ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ครัวไทยไม่ถึงครัวโลก ปัญหาสารเคมีเกษตร จุดบอดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ครัวไทยไม่ถึงครัวโลก ปัญหาสารเคมีเกษตร จุดบอดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

8 ธันวาคม 2014


ประเด็นปัญหาสารพิษตกค้างในพืชผัก ผลไม้ มีปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอๆ อาทิ ประเด็นปัญหาที่สหภาพยุโรป (EU) ตีกลับผัก-ผลไม้ ที่นำเข้าจากประเทศไทย เนื่องจากตรวจพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในช่วงที่ผ่านมา และในช่วงต้นปี 2557 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้มีการสุ่มตรวจผัก-ผลไม้ตามท้องตลาดและห้างค้าปลีก พบว่าผัก-ผลไม้มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

จากปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้าง จึงมีการสนับสนุนและรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชออร์แกนิก หรือพืชอินทรีย์ เพื่อแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในผัก-ผลไม้ แต่การทำฟาร์มในรูปแบบดังกล่าวต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ หากเป็นการทำฟาร์มในระบบปิดเกษตรกรจะมีต้นทุนสูงและต้องใช้แรงงานมากขึ้น

ที่ผ่านมาเกษตรกรใช้สารเคมีเกษตรมากว่าครึ่งศตวรรษ การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรโดยการให้เลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาดทั้งหมดเป็นเรื่องยาก และอาจส่งผลต่อกำลังการผลิตในอนาคต จึงมีการนำแนวคิดการทำเกษตรในรูปแบบ “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี” (Good Agricultural Practice) หรือ GAP เข้ามาใช้ ช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น

สำหรับปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างเกินค่ามาตรฐานไม่ได้มีเกษตรกรเป็นตัวละครเดียว ในภาพรวมแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นกว้างไปกว่านั้น กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การนำเข้าสารเคมี จนกระทั่งพืชผัก-ผลไม้ถูกส่งออกไปขาย ล้วนมีช่องว่างที่เอื้อให้ผัก-ผลไม้ เป็นพิษได้ทั้งสิ้น

วัฏจักรปัญหาสารพิษตกค้างในผัก-ผลไม้เกินมาตรฐาน

ปัญหาสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือ “กระบวนการนำเข้าและการผลิตสารเคมีเกษตร” โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้ามักอาศัยช่องว่างต่างๆ ของกระบวนการตรวจสอบเพื่อเลี่ยงกระบวนการ และนำสารของตนมาจำหน่ายในท้องตลาดให้เกษตรกรใช้

ตามกระบวนการ สารเคมีเกษตรที่นำเข้าจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ก่อนนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์วางขายในท้องตลาด ซึ่งปี 2554 ได้มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารชนิดเดิมทั้งหมด เพื่อจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนใหม่ พร้อมทั้งห้ามนำเข้าสารเคมีที่ยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน โดยผู้ผลิตและผู้ค้าสารต้องขายเฉพาะสินค้าที่มีจนกว่าจะหมดเท่านั้น

สารเคมีเกษตรที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กว่า 2 หมื่นรายการ เมื่อผ่านการคัดกรองแล้วเหลืออยู่ประมาณ 5,000 กว่ารายการในปัจจุบัน ซึ่งทางผู้ค้าสารเคมีเกษตรยืนยันว่า สารเก่าๆ ที่มีตามท้องตลาดจะค่อยๆ หมดและหายไปจากท้องตลาดในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า ช่วงต้นปี 2554 ในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนมีการยกเลิกทะเบียนสารเคมีที่เคยทำการขึ้นทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อขึ้นทะเบียนใหม่ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 ในวันที่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ตัวเลขนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นปริมาณ 53,315 ตัน (ไม่รวมสารชีวภาพ)

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าย้อนหลัง พบว่า ในปี 2554 มีปริมาณนำเข้ารวมสูงถึง 164,539 ตัน คิดเป็นมูลค่า 22,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 คิดเป็น 39.66% และในปี 2555 ภายหลังการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมี ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 134,377 ตัน มูลค่า 19,357 ล้านบาท ปริมาณการนำเข้าลดลงจากปี 2554 คิดเป็น 22.33 % แต่ยังคงสูงกว่าในปี 2553 คิดเป็น 12.41%

(ภาพจากขวามาซ้าย)นายสยมชัย สิงหรา ณ อยุธยา ประธานสมาคมอารักขาพืชไทย ,นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว และนางนงนุช ยกย่องสกุล
(ภาพจากขวามาซ้าย) นายสยมชัย สิงหรา ณ อยุธยา ประธานสมาคมอารักขาพืชไทย, นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว และนางนงนุช ยกย่องสกุล

