ThaiPublica > เกาะกระแส > คมนาคมเสนอตั้ง “กรมราง” รับภาระแทน รฟท. “ออมสิน” กังขาย้าย พนง.โยกสินทรัพย์ยังไม่ชัด เคลียร์ “ปัญหาขาดทุน-หนี้แค่แสนล้าน” ไม่น่าห่วง ฝันอีก 3 ปีมีกำไร

คมนาคมเสนอตั้ง “กรมราง” รับภาระแทน รฟท. “ออมสิน” กังขาย้าย พนง.โยกสินทรัพย์ยังไม่ชัด เคลียร์ “ปัญหาขาดทุน-หนี้แค่แสนล้าน” ไม่น่าห่วง ฝันอีก 3 ปีมีกำไร

12 ธันวาคม 2014


20141211_093221
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา

วันที่ 11 ธันวาคม 2557 ในงานสัมมนาและเสวนาเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “แนวคิดการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางเพื่อปฏิรูประบบโลจิสติกส์แห่งชาติ”จัดโดยวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ว่าได้มีการเชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (รฟม.) รวมถึงทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ร่วมหารือถึงแนวทางและขอบเขตหน้าที่ของกรมในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่ต้องพิจารณาอีกนับสิบหัวข้อ  เช่น ความจำเป็นหรือความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กพ. และ กพร. ที่จะต้องศึกษาต่อไป, ประเด็นด้านข้อกฎหมายที่จะมารองรับการจัดตั้งกรม รวมถึงอำนาจหน้าที่ของกรม, การแยกส่วนงานและการโอนทรัพย์สินต่างๆ ระหว่างกรมและหน่วยงานเดิมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ล่าสุดได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)   ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการไปหารือประเด็นที่เหลืออยู่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จและนำเสนอมาภายในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ ก่อนจะมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการระดับกระทรวงที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, กระทรวงการคลัง, กพร. และ กพ. เป็นต้น แล้วจึงนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กพร. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

นางสร้อยทิพย์กล่าวอีกว่า โครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่จะมีการดำเนินการต่อไป ไม่ต้องรอการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางให้แล้วเสร็จก่อน ขณะที่เมื่อมีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางแล้วเสร็จในอนาคต จึงค่อยโอนการดำเนินงานตามขอบเขตหน้าที่ของกรมต่อไป ทั้งนี้ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ระบุกรอบเวลาก่อนหน้านี้ว่าจะพยายามดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ปี 2558

“ตอนนี้เป็นเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนที่เข้าใจตรงกันแล้วคือหน้าที่กำกับดูแลและงานโครงสร้างพื้นฐานบางส่วน  แต่เรื่องเหล่านี้ยังไม่จบสนิท ต้องศึกษาชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งเรื่องการก่อสร้าง การบำรุงรักษา และอื่นๆ ก็ติดตามต่อไป แต่เป้าหมายของเราคือกลางปีหน้าต้องการเห็นกรมตั้งขึ้นได้ มีการทำงาน ส่วนการทำงานอย่างไร ต้องรอรายละเอียดว่ากรมจะมีเครื่องมืออะไร มีกฎหมายอะไรที่จำนำมาใช้ ต้องมีกฎหมายก่อตั้งกรม กฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการ กฎหมายกำกับดูแลที่ต้องมีแน่นอน ก็ต้องดูรายละเอียดต่อไป แต่นี่คือหลักการทำงานเบื้องต้น” นางสร้อยทิพย์กล่าว

สำหรับกรมการขนส่งทางรางที่จะจัดตั้งขึ้น มีเป้าหมายเพื่อให้ดูแลและพัฒนาระบบขนส่งทางรางในประเทศทั้งหมดให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานด้านเชื่อมโครงข่าย มาตรฐานด้านการกำหนดราคา และมาตรฐานในการให้บริการ

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวถึงรายละเอียดของกรมการขนส่งทางรางเบื้องต้นว่ามีอำนาจหน้าที่ 5 ด้าน ได้แก่

  1. กำกับดูแลด้านความปลอดภัย ออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัย กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคของโครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถ พนักงาน และการเดินรถ
  2. กำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง ดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง รวมถึงการให้สิทธิการประกอบการ เช่น ใบอนุญาตเดินรถและออกค่าธรรมเนียมการให้บริการ
  3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางราง ลักษณะเดียวกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า และกรมการบินพลเรือน
  4. สนับสนุนการให้บริการการขนส่งทางราง ภาคเอกชนสามารถเข้ามาแข่งขันบริการได้
  5. บริหารทรัพย์สินที่รับโอนจาก รฟท.

