ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยเศรษฐกิจไทย 2558 รักยาวให้บั่น…รักสั้นให้ต่อ (ต้องเลิกพฤติกรรมแบบเดิมๆ นโยบายแบบเดิมๆ)

ว่าด้วยเศรษฐกิจไทย 2558 รักยาวให้บั่น…รักสั้นให้ต่อ (ต้องเลิกพฤติกรรมแบบเดิมๆ นโยบายแบบเดิมๆ)

4 มกราคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

วันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ใกล้จะสิ้นสุดลง ซึ่งหลังจากพักผ่อนชาร์ตแบตกันเต็มที่เตรียมตัวจะเผชิญกับปีมะแมแพะ หลายคนก็เริ่มที่จะกังวลใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่และกำลังจะต้องเผชิญ โดยเฉพาะกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีท่าทีที่จะรุ่งเรืองขึ้นเลยหลังจากที่ต้องฟันฝ่าภาวะแสนสาหัสในปีมะเมียม้าที่ผ่านมา

…เศรษฐีกลัวว่าความร่ำรวยจะถดถอย …ลูกจ้างตั้งแต่ผู้บริหารยันเสมียน กลัวว่าจะต้องทำงานยากงานหนัก ค่าจ้างไม่เพิ่ม แถมหน้าที่การงานไม่มั่นคง …เกษตรกรกังวลกับการตกต่ำของราคาผลิตผล แถมยังจะถูกซ้ำเติมด้วยภาวะภัยแล้งที่จะมีมาอย่างแน่นอน
…แม้ข้าราชการที่ปกติจะไม่ค่อยรู้ร้อนรู้หนาวกับใคร ก็ยังต้องกังวลว่าแนวทางปฏิรูปประเทศที่เป็นอยู่จะกระทบกับหน่วยงาน องค์กร และวิธีทำงานที่เคยเช้าชามเย็นชามได้อย่างสบายหรือไม่ ค่าน้ำร้อนน้ำชาที่เคยมีมาจะหดหายไปบ้างหรือเปล่า จะเอาแค่ปล่อยเกียร์ว่างรอนายเก่ากลับมาก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่รอดถึง

แม้คนที่อยู่ในวงการคอร์รัปชันทั้งผู้ให้ผู้รับ ที่เดิมจะหาช่องร่ำรวยกันได้ทุกสภาพดินฟ้าอากาศก็ยิ่งต้องกลัดกลุ้ม วุ่นวายอยู่กับการหาช่องเจาะเข้าศูนย์อำนาจปัจจุบัน แถมหัวข้อใหญ่ที่สุดในการปฏิรูปครั้งนี้ยังเน้นจะปราบโกงลดโกงกันเสียอีก ผู้บริหารประเทศที่ถึงแม้จะมีอำนาจเด็ดขาดก็ยิ่งกังวลจนหลายคนคิดว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นจุดชี้ความอยู่รอดของรัฐบาลนี้เลยทีเดียว ยิ่งสื่อยิ่งไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากทุกฝ่ายกังวลสนใจกันมากในเรื่องนี้ สื่อก็เลยต้องประโคมประเด็นปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นกันแทบทุกวัน จนเป็นวงจรหมุนเวียนให้เป็นเรื่องสำคัญขึ้นไปใหญ่

ภาวะเศรษฐกิจปี 2558 ดูจะเป็นศูนย์รวมความสนใจปัจจุบันของเกือบทุกคนทุกฝ่ายเลยทีเดียว เศรษฐกิจปี2558 จะเติบโตมากน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ ดูจะเป็นสิ่งที่คนจรดจ่อสนใจ อยากรู้เสียเหลือเกิน

ที่มาภาพ :https://www.facebook.com/BBCThai
ที่มาภาพ :https://www.facebook.com/BBCThai