เนื่องด้วยกระบวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรนั้นค่อนข้างมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ นายสยมชัย สิงหรา ณ อยุธยา ประธานสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า หลายปีที่สารเข้ามาอย่างถูกต้อง มีการขึ้นทะเบียนและมีการทดลองจากกรมวิชาการเกษตร มีการสุ่มตรวจตลอดแม้สารเหล่านั้นจะขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ก็ยังมีกรณีที่ผู้นำเข้าสารเคมีนำสารไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอื่น ส่วนนี้จึงหลุดวงจรการตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตรไป

“ปัญหาใหญ่ๆ จึงอยู่ที่กลุ่มนี้ กลุ่มที่เข้ามาแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเอาอะไรเข้ามา แล้วนำไปผสมโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ นำไปวางขายให้เกษตรกร ซึ่งมีการพบอยู่ แล้วเกษตรกรชอบ เนื่องจากเป็นของใหม่ ซึ่งของเหล่านี้ผิดกฎหมาย เป็นการเล่นนอกกติกาเลย เป็นสิ่งที่ท้าท้ายของสมาคมเราว่าจะไปปิดประตูนี้อย่างไร และปัญหาอีกประเด็นที่ผมเห็นคือโครงสร้างการกำกับดูแล ในต่างประเทศ คนตรวจและคนให้การรับรองในการขึ้นทะเบียนสารเคมีเขาแยกกันหมด แต่ของไทยจับมาอยู่รวมกันในองค์กรเดียว”

นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ประธานอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และจรรยาบรรณ สมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า หน้าที่ของบริษัทที่คิดค้นสารเคมีที่ใช้สำหรับการเกษตร คือการทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าสารที่ผลิตออกมานั้นใช้ได้ผล มีความปลอดภัยหรือเป็นอันตรายแค่ไหนอย่างไร วิธีใช้ที่ถูกต้อง ระยะเวลาการใช้ และการเก็บเกี่ยว รวมไปถึงต้องดูว่าหากมีการตกค้างในผักแล้วควรมีปริมาณตกค้างสูงสุดเท่าไรที่จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นี่คือสิ่งที่ผู้คิดค้นเคมีต้องทำทั้งหมด

ดังนั้น ส่วนที่เป็นปัญหาในส่วนต่อมาคือ “การกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด” (Maximum Residue Limits: MRLs) ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการกำหนดค่า MRLs ยังไม่มีการครอบคลุมพืชทุกชนิดในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผัก-ผลไม้ที่มีค่า MRLs จะเป็นผัก-ผลไม้ “ตลาด” แต่ผัก-ผลไม้พื้นเมืองซึ่งมีเฉพาะในประเทศ ตลาดนอกประเทศยังไม่กว้างขวาง ยังไม่มีการกำหนดค่าเหล่านี้ขึ้น

นายจิระวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ผู้ผลิตมักจะขึ้นทะเบียนพืชที่เป็นพืชตลาดก่อน เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงในการทดลอง หากเป็นการทดสอบอัตราการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรเพื่อขึ้นทะเบียนสารเคมีโดยทั่วไป มีค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000 บาท ถ้าเป็นการทดสอบค่า MRLs ต้นทุนในการทดลองจะเพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000,000 บาท

อย่างไรก็ตาม พืชพื้นเมืองเหล่านี้เป็นพืชเฉพาะของไทย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่ไทยจะต้องกำหนดค่า MRLs ขึ้นมา เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบ

ในประเทศที่ต้องนำเข้าผลิตผลจากไทย จะกำหนดค่า MRLs สำหรับพืชเหล่านี้ไว้ในระดับต่ำ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการตั้งกำแพงภาษี ดังนั้นการคัดกรองด้วยค่าความปลอดภัยต่างๆ จึงเข้ามาแทนที่ ซึ่งเป็นมาตรการการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้แทน

นางนงนุช ยกย่องสกุล ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและรัฐกิจ สมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า “ค่า MRLs ในพืชเล็กพืชน้อย (พืชพื้นเมืองของไทย อาทิ ใบมะกรูด โหระพา ที่ต้องใช้ประกอบอาหารไทย) ต้องมีการกำหนด หากไม่กำหนดประเทศอื่นก็จะกำหนดค่าขั้นต่ำเอง ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าความปลอดภัยที่ได้จากการทดลองจริง จึงเป็นประเด็นปัญหาที่ว่าทำไมสินค้าส่งออกเราถูกตีกลับ เพราะว่าพืชที่ส่งออกไปขายไม่ใช่พืชที่เป็นพืชหลัก แต่เป็นพืชเล็กพืชน้อยในประเทศของเรา”

