ThaiPublica > เกาะกระแส > กระทรวงศึกษาเดินหน้า “โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน” เริ่มแล้วใน 20 เขตพื้นที่การศึกษาฯ

กระทรวงศึกษาเดินหน้า “โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน” เริ่มแล้วใน 20 เขตพื้นที่การศึกษาฯ

29 มกราคม 2015


เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาในโครงการนำร่อง 20 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อเสนอทางออกการศึกษาไทย ในโครงการ “การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน

ในช่วงครึ่งแรกของการประชุมมีการแบ่งผู้ร่วมประชุมเป็นกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทยใน 3 ประเด็นหลัก คือ ด้านวิชาการ เช่น หลักสูตร การเรียนการสอน ฯลฯ ด้านการบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครู และด้านการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งหลังจากหารือร่วมกันแล้วคณะประชุมมีข้อเสนอเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทยที่สามารถทำได้ทันที คือ

ในด้านวิชาการ สถานศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรให้เกิดการเรียนรู้ทั้งทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนสูงขึ้น ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนสามารถออกแบบหลักสูตร รวมถึงมาตรฐานตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลาง และสอดคล้องกับบริบทของปัญหาและความต้องการของสถานศึกษาแต่ละแห่ง มิใช่มุ่งเรียนกวดวิชาเพื่อสอบให้ได้คะแนนสูงๆ ตามที่หลักสูตรแกนกลางกำหนด

นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้เน้นคุณภาพของผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา โดยมีครูเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ เน้นทักษะชีวิตและทักษะกระบวนการทั้งด้านความสามารถ ด้านสติปัญญา ด้านสังคม ด้านเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับการวัดและประเมินผลผู้เรียนต้องมีวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้สามารถสะท้อนผลการเรียนรู้และพัฒนาการที่แท้จริงของผู้เรียน โดยเพิ่มการสอบแบบอัตนัยหรือการเขียนบรรยายมากขึ้น และลดวิชาสอบโอเน็ตจาก 8 กลุ่มสาระเหลือเพียง 5 กลุ่มสาระหลักคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคม

ส่วนด้านบุคลากร มีหัวใจสำคัญคือ คืนครูสู่ห้องเรียน เพื่อให้ครูมีเวลาพัฒนาผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการทำกิจกรรมพิเศษที่ดึงครูออกนอกห้องเรียน เช่น สัมมนา ฝึกอบรม ประชุม ฯลฯ ตามที่ส่วนกลางกำหนด นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาขาดครูในโรงเรียน เขตพื้นที่หรือโรงเรียนควรมีอำนาจคัดเลือกและโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ที่สำคัญคือการเลื่อนวิทยฐานะครู ให้ประเมินจากคุณภาพของผู้เรียนแทนการการทำเอกสาร

สำหรับด้านงบประมาณ เสนอให้ สพฐ. จัดสรรงบประมาณมาเป็นก้อนครั้งเดียวในรอบปีงบประมาณแก่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถบริหารงบประมาณให้สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง โดยแบ่งแยกงบประมาณให้ชัดเจนว่าเป็นงบประมาณพื้นฐาน งบประมาณรายหัว หรืองบประมาณเพิ่มเติม อีกทั้งยังเสนอให้เพิ่มงบประมาณรายหัวโดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่หน่วยงานต่างๆ เคยเสนอ เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ด้านรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม กล่าวว่า โครงการการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนมีที่มาจากผู้บริหารระดับนโยบายในกระทรวงศึกษาธิการวางแผนปฏิรูปการศึกษาไว้แล้วเป็นประเด็นๆ ไป ซึ่งในทุกประเด็นนั้นต้องบูรณาการสู่ผู้เรียนให้ได้ เพราะการปฏิรูปจากบนลงล่างอย่างที่ผ่านมาอาจไม่ตรงกับบริบทจริงจึงทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ และพื้นที่ที่เกิดปัญหาไม่ได้รับการดูแล ดังนั้นโครงการนี้จึงหันการปฏิรูปมาที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษานี้ เป็นการปฏิรูปของผู้ปฏิบัติงานจริง ทั้งในโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งปัญหาหลายเรื่องสามารถปฏิบัติได้ทันทีโดยไม่ต้องรอแก้ระเบียบหรือโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนและคืนครูให้ศิษย์ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การเรียนการสอนไม่มีคุณภาพ

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามีคำสั่งเห็นชอบแนวทางปฏิบัติตามโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษารองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 โดยมี สพฐ. เป็นเจ้าภาพ ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นชอบโครงการเพราะเป็นวิธีการปฏิรูปที่ได้ผลและสะท้อนการปรับระบบบริหารด้วย โดยในระยะแรกกำหนดให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำร่อง 20 เขต โดยแต่ละเขตมีโรงเรียนนำร่อง 15 แห่ง” รองศาสตราจารย์ประภาภัทรกล่าว

แถลงข่าว โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน นำโดย(จากซ้าย) นายวิบูลย์ ทานุชิต, นายสายันห์ ผาน้อย, นายพิธาน พื้นทอง, นายชลำ อรรถธรรม และนางประภาภัทร นิยม เมื่อวันที่ 24 มกราคม ณโรงแรมเดอ ม็อค กรุงเทพฯ
แถลงข่าว โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน นำโดย (จากซ้าย) นายวิบูลย์ ทานุชิต, นายสายัณห์ ผาน้อย, นายพิธาน พื้นทอง, นายชลำ อรรถธรรม และนางประภาภัทร นิยม เมื่อวันที่ 24 มกราคม ณ โรงแรมเดอ ม็อค กรุงเทพฯ

โครงการนี้เริ่มจากประกาศรับสมัครเขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมโครงการผ่านการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีเขตพื้นที่การศึกษาที่สนใจ 150 เขต โดยในระยะแรก สพฐ. คัดเลือกเขตพื้นที่การศึกษานำร่องจำนวน 20 เขต โดยคัดเลือกเขตที่มีความพร้อม ทำงานในพื้นที่มานานจนรู้และเข้าใจปัญหาของพื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างดี และมีความเป็นโค้ชอยู่ในตัวสามารถสอนผู้อำนวยการและครูได้ โดยจะดำเนินโครงการต่อเนื่องนาน 3 ปี และอีก 3 เดือนจะขยายเขตพื้นที่การศึกษาอีก 40 เขต และขยายต่อไปเรื่อยๆ จบครบทั่วประเทศ

สำหรับเขตพื้นที่การศึกษานำร่อง 20 เขต แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 17 เขต ได้แก่ ขอนแก่น เขต 1, เชียงราย เขต 1, ตราด, นครราชสีมา เขต 1, นครสวรรค์ เขต 3, น่าน เขต 1, พระนครศรีอยุธยา เขต 2, ภูเก็ต, ระยอง เขต 2, ราชบุรี เขต 2, ลพบุรี เขต 2, ลำปาง เขต 3, ศรีสะเกษ เขต 4, สุราษฎร์ธานี เขต 1, สตูล, อุบลราชธานี เขต 3 และอำนาจเจริญ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 3 เขต ได้แก่ เขต 5, เขต 22 และเขต 28

“ข้อเสนอและการดำเนินการต่างๆ ของโครงการจะรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบด้วย เพื่อให้ท่านช่วยดูว่าการปฏิรูปครั้งนี้อะไรบ้างที่อยู่นอกเหนือคำสั่งหรือหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับไปทำต่อในกรณีการแก้ระเบียบหรือกฎหมาย เช่น การเลื่อนวิทยฐานะครู ก็มีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูแก้ไขระเบียบ ในขณะที่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาหลายแห่งเริ่มนำข้อเสนอดังกล่าวไปใช้จริงแล้ว” รองศาสตราจารย์ประภาภัทรกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ข้อเสนอบางเรื่องอาจส่งให้สภาปฏิรูปจะรับช่วงต่อไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ และมีการตรากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้รับการศึกษาให้ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้น การปฏิรูปครั้งนี้จะเชื่อมโยงการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