ขณะเดียวกัน นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด รฟท. ได้แสดงความกังวลต่อการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางว่าจะสามารถโอนทรัพย์สินอย่างไรให้เหมาะสมและทำให้ รฟท. สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ นอกจากนี้ การย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากค่าตอบแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจสูงกว่าข้าราชการ

“มันมีข้อสุดท้าย เรื่องทรัพย์สินที่รับโอนจาก รฟท. ต้องดูให้ดีว่าตกลงแล้วกรมรางจะโอนทรัพย์สินอะไรไป หรือว่าเอาไปทั้งหมดหรือยังไง แล้วจะเหลืออะไรให้ รฟท. บ้าง คน รฟท. ทุกคนเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ แล้วตามหน้าที่ผมก็ต้องดูเพื่อให้ รฟท. เดินหน้าต่อไปได้ด้วย อีกประเด็นคือบุคลากร จะทิ้งไว้ไหม หรือจะโอนไปด้วย ถ้าโอนไปจะโอนยังไง พวกนี้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการทั้งนั้น แล้วถ้าเอาเงินเดือนพนักงานปัจจุบันเป็นตัวตั้ง มันเกินหน้าปลัดกระทรวงเลยนะครับ จะทำอย่างไรต้องคิดให้ดี” นายออมสินกล่าว

นายออมสินยังกล่าวถึงผลขาดทุนของ รฟท. ว่ามีส่วนจากการดำเนินงานเพียงเล็กน้อย โดยข้อมูลเบื้องต้นของปี 2557  มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเพียง 3,400 ล้านบาทเท่านั้น แต่ผลขาดทุนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานประมาณหมื่นล้านบาท ตัวอย่างเช่น เงินบำนาญพนักงานปีละ 4,000 ล้านบาท, ค่าเสื่อมราคาปีละ 4,000 ล้าน, ดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 3,400 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนหนี้สินของ รฟท. อีกประมาณแสนล้านบาท ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินของ รฟท. ที่มีตามมูลค่าบัญชีประมาณ 1 แสนล้านบาท และมูลค่าตามราคาตลาดมากกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งถ้า รฟท. สามารถพัฒนาที่ดินที่มีอยู่จำนวนมากสำเร็จ องค์กรน่าจะใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีก็จะกลับมามีกำไรได้ ดังนั้น ประเด็นเรื่องการขาดทุนจึงไม่น่าเป็นห่วงอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ

“เรื่องผลประกอบการเราไม่ได้มีภาระเท่าไรหรอก เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่มี ตามราคาจริงนะ ผมเชื่อว่าไม่น้อยกว่า 4 แสนล้าน มีหนี้แสนล้านกว่าๆ มันนิดเดียวในมุมมองของนักธุรกิจหรือนักการเงิน มันไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ ผมชี้แจงตรงนี้เพราะเดี๋ยวคนจะนึกว่า รฟท. ขาดทุนบักโกรก ทำงานไม่เป็น จริงๆ มันเป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านมาที่รับภาระมา มันไม่ใช่ภาระของ รฟท. คิดด้วยซ้ำไป เช่น Airport Rail link มีเงินลงทุนตั้ง 3 หมื่นล้าน แต่หนี้มาใส่ให้ รฟท. ไว้ เวลามาวิเคราะห์ก็บอกว่า รฟท. มันแย่มาก มันไม่ใช่ มันต้องดูรายละเอียดเป็นส่วนๆ” นายออมสินกล่าว