ผู้ขายสารเคมีเกษตร 35,000 ร้านค้า

ปัญหาถัดมาคือ “ร้านค้าเคมีเกษตร” จากการรวบรวมของกรมวิชาการเกษตรมีผู้ประกอบการค้าสารเคมีเกษตรทั่วประเทศ ประมาณ 35,000 ร้าน แม้หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมวิชาการเกษตรจะสร้างข้อกำหนดให้ร้านค้าผู้จำหน่ายสารเคมีเกษตรต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตก่อนก็ตาม แต่ด้วยกระบวนการที่ยังไม่เข้มแข็ง จึงเป็นเพียงการอบรมและการทดสอบอย่างง่ายจากประสบการณ์ของผู้เคยทดลองเข้าร่วมอบรมเท่านั้น ดังที่เคยนำเสนอในข่าว “วิกฤติอาหารอาบพิษ: ค่า MRL ตัวเลขเล็กๆ ที่เบื้องหลังคือผลประโยชน์มหาศาล” ซึ่งทางสมาคมอารักขาพืชไทยและทาง Thai-PAN มีข้อกังวลตรงกันว่า ร้านค้าเหล่านี้เป็นช่องทางที่ใกล้ชิดเกษตรกรที่สุด และทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกร อาจมีการแนะนำให้ใช้สารผิดประเภท ผิดวิธี ไปจนถึงการลักลอบนำสารเคมีที่ห้ามจำหน่ายแล้วเข้ามาขาย นางนงนุชจึงเสนอแนวทางว่า ในร้านค้าสารเคมีเกษตร แต่ละร้านอาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีประจำในแต่ละแห่งเช่นเดียวกับร้านขายยาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแทน

ในส่วนของ “เกษตรกร” ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทุกฝ่ายมุ่งเป้าที่จะแก้ปัญหา จากความเห็นของตัวแทนจากสมาคมอารักขาพืชไทยนั้นเห็นว่า พฤติกรรมของเกษตรกรในการใช้สารเคมีเป็นปัญหาหลัก ขาดความรู้ ใช้สารเคมีไม่ถูกวิธี ไม่อ่านฉลาก หรือมีการประยุกต์ใช้สารเคมีกับพืชชนิดอื่นเอง รวมทั้งประเด็นด้านราคาและตลาดมีส่วนต่อพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกร

สุดท้าย ส่วนปลายน้ำ คือแหล่งรับซื้อผัก-ผลไม้/ผู้ส่งออก ที่ผ่านมามีผู้รับซื้อน้อยรายที่ตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานหรือไม่ เว้นแต่จะเป็นผัก–ผลไม้เพื่อส่งออกที่จะต้องตรวจสอบก่อน ซึ่งแนวทางแก้ปัญหานั้น หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่ “เกษตรกร” การดำเนินการของภาครัฐในปัจจุบันคือมีความพยายามจะรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชตามระบบ GAP

แต่ในขณะเดียวกัน นายสยมชัยกล่าวว่า เมื่อไปถามเกษตรกรว่ารู้จัก GAP ที่หน่วยงานรัฐออกมาแนะนำไหม เขาก็ยังไม่รู้จักเลยว่า GAP คืออะไร จะมีก็เพียงเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ที่พอจะรู้จัก ส่วนมากก็จะเป็นผู้ที่ผลิตเพื่อส่งออก พวกนี้เขาจะเร็ว เขาจะศึกษา เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะขายไม่ได้

หนทางแก้ปัญหา – “เกษตรกร” จำเลยสังคม

ในปัจจุบัน ภาครัฐได้มีความพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชตามระบบ GAP แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรกรยังรู้จักการทำแปลงเกษตรแบบ GAP น้อย เหตุมาจากขาดเจ้าหน้าที่ของรัฐไปให้ความรู้ เป็นเหตุผลสืบเนื่องมาจากหน่วยงานรัฐมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ดั้งนั้น เกษตรกรที่ปลูกพืชแบบ GAP จึงมีเฉพาะกลุ่ม อีกทั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมายังมีงานวิจัยออกมาระบุว่าพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ Q-GAP ของรัฐ แทบจะไม่มีความแตกต่างจากเกษตรกรทั่วไป อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่านอกจากภาครัฐจะขาดกำลังคนในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชได้มาตรฐานตามกระบวนการ GAP แล้ว ยังขาดการติดตามและตรวจสอบผลด้วยเช่นกัน