แล้วเศรษฐกิจมันจะเป็นอย่างไรล่ะ

ความจริงเป้าหมายระยะยาวของการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่มุ่งแต่จะให้เติบโตในระยะสั้นแต่อย่างใด เป้าหมายสำคัญจริงๆมีอยู่ 4 ประการ คือ ความมั่งคั่ง การกระจายอย่างทั่วถึง เสถียรภาพ และการเติบโตอย่างยั่งยืน เพียงแต่มาตรวัดที่วัดได้ง่ายในระยะสั้นนั้นจะเน้นการเติบโตปีต่อปี อัตราเงินเฟ้อ และการมีงานทำ ส่วนเรื่องระยะยาววัดได้ยาก ต้องรอประวัติศาสตร์เป็นผู้บอก เลยทำให้ทุกคนพุ่งความสนใจแต่เรื่องระยะสั้นกันหมด มักจะละเลยเรื่องระยะยาวไป โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศที่เป็นนักการเมือง ยิ่งอยากอยู่ในอำนาจยาวยิ่งต้องทำแต่เรื่องสั้นๆให้ถูกใจคนไว้ก่อน แก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องยาวๆเอาไว้ก่อน

ที่ผมค่อนข้างแปลกใจ…คือ รัฐบาลปัจจุบัน ที่ประกาศตลอดมาว่าจะอยู่ไม่นาน (ขนาดป๋าเปรมลงทุนตื๊อท่านยังปฏิเสธเลย) จะมุ่งเน้นเรื่อง”ปฏิรูป” …แต่ปากว่าอย่างนั้น พฤติกรรมดูจะเป็นอีกอย่าง วันๆกังวลอยู่แต่กับตัวเลขการเติบโต ทีมเศรษฐกิจเพียรหามาตรการกระตุ้นระยะสั้นกันตลอดมา งัดเอาประชานิยมทั้งรูปแบบใหม่ หรือรูปแบบเก่าแต่เปลี่ยนชื่อใหม่มาใช้กันดาษดื่น หรือไม่ก็เร่งเบิกจ่ายเงินหลวง เร่งลงทุนในโครงการแบบเดิมๆ …ดูจะสนใจเรตติ้ง สนใจความนิยมระยะสั้นเหมือนกับพวกนักการเมืองทุกประการ …มีคนบอกว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งผมนึกไม่ออกว่ามันเกี่ยวอะไรกัน ทางเดียวที่ท่านจะอยู่ไม่ได้(ถ้าไม่ได้หวังจะอยู่นาน) ก็คือ ทหารพวกเดียวกันหักหลัง ลุกขึ้นมายึดอำนาจ …คุมพวกเดียวกันได้เท่านั้นก็ไม่ต้องกลัวใคร น่าจะมุ่งปฏิรูปสร้างประวัติศาสตร์ได้เต็มที่

เรื่องการเติบโตระยะสั้นนี่ ความจริงแล้วคนก็จำได้สั้นๆเท่านั้น อย่างยุคนายกฯทักษิณ ที่คุยนักหนาว่าสุดยอดด้านเศรษฐกิจ ปี 2544-2549 หกปี GDP โตเฉลี่ยแค่ 5.1 % ต่อปีเท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าประเทศ Emerging Market อื่นๆ และเป็นอันดับโหล่เปรตในอาเซี่ยน (สี่สิบปีก่อนวิกฤติเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยเกือบ 8 % ต่อปี นับเป็นอันดับต้นๆของโลก) ที่รากหญ้ารักทักกี้น่ะเป็นเพราะเรื่องการกระจายด้วยประชานิยมมากกว่า(เคยเขียนบรรยายรายละเอียดไว้ใน“ข้อเสนอต่อประเทศไทย”เมื่อปลายปี 2556)

ยิ่งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยิ่งแล้วใหญ่ 3 ปีโตเฉลี่ยแค่ปีละ 3.2% เท่านั้นเอง แค่ครึ่งเดียวของอัตราเฉลี่ยASEANอื่นๆ …ซึ่งจะว่าไปแล้วอัตราเติบโตของไทยตั้งแต่หลังวิกฤติ 2540 ก็นับได้ว่าย่ำแย่มาตลอด 16 ปี โตแค่เฉลี่ยปีละ 3.1 % เท่านั้นเอง ต่ำที่สุดในอาเซี่ยน และ Emerging Market ทั้งหลาย เรียกว่า“ติดกับดัก”อย่างแท้จริง ถ้าโตอัตรานี้ไปเรื่อยๆต้องอีกอย่างน้อย 30 ปีโน่นแหละครับถึงจะได้ชื่อว่าเป็น”ประเทศพัฒนา” ที่น่าห่วงกว่าก็คือ นักเศรษฐศาสตร์เขาว่าเรามีศักยภาพที่จะโตได้ 4.5 % ซึ่งก็นับว่าแย่แล้ว แต่ดันทำได้ต่ำกว่าศักยภาพอีกตั้งเกือบ 30 % เสียอีก

เรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องนอกเหนือจากโตมากโตน้อยก็คือ “โตมาอย่างไร?” ถ้าโตมาอย่างแข็งแรง ต่อให้โตช้าไปบ้างแต่ก็จะมีรากฐานมั่นคง พร้อมที่จะทะยานเมื่อโอกาสเหมาะสม พร้อมที่จะผจญกับภาวะผันผวน แต่ถ้าโตมาอย่างปลอมๆ โตอย่างกลวงๆ โตมาอย่างไม่สมส่วน ยิ่งน่าห่วงว่านอกจากโตช้าแล้ว ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง พร้อมที่จะหกล้ม พร้อมที่จะระเบิดเกิดวิกฤติในอนาคตได้ง่ายๆ

อย่างเมื่อปี 2537 Paul Krugman เคยชี้ไว้ชัดเลยว่า การที่ประเทศ Emerging Asia เติบโตมากมายในช่วงนั้น โดยใช้”การลงทุน”นำนั้น สุดท้ายแล้ว ถ้าการลงทุนนั้นไม่สร้างให้เกิด ประสิทธิภาพการผลิต(Productivity)แล้ว ก็จะไปไม่รอด ยิ่งกู้หนี้ยืมสินมาสักแต่ว่าลงทุน แต่คุณภาพไม่เพิ่มยิ่งชิบหายแน่ …ในที่สุดพวกเราก็เจอวิกฤติต้มยำกุ้งเข้าเต็มเปาในปี 2540 ส่วนคุณPaulก็ได้ Nobel Prize ไป

เราลองมาส่องดูกันหน่อยไหมครับ ว่าสิบเจ็ดปีหลังวิกฤติ เราเติบโตมาอย่างไร

ผมขอใช้ Econ 101 อธิบายแบบง่ายๆนะครับ โดยใช้วิธีวัด GDP ทางด้าน Expenditure Approach ซึ่งมี สูตรอยู่ว่า Y = C+I+G+(X-M) นั่นคือ รายได้ประชาชาติ เป็นผลรวมของ การบริโภค การลงทุน ค่าใช้จ่ายรัฐ และการส่งออกสุทธิ(หลังหักการนำเข้า)

ใครๆก็รู้ว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตมากที่สุดช่วงหลังคือการส่งออก(Export) ซึ่งหลังจากค่าเงินลดลงมาก การส่งออกไทยก็รุ่งพุ่งแรง เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจตลอดมา และใครๆก็รู้อีกว่า การส่งออกของเรากำลังมีปัญหา ทั้งการที่ภาวะโลกไม่เอื้อ ทั้งการที่เราไม่ได้ไต่ Value Chain ไม่เคยสนใจทำ R&D ไม่ได้เพิ่ม Productivity การผลิต จนคู่แข่งเริ่มได้เปรียบเรามากขึ้นในหลายๆอุตสาหกรรม ใครหวังให้การส่งออกเติบโตแรงในปีนี้น่าจะผิดหวัง

หันมาทางด้านการบริโภค(Consumption)บ้าง ถ้าการบริโภคเพิ่มนั้นมาจากการที่ประชาชนมีรายได้เพิ่ม แล้วเลยกินใช้มากขึ้นหลังจากเก็บออมไว้ตามสมควรแล้วย่อมเป็นเรื่องประเสริฐสุด แต่ของเราที่เพิ่มนั้น ส่วนหนึ่งชัดเจนว่ามาจากการก่อหนี้ยืมสิน ที่ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นหลายเท่าจนแตะขีดอันตราย อีกส่วนน่าสงสัยมากว่าน่าจะมาจากการประชานิยมสุดโต่ง หรือพูดง่ายๆว่ารัฐหาทางยัดเงินลงไปให้เอาไปใช้จ่ายนั่นเอง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะอย่างไรก็มีจุดจำกัดที่ไม่อาจขยายไปได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งผมเห็นว่าเราเข้าใกล้จุดนั้นแล้ว ถ้าฝืนทำต่อย่อมอันตรายอย่างยิ่ง

