ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย (ตอนที่ 10): ตั้ง”กรมราง” รื้อโครงสร้างแต่อย่าทำงานแยกส่วน บทเรียนรถไฟญี่ปุ่น จากขาดทุน 7 ล้านล้านบาทเป็นกำไรแสนล้าน

ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย (ตอนที่ 10): ตั้ง”กรมราง” รื้อโครงสร้างแต่อย่าทำงานแยกส่วน บทเรียนรถไฟญี่ปุ่น จากขาดทุน 7 ล้านล้านบาทเป็นกำไรแสนล้าน

22 ธันวาคม 2014


ผลการประกอบการของรถไฟไทย ซึ่งขาดทุนสะสมกว่า 8 หมื่นล้านบาทในปี 2556 ส่งผลให้หลายฝ่ายพร้อมใจกันตั้งคำถามไปยังประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรตลอด 64 ปีของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งนี้ ในตอนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาพื้นฐานของ รฟท. และโครงสร้างองค์กรที่บิดเบี้ยวที่ต้องแบกรับภาระมากกว่าการขนส่งระบบอื่นๆ ซึ่งมีส่วนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของรถไฟลดลง ไม่ว่าการลงทุนสร้างทางวิ่ง, ดำเนินการเดินรถ, จัดหารถ, ระบบควบคุมการจราจร, และศูนย์สถานีขนถ่ายหรือสถานีรถไฟ

จากโครงสร้างดังกล่าวพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายจัดตั้ง“กรมการขนส่งทางราง” หรือกรมราง เพื่อแยกส่วนของโครงสร้างพื้นฐานออกจาก รฟท. ไม่ว่าจะเป็นการสร้างราง การซ่อมบำรุง รวมไปถึงรับหน้าที่การกำกับดูแลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา หรือความปลอดภัยของการเดินรถไฟ เป็นต้น

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวอดีตผู้บริหาร รฟท. แสดงความเห็นด้วยถึงทางออกในการปรับองค์กรว่าจำเป็นต้องจัดตั้ง “กรมราง” รวมทั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของ รฟท. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปด้วย เพื่อแยกภาระหน้าที่การสร้างราง รวมไปถึงระบบอาณัติสัญญาณออกมาจากองค์กรโดยรวม ซึ่งจะทำให้การบริหารองค์กรมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่ส่วนของการเดินรถ การจัดหารถ สถานีรถไฟ และการซ่อมบำรุง ต้องหารือว่าจะให้อยู่ในการบริหารของ รฟท. หรือจะจัดโครงสร้างบริหารอย่างไรต่อไป

“รัฐบาลทิ้งการพัฒนารถไฟมา 60 กว่าปี ไม่ได้พัฒนา”ทางรถไฟ”เลย จะสร้างทางคู่ต่อไปจึงต้องดูว่าองค์กรจะรับไหวหรือไม่ ก็มีแนวคิดตั้งกรมราง แยกส่วนโครงสร้างพื้นฐานออกมา ให้แต่ละส่วนไปอยู่ถูกที่ถูกทาง ซึ่งการตั้งกรมรางแยกออกไป ทำให้ รฟท. เองบริหารได้ ภาระตรงนี้มันหมดไปเปาะหนึ่ง ตอนนี้มันรุงรังมากเลย เพราะทุกๆ เรื่องต้องผ่านผู้ว่ารถไฟทั้งหมด ไม่ว่าการสร้างทาง การเดินรถ ทุกๆอย่าง แล้วจะบริหารได้อย่างไร แต่พอเขารับไอเดียเรื่องกรมรางไปก็ทำ ก็ทำไปอีกอย่าง แต่ไม่เป็นไร ก็คงค่อยๆ เรียนรู้ไป” แหล่งข่าวกล่าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงสร้างรถไฟทั่วไป

แหล่งข่าวอธิบายต่อไปว่า โครงสร้างองค์กรและหน้าที่ปัจจุบันของ รฟท. รวมถึงองค์กรรถไฟต่างๆ ทั่วโลก แบ่งได้เป็น 3 ด้าน ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรต้องคำนึงว่าแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กัน ไม่สามารถคิดปรับโครงสร้างเป็นส่วนๆ ได้ (ดูกราฟิกด้านบน) ได้แก่

  1. ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การลงทุนในการสร้างรางและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (การลงุทนใน Infrastructure ในรูป) และการซ่อมบำรุงรางและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือ ไอเอ็มโอ (Infrastructure Maintenance and Operation: IMO)
  2. ส่วนการเดินรถไฟ (Train Operation) ประกอบด้วยส่วนการเดินรถโดยสารและเดินรถขนส่งสินค้า
  3. ส่วนบริหารสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง (Property Management) แบ่งเป็นสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟและส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรถไฟ

ทั้งนี้ แหล่งข่าวยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างองค์กรของรถไฟญี่ปุ่น จากผลขาดทุนถึง 25 ล้านล้านเยนในปี 2529 หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7 ล้านล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ 19 ธันวาคม 2557) มาเป็นกำไรในปัจจุบัน ปรับโครงสร้างโดยแยกส่วนการลงทุนในการสร้างรางและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องออกมา 2 ส่วน คือ 1) สำนักงานผังเมือง (Housing Bureau) และสำนักงานราง (Railway Bureau) สังกัด “กระทรวงที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน, ขนส่ง และท่องเที่ยว” หรือ “เอ็มแอลไอที” (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) ร่วมกันทำหน้าที่ออกแบบวางแผนสร้างทางรถไฟ คล้ายกับแนวคิด “กรมราง” ที่กำลังจัดตั้งของไทย แต่มีหน้าที่รับผิดชอบรวมไปถึงการวางผังเมืองให้เหมาะสมกับการสร้าง “ระบบ” รถไฟในอนาคตด้วย

2) สำนักงานก่อสร้างทางรถไฟ, ขนส่ง และเทคโนโลยีแห่งญี่ปุ่น (Japan Railway Construction, Transport and Technology Agency) หรือย่อว่า “เจอาร์ทีที” (JRTT) เป็นสถาบันอิสระ (Independent Administrative Institution) จัดตั้งภายใต้กฎหมายพิเศษของตนเอง มีหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการก่อสร้างให้แก่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่วางแผนในส่วนแรก

ขณะเดียวกัน มีการรวมหน้าที่ของไอเอ็มโอและการเดินรถไว้ด้วยกัน พร้อมแปรรูปองค์กรส่วนนี้เป็นบริษัทเอกชนแสวงหากำไร (For-Profit Company) 7 บริษัท ชื่อว่ากลุ่มบริษัทการเดินรถไฟญี่ปุ่น (Japan Railway Group) หรือ เจอาร์กรุ๊ป (JR Group) แบ่งเป็นให้บริการตามพื้นที่ 6 บริษัท และขนส่งสินค้า 1 บริษัท ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ รฟท. ในอนาคต หลังจากที่แยกองค์กรส่วนโครงสร้างพื้นฐานออกไปแล้ว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงสร้างรถไฟญี่ปุ่น

สำหรับผลประกอบการของเจอาร์ กรุ๊ป ในปี 2556 ส่วนเกาะฮอนชู (เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูล) อันประกอบไปด้วย บริษัทเจอาร์ตะวันตก, เจอาร์ตะวันออก และเจอาร์ส่วนกลาง ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการ 60% ของพื้นที่ให้บริการทั้งหมด สร้างรายได้สุทธิรวมสามบริษัท 417,255 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินบาทไทย 114,872 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ 19 ธันวาคม 2557)

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ความสำเร็จของการปรับโครงสร้างองค์กรรถไฟของญี่ปุ่น นอกจากการแยกองค์กรให้มีความชัดเจนและสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การประสานงานกันระหว่างองค์กรก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งปัจจุบันแนวคิด “กรมราง” ของไทยยังไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้มากนัก

“การสร้าง ออกแบบ การเดินรถ ต้องไปด้วยกัน สามส่วนมันแยกจากกันไม่ได้ จะเห็นว่าบางขั้นตอนของงานมันต้องโยงกันไปกันมา มันตัดกันไม่ขาด การสร้างถนนไม่มีเงื่อนไขนี้ จะสร้างก็สร้างเลย รถเอามาวิ่งไม่เกี่ยวกัน แต่รถไฟมีคำว่าตกราง ต่อให้แยกองค์กรบริหารออกไปแล้ว ล้อต้องอยู่บนราง ทำอย่างไรให้อยู่บนราง ขึ้นอยู่กับการบริหาร ทีนี้ที่เขาจะแยกเป็นกรมราง เขาคิดแบบถนนอยู่ ไม่ประสานงานทั้งหมด ก็โอเค เพราะพอจะลงรายละเอียด เขาก็ต้องมาดูเรื่องพวกนี้อยู่ดี” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามตัวอย่างการประสานงานของญี่ปุ่น โครงการก่อสร้างจะเริ่มต้นจากแผนปฏิบัติการรวม (Master Plan) ของหน่วยงานของรัฐ ต่อมาจึงเริ่มสำรวจและวางแผนโครงการ (Planning and Survey) ร่วมกับเจอาร์ทีที จากนั้นจึงมีการอนุมัติการก่อสร้างและมอบหมายให้เจอาร์ทีทีเตรียมตัวก่อสร้าง ขณะเดียวกัน มอบหมายให้เจอาร์รับทราบและเตรียมพร้อมให้บริการ ขั้นถัดมา หน่วยงานของรัฐจะติดตามผลการเตรียมตัวก่อสร้างและพิจารณาแผนงานที่เจอาร์ทีทีเริ่มลงมือออกแบบ ด้านเจอาร์ทีทีเริ่มออกแบบแผนก่อสร้าง จัดแผนการเงิน จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม พร้อมกับประสานงานปรึกษาหารือกับเจอาร์จนได้แผนขั้นสุดท้าย เมื่อก่อสร้างและทดสอบระบบแล้วเสร็จ เจอาร์ทีทีจะให้เจอาร์เช่ารางในการเดินรถต่อไป เป็นรายได้เข้ามาช่วยชดเชยในกรณีต้องก่อสร้างโครงการที่มีผลตอบแทนต่ำ แต่ต้องสร้างเนื่องจากจำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นต้น

“ญี่ปุ่นประสานงานแบบนี้ งานสร้างทาง หน่วยงานรัฐไปหาเงินงบประมาณมา จะสร้างทาง จะอะไรต่ออะไร แล้วจ้างเจอาร์ทีทีสร้าง ซึ่งเป็นสถาบันอิสระคล้ายบริษัทมหาชน แต่ยังเป็นของรัฐ ทำหน้าที่สร้างทาง พอสร้างเสร็จก็ให้เจอาร์เช่าราคาถูกๆ เจอาร์ก็ไม่ต้องรับรู้เรื่องว่ามาอย่างไร สร้างเสร็จส่งให้เช่าใช้ สมมติ จ่ายค่าเช่า 50 ปี รัฐบาลก็เอาค่าเช่ามาดูว่าจะให้ตัวองค์กรโดยรวมอยู่อย่างไร เจอาร์ทีทีอยู่อย่างไร ถ้ารัฐบาลดูแล้วเจอาร์บริหารเก่งมากเลย ก็อาจจะเอาต้นทุนสร้างรางของเจอาร์ทีที 100% เป็นค่าเช่าให้เจอาร์จ่ายเลย โอเค ในความเป็นจริงคงไม่ถึงต้นทุน 100% แบบนั้นหรอก แต่ถ้าไม่มีค่าเช่าเจอาร์ทีทีอาจจะไปไม่ได้ ก็ได้ค่าเช่ามาช่วย คนเดินรถคือเจอาร์ก็จัดการเฉพาะการเดินรถไป ไม่ต้องมายุ่งเรื่องสร้างทางอะไรต่ออะไรนี่” แหล่งข่าวกล่าว