ThaiPublica > คอลัมน์ > ใครๆ ก็เป็นนักวิชาการอิสระได้

ใครๆ ก็เป็นนักวิชาการอิสระได้

25 ธันวาคม 2014


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่เเล้ว ได้มีนักข่าวสิงคโปร์จาก Channel News Asia เขียนอีเมลมาหาผมถึงที่ประเทศอังกฤษเพื่อที่จะขอสัมภาษณ์ผมออกทีวีเกี่ยวกับเรื่องของผลกระทบของความไม่สงบทางการเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผมใช้เวลาคิดอยู่ประมาณหนึ่งนาทีก่อนที่จะเขียนตอบกลับไปอย่างมั่นใจว่า “ขอบคุณมากครับ เเต่เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ผมคงต้องขอปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์นะครับ” พร้อมกับจบท้ายอีเมลด้วยว่า

“เเละต่อจากนี้ไป ถ้าเรื่องที่อยากจะสัมภาษณ์ผมไม่ได้เกี่ยวกับงานวิจัยของผมเลย (ซึ่งจริงๆ เเล้วมีเเค่เศรษฐศาสตร์ความสุขเเละเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมเท่านั้น) ผมเกรงว่าคำตอบที่ผมสามารถที่จะให้กับคุณได้คงจะมีเเค่ ‘ผมไม่ทราบ’ เท่านั้นนะครับ”

ถึงเเม้ว่าการปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอย่างนี้เกิดขึ้นกับตัวผมไม่บ่อยครั้งนัก (เพราะว่านักข่าวที่เขียนมาขอสัมภาษณ์ผมส่วนใหญ่นั้นจะทำการวิจัยเบื้องต้นมาก่อนเเล้วว่าผมนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอะไรเเละสามารถคอมเมนต์เรื่องอะไรได้บ้าง) เเต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันในหมู่นักวิชาการที่นี่ว่าหนึ่งในความรับผิดชอบในหน้าที่ของนักวิชาการที่เเท้จริงก็คือ เราควรที่จะออกสื่อเเค่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเราเท่านั้น

ผมถึงค่อนข้างที่จะทึ่ง (ปนด้วยกับความประหลาดใจเล็กน้อย) ในความสามารถของนักวิชาการไทยหลายๆ ท่านที่สามารถพูดออกสื่อได้ในเกือบทุกเรื่อง ถึงเเม้ว่าเรื่องหลายๆ เรื่องที่ตัวเองกำลังพูดออกสื่ออยู่นั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนเคยทำวิจัยมาก่อนเลยเเม้เเต่นิดเดียว

ใครๆ ก็เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ”ได้

เป็นเวลานานกว่าสามสิบปีที่ฟิลิป เทตลอก (Philip Tetlock) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจากมหาลัยเพนซิลวาเนีย พยายามหาคำตอบกับคำถามที่ว่า ทำไมการอภิปรายสาธารณะ หรือ public debate ของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองหรือ political experts ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นได้เป็นประจำในทีวีถึงไม่ค่อยมีคุณภาพเอาเสียเลย

โดยในปี พ.ศ. 2526 ฟิลิป เทตลอก ได้เริ่มทำการเก็บข้อมูลของ political experts ในสหรัฐฯ ถึงสองร้อยเเปดสิบสี่คนด้วยกัน โดยในการเก็บข้อมูลของเขานั้นฟิลิป เทตลอก ได้ให้ political experts เหล่านี้ทำนายความน่าจะเป็นไปได้ของอนาคตหลายๆ อย่าง เช่น ความน่าจะเป็นที่มิคาอิล กอร์บาชอฟ จะโดนรัฐประหาร หรือความน่าจะเป็นที่สหรัฐฯ จะประกาศสงครามกับตะวันออกกลาง หรือความน่าจะเป็นที่การเเบ่งเเยกสีผิว (apartheid) จะจบลงได้โดยไม่มีการหลั่งเลือด หรือความน่าจะเป็นที่ประเทศเเคนาดาจะเเตก เป็นต้น ฟิลิป เทตลอก ใช้เวลาถึงยี่สิบปีด้วยกันในการเก็บข้อมูลคำทำนายของ political experts เหล่านี้ ซึ่งส่งผลให้ในคลังข้อมูลของเขามีถึงเเปดหมื่นสองพันสามร้อยหกสิบเอ็ดคำทำนายด้วยกัน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาฟิลิป เทตลอก พบว่าอัตราความสำเร็จของการทำนายเหตุการณ์อนาคตในเรื่องที่ political experts เหล่านี้เชี่ยวชาญไม่ได้ดีไปกว่าอัตราความสำเร็จของการเดาสุ่มของคนธรรมดาๆ คนหนึ่งเลย เเละยิ่ง political experts เหล่านี้อ้างว่าตัวเองเก่งเท่าไหร่ โอกาสที่พวกเขาจะประเมิณค่าความสามารถของตัวเองในการทำนายอนาคตสูงกว่าความเป็นจริงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

เเละยิ่งไปกว่านั้น ฟิลิป เทตลอก ยังพบอีกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ political experts เหล่านี้ทำนายอนาคตผิด พวกเขาก็มักจะไม่ค่อยยอมรับในความผิดพลาดของตัวเองกัน ในทางกลับกัน พวกเขามักจะอธิบายความผิดพลาดของตัวเองในทำนองที่ว่า “ถึงเเม้ว่าผมจะทำนายผิด เเต่ก็ผิดเเค่นิดเดียว” หรือ “สิ่งที่ผมทำนายเอาไว้นั้นจะเกิดขึ้นอย่างเเน่นอน เเค่ต้องใช้เวลานานกว่าที่ผมคำนวณเอาไว้ก็เท่านั้นเอง”

พูดง่ายๆ ก็คือไม่ว่าอนาคตจะออกมาเป็นยังไง political experts สามารถที่จะทำให้คำทำนายของตัวเองดูออกมาดีได้เสมอในสายตาของคนดูของเขา ถึงเเม้ว่าจริงๆ เเล้วคำทำนายของเขาจะผิดก็ตาม เเละด้วยเหตุผลนี้เอง ฟิลิป เทตลอก ถึงสรุปออกมาว่า ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะอ้างว่าตัวเองเป็น “กูรู” ได้ ขอให้มีบุคลิกภาพที่ดี น่าเชื่อถือ มีการศึกษาที่ดี (ที่อาจไม่ต้องเกี่ยวกับการทำวิจัยเลยก็ได้) เเละโอกาสที่ทำให้ตัวเองได้ไปออกสื่อก็พอ โดยเฉพาะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่บุคคลที่ไม่มีสังกัดสามารถที่จะไปออกสื่อในฐานะ “นักวิชาการอิสระ” ได้

“มีคำทำนายไร้ประโยชน์มาขายครับ”

พอมาถึงจุดนี้ อาจจะมีคุณผู้อ่านหลายท่านกำลังตั้งข้อสงสัยว่า “ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาเลยถ้าผมเลือกจะดูพวกนักวิชาการเถียงกันทางทีวีเพื่อความบันเทิง ผมมีการศึกษาพอที่จะสามารถเเยกเเยะได้ว่านักวิชาการคนไหนเชื่อถือได้ คนไหนเชื่อถือไม่ได้ ผมก็เลือกที่จะเชื่อคนที่ผมคิดว่ามีเหตุมีผลเเละมีความสามารถในการวิเคราะห์อนาคตที่สุด ก็เเค่นั้นเอง”

เป็นความจริงหรือที่มนุษย์เราสามารถใช้เหตุผลในการเเยกเเยะได้อย่างง่ายดายว่าผลของการวิเคราะห์เเละคำทำนายของนักวิชาการคนไหนเชื่อถือได้ เเละของคนไหนเชื่อถือไม่ได้ ในการตอบคำถามข้อนี้ ผมกับ ดร.โยฮานเนส อี ริยานโตะ (Yohanes E. Riyanto) จากมหาลัยนันยางเทคที่สิงคโปร์ จึงได้ลงมือทำการทดลองกับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เมืองไทยเเละที่สิงคโปร์ โดยเราตั้งคำถามของการวิจัยของเราเอาไว้ว่า “Would people pay for useless predictions?” หรือ คนเรายอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อคำทำนายของสิ่งที่เราน่าจะรู้ๆ กันอยู่ว่าไม่สามารถทำนายได้เลยไหม