ด้านการลงทุนภาคเอกชน(Investment) ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เอกชนไทยลงทุนน้อยต่อเนื่องมาตลอด บริษัทไทยนิยมเก็บเงินสด ไม่ชอบกู้ลงทุน แถมนิยมไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ(ก็เงื่อนไขสภาวะในประเทศมันไม่เอื้อนี่ครับ) แถมพอศักยภาพการแข่งขันโดยรวมลดลง ทั้งไทยทั้งเทศเลยชะลอการลงทุน ซึ่งนี่เป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับระยะยาวมาก เพราะการลงทุน(ที่มีคุณภาพ)หมายถึงการรักษาปรับปรุงศักยภาพนั่นเอง

เหลือปัจจัยสุดท้ายที่ทุกคนทุ่มเทความหวังไว้ให้ คือค่าใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ จะเห็นว่าถนนทุกสายพุ่งไปพึ่งพารัฐกันหมด อยากให้รัฐใช้จ่ายเยอะๆเร็วๆ ลงทุนมากๆทั่วๆ กระตุ้นทุกด้าน ช่วยทุกคนไปหมด ทั้งคนจน เกษตรกร คนงาน ลูกจ้าง SMEs ยันไปจนถึงธุรกิจพ่อค้าเศรษฐี ทุกคนหวังพึ่งรัฐ ทำตัวแบมือขอเหมือนอย่างที่เคย ให้สมกับที่เขาว่าเราเป็นระบบสังคมอุปถัมภ์(Patronage) รัฐก็ชอบทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี พร้อมรับภาระ กระโดดลงมาทำให้ทุกอย่าง

ถ้าเราสังเกตวิเคราะห์ให้ดี การเติบโตระยะหลังๆนี่มาจากการที่รัฐอัดเงินเข้าไปเยอะมาก ถ้าดูจากงบประมาณเฉยๆอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าดูจากการขยายตัวของรัฐวิสาหกิจ ที่ขยายสามเท่าตัว(จากขนาดค่าใช้จ่าย 18 % ของ GDP เป็น 45% ) กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายอีกสี่เท่า(จากทรัพย์สิน 13% ของ GDP เป็น 47%) กับยังมีภาระซ่อนเร้นไว้ตามที่ต่างๆอีกมาก เช่น ภาระขาดทุนจากการค้ำประกันสินค้าเกษตร(ไม่เฉพาะแต่ข้าว) และภาระหนี้สินที่เสียหายจากโครงการต่างๆ ที่รวมๆกันน่าจะมากกว่าหนึ่งล้านล้านบาทที่ยังไม่นับเข้างบประมาณ และไม่รวมเป็นหนี้สาธารณะ

ผมขอสรุปเลยว่า การเติบโตตลอด 17 ปีหลังวิกฤตินี้ เป็นการเติบโตที่ไม่เข้มแข็งนัก เป็นการเติบโตที่รัฐมีส่วนมากเกินไป ซึ่งอันที่จริงการที่รัฐใช้เงินมากมีบทบาทมากก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ถ้าเป็นการใช้จ่าย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ก่อให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพในอนาคต และไม่สร้างภาระมากมายให้กับคนรุ่นต่อไป ไม่รั่วไหลไปเข้ากระเป๋าใครโดยมิชอบ แต่นี่มีบทพิสูจน์มากมาย ว่ารัฐไทยนั้น นอกจากไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีการโกงกินกันอย่างมโหฬาร จึงทำให้รากฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงทุกวัน

ยกตัวอย่างรัฐวิสาหกิจ ที่ลงทุนขยายตัวอย่างมาก รายที่มีกำไรเกือบทุกรายเป็นเพราะมีอำนาจผูกขาด แต่รายที่ต้องแข่งกับเอกชนเกือบทุกรายมีสถานะย่ำแย่ใกล้ล้มละลาย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพสุดห่วย และที่ไม่แปลกใจก็คือ แผนแก้ไขของทุกแห่งเหมือนกันหมด คือ ขอเงินไปลงทุนเพิ่ม เพื่อกลบปัญหาไว้ใต้พรม ผลักปัญหาและหายนะไปไว้วันหน้าอย่างที่เคยทำ ซึ่งรัฐบาลการเมืองที่ผ่านมาใช้วิธีนี้แก้ปัญหากลบปัญหามาตลอด เพราะการลงทุนเพิ่มย่อมหมายถึงค่าคอมส่วนแบ่งที่จะแบ่งปันกัน

