารถเปิดได้เเค่ประตูหมายเลข 3 เท่านั้น เเละเพราะตัวผู้เล่นเลือกประตูหมายเลข 1 ซึ่งเป็นประตูที่มีเเพะซ่อนอยู่ข้างหลัง การตัดสินใจเปลี่ยนประตูจากหมายเลข 1 ไป 2 ก็จะสามารถทำให้เขาเปิดได้รถกลับบ้านไป

เเละสมมติอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายว่าตัวผู้เล่นเลือกประตูหมายเลข 1 เเต่ว่าจริงๆ เเล้วรถนั้นถูกซ่อนไว้อยู่ข้างหลังประตูหมายเลข 3 พีธีกรซึ่งรู้ว่าประตูไหนมีรถเเละประตูไหนมีเเพะสามารถเปิดได้เเค่ประตูหมายเลข 2 เท่านั้น เเละเพราะตัวผู้เล่นเลือกประตูหมายเลข 1 ซึ่งเป็นประตูที่มีเเพะซ่อนอยู่ข้างหลัง การตัดสินใจเปลี่ยนประตูจากหมายเลข 1 ไป 3 ก็จะสามารถทำให้เขาเปิดได้รถกลับบ้านไป

สรุปก็คือ มีสถานการณ์อยู่สองสถานการณ์ที่ถ้าตัวผู้เล่นตัดสินใจเปลี่ยนประตูเขาก็จะชนะได้รถกลับบ้านไป เช่นกัน มีสถานการณ์อยู่เเค่สถานการณ์เดียวที่ถ้าตัวผู้เล่นตัดสินใจเปลี่ยนประตูเเล้วเขาจะเสียรถเเล้วได้เเพะกลับบ้านไปเเทน

มาถึงตอนนี้คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า “เเล้วปัญหามอนตี้ ฮอลล์มัน มาโยงกันกับ sunk cost fallacy ได้ยังไง”

ก่อนอื่น sunk cost หรือต้นทุนจมก็คือต้นทุนที่เราลงไปแล้วเเละไม่สามารถที่จะกู้คืนกลับมาได้ ยกตัวอย่างเช่น เงินที่เราใช้ซื้อตั๋วหนังที่ไม่สามารถเอาไปเเลกคืนได้ถ้าเราตัดสินใจจะไม่ดูเเล้ว หรือเงินที่เราจ่ายไปเเล้วเพื่อเข้าไปกินอาหารบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น

เเละ sunk cost fallacy ก็คือการที่คนเรายังยอมลงทุนไปกับสิ่งที่จะให้ผลเสียกับเรามากกว่าผลประโยชน์ที่เราจะได้กลับคืนมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงเพราะเราเสียดายกับต้นทุนจมที่ลงไปเเล้วเท่านั้นเอง อย่างเช่นการฝืนดูหนังที่เเย่ๆ จนจบหรือการที่เรากินมากจนเกินไปจนทำให้อึดอัดเวลาที่ไปกินอาหารบุฟเฟ่ต์ พูดง่ายๆ เป็นภาษาอังกฤษก็คือการ “Throw good money after bad” นั่นเอง เช่นเดียวกัน เราก็สามารถนำทฤษฎี sunk cost fallacy มาใช้ในการอธิบายจิตวิทยาของคนว่าทำไมคนเราส่วนใหญ่ถึงไม่ค่อยยอมเปลี่ยนใจจากประตูที่เลือกไว้ตอนเเรกไปเป็นอีกประตูหนึ่งในกรณีปัญหามอนตี้ ฮอลล์

ปัญหามอนตี้ ฮอลล์ เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งที่สอนให้เรารู้ว่าเราควรนำข้อมูลที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ (emerging information) เข้ามาช่วยในการประเมินว่าการตัดสินใจของเราในตอนเเรกนั้นดีหรือไม่ดี (“เอ๊ะ ทำไมพิธีกรถีงต้องไปเปิดประตูที่มีเเต่เเพะเเล้วให้เราตัดสินใจใหม่ด้วย”) เเต่เพราะ sunk cost fallacy ทำให้คนเราให้น้ำหนักกับสิ่งที่เราได้ตัดสินใจไปเเล้วมากเกินไปจนทำให้เราไม่ยอมเปิดรับข้อมูลที่พึ่งเข้ามาใหม่ๆ เพื่อช่วยในการ re-evaluate การตัดสินใจของเราในปัจจุบันเลย ซึ่งก็เป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเรามักที่จะไม่ยอมเปลี่ยนใจจากสถานะเดิมที่เป็นอยู่ไปเป็นอย่างอื่น ถึงเเม้ว่าการเปลี่ยนใจอาจจะให้ผลประโยชน์กับเรามากกว่าเดิมเป็นหลายเท่าด้วยกัน

เพราะฉะนั้น บทเรียนสำคัญบทเรียนหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มความสุขนั้นก็คือการเลิกเอาต้นทุนจมทั้งหลายมาเป็นตัวเเปรในการตัดสินใจว่าเราควรจะลงทุนต่อไปหรือว่ายอมที่จะถอนทุนดี ถ้าเราพบว่าสิ่งที่เราตัดสินใจทำไปเเล้วนั้นจะไม่ให้ผลตอบเเทนที่ดีกับเราเลยทั้งในปัจจุบันเเละอนาคต (หรือดีน้อยกว่าเสียเยอะมาก) เราก็ไม่ควรที่จะทำมันต่อเพียงเพราะว่าเรารู้สึกเสียดายกับต้นทุนที่ได้ลงไปเเล้ว ไม่ว่าต้นทุนที่ลงไปเเล้วนั้นจะเป็นเงินหรือเวลาหรือความรู้สึกธรรมดาๆ นี่เอง