“พอเปลี่ยนยุค เปลี่ยนรัฐบาล งบประมาณกระจายไม่ทั่วถึง ส่งผลให้การดำเนินงานส่งเสริมเรื่อง GAP ขาดตอน พอหยุดทุกอย่างก็หยุดหมด ทำให้ไม่มีคนไปตรวจแปลงของเกษตรกร” นายสยมชัยกล่าว

นอกจากนี้ แหล่งรับซื้อผัก-ผลไม้และผู้ส่งออก พยายามสร้างฟาร์มเครือข่าย (contract farming) เพื่อเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกพืชแบบ GAP ด้วย ซึ่งนายจีระวัฒน์ให้ความเห็นว่า ตอนนี้การเกษตรไทยอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยน เดิมเกษตรกรอยากใช้สารอะไรก็ใช้ เมื่อโลกเริ่มเปลี่ยน เกษตรกรก็ต้องเปลี่ยน เพราะประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศผู้ส่งออก และการส่งออกต้องได้มาตรฐาน

ปัจจุบันมีหอการค้าไทยได้เข้ามาวางระบบ GAP ของประเทศไทย (Thai GAP) ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เหมาะสมและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เนื่องจากในการเพาะปลูกตามระบบ Global GAP นั้น หน่วยงานที่ควบคุมดูแลต้องใช้ต้นทุนสูงในการทำ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาท ทำให้มีเพียงผู้ส่งออกเท่านั้นที่กล้าลงทุน

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง “ราคาขาย” เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะช่วยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งราคาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะจูงใจเกษตรกรในการเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก เนื่องจากการปลูกพืชในระบบ GAP ต้องใช้การดูแลเอาใจใส่มากกว่าการปลูกพืชแบบในระบบปกติ หากเกษตรกรยังขายผลิตผลได้ในราคาเท่าเดิม สุดท้ายก็ต้องกลับไปทำการเกษตรในรูปแบบเดิม

นายสยมชัยให้ความเห็นต่อว่า ในกระบวนการต้นน้ำ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของช่องว่างการตรวจสอบ และปัญหาการกำหนดค่า MRLs คือการอุดช่องว่างในการขึ้นทะเบียนสารเคมี กล่าวคือ ในเรื่องการรวมกลุ่มของบริษัทผู้ผลิต ผู้นำเข้าสารเคมีเกษตรเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคัดกรองตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ ของสมาชิก ปัจจุบันการรวมกลุ่มของผู้ผลิต ผู้นำเข้าสารฯ มีเพียง 2 กลุ่ม คือ “สมาคมอารักขาพืชไทย” ที่มีสมาชิกเพียง 36 แห่ง และ “สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร” ที่มีสมาชิกประมาณ 100 กว่าแห่ง ทั้งที่ในประเทศไทยมีบริษัทผู้ผลิตและนำเข้ากว่า 700 แห่ง

ดังนั้น ข้อเสนอเพื่ออุดช่องว่างไม่ให้เกิดการทำผิดกฎกติกาในการขึ้นทะเบียนสารเคมีและการกำหนดค่า MRLs ก็คือ ภาครัฐควรมีข้อกำหนดเป็นมาตรการบังคับให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ต้องเป็นสมาชิกสมาคมก่อนออกใบอนุญาต และหากประเทศไทยยังหวังที่จะให้ “ครัวไทยไปครัวโลก” รัฐต้องดูว่าพืชผักชนิดไหนที่ต้องการส่งออก ต้องให้การสนับสนุนตรงนั้น แล้วดึงเอกชนเข้าร่วมดำเนินการด้วย

“เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องกลับมาหวนคิด อยากส่งออกอะไรรัฐต้องลงมาด้วย เหมือนกับอเมริกาที่เขาต้องลงมาช่วยอุ้มคนของเขา ถ้ามองว่าวันนี้ต้องการจะส่งออกพืชเล็กพืชน้อย รัฐก็ต้องเริ่มลงทุนกำหนดค่า MRLs แล้ว ต้องยอมลงมาดูเลยว่าสารอะไรที่ดี แล้วใช้กับพืชพวกนี้ แล้วดึงเอกชนเข้าร่วม” นายสยมชัยกล่าว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าช่องว่างที่นำไปสู่การเกิดสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานยังเป็นช่องว่างตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของอุตสาหกรรมเกษตรไทย ตั้งแต่การนำเข้า ขึ้นทะเบียน การผลิต การจำหน่าย และการกำกับดูแล