ในยุครัฐบาลที่มาจากการเมืองนั้น การเติบโตระยะสั้นเป็นเรื่องสำคัญ คะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าสำคัญกว่าความยั่งยืนของประเทศในระยะยาวมากนัก นโยบายต่างๆจึงมุ่งกระตุ้นมุ่งแจกให้ผู้ลงคะแนน ทรัพยากรอนาคตถูกเบียดบังเอามาในรูปแบบต่างๆเต็มที่ ภาระลูกหลานไม่ค่อยเป็นที่สนใจ ยิ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ สื่อไม่รู้ทัน(หรือได้รับอามิสเพียงพอ) นักวิชาการสอพลอมีมากมาย แถมมีแรงจูงใจจากการคอร์รัปชันอย่างมโหฬารเข้าไปอีก เดินบิดเบี้ยวอย่างนี้ไปเรื่อยๆต้องเกิดหายนะเข้าสักวันอย่างแน่นอน และไม่น่าจะนานเกินรอ

ความจริงแล้วถ้าไม่เกิดปฏิวัติ นักการเมืองก็คงจะบริหารประเทศแบบเดิมๆไปเรื่อยๆ หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มพูนไปเรื่อยๆทั้งที่เป็นทางการและที่ซ่อนเอาไว้ในรูปแบบต่างๆ แล้วเราก็เสี่ยงสูงที่จะเจอวิกฤติอีกรอบภายในสิบปี ซึ่งคราวนี้จะเป็นวิกฤติภาครัฐเหมือนอย่างกรีซ และพวก PIIGS ซึ่งก็จะเกิดการปรับตัวขนานใหญ่ แล้วประชาธิปไตยก็จะได้บทเรียนพัฒนาดีขึ้น

เลยเกิดคำถามว่าการเติบโตในปี 2558 นั้นสำคัญไฉน ถ้าเติบโตกลวงๆแบบที่ผ่านมาเรายังต้องการอีกไหม

ถ้าเราไม่อยากให้การรัฐประหาร 22 พค.2557 นั้นเสียของ เราต้องคิดเลยไปให้ไกลกว่าแค่อัตราเติบโตในปีนี้ แต่เราต้องปฏิรูปให้การเติบโตมีคุณภาพขึ้น ไม่ยอมให้มีการใช้วิธีลูบหน้าปะจมูก หวังแค่ระยะสั้นอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ต้องไม่ยอมให้มีการใช้ทรัพยากรภาครัฐโดยเฉพาะทรัพยากรอนาคตของชาติมาใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้รั่วไหลมากมาย ไม่ช่วยปรับรากฐานสำหรับอนาคต

การปฏิรูปเช่นที่ว่า จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะปัญหาหมักหมมมากว่ายี่สิบปี จะต้องปรับวางโครงสร้าง ออกกฎระเบียบต่างๆ สร้างกลไกติดตามดูแล โดยเฉพาะต้องคิดเผื่อไว้ให้ระบบระเบียบ และกลไกต่างๆยังคงอยู่หลังจากที่ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อควบคุมท่านนักการเมืองทั้งหลายไม่ให้ออกนอกกรอบ ไม่ให้ถลุงชาติอย่างที่เคย

แต่ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลปัจจุบันจะต้องริเริ่มด้วยตัวเองเป็นตัวอย่างให้ได้ก่อน ถ้ายังคงพฤติกรรมแบบเดิมๆ ใช้วิธีแบบเดิมๆ ประชานิยมแบบเดิมๆ ลงทุนกันอย่างเร่งรีบ ชุ่ยๆแบบเดิมๆ ผ่านนายหน้าเจ้าเดิม ลอบบี้ยิสต์คนเดิม

ถ้าตัวเองไม่ริเริ่มเปลี่ยนแปลงก่อน ก็อย่าหวังปฏิรูปให้ใครเขาทำตาม

จริงอยู่ที่ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลเศรษฐกิจระยะสั้นด้วย โดยเฉพาะต้องไม่ให้เครื่องดับในภาคส่วนที่สำคัญๆ จะต้องรักษา Momentum การขยายตัวในเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่ในเรื่องที่ไม่ช่วยให้เราแข็งแรงในระยะยาว เช่น ประชานิยมที่ไม่สร้างสรรค์ พยุงราคาโดยไม่เพิ่มผลิตภาพ หรือการลงทุนที่ไม่ตรงจุด ไม่ตอบโจทย์ แถมรั่วไหลเยอะ อย่างนั้นไม่ต้องให้โต ให้หดได้ยิ่งดี

ธุรกิจที่มีศักยภาพ ที่มีคุณภาพต้องคอยดูแล แต่ธุรกิจที่ไร้อนาคต หรือมีแต่คอยฉ้อฉล เติบโตจากการคอร์รัปชัน อย่างนั้นบีบให้เจ๊งให้เลิกได้ยิ่งดี เอาแค่เศรษฐกิจไม่ถดถอยหดตัว คอยดูแลแต่คนจน คนด้อยโอกาส คนตัวเล็กๆ ส่วนเศรษฐีพ่อค้า โดยเฉพาะที่ฉ้อฉลติดสินบน ไม่จำเป็นต้องเหลียวแล

ถ้าทำอย่างที่ว่าเศรษฐกิจอาจไม่รุ่งพุ่งแรง แต่จะเป็นการปรับฐานที่สำคัญ ปรับอนาคตไม่ให้เติบโตแบบเสี่ยงแบบกลวงเหมือนที่ผ่านมา ถ้าการปฏิวัติจะมีประโยชน์บ้าง ก็ต้องทำแบบนี้ ถ้าห่วงแต่การเติบโตระยะสั้น แล้วทำแบบเดิมๆ ก็ต้องใช้กลไกที่มีอยู่ซึ่งทั้งห่วยทั้งรั่วไหล และก็รับประกันได้ว่า แป๊บเดียวคนก็ลืมว่าเติบโตเท่าไหร่ แล้วจะกลับมาบ่นว่า”เสียของ”เปล่าๆ(ใครจำได้ไหมครับว่าปี 2550 สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ที่มีรองนายกเศรษฐกิจคนเดียวกันนี้เราโตเท่าไหร่ เฉลยให้ก็ได้ว่าเราโตตั้ง 5.1% ซึ่งนับว่าดีทีเดียว แต่คนก็ไม่สนกลับไปเลือกพรรคทักษิณกันหมด แถมหันมาด่าบิ๊กบังอีกว่า”เสียของ”)

อย่าไปห่วงอัตราเติบโตมากเกินไปเลยครับ มุ่งเน้นการปฏิรูปดีกว่า มีเรื่องให้ทำร้อยแปดพันเก้า อย่างเช่นสองเรื่องที่ผมเกี่ยวข้อง คือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า จะลดให้เล็ก-ล้างให้สะอาด-ยกเครื่องให้คล่องตัว กับเรื่องการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน ที่ระบาดอยู่ทุกหย่อมหญ้า ก็มีเรื่องให้ต้องทำมากมาย (วันหน้าจะมาเล่ารายละเอียดนะครับ) แถมถ้าเริ่มจริงจัง อาจทำให้อัตราเติบโตระยะสั้นต้องลดลงบ้าง

ความจริงวิธีง่ายที่สุดถ้าอยากให้โต ก็คือเปิดรับ”จำนำข้าว”อีกที ถ้าฝีมือดีเท่ารัฐบาลที่แล้ว ขาดทุนปีละ 200,000 ล้านบาท ก็จะทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นมาอีกร้อยละ 2 แน่ๆ แต่ลูกหลานก็ต้องรับกรรมคอยชดใช้ต่อไป

สรุปความเห็นของผม ถ้าอยากปฏิรูปให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต ก็ต้องเลิกวิธีการเดิมๆ แต่ถ้าห่วงระยะสั้นก็ทำแบบที่เขาทำกันมา นี่แหละครับ ผมถึงเรียกว่า “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ”

ปล. บทความแรกของปีใหม่ผมก็ว่าซะยาวมาก แถมมีแต่เรื่องเครียดๆไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่ …ขอทุกคนอย่าท้อนะครับ มาร่วมปฏิรูปประเทศด้วยกันเถิด

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 4 มกราคม 2558