ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ครม.ประยุทธ์ อนุมัติก่อหนี้เพิ่ม 1.1 แสนล้าน จ่ายชดเชยชาวไร่อ้อย 1.65 หมื่นล้าน ลดภาษีธุรกิจ SMEs เหลือ 15% เพิ่มเงินค่าเสียหายผู้ประสบภัยเป็น 30,000 บาท

ครม.ประยุทธ์ อนุมัติก่อหนี้เพิ่ม 1.1 แสนล้าน จ่ายชดเชยชาวไร่อ้อย 1.65 หมื่นล้าน ลดภาษีธุรกิจ SMEs เหลือ 15% เพิ่มเงินค่าเสียหายผู้ประสบภัยเป็น 30,000 บาท

23 ธันวาคม 2014


พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/231214_krit_1/231214krit1-52657.html
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/231214_krit_1/231214krit1-52657.html

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดภารกิจเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน (22-23 ธ.ค. 57) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการอนุมัติงบประมาณ แผนงาน และโครงการ โดยสรุปมีสาระสำคัญดังนี้

ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะขอกู้เพิ่ม 1.1 แสนล้าน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแผนการก่อหนี้ใหม่ ครั้งที่ 1 และแผนปรับโครงสร้างหนี้ในและต่างประเทศของรัฐบาล รวม 1.5 ล้านล้านบาท เปลี่ยนแปลงจากเดิม 1.4 ล้านล้านบาท มียอดเงินที่ปรับเพิ่มใหม่ 1.1 แสนล้านบาท

สำหรับรายการที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 1.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ทั้งของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 3.7 หมื่นล้านบาท, แผนการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น 5.9 หมื่นล้านบาท, แผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นล้านบาท

รายการแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 3.7 หมื่นล้าน ประกอบด้วย กระทรวงการคลังเพิ่มวงเงินกู้เงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท, เพิ่มวงเงินกู้ต่อต่างประเทศในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง วงเงิน 4.77 หมี่นล้าน, ปรับเพิ่มวงเงินกู้ในประเทศ โครงการจัดหารถไฟฟ้า city line airport rail link จำนวน 7 ขบวน จาก 485.44 ล้าน เพิ่มอีก 242.72 ล้านบาท เป็น 728.16 ล้านบาท, กู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไป โดยให้องค์การสวนยางเพิ่มเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 6,000 ล้านบาท

ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาล มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้รัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ประกอบด้วยองค์การสวนยาง, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์, องค์การคลังสินค้า รวม 7.1 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของแผนปรับโครงสร้างหนี้ของ ธ.ก.ส. นั้นไม่ใช่การกู้เงินใหม่ แต่เป็นการออกพันธบัตรเพื่อนำมาใช้หนี้ธนาคารพาณิชย์ ที่รัฐได้กู้เงินมาดำเนินการในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2554/2555 จำนวน 18,344 ล้านบาท และปี 2555/2556 จำนวน 31,656 ล้านบาทรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งการออกพันธบัตรจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลง เนื่องจากการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงและระยะเวลาสั้น ส่วนการออกเป็นพันธบัตรจะยืดระยะเวลาออกไปและดอกเบี้ยจะลดลง และกระทรวงการคลังลดวงเงิน roll over หรือยืดอายุการชำระหนี้ตั๋วเงินคงคลังออกไป 1.16 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ มีการปรับเพิ่ม 1.41 หมื่นล้าน ประกอบด้วย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มวงเงินกู้ต่างประเทศซื้อเครื่องบิน A320-200 และ B777-300ER จำนวน 66.34 ล้านบาท และเพิ่มวงเงินกู้ในประเทศเพื่อดำเนินกิจการทั่วไปอีก 1 หมื่นล้านบาท และให้มีการเพิ่มวงเงินในการทำ SWAP Arrangement จำนวน 4,120 ล้านบาท

อนุมัติลดภาษี ธุรกิจSMEs จาก 20% เหลือ 15%

 
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ โดยกำหนดให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
 
สำหรับช่วงกำไรสุทธิเกิน 1,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท จากอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ มาตรการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเป็นประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจให้เกิดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงบรรเทาภาระต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่เอสเอ็มอี
 

อนุมัติเพิ่มค่าเสียหายผู้ประสบภัยจากรถเป็น 30,000 บาท

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้แก้ไขกฎกระทรวงการคลังเรื่องการกำหนดความเสียหายที่จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น โดยให้ปรับวงเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยจากรถ ที่เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นจากวงเงินไม่เกินคนละ 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกินคนละ 30,000 บาท และให้มีวงเงินคุ้มครองสูงสุดไม่เกินคนละ 65,000 บาท เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากวงเงินเดิมที่กำหนดไว้อาจไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

โดยนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการคลัง ได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลในช่วงเทศกาลปีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป โดยในช่วงนี้ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ที่ประสบภัยก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะวงเงินที่ชดเชยนี้สถานพยาบาลจะเรียกเก็บจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และหากวงเงินสูงกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 65,000 บาท ก็เก็บจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งน่าจะครอบคลุมได้ทั้งหมด และเป็นผลดีต่อผู้ที่ประสบภัย

สำหรับการปรับเพิ่มวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นครั้งนี้ จะเพิ่มประโยชน์ด้านการคุ้มครองให้กับประชาชน ในฐานะผู้ประสบภัยจากรถมากขึ้น และยังเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นของผู้ประสบภัยจากรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ แล้วพบว่า ยังสามารถรับภาระจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นนี้ได้ โดยที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 609 ล้านบาทนั้น เป็นภาระงบประมาณของภาคเอกชนจำนวน 595 ล้านบาท และภาระของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจำนวน 14 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังได้แก้ไขร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และได้เสนอให้ ครม. เห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย ยังขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาเรื่องดังกล่าวมาให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งด้วย

ก่อนหน้านี้ การชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ค่าเสียหายเบื้องต้น ซึ่งบริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัยหรือทายาทของผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้อง โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด ทั้งนี้ กรณีบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพถาวร บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท กรณีเสียชีวิตหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพอีกจำนวน 35,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการขยายวงเงินออกมาให้เป็นไปตามมติ ครม.

ส่วนค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยกรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพถาวร บริษัทจะชดใช้เต็มจำนวนเงินความคุ้มครองจำนวน 200,000 บาท กรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะคนไข้ใน จะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

อนุมัติวางระบบไฟฟ้าอัจฉริยะใช้ไอทีเชื่อมมิเตอร์ 4,860 ล้าน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid) โดย พล.ต. สรรเสริญระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานต่อจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่จะทำการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่จังหวัดภูเก็ต วงเงินลงทุนรวม 4,860 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง ในวงเงิน 1,069 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ วงเงิน 800 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. วงเงิน 269 ล้านบาท และเห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศ ภายในกรอบวงเงิน 800 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการกับผู้เชื่อมต่อผ่านมิเตอร์อัจฉริยะ โดยการทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะทำให้รัฐลดรายจ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่ในจดมิเตอร์ไฟ ข้อมูลการใช้ไฟทั้งหมดจะอยู่ในระบบออนไลน์ นอกจากนี้ การใช้ระบบโครงข่ายอัจฉริยะดังกล่าวช่วยในการป้องกันการใช้ไฟฟ้าเกินได้

สั่งจัดระเบียบไกด์เถื่อนแก้ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์บิดเบือน

 
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการแก้ปัญหามัคคุเทศก์ผิดกฎหมาย และให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญ บิดเบือนจากความเป็นจริง โดยมีมาตรการระยะสั้น กลาง และระยะยาว ตามที่กระการทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และให้มีการขึ้นทะเบียนมัคคุเทศก์ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป โดยให้ใช้ในลักษณะเดียวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ

สืบเนื่องจากชมรมมัคคุเทศก์ได้ทำการร้องเรียนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า มีมัคคุเทศก์ต่างด้าวลักลอบเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทย ซึ่งถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ซึ่งการเข้ามาของมัคคุเทศก์เถื่อนมี 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรก คือ เริ่มจากบริษัททัวร์ที่เข้ามาในรูปแบบผู้นำเที่ยว เมื่อเข้ามาแล้วได้ทำการศึกษาเส้นทางศึกษาข้อมูลจากมัคคุเทศก์ชาวไทยจนมีความรู้ และมีการสร้างเครือข่ายกับบริษัททัวร์ภายในประเทศ ก็เริ่มออกทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์เสียเอง
 
อีกรูปแบบหนึ่งคือ นักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจีนที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งจะมีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร มีเพื่อน มีหอพัก จึงถือโอกาสทำอาชีพมัคคุเทศก์ไปในตัว
 
โดยกรณีดังกล่าวได้สร้างผลกระทบกับอาชีพมัคคุเทศก์ของไทย จากปัญหาทักษะด้านภาษาที่มัคคุเทศก์ไทยไม่มีความเชี่ยวชาญเท่า ทัวร์ต่างๆ จึงหันไปใช้บริการกับมัคคุเทศก์ต่างชาติ และประเด็นสำคัญที่สืบเนื่องกันคือ มัคคุเทศก์ต่างชาติเหล่านี้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ การบรรยายจึงอาจมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย
 
ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ได้กำหนดมาตรการนำเสนอคณะรัฐมนตรี ในระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยมาตรการระยะสั้นเป็นการกำหนดให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจทำเที่ยวจะต้องมีใบสั่งงานมัคคุเทศก์ไทย และจะดำเนินการตั้งจุดตรวจสอบใบสั่งงานมัคคุเทศก์ตั้งแต่ต้นทาง คือ ท่าอากาศยานต่างๆ ว่ามัคคุเทศก์ต่างชาติที่เข้ามามีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และการแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนที่สุดคือการให้มัคคุเทศก์ไทยปฏิบัติงานร่วมกับมัคคุเทศก์ต่างชาติไปก่อน
 
ส่วนมาตรการระยะกลาง คือการดำเนินการจัดทำหลักสูตรมัคคุเทศก์ให้มีคุณภาพ ผ่านการทดสอบความสามารถในภาษาต่างประเทศ และประสานกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อที่จะให้นำมัคคุเทศก์ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานออกร่วมสังเกตการณ์กับคณะทัวร์ด้วย
 
ในระยะยาวจะมีการเร่งผลิตมัคคุเทศก์ที่มีคุณภาพ และปรับปรุงพระราชบัญญัติเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ที่มีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายโดยเชิญผู้แทนแต่ละจังหวัด และภาคเอกชนเข้าร่วม

จ่ายเงินชาวไร่อ้อย 160 บาท/ตัน รวม 16,586 ล้านบาท

 
คณะรัฐมนตรีรับทราบการสรุปผลการดำเนินการกำกับดูแลการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ฤดูกาลปี 2556/2557 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอผลการดำเนินการดังกล่าวแก่คณะรัฐมนตรี สืบเนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยมีมติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2556 และ 2557 ในอัตราชดเชย 160 บาท/ตัน โดยจ่ายตรงให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกตันอ้อยที่ส่งเข้าผลิตน้ำตาลทราย
 
จากผลการตรวจสอบพบว่าขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผลสรุปโครงการ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2557 มียอดรวมของปริมาณอ้อยทั้งหมดที่ได้ทำสัญญากับเกษตรกรชาวไร่อ้อย คิดเป็นปริมาณที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลทั้งสิ้น 1,03,065,754.60 ตัน เป็นจำนวนเงิน 16,586 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้โอนเงินให้กับเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว 99.2% ส่วนที่เหลือนั้นเกิดความล่าช้าจากกรณีที่มีการขึ้นทะเบียนไม่เรียบร้อย

เห็นชอบสัตยาบันขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอในสัตยาบันภาคผนวกแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) และจะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันต่อไป
 
และได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารเพื่อดำเนินการให้สัตยาบันภาคผนวกดังกล่าวมีผลผูกพันประเทศไทยต่อไป ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านความเห็นชอบแล้ว

อนึ่ง ภาคผนวกดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอันตราย การอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งข้ามแดน การข้ามแดนของบุคคล กฎเกณฑ์ในการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าผ่านแดนและสินค้าผ่านแดนในประเทศ การนำเข้ารถยนต์ชั่วคราว และกฎเกณฑ์ศุลกากรสำหรับคอนเทนเนอร์
 
เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประโยชน์จากการค้าชายแดนมาโดยตลอด และต้องการยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านกลางค้าและการส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าให้สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวก