ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประยุทธ์” เครียดหุ้นตก สั่งจับตาคนปล่อยข่าวลือปั่นหุ้น ล่าผู้กระทำผิด ม.112 ที่อยู่ต่างแดน ตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอี 25,000 ล้าน พักหนี้ ธ.ก.ส. อีก 3 ปี 1 พันล้าน

“พล.อ. ประยุทธ์” เครียดหุ้นตก สั่งจับตาคนปล่อยข่าวลือปั่นหุ้น ล่าผู้กระทำผิด ม.112 ที่อยู่ต่างแดน ตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอี 25,000 ล้าน พักหนี้ ธ.ก.ส. อีก 3 ปี 1 พันล้าน

16 ธันวาคม 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการประชุม คสช. ว่า การสั่งการในที่ประชุมในประเด็นของการติดตามผู้กระทำผิดที่อยู่ในต่างประเทศมาดำเนินคดี ในการดำเนินการจะต้องมาไล่ดูว่ามีอะไร อย่างไร ต้องค่อยๆ โดยติดตามดูทุกฝ่ายอย่างเชื่อมโยงถึงใคร ซึ่งประเด็นของการละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นประเด็นแรกที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากประเทศมีผลกระทบจากข่าวลือ ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับต่างชาติ จึงได้สั่งการให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษก่อน รวมไปถึงกรณีเรื่องการทุจริตต่างๆ ก็ต้องทยอยมา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เนื่องจากกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น การใช้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องอาศัยให้เจ้าประเทศเป็นผู้ส่งตัวผู้กระทำผิด จะเห็นได้ว่าหลายๆ คนที่หนีไปอยู่ประเทศต่างๆ ประเทศเหล่านั้นไม่ได้เข้าใจในกฎหมายของประเทศเรา ก็คงต้องทำเรื่องชี้แจงกันต่อไปว่าเขาผิดเรื่องอะไรกันอย่างไร แล้วทำการหารือกันต่อไป กระบวนการคงไม่รวดเร็ว แต่ก็ดีกว่าให้เขาเชื่อในข่าวลือ

“กฎหมายมีบัญญัติมาตลอด แต่ทำไมคนเหล่านี้ถึงทำความผิด ความผิดที่พูดมาเป็นเรื่องจริงหรือเปล่ากฎหมายมีอยู่ หากเจ้าตัวไม่ได้พูด แล้วถูกแจ้งความ ประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นการกล่าวอ้างได้ รัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง มีการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือน มีการเชิญมาพูดคุยแล้ว ก็เข้าใจว่าเป็นการเข้าใจผิด และรับปากว่าจะไม่ทำอีก แต่เมื่อไปอยู่ต่างประเทศกลับกระทำผิดอีก กลุ่มเหล่านี้ถือเป็นภัยความมั่นคงเนื่องจากทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม หากเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างก็ต้องมีการฟ้องกลับมา อาทิ ผศ. ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทุกวันนี้ก็ยังมีการเขียนอยู่ ทุกคนก็เห็น ส่วนประเด็นของตัวบทกฎหมายนี้ต้องไปว่ากันในอนาคต เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่การเมือง แต่อาจต้องไปดูว่าการที่เขาละเมิดตรงนี้ แล้วเขาไปสนับสนุนใคร ซึ่งไม่ควรเอาสถาบันฯ ลงมาเล่น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีตลาดหุ้นตกจากการคาดการณ์ถึงความเกี่ยวโยงกับกระบวนการปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับปมภายในสถาบันฯ ซึ่งเมื่อรัฐบาลปฏิเสธไปอย่างชัดเจนจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น การที่หุ้นตกนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะมีประเด็นเกี่ยวโยงกับการปั่นหุ้นหรือไม่ต้องมีการติดตามต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ประเทศชาติยังคงต้องเดินไปข้างหน้าต่อ และทุกกระทรวงได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาเป็นผลงานในช่วงปีใหม่ ถือเป็นของขวัญ การลดราคาสินค้าไม่ใช่ของขวัญที่ยั่งยืน ทำตลอดไปไม่ได้ ไม่ยั่งยืน ซึ่งแต่ละกระทรวงก็มีนโยบายออกมาเพื่อเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน

“อยากให้สนใจในเรื่องระยะยาวมากกว่า กฎหมายร่วมร้อยฉบับที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในกระบวนการทั้งหมด เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในวันข้างหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ การตกลงทางการค้าที่เคยเสียเปรียบมาตลอดก็จะดีขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา การปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่รัฐบาลปกติไม่กล้าทำ ก็มีการดำเนินการในรัฐบาลนี้ แต่จะให้ลดราคาถึง 10-20 บาทนั้นไม่สามารถทำได้ ไม่มีประเทศไหนเขาทำแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลชุดนี้วางเอาไว้จะเป็นรากฐานให้เกิดความต่อเนื่องในรัฐบาลชุดต่อไป โดยมาตรการต่างๆ นั้นอยู่ในกฎหมาย ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณากันอยู่ เป็นเรื่องของความต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อปฏิรูปเรื่องที่เหลือให้จบ แล้วในวันข้างหน้าอาจจะดีขึ้นมาก็ได้

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน มีการอนุมัติโครงการ งบประมาณ และมาตรการที่สำคัญ ตามที่ ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงร่วมกัน ดังนี้

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงวาระที่นายกรัฐมนตรี ปรารภและสั่งการพิเศษเพิ่มเติมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนเข้าสู่วาระพิจารณาปกติ ว่า ประเด็นแรกที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงคือ “ของขวัญ” ซึ่งแต่ละกระทรวงได้ไปทำการขยายผลเพิ่มเติม และจะทำการแถลงในการแถลงผลงานของรัฐบาลวันที่ 25 ธันวาคม 2557

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวงว่าอย่าได้กังวล สิ่งใดที่สามารถให้เป็นของขวัญได้ก็ให้ไป ในส่วนของการลดราคาสินค้า การไม่เก็บค่าผ่านทางในช่วงปีใหม่ มาตรการเหล่านี้ประชาชนได้รับประโยชน์เพียงระยะสั้น แต่ตนนั้นอยากให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าแท้จริงแล้วการแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวมีความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำการจบได้ในเวลาอันสั้น และเป็นเรื่องยาก

สิ่งที่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ โดยการร่างพระราชบัญญัติต่างๆ การจัดระเบียบต่างๆ ให้เกิดความสงบเรียบร้อย อาทิ การจัดระเบียบคิวรถ การจัดระเบียบขอทาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำหนดแนวนโยบายต่างๆ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ต้องกระทำให้สำเร็จภายในรัฐบาลนี้ อาทิ เส้นทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ซึ่งต้องวางโครงข่ายติดต่อไปกับประเทศจีน ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง และทางรถไฟขนาด 1 เมตรที่ยังคงใช้อยู่ ก็ต้องมีการจัดระบบการสัญจรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

สิ่งต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ รวมไปถึงการแก้ปัญหาพืชผลการเกษตร การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ถือเป็นของขวัญให้กับประชาชนได้ทั้งสิ้น จึงมอบหมายให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทำการรวบรวมผลงานเพื่อที่จะทำการชี้แจงอีกครั้งในการแถลงผลงานครั้งต่อไป

ประเด็นต่อมา นายกรัฐมนตรีได้ฝากไปถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา 2 กรณีด้วยกัน กรณีแรกนั้นนายกรัฐมนตรีมีดำริให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดำเนินการจัดประกวดภาพถ่าย แยกประเภทให้ชัดเจนว่าเป็นภาพเกี่ยวกับอะไร เพื่อที่ว่าประชาชนในประเทศจะได้มีส่วนร่วมรับรู้รับทราบแหล่งท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และมีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจการท่องเที่ยวไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ

พร้อมกับเพิ่มเติมประเด็นของการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มีการเยือนประเทศเวียดนามก็ได้มีการพูดคุยถึงกรณีดังกล่าวอันจะเป็นประเด็นที่นำมาขยายผลต่อไป

สำหรับผู้ที่ทำผิดกฎหมายต่างๆ ทั้งกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา รวมไปถึงกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้สั่งการแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ หารือร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรให้บุคคลเหล่านี้กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ โดยไม่อยากพูดถึงเรื่องกฎหมายส่งตัวผู้ร่ายข้ามแดน เนื่องจากกรณีดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือกับต่างชาติ ว่าประเทศเหล่านั้นจะให้ความร่วมมือกับประเทศไทยขนาดไหน โดยกระบวนการในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวต้องมีการสร้างความเข้าใจกับต่างชาติว่า บุคคลเหล่านั้นสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างไร เพื่อสร้างการรับรู้ เพื่อจะเป็นผลต่อไปในการประสานความร่วมมือต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการให้ตัวแทนจาก คสช. เข้าร่วมประชุม ครม. ว่า โดยปกติการทำงานของรัฐบาล กับ คสช. มีการเชื่อมโยงการทำงานกันอยู่แล้ว ซึ่งในมติคณะรัฐมนตรีบางเรื่องอาจต้องทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปตั้งแต่ต้น แม้ว่าหัวหน้า คสช. กับบุคคลที่ทำงานในรัฐบาลจะเป็นบุคคลเดียวกัน แต่ในระดับผู้ปฏิบัติการอาจไม่ได้รับทราบประเด็นดังกล่าวทั้งหมด จึงมีดำริให้ คสช. ส่งตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม ครม. เพื่อรับทราบการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลอย่างครบถ้วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์การซื้อ-ขายหลักทรัพย์ ที่ตกลงอย่างต่อเนื่องว่า มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก และได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ระหว่างที่มีประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นายกรัฐมนตรีได้สั่งพักการประชุมเพื่อออกมาสั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่หากเจ้าหน้าที่ส่วนไหนในรัฐบาลทราบข้อเท็จจริงแล้วว่าข่าวที่ลือกันไม่เป็นความจริง ก็ให้กระจายกันช่วยชี้แจง เพื่อให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุน

อนุมัติมาตรการภาษี-ลดดอกเบี้ยพิเศษจังหวัดชายแดนใต้

คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการพิเศษด้านภาษี ด้านการเงิน และค่าธรรมเนียม ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้ประกอบด้วย มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม โดยลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจากกำไรสุทธิจากร้อยละ 20 เหลืออัตราร้อยละ 3 และลดภาษีเงินบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดรายได้ ให้สามารถนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) มาคำนวณในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดเงินได้พึงประเมิน โดยไม่ต้องนำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณภาษีปลายปี, ลดภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.1, ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้ากำไร จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0.1 และในกรณีที่มีการโอนสินทรัพย์ไม่เกิน 2 แสนบาท จะลดค่าธรรมเนียมเหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01

มาตรการด้านการเงิน ให้ชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยประกันภัยจากภัยก่อการร้าย ระหว่างร้อยละ 0.3-2 และให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานขอรับการจัดสรรงบประมาณปีละ 20 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี วงเงิน 60 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบการ วงเงิน 25,000 ล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจกู้ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 โดยปล่อยให้ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 – 31 ธันวาคม 2560

มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีเงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท ลูกค้า 620,000 ราย ออกไปอีก 3 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยให้ ธ.ก.ส. ขอรับชดเชยจากรัฐบาลในอัตรา MRR ลบ 1.5 คิดเป็นวงเงินรวม 1,072.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โครงการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์บริการสาธารณะ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะในการเช่าซื้อรถเก่าและรถใหม่ ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี ได้แก่ รถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์ รถตู้โดยสารปรับอากาศ รถสองแถวและรถโดยสาร 3 ล้อ – 4 ล้อเครื่อง และมาตรการสินเชื่อวงเงินเอนกประสงค์เพื่อใช้ในการซ่อมแซมรถ ระยะเวลาการผ่อนชำระคืนไม่เกิน 3 ปี ทั้งสองมาตรการขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558

รับทราบเพิ่มภาษีดีเซล รัฐมีรายได้คลัง 6,000 ล./เดือน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับขึ้นอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มอีก 2.50 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บที่อัตรา 0.75 บาทต่อลิตร เป็น 3.25 บาทต่อลิตร ตามมติของ กพช. เพื่อให้สอดคล้องกับการลดจัดเก็บเงินนำเข้ากองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง

การปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล สอดรับกับการปรับลดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง ที่จะโยกให้กรมสรรพาสามิตจัดเก็บภาษี จากปัจจุบันเก็บที่ 0.75 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 3.25 บาทต่อลิตร ทำให้มีเงินภาษีนำส่งเข้าคลังประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 72,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดราคาได้แม้จะขยับเพิ่มภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวทางจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซเอ็นจีวีเหมือนกับน้ำมัน เพราะที่ผ่านมาได้ผ่อนปรนดูแลไปแล้ว จึงต้องทยอยปรับทั้งภาษีและราคาเอ็นจีวีให้สะท้อนราคาต้นทุน ซึ่งมีราคา ขายปลีก 15-16 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันเอ็นจีวีมีราคา 12.50 บาทต่อกิโลกรัม

อนุมัติตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอี 25,000 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนในกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือ “SMEs Private Equity Trust Fund” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่องมากขึ้น โดยที่ผ่านมารัฐมีนโยบายในการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี แต่มาตรการนี้จะให้การสนับสนุนในลักษณะการเข้าไปร่วมทุนกับเอสเอ็มอี โดยในขั้นตอนต่อไปจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการลงทุน และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

โดย ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนในกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีขนาดกองทุน 10,000-25,000 ล้านบาท โดยเป็นลักษณะกองทุนเปิดและเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะมีสัดส่วนการลงทุน 10–50% ของทุนจดทะเบียนของเอสเอ็มอี ทั้งนี้ วงเงินเริ่มต้นของกองทุนนี้อยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจากธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ส่วนวงเงินที่เหลือจะขอจัดสรรจากงบประมาณประจำปีหรือแหล่งเงินอื่นตามความจำเป็นในโอกาสต่อไป

ร.อ. นพ.ยงยุทธกล่าวว่า คุณสมบัติของเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการจัดตั้งกองทุนฯ ดังกล่าวคือ 1. เอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจที่จะเติบโตขึ้นเป็นธุรกิจขนาดกลางและมีความสามารถที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2. เอสเอ็มอีที่มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และ 3. กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อประเทศ

สำหรับรายละเอียดกลุ่มเป้าหมายและวงเงินลงทุนของเอสเอ็มอีแต่ละรายแบ่งเป็น 1. เอสเอ็มอีในระยะเริ่มต้น (seed & start up stage) เงินร่วมลงทุนแรกเริ่มไม่ควรเกิน 5 ล้านบาทต่อรายหรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 25% แต่ไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน 2. เอสเอ็มอีขนาดเล็กและกลาง (second & third stage) เงินร่วมลงทุนแรกไม่ควรเกิน 30 ล้านบาทต่อราย หรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 25% แต่ไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน

อย่างไรก็ตาม การกำหนดการนำเงินในกองทุนไปลงทุนเป็นอำนาจของคณะกรรมการจำนวน 2 ชุดที่จะตั้งขึ้น ได้แก่ 1. คณะกรรมการการลงทุนของกองทรัสต์ 2. คณะกรรมการผู้ให้คำปรึกษาวิสาหกิจร่วมทุน (advisory committee) สำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหรือประเภทกิจการที่เกี่ยวข้อง โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาครัฐ (ไม่คุมเสียงขาด) ตัวแทนจากผู้ร่วมลงทุน ตัวแทนจากหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยผลประโยชน์ที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับ ได้แก่ เงินปันผลจากกองทุน ส่วนต่างกำไรที่เอสเอ็มอีบางรายในกองทุนได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ กำไรส่วนเกินจากการที่เจ้าของเดิมของเอสเอ็มอีเดิมซื้อหุ้นคืน และมูลค่าเพิ่มขึ้นของกองทุนเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์

อนุมัติร่าง พ.ร.บ.กระทรวงดิจิทัล ยุบกระทรวงไอซีที

ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ โดยในร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะทำหน้าที่ในการวางนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เป็นแผนระดับชาติว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล และให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน ประกอบด้วย คณะกรรมการฮาร์ดอินฟราสตรักเจอร์ ดูแลด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, คณะกรรมการเซอร์วิสอินฟราสตรักเจอร์ ดูแลด้านการส่งเสริมระบบการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล, คณะกรรมการซอฟต์อินฟราสตรักเจอร์ ดูแลด้านการส่งเสริมการออกแบบสถาปัตยกรรมด้านเทคโนโลยี มาตรฐาน มาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัย มาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรการทางกฎหมายเพื่อดูแลและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ดูแลการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เนื้อหาดิจิทัล และนวัตกรรม รวมทั้งผลักดันมาตรการในการลงทุน การร่วมทุน และสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ ดูแลความรู้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชาชนบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นเหตุเป็นผล ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรความรู้ของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะกำหนดให้มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนชื่อมาจากกระทรวงไอซีที แบ่งออกเป็น 5 ส่วนราชการ ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี, สำนักงานปลัดกระทรวง, สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล, กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นส่วนราชการที่ตั้งขึ้นใหม่ มีภารกิจในการจัดทำแผนเฉพาะด้านที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนแผนระดับชาติว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการติดตาม ดูแล และผลักดันให้เกิดการทำงานตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม การทำงานของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลมีลักษณะเฉพาะตัว จึงต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านอย่างดีเยี่ยมมาปฏิบัติงาน จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษที่สามารถจูงใจบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถ ทั้งในด้านการจัดทำนโยบาย การพัฒนา การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ เข้าไปร่วมงานกับสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล และให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนแบบพิเศษที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เพื่อความเหมาะสมกับภารกิจที่สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องรับผิดชอบในอนาคต

สำหรับร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ตามที่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพราะในชื่อกรรมการมีคำว่าสังคม แต่ยังไม่มีฝ่ายสังคมเข้าร่วม ส่วนร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

สั่งจัดระเบียบเรือประมง ติดจีพีเอส

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงหลังเป็นประธานการประชุม ครม. ว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำคือการขึ้นทะเบียนเรือประมงทุกลำ ติด GPS เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงข้ามเขตน่านน้ำ อันเป็นเหตุให้ประเทศเพื่อนบ้านตัดการค้าในสินค้าประมงของไทย โดยเรื่องการขึ้นทะเบียนดังกล่าวนั้นเป็นการดำเนินงานตามกฎหมายเดิม แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้เนื่องจากทุกคนมีผลประโยชน์ในส่วนตรงนี้ ทั้งนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น การดำเนินงานเป็นไปในรูปแบบของการบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง กรมประมง ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คสช. ในส่วนของความมั่นคง กระทรวงกลาโหม ไปจนถึงเรื่องกฎหมายที่ต้องตรวจสอบว่าควรเพิ่มเติมในจุดใด

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ โดยมีการปรับบทบาทหน้าที่ โครงสร้างของคณะกรรมการแม้ว่าองค์ประกอบเดิมจะเพิ่งแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ผ่านมา เพื่อเน้นการป้องกันยับยั้งและแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าสำคัญมากเพราะเป็นปัญหาระดับชาติ โดยการปรับครั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธานเอง รวมทั้งเพิ่มผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เข้าเป็นกรรมการด้วย และมีอธิบดีกรมประมงเป็นเลขานุการ นอกจากนั้น เดิมมีอำนาจหน้าที่เฉพาะการกำหนดนโยบายการทำประมงในน่านน้ำ นอกน่านน้ำ และน่านน้ำสากล จึงได้เพิ่มอีกข้อ คือ กำกับ ดูแล เร่งรัด และติดตาม การดำเนินการจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัด การทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้การควบคุม

ทั้งนี้ องค์ประกอบใหม่จะมีกรรมการ 27 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขณะที่มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ขณะที่กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ประธานสมาคมสหพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นายกสมาคมกุ้งไทย นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งแห่งประเทศไทย โดยมีอธิบดีกรมประมงเป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมประมง ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมประมง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