โดยในการทดลองในห้องเเลปของเรานั้น ผมกับโยฮานเนสได้ให้นักศึกษาอาสาสมัครเหล่านี้ใช้เงินที่เราให้กับเขาในการเดิมพันผลของการทอยเหรียญเป็นจำนวนห้าครั้งด้วยกัน โดยในเเต่ละครั้งนั้นผมทั้งสองให้นักศึกษาอาสาสมัครเเต่ละคนทำนายว่าเหรียญจะออกมาหัวหรือก้อยพร้อมกับให้พวกเขาใช้เงินในการเดิมพันกับคำทำนายนั้นๆ ถ้านักศึกษาคนไหนทายเหรียญที่จะออกถูก เงินที่เขาใช้ในการเดิมพันนั้นก็จะคูณสองกลับไปที่เขา เเต่ถ้านักศึกษาคนไหนทายเหรียญที่จะออกผิด เขาก็จะเสียเงินที่เขาใช้ในการเดิมพันในรอบนั้นๆ ไป

เเละเพื่อเป็นการการันตีว่าเหรียญที่เราจะใช้ในการทอยนั้นเป็นเหรียญที่เเฟร์ ผมทั้งสองได้บอกกับนักศึกษาอาสาสมัครเหล่านี้ว่าเหรียญที่จะใช้ในการทอยนั้นจะสุ่มมาจากตัวกลุ่มของนักศึกษาด้วยกันเอง เเละเราจะไม่ใช้เหรียญเดิมในการทอยทุกครั้ง เเถมคนที่จะออกมาทอยเหรียญในเเต่ละรอบก็จะเป็นตัวนักศึกษาเอง ไม่ใช่ผมทั้งสองคน เเละเราก็ยังจะเปลี่ยนคนทอยทุกครั้งด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ ผมกับโยฮานเนสได้ทำทุกอย่างให้นักศึกษาอาสาสมัครทุกคนเห็นว่ากระบวนการผลิดผลลัพธ์ของการทอยเหรียญในเเต่ละรอบนั้นมาจากการสุ่ม (หรือเป็นภาษาอังกฤษก็คือกระบวนการทอยเหรียญเป็นขั้นตอนที่ independent and identically distributed) ซึ่งหมายความว่าไม่มีใครมีความสามารถในการที่จะทำนายผลลัพธ์ของการทอยเหรียญเหล่านี้ได้เลย

PastedGraphic-1 (1)

ส่วนบนโต๊ะของนักศึกษาเเต่ละคนจะมีซองติดไว้อยู่ห้าซองด้วยกันตามรูปข้างบน เเละก่อนที่จะเริ่มเล่นเกมทายเหรียญ ผมกับโยฮานเนสก็บอกกับนักศึกษาอาสาสมัครเหล่านี้ว่า “ในซองเเต่ละซองนี้ มีคำทำนายของการทอยเหรียญในเเต่ละรอบอยู่ข้างใน ถ้าคุณอยากจะรู้ว่าคำทำนายของเหรียญที่เรายังไม่ได้ทอยกันนั้นคืออะไรก่อนที่เราจะเริ่มทอยเหรียญในรอบนั้นๆ คุณสามารถซื้อมันได้ด้วยราคาถูกๆ (เป็นเงินสิบเปอร์เซ็นต์ของเงินที่เราให้ไปตอนเริ่มเกม) เเต่ถ้าคุณไม่อยากซื้อก็ไม่เป็นไร เพราะพวกผมจะให้คุณเปิดดูคำทำนายในซองได้ฟรีๆ หลังจากเราได้ทอยเหรียญในรอบนั้นไปเเล้ว”*

ตามหลักเศรษฐศาสตร์เเล้วไม่ควรที่จะมีใครยอมจ่ายเงินเพื่อที่จะดูคำทำนายที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้เลยไม่ว่ามันจะมีราคาถูกสักเเค่ไหน เเต่สิ่งที่ผมกับโยฮานเนสพบก็คือ ถ้าคำทำนายในรอบที่เเล้วออกมาถูก เเนวโน้มที่นักศึกษาจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อคำทำนายในรอบถัดไปก็สูงขึ้นตามๆ กันไป ยิ่งไปกว่านั้น ผมทั้งสองยังพบอีกว่าคนที่เก่งเลขไม่ได้มีเเนวโน้มในการที่จะไม่ซื้อทำนายที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้มากน้อยไปกว่าคนที่ไม่เก่งเลขเลย

สรุปก็คือ มนุษย์เราส่วนใหญ่ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อคำทำนายของอนาคตที่เป็น independent and identically distributed เพียงเพราะว่าเขาเห็นคำทำนายก่อนหน้านั้นบังเอิญ “ฟลุก” ถูกขึ้นมาติดๆ กันอย่างที่ไม่สามารถจะใช้เหตุผลในการอธิบายได้

ตลาดนักวิชาการไทยกับตลาดมะนาว

บทสรุปง่ายๆ ของงานวิจัยของฟิลิป เทตลอก เเละของผมกับโยฮานเนส มีอยู่สามข้อด้วยกัน คือ
1) นักวิชาการที่เราเห็นบ่อยๆ ทางทีวี ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความสามารถในการทำนายอนาคตมากกว่าคนธรรมดาส่วนใหญ่ทั่วไป
2) คนเรามักที่จะให้คุณค่าเเละรางวัลกับนักวิชาการที่ (ในบางครั้ง) สามารถทำนายเหตุการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้องมากเกินไป เเต่ในทางกลับกัน เรากลับไม่ลงโทษนักวิชาการทุกครั้งที่เขาทำนายอนาคตผิดเลย พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราส่วนใหญ่เลือกที่จะจำเเต่อัตราความสำเร็จของการทำนายของนักวิชาการ เเละลืมเวลาที่เขาทำนายผิด
3) มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนเราจะใช้เเค่เพียงเหตุผลอย่างเดียวในการเเยกเเยะว่านักวิชาการคนไหนเชื่อได้ คนไหนเชื่อไม่ได้

เเละก็ด้วยเหตุผลสามข้อนี้เองทำให้ผมสรุปว่า ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเป็นนักวิชาการอิสระได้

ผมขอจบบทความนี้ด้วยการเปรียบเทียบตลาดของนักวิชาการไทยกับตลาดของมะนาว [ซึ่งเป็นนิยามของจอร์จ อเคอร์ลอฟ (George Akerlof) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย] ซึ่งในตลาดมะนาวนั้นคนขายจะรู้ดีว่ามะนาวที่ตัวเองกำลังขายอยู่นั้นดีหรือเสีย เเต่สำหรับคนที่ซื้อนั้นส่วนใหญ่เเล้วไม่สามารถที่จะบอกได้เลยว่ามะนาวที่ตัวเองซื้อไปนั้นดีหรือเสียเพราะว่าไม่ว่ามะนาวจะดีหรือจะเสียมันก็เปรี้ยวพอๆ กัน เเละเพราะด้วยเหตุผลนี้นี่เอง ทำให้นักวิชาการที่เเท้จริงไม่ค่อยอยากนำตัวเองเข้าไปในตลาดที่มีทั้ง “มะนาวดีเเละมะนาวเสีย” หรือพูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือ “the bad driving out the good” ในตลาดของนักวิชาการของเราดีๆ นี่เอง

อ่านเพิ่มเติม
Akerlof, G. A. (1970). The market for” lemons”: Quality uncertainty and the market mechanism. The quarterly journal of economics, 488-500.
Powdthavee, N., & Riyanto, Y. E. (2012). Would you pay for transparently useless advice? A test of boundaries of beliefs in the folly of predictions. Review of Economics and Statistics, forthcoming.
Tetlock, P. (2005). Expert political judgment: How good is it? How can we know?. Princeton University Press.

*สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจว่าผมทั้งสองเตรียมคำทำนายกันยังไงให้อย่างน้อยต้องมีนักศึกษาคนหนื่งในห้องที่ได้คำทำนายในซองที่ถูกทุกรอบที่เขาเล่น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
1)Financial Times: http://www.ft.com/cms/s/2/27df2d02-b4ff-11e1-aa06-00144feabdc0.html
2) http://www.powdthavee.co.uk/resources/Would+people+pay+for+transparently+useless+advice+8.1.14+-+wo+online+annex.pdf
3)http://www.economist.com/node/21556625