ThaiPublica > คอลัมน์ > การค้าระหว่างประเทศ VS การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การค้าระหว่างประเทศ VS การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

16 ธันวาคม 2014


วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
นักวิจัย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ที่มาภาพ : http://www.theguardian.com/environment/2014/aug/28/debunking-chris-huhne-paean-uk-growth#img-1
ที่มาภาพ : http://www.theguardian.com/environment/2014/aug/28/debunking-chris-huhne-paean-uk-growth#img-1

หลายปีผ่านมาได้มีการพูดถึงในวงกว้างเรื่องการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการค้าระหว่างประเทศ โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดตั้งโครงการ Green Economy ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความเท่าเทียมกันในสังคม ลดความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยา

ในทางปฏิบัติ UNEP สนับสนุนให้การเติบโตของรายได้และการจ้างงานถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ ส่งเสริมการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงป้องกันความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ

ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2556 ของ UNEP เปิดเผยว่า มีการสนับสนุนเรื่องการค้าระหว่างประเทศแบบยั่งยืน (sustainable international trade) ที่เน้นเศรษฐกิจสีเขียว ประกอบด้วยมาตรการหลายด้าน เช่น การลดภาษีนำเข้าในสินค้าและบริการที่ผลิตด้วยวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีที่ไม่สร้างมลพิษเพิ่มให้กับโลก และการลดการสนับสนุนจากรัฐบาลในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประมงที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การค้าระหว่างประเทศเกี่ยวพันกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะ FTA เป็นเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการเพิ่มมูลค่าการค้า แต่การจัดทำความตกลง FTA อาจนำมาสู่การผลิตที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนภายในประเทศหากเป็นการผลิตที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ ก็คือ ผลิตให้ได้จำนวนเยอะเข้าไว้ ไม่สนใจว่าจะปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำคูคลองเท่าไหร่

หลายประเทศได้มีการศึกษาผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำ FTA เช่น สหภาพยุโรปกับยูเครน ไทยกับสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ผลที่ได้พบว่า FTA ได้ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจริง ซึ่งย่อมหมายถึงการขยายตัวของการผลิตในภาคส่วนต่างๆ มีการใช้ทรัพยากร เหมือง ถ่านหิน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

การเพิ่มขึ้นของการผลิตสินค้าได้กระตุ้นให้เกิดการปล่อยก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในบางประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการผลิตหรือการปล่อยของเสีย แน่นอนว่าโลกต้องได้รับผลกระทบ และสภาวะโลกร้อนนี้ไม่เพียงส่งผลต่อด้านสุขภาพ หากแต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา

เมื่อพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่า ในปี 2556 ไทยปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้งสิ้น 295,282 kt โดยกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในไทยออกมามากที่สุด 5 อันดับแรก คือการผลิตและการกระจายไฟฟ้า การขนส่งทางบกและราง การขนส่งทางอากาศ การกระจายและส่งก๊าซธรรมชาติ และการขนส่งทางอากาศ

สำหรับไฟฟ้านั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียน พนักงานออฟฟิศ อาจารย์ หรือเกษตรกร ย่อมต้องใช้ไฟฟ้าด้วยกันทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ในการผลิตสินค้า เพราะเครื่องจักรกล สายพานการผลิต คอมพิวเตอร์ หรือการผลิตในช่วงระยะเวลากลางคืน ต้องใช้ไฟฟ้าด้วยกันทั้งสิ้น และเมื่อใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การผลิตไฟฟ้าย่อมต้องมีมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการใช้ และท้ายที่สุด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกปล่อยออกสู่โลกมากขึ้น

นอกจากไฟฟ้าแล้ว การขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และอากาศ ยังเป็นสาขาที่ปล่อยก๊าซชนิดนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงอยู่ตลอดเวลา เมื่อการขนส่งเป็นการบริการที่ให้ผู้บริโภคได้รับสินค้า การเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าหลังการบรรลุข้อตกลง FTA จึงส่งผลโดยตรงต่อปริมาณผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้า (ส่งออกสินค้ามากขึ้น การขนส่งสินค้าย่อมมากขึ้นตามไปด้วย) และจะเกิดผลเสียต่อนิเวศโลก ซึ่งผู้รับความเสียหายเหล่านั้นไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง แต่เป็นประชากรทั้ง 7 พันล้านคนในทุกทวีป

นอกเหนือจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้วัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีดัชนีอื่นๆ ที่มีความสำคัญเช่นกัน เช่น ทรัพยากรป่าไม้ น้ำเสีย มลพิษทางเสียง เป็นต้น ดังนั้น การดูเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องเปรียบเทียบก่อนและหลังจากการทำ FTA ต้องมีคนเก็บสถิติเอาไว้ และเมื่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นการระบุมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในความตกลงหรืออยู่ในกรอบการเจรจาการค้าเสรี เช่น FTA สหรัฐอเมริกากับสิงคโปร์ เป็นต้น โดยเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการค้ามีอยู่หลายประเภท เช่น Life Cycle Assessment และ UNEP’s Integrated Assessment of Trade Related Policies (IATRP) เป็นต้น แต่การศึกษาต้องใช้ระยะเวลา งบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน หลายประเทศจึงคิดว่าไม่คุ้มเพราะมองแต่ผลระยะสั้นเท่านั้น

เมื่อเรารู้ว่าไทยจะได้ประโยชน์จาก FTA ในหลายสาขา เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก อาหารแช่แข็ง น้ำตาล ยาง เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เป็นต้น รัฐควรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องปัญหามลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตและขนส่งสินค้าซึ่งอาจกระทบระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์จาก FTA ถูกลิดรอนด้วยต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ควรมีการสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green production) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว