ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาล “ประยุทธ์” เตรียมรีดภาษีโรงเรียนกวดวิชาเกือบ 2,000 แห่ง เงินสะพัด 32,000 ล้าน ป.ป.ช.แฉกิจการค้ากำไรเกินควร 40%

รัฐบาล “ประยุทธ์” เตรียมรีดภาษีโรงเรียนกวดวิชาเกือบ 2,000 แห่ง เงินสะพัด 32,000 ล้าน ป.ป.ช.แฉกิจการค้ากำไรเกินควร 40%

26 ธันวาคม 2014


สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เก็บภาษีเงินได้โรงเรียนกวดวิชาเป็นครั้งที่ 3 หลังเคยเสนอแล้วในปี 2554 แต่ยังไม่คืบหน้า ด้านกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เพื่อหาข้อยุติภายใน 18 มกราคม 2558 นี้

ปัญหาการศึกษาในระบบของไทยส่งเสริมให้โรงเรียนกวดวิชามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชารวม 1,983 แห่ง แบ่งเป็นเขตกรุงเทพมหานคร 487 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 1,496 แห่ง ซึ่งการศึกษาในโรงเรียนกวดวิชานั้นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง และนักเรียนทุกคนต้องจ่ายเงินค่าเรียน จนทำให้โรงเรียนกวดวิชากลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล แต่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร

ในขณะที่ประเทศไทยมีโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการกว่า 3,200 แห่ง มีนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 กว่า 8.7 ล้านคน ด้านโรงเรียนกวดวิชาก็จัดการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น และมีการติวเพื่อเข้าศึกษาต่อในทุกช่วงชั้นเช่นเดียวกัน

ค่าเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาเพื่อสอบเข้า

ทั้งนี้ การสำรวจค่าเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาของสำนักข่าวออนลไน์ไทยพับลิก้าพบในก่อนหน้านี้พบว่า ค่าใช้จ่ายต่อภาคการศึกษาในกรณีที่เรียนพิเศษครบทุกรายวิชา ระดับอนุบาล 6,000 บาท ประถมศึกษา 3,200 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 3,700 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 15,000 บาท ส่วนค่าเรียนพิเศษในกรณีสอบเข้าศึกษาต่อระดับประถมศึกษาปีที่ 1 2,000 บาท มัธยมศึกษาปีที่ 13,600 บาท มัธยมศึกษาปีที่ 4 3,700 บาท และมหาวิทยาลัย 35,000 บาท

ค่าเรียนพิเศษครบทุกวิชา

จากข้อมูลดังกล่าวคาดการณ์ว่า ขนาดของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา จะมีเงินสะพัดในแต่ละภาคการศึกษาประมาณ 16,000 ล้านบาท หากเฉลี่ยปีละ 2 ภาคการศึกษาต่อปี ก็จะมีวงเงินสะพัดประมาณ 32,000 ล้านบาท ขณะที่ระบบการจัดเก็บภาษีในธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้มีการจัดเก็บอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการขยายกิจการมากขึ้น ส่งผลต่อระบบการศึกษาไทยในเชิงโครงสร้าง

ดังนั้น ป.ป.ช. จึงเสนอให้ ครม. จัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา หลังจากที่เคยเสนอ ครม. มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อ 11 มกราคม และ 22 มีนาคม 2554 แต่ ป.ป.ช. ยังเห็นว่า การกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลโรงเรียนกวดวิชาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่สอดคล้องกับมติ ครม. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียนกวดวิชามีการแสวงกำไรเกินควรซึ่งจะต้องมีการจัดเก็บภาษี

โดย ครม. มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการศึกษาทั้งระบบอย่างยั่งยืน

ล่าสุด นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) กล่าวว่า สช. กำลังรวบรวมข้อมูลโรงเรียนกวดวิชาที่ขอจดทะเบียนถูกต้องกับ สช. ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีนักเรียนประมาณกว่า 2 แสนคนที่เรียนพิเศษโดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,000-3,000 บาทต่อปี รวมแล้วปีละประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าน่าจะจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแบบลดหย่อนภาษี โดยกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร จะพิจารณาว่าจะลดหย่อนและจัดเก็บภาษีอัตราเท่าใด รวมถึงแก้ไขประมวลรัษฎากรด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะจัดทำรายละเอียดในส่วนที่รับผิดชอบและประชุมร่วมอีกครั้งในวันที่ 6 มกราคม 2558 เพื่อให้ได้ข้อยุติภายในวันที่ 18 มกราคม 2558 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

สำหรับปัญหาของโรงเรียนกวดวิชาตามข้อพิจารณาของ ป.ป.ช. คือ ปัจจุบันนี้ สถาบันกวดวิชาซึ่งเป็นการศึกษานอกระบบภายใต้การกำกับดูแลของ สช. นั้น มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกฎหมายไม่บังคับให้ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ขอจดทะเบียนจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชาจึงไม่จดทะเบียนนิติบุคคล เพราะอย่างไรเสียก็ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ โรงเรียนกวดวิชายังเป็นธุรกิจที่มีรายได้สูงมากและคุ้มค่ากับการลงทุน โดยมีกำไรมากถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นกำไรเกินปกติ เนื่องจากมีการบันทึกเทปวิดีโอระหว่างการสอนโดยครู เพื่อนำวิดีโอดังกล่าวไปเปิดสอนซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง ซึ่งผู้เรียนต้องยินยอมจ่ายค่าเรียนตามที่สถาบันกำหนด และค่าเล่าเรียนนั้นไม่ได้อิงตามกฎหมายด้วย อีกทั้งสื่อการเรียนการสอนทั้งหมดสงวนลิขสิทธิ์เป็นของสถาบัน หากใครทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

ดังนั้น สถาบันกวดวิชาจึงเป็นธุรกิจที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ให้การสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ของการยกเว้นภาษี อีกทั้งการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชายังไม่ถือเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครองด้วย เพราะโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมเรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้ ป.ป.ช. จึงเสนอมาตรการต่อ ครม. ให้กระทรวงศึกษาธิการ จำแนกโรงเรียนกวดวิชาออกเป็นประเภทของโรงเรียนนอกระบบให้ชัดเจน โดยแก้ไขประกาศ สช. เพื่อเป็นฐานข้อมูลของกระทรวงการคลังในการดำเนินการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา รวมถึงให้กระทรวงการคลังแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เหมาะสมสอดคล้องด้วย

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังเสนอให้รัฐบาลสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จัดหาครูที่เก่งและสอนดี รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผลการเรียนและการสอบเข้าศึกษาต่อทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเรียนในโรงเรียนตามปกติและมีเนื้อหาไม่เกินหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อลดแรงจูงใจและความจำเป็นในการเรียนกวดวิชา และสร้างเป็นธรรมด้านการศึกษาในสังคม

อย่างไรก็ตาม สช. ได้เสนอให้กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีตามอัตราปกติในสถาบันกวดวิชาที่มีกำไรมากกว่าร้อยละ 20 ส่วนสถาบันที่กำไรน้อยกว่าร้อยละ 20 จะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะส่วนกำไรที่ไม่เกินร้อยละ 20 นั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับโรงเรียนนอกระบบประเภทอื่นๆ เนื่องจากหากประกาศใช้กฎหมายเก็บภาษีแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีโรงเรียนนอกระบบทุกประเภท มิใช่แค่เพียงโรงเรียนกวดวิชา

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการพิจารณาความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ครม. มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลโรงเรียนสอนกวดวิชาไม่ให้ดำเนินการในลักษณะที่แสวงหากำไรเกินควร และดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อกำกับดูแลครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างเต็มหลักสูตร เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนกวดวิชาอีก นอกจากนี้ ศธ. ต้องออกระเบียบข้อบังคับในเรื่องการตรวจสอบและปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ก่อนการอนุมัติอนุญาตให้ใช้สถานที่สำหรับการเรียนกวดวิชาของโรงเรียนสอนกวดวิชา

จากนั้น วันที่ 22 มีนาคม 2554 ครม. มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแนวทางควบคุมโรงเรียนกวดวิชาไม่ให้แสวงกำไรเกินควร และติดตามการดำเนินการของโรงเรียนกวดวิชาให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนตามที่ได้รับอนุญาตซึ่งกำหนดค่าตอบแทนได้ไม่เกินร้อยละ 20 หากมีการเปลี่ยนแปลงให้ยื่นขออนุญาตก่อน รวมถึงติดใบประกาศใบอนุญาตการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา หลักเกณฑ์การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและจำนวนค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนตรวจสอบได้ ทั้งนี้ โรงเรียนนอกระบบทุกขนาด ทุกประเภท ต้องจัดทำรายงานแสดงกิจการงบการเงินเสนอต่อผู้อนุญาตด้วย

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกำหนดมาตรการกำกับดูแล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้ทำหน้าที่เต็มตามหลักสูตรเพื่อไม่ให้นักเรียนต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่ม โดยหากโรงเรียนใดจัดการเรียนการสอนที่ไม่เป็นไปตามหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนเรียนกวดวิชา จะถือเป็นความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และยังขาดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546

โดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาต้องติดตามตรวจสอบการกระทำดังกล่าวและลงโทษผู้กระทำผิด อีกทั้ง สพฐ. ต้องร่วมมือกับสถานศึกษาอื่นๆ ของรัฐและสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาให้กำกับการดูแลครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ให้จัดการเรียนการสอนเต็มตามหลักสูตรด้วย