ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. หนุนแบงก์พาณิชย์มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เปิดแผนปี’58 ใช้ stress test คุมเข้ม – ใช้ATMในอาเซี่ยนได้

ธปท. หนุนแบงก์พาณิชย์มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เปิดแผนปี’58 ใช้ stress test คุมเข้ม – ใช้ATMในอาเซี่ยนได้

16 มกราคม 2015


นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงภาพรวมสถาบันการเงินปี 2558 ว่า ธนาคารพาณิชย์ตั้งเป้าการให้สินเชื่อเฉลี่ย 7% โดยธนาคารขนาดเล็กมีเป้าเฉลี่ยที่ประมาณ 10% ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ตั้งเป้าตั้งแต่ 5-9% ทั้งนี้ ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค น่าจะเป็นภาคธุรกิจที่ขยายตัวได้ดี

ในระยะหลังตัวเลขการปล่อยสินเชื่อเติบโตได้ไม่เกินเลข 2 หลัก ส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจธนาคารในอนาคต ต้องหันมาเพิ่มประสิทธิภาพ ขยายฐานลูกค้า ลดต้นทุน และสร้างกำไรจากรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ยังต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและป้องกันการทุจริตด้วย

“สินเชื่อมันไม่โตเป็นเลขสองหลักได้อีกแล้ว เราผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เสนอบริการธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล (digital banking) มากขึ้น อยู่ในแผน 5 ปีของเรา เริ่มตั้งแต่ปี 2555 เตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเอาไว้ สอดรับกับเศรษฐกิจดิจิทัลของท่านรองนายกฯ (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล)” นางทองอุไรกล่าว

สำหรับสินเชื่อคงค้างรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ 11 เดือนแรก ในปี2557 มีจำนวน 11.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% โดยแบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจ 7.6 ล้านล้านบาท สินเชื่ออุปโภคบริโภค 3.4 ล้านล้านบาท ขณะที่คุณภาพสินเชื่อ ณ ไตรมาส 3 ปี 2557 พบว่าด้อยลงจาก 2.15% ในปี 2556 เป็น 2.34% โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่ออุปโภคบริโภคจาก 2.20% ในปี 2556 เป็น 2.65% ในไตรมาส 3 ปี 2557

นางทองอุไรกล่าวว่าหนี้เสียของสินเชื่ออุปโภคบริโภคไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น ตัวเลขหนี้เสียจะเริ่มนิ่งและชะลอตัว โดยจะไม่ลดลงในทันที เนื่องจากธรรมชาติตัวเลขหนี้เสียจะมีความล่าช้าจากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจ แต่ระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันยังมีฐานะดีและมีการกันสำรองสูงถึง 1.6 เท่าเทียบกับเงินสำรองพึงกัน และ 1.35 เท่าเทียบกับหนี้เสียที่มี เช่นเดียวกับเงินกองทุน BIS ที่สูงถึง 17% จากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 8.5%

“หนี้ครัวเรือนที่กังวลเป็น 30 % ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ สินเชื่อที่เคยกลัวว่าโตเหลือเกิน 17% พอมาดู วันนี้เทียบกับจีดีพีที่ขยายตัว 0.8% สินเชื่อโตได้ 5% ก็ทยอยปรับตัวลดลง ไม่สูงเกินไปจนต้องกังวลเหมือนในอดีต พอดูสินเชื่อที่โตก็ยอมรับว่าอุปโภคบริโภคยังโต 7% กว่า แต่เทียบกับที่เคยโต 20% แล้ว คิดว่าธนาคารพาณิชย์ก็ปรับตัว บริหารความเสี่ยงได้ดีตามมาตรฐาน ค่อยๆ ดึงลงมา” นางทองอุไรกล่าว

แผนงานสถาบันการเงินปี 2558-2559

นางทองอุไรกล่าวถึงแผนงานด้านสถาบันการเงินปี 2558-2559 ว่าจะเน้นการกำกับและตรวจสอบ ร่วมกับการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีรายละเอียดดังนี้

1) จะมีการนำหลักเกณฑ์ของธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (ECB) ในการจัดทำการทดสอบความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน (stress test) มาปรับใช้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ความเข้มงวดมากกว่าของประเทศไทย ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาการทดสอบของ ธปท. ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือเศรษฐกิจหดตัว -2% พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมจะมีเงินกองทุนสำรอง BIS ลดลงจาก 15.6% ในปี 2556 เป็น 13.9% ในปี 2558 ซึ่งยังสูงกว่าเกณฑ์ 8.5% ของ ธปท.

2) จัดการตรวจสอบ target exam ในธุรกรรมที่สำคัญเพื่อติดตามผลกระทบโดยรวมซึ่งมุ่งเน้นในด้านสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและแนะนำแนวทางแก้ไขหนี้กับธนาคาร

3) มีการตรวจสอบและกำกับระบบสารสนเทศและการชำระเงิน (IT & payment system) โดยวางแนวทางไว้ 4 ข้อ ได้แก่ ต้องมีการประเมินแผนการพัฒนา ลงทุน และควบคุมระบบสารสนเทศที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับธุรกิจ โดยต้องมีความพร้อมเพียงพอที่จะให้บริการ, ต้องมีการประเมินการควบคุมการให้บริการ e-banking และ e-payment ของผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมไปถึงสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารด้วย เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภค, ต้องมีการประเมินแผนการปรับเปลี่ยนบัตรเดบิตและตู้กดเงินสดให้รองรับระบบ chip card พร้อมจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน, ต้องมีการประเมินการควบคุมของระบบหลังออฟฟิศ เน้นความถูกต้องของข้อมูล ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และป้องกันการทุจริต

4) มีการปรับปรุงระบบเงินกองทุนสำรองหรือ Basel III มีการทยอยเพิ่มปริมาณเงินกองทุนจาก 8.5% เป็น 11% มีการเพิ่มสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินไหลออกของธนาคารจาก 60% ในปี 2559 เป็น 100% ในปี 2563 ทั้งนี้อาจจะไม่มีการปรับหลักเกณฑ์ทั้งหมดมาใช้ เนื่องจากมีความเข้มงวดมากเกินไปสำหรับประเทศไทย และสร้างต้นทุนในการดำเนินการของระบบธนาคาร

5) พัฒนาระบบชำระเงินในกลุ่มประเทศอาเซียน (Asian Payment Network) เพื่อให้สามารถใช้ ATM ในกลุ่มประเทศร่วมกันได้

6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน มีการสร้างฐานข้อมูลสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี มีการผลักดันให้สหกรณ์ต่างๆ เข้าร่วมสมาชิกเครดิตบูโร

7) ดำเนินการแผนพัฒนาการระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 เน้นด้านประสิทธิภาพ การเข้าถึง โครงสร้างพื้นฐาน และการแข่งขัน

สำหรับความคืบหน้าการโอนกำกับ ตรวจสอบ และสั่งการ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐให้ธปท.ดูแล นางทองอุไรระบุว่า ธปท. จะทยอยออกหลักเกณฑ์กำกับดูแล เริ่มจากหลักเกณฑ์ Basel II โดยจะแบ่งเป็น 3-4 ระยะ เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัว ซึ่งคาดว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 จะออกกฎเกณฑ์ในเรื่องเงินกองทุนสำรองที่ 8.5% เท่ากับธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ต้องมีการทบทวนพันธกิจหลักสถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ ซึ่งมักจะเป็นภาคส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สนใจเข้ามาอยู่แล้ว ดังนั้น การปฏิบัติตามพันธกิจหลักได้ก็จะทำให้สามารถสร้างการแข่งขันอย่างเป็นกลางกับธนาคารพาณิชย์ได้ในที่สุด

ขณะที่ความคืบหน้าสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) ซึ่งไม่มีหลักประกัน ทาง ธปท. กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขณะที่บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต้องยื่นขออนุญาต ธปท. ผ่านสำนักงานภาคก่อน ทั้งนี้ กำหนดให้ปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 7 เท่าของเงินกองทุน (ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 12 เท่าของเงินกองทุน) คิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับไม่เกิน 36%