ด้านนายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า ผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป ซึ่งโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนนี้จะสามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้จริง โดยหลังจากที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วในเขตพื้นที่การศึกษาฯ ภูเก็ต ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งผู้แทนเขตฯ ผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชน ผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และสื่อมวลชน เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องปัญหาการศึกษาและหนทางแก้ไข พบว่า ทุกฝ่ายต่างมีปัญหาแตกต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อสร้างให้เด็กเก่งและมีความพร้อม ซึ่งการแก้ปัญหานี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันไม่ใช่เพียงหน้าที่ของครู

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัญหาการศึกษาที่พบคือ 1. เด็กขาดสมาธิในการเรียน เพราะติดเทคโนโลยีจากสมาร์ทโฟน เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ซึ่งเด็กไทยมีสมาร์ทโฟนตั้งแต่ระดับอนุบาลแล้ว และทางโรงเรียนก็ไม่สามารถสั่งห้ามใช้โทรศัพท์ได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือผู้ปกครองไม่ให้เด็กใช้โทรศัพท์เท่านั้น 2. เด็กไทยไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่เห็นความสำคัญของการเรียนว่าต้องเรียนเพื่อเตรียมพร้อมในอนาคตอย่างไรบ้าง 3. ผู้ปกครองไม่ส่งเสริมการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหากต้องมีค่าใช้จ่าย เพราะติดกับคำว่า เรียนฟรี และ 4. ครูและผู้ปกครองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

“การศึกษาคือการพัฒนาคน แต่การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับโอเน็ตมากเกินไป ทั้งๆ ที่โอเน็ตเป็นเพียงผลพลอยได้จากการสอนให้เด็กใฝ่รู้ใฝ่เรียนและเป็นคนดี โดยคนจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความซื่อสัตย์ และปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยมารยาทที่ดี ซึ่งหากเด็กมีทั้ง 4 ข้อนี้ก็จะกลายเป็นคนเรียนเก่งได้โดยไม่ต้องเรียนพิเศษ” นายชลำกล่าว

อีกทั้งการบริหารงานบุคคลก็มีปัญหา ทั้งเรื่องปริมาณงานครูและครูที่เหมาะสมกับรายวิชาต่างๆ ที่ต้องรอการจัดสรรจาก สพฐ. ส่วนกลาง เสมือนว่ากระทรวงศึกษาธิการทำงานแบบไม่เชื่อใจกัน กลัวการทุจริต คอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่เขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งสามารถจัดการได้เอง ส่วนปัญหาการบริหารจัดการในโรงเรียนจะหมดไป หากผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง ทำงานอย่างเต็มที่ และไม่มุ่งหวังเฉพาะความก้าวหน้าส่วนตัว นอกจากนี้ การดึงครูออกจากห้องเรียนก็เป็นปัญหาที่ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ที่จำเป็น เช่น กิจกรรมเดินรณรงค์ต้านยาเสพติด การจัดอบรมครูของ สพฐ.

นายชลำกล่าวอีกว่า ครึ่งเดือนที่ผ่านมา ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการโรงเรียน และบุคลากรในโรงเรียน ได้ร่วมกันสังเกตการณ์ปัญหาต่างๆ ภายในโรงเรียน แล้วประชุมร่วมกันเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น โดยโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาฯ ภูเก็ตนี้มีวิธีปฏิบัติ 3 แนวทาง แล้วแต่ความเหมาะสม คือ 1. โรงเรียนจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้นมาสังเกตการณ์ปัญหาและนำไปปรับปรุงแก้ไข 2. บุคลากรทุกคนในโรงเรียนช่วยกันสังเกตการณ์แล้วมาเสนอแนวทางแก้ไข และ 3. ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้สังเกตการณ์และหาทางแก้ไข ซึ่งวิธีการเหล่านี้ช่วยให้บุคลากรทุกคนรู้ปัญหาและปรับบทบาทการหน้าที่ทั้งครูและผู้บริหาร ที่จะส่งผลให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น

“สิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือ เด็กต้องอ่านออก เขียนได้ คิดเลขได้ และปรับตัวในสังคมได้อย่างมีความสุข” นายชลำกล่าวและว่า ตอนนี้ในพื้นที่มีเด็กอ่านเขียนภาษาไทยไม่ออกจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เด็กเรียนไม่เก่งและสอบได้คะแนนน้อย ดังนั้น เขตพื้นที่ฯ จึงเร่งแก้ปัญหาโดยวางแผนดึงเด็กกลุ่มนี้ออกจากระบบการประเมินปกติ โดยแบ่งการสอบวัดผลภาษาไทยทุกระดับชั้นเรียน (ประถมศึกษาปีที่ 1-6) ภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง หากเด็กคนไหนสอบไม่ผ่านให้ครูแยกสอนพิเศษเป็นรายบุคคลจนกว่าเกณฑ์ความรู้ภาษาไทยจะอยู่ในเกณฑ์ตามชั้นเรียน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มสกัดเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ซึ่งหากสอบไม่ผ่านก็จะไม่สามารถขึ้นชั้นเรียนต่อไปได้ โดยจะให้ผู้อำนวยการและครูช่วยสอนซ้ำเพื่อสอบวัดผลใหม่ภายใน 2-3 เดือน หากยังสอบไม่ผ่านไม่อีกก็จะเชิญผู้ปกครองมาทำความเข้าใจร่วมกันและจัดค่ายคลินิกภาษาให้เด็กอีกครั้งในช่วงปิดภาคเรียนแล้วไปสอบวัดผลอีกครั้ง ซึ่งการสอนเพิ่มเติมนี้จะให้ครูเป็นผู้เขียนตำราสอนด้วยตัวเอง ทั้งนี้หากเด็กยังสอบไม่ผ่านอีกจำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะเด็กอาจมีปัญหาทางสุขภาพหรือสติปัญญา

สำหรับโรงเรียนอาชีวศึกษานั้น นายชลำกล่าวว่า มีปัญหาขาดแคลนนักเรียน นั่นเพราะเด็กขาดการแนะนำที่ดี เช่น เด็กไปเรียนโดยที่ไม่ได้สำรวจตัวเองว่ามีความพร้อมหรือไม่ สาขาที่เรียนเหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักจะไปสมัครเรียนตามเพื่อน ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่อยากเรียนหากเพื่อนสอบไม่ติด หรือลาออกหลังจากเรียนได้สักระยะ ซึ่งทางเขตพื้นที่ได้แก้ปัญหานี้โดยให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เขียนเรียงความว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรภาคการเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อสำรวจตัวเอง

ต่อมาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จะให้ครูดูเรียงความของนักเรียนเพื่อสำรวจและแนะแนวว่าอาชีพในงานนั้นเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ และต้องพัฒนาวิชาไหนเพิ่มขึ้น ต่อมาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็จะเรียกพบผู้ปกครองเพื่อคุยร่วมกันว่าเด็กมีความต้องการอย่างไร ศักยภาพของเด็กเป็นอย่างไร และผู้ปกครองมีศักยภาพในการสนับสนุนเด็กไปในทิศทางใดได้บ้าง ซึ่งจะทำให้เด็กรู้ว่าควรจะไปเรียนด้านไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด เช่น ที่บ้านมีกิจการโรงแรมก็อาจจะเรียนการโรงแรมหรือบริหาร ซึ่งปัจจุบันสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ตได้ทำข้อตกลงร่วมกับกับอาชีวศึกษาทุกแห่งว่าจะรับนักเรียนทันทีโดยไม่ต้องสอบหากผ่านการคัดกรองของโรงเรียนด้วยระบบดังกล่าวแล้วมีความเหมาะสม ซึ่งจะแก้ปัญหานักเรียนลาออกกลางคันและปัญหาการว่างงานได้