ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้ทันโพลมากขึ้นด้วยกฎง่ายๆ 5 ข้อ

รู้ทันโพลมากขึ้นด้วยกฎง่ายๆ 5 ข้อ

22 ธันวาคม 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

ในสังคมสมัยใหม่ ผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบอะไร ล้วนแต่ต้องการคะแนนนิยมจากประชาชน อย่างน้อยที่สุดเพื่อ(แอบ)อ้างความชอบธรรมในการปกครอง จะทำอะไรก็ต้องอ้าง “ประชาชนอยากได้” เหตุผลอื่นกลายเป็นเรื่องรอง การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นต่างๆ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “การทำโพล” จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ และนักทำโพลหลายสำนักก็กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลไปโดยปริยาย

ในเมื่อคำก็อ้างโพล สองคำก็อ้างโพล ถ้าประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ จะหาวิธี “รู้ทันโพล” ไว้บ้างคงไม่เสียหลาย จะได้พยายามแยกแยะระหว่างโพลที่ “เป็นกลาง” ถูกหลักวิชาการ โพลที่ไม่ถูกหลักวิชาการ กับโพลที่ผิดหลักวิชาการอย่างร้ายแรงจนน่าสงสัยว่าอาจมี “วาระซ่อนเร้น”

polls

ผู้เขียนไล่อ่านบทความของนักทำโพล ผู้เชี่ยวชาญทางสถิติ นักคณิตศาสตร์ ฯลฯ บนเน็ต จับใจความได้ว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องระเบียบวิธีทำโพล ก็สามารถประเมินคุณภาพของการทำโพลได้ เพียงใช้กฎง่ายๆ (แต่อาจจะล่วงรู้ยาก) 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

กฎข้อ 1. รู้เป้าหมายและสปอนเซอร์โพล

เป้าหมายโพลที่ “ดี” ควรมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ และเฉพาะเจาะจง การทำโพลควรถูกออกแบบมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ไม่ใช่ให้ข้อมูลตาม “ธง” ที่ตั้งไว้ล่วงหน้า ผู้ทำโพลควรระบุอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของการทำโพลครั้งนี้คืออะไร มาจากสำนักไหน ใครเป็นสปอนเซอร์ (ถ้ามี)

กฎข้อ 2. รู้ว่าคนทำโพลไปสัมภาษณ์ใครมา

ขั้นตอนแรกๆ ของการทำโพล คือ การเลือกว่าจะไปสำรวจความคิดเห็นของใครบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของโพล กลุ่มเป้าหมายอาจเป็นประชาชนวัยทำงานในกรุงเทพฯ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้น ผู้พิการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฯลฯ แต่คำถามที่เราควรถามคือ 1) ผลโพลระบุกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนหรือไม่? 2) กรอบการสุ่มตัวอย่างสามารถเป็น “ตัวแทน” ของกลุ่มเป้าหมายได้หรือไม่?

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากรู้จริงๆ ว่าคนไทย “ทั้งประเทศ” สนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่าไร เราก็ไม่ควรถามคนเฉพาะกลุ่มบางพื้นที่เท่านั้น เช่น พนักงานออฟฟิศกรุงเทพฯ ชาวไร่อ้อยภาคเหนือ ฯลฯ แต่ต้องมีวิธีสุ่มตัวอย่างที่ทำให้สะท้อนความเห็นของคน “ทั้งประเทศ” ได้

กฎข้อ 3. รู้ว่ากลุ่มตัวอย่างถูกเลือกมาอย่างไร

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ดูลึกลับที่สุดเกี่ยวกับโพลอาจเป็นวิธีสุ่มตัวอย่าง เรามักจะสงสัยกันว่า การถามคนกลุ่มน้อยจะเป็น “ตัวแทน” ความเห็นของคนกลุ่มใหญ่ได้อย่างไร? คำตอบคือในโพลที่ “ดี” ผู้ถูกสัมภาษณ์จะถูกเลือกแบบ “สุ่ม” แต่ไม่ “บังเอิญ” ตามหลักทฤษฎีความน่าจะเป็น นั่นคือ ทีมทำโพลได้สุ่มในทางที่ประชากรทุกคนในกลุ่มเป้าหมายมีโอกาสพอๆ กันที่จะถูกเลือก

นอกจากวิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างจะสำคัญแล้ว อัตราตอบรับ (response rate) ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะต่อให้ทีมทำโพลตามทฤษฎีความน่าจะเป็น ถ้าอยากให้ผลโพลกลุ่มตัวอย่างสะท้อนความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ก็จะต้องมีอัตราตอบรับ 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ ทุกคนในกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามหรือให้สัมภาษณ์ครบทุกข้อ แต่ในโลกแห่งความจริง เป้าหมายนี้แทบ ไม่มีโพลไหนทำได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ผู้ถูกสุ่มเลือกบางคนไม่อยากตอบ บางคนป่วยเกินกว่าจะตอบ บางคนไม่ตอบเพราะทำธุระอยู่ ฯลฯ

ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้าหากทัศนคติและความคิดเห็นของคนที่ไม่ตอบแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากคนที่ตอบคำถาม ส่งผลให้ผลลัพธ์เอียงไปข้างคนที่ตอบมากกว่าคนที่ไม่ตอบ และดังนั้นจึงไม่สะท้อนความเห็นของกลุ่มเป้าหมาย

ยิ่งเป็นกรณีที่คำตอบมีผลกระทบต่อตัวคนตอบหรือการตัดสินใจตอบ ยกตัวอย่างเช่น ต่อคำถาม “ท่านสนับสนุน คสช. หรือไม่?” คนที่ “สนับสนุน” มีแนวโน้มจะตอบเพราะไม่รู้สึกว่าต้องกลัวอะไร แต่คนที่ “ไม่สนับสนุน” หลายคนจะไม่อยากตอบเพราะกลัวถูกทหารเรียกไป “ปรับทัศนคติ” ทำให้ผลลัพธ์ยิ่งมีแนวโน้มจะเอียงกะเท่เร่ไปสะท้อนคำตอบ “สนับสนุน” มากกว่า “ไม่สนับสนุน” ทั้งที่คนที่คิดสองอย่างนี้อาจมีจำนวนเท่าๆ กันก็ได้ หรือที่จริง “ไม่สนับสนุน” อาจมีจำนวนมากกว่าก็ได้ แต่ผลโพลจะไม่บอกเราอย่างนี้เลย

ตัวอย่างผลโพลจาก "มาสเตอร์โพล" สำนักโพลที่ก่อตั้งหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 อ่านบทความประกอบได้จาก http://asiancorrespondent.com/126917/why-are-some-opinion-poll-results-so-positive-of-the-thai-junta/
ตัวอย่างผลโพลจาก “มาสเตอร์โพล” สำนักโพลที่ก่อตั้งหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 อ่านบทความประกอบได้จาก http://asiancorrespondent.com/126917/why-are-some-opinion-poll-results-so-positive-of-the-thai-junta/

โพลที่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่จะมีอัตราตอบรับ 65-75 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้าโพลไหนมีอัตราตอบรับต่ำกว่านี้ หรือไม่บอกเราว่ามีอัตราตอบรับเท่าไร หรือถามคำถามที่เราเห็นอยู่ว่ามีผลกระทบต่อการตัดสินใจว่าจะตอบหรือไม่ตอบ ก็พึงตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าโพลนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือ

กฎข้อ 4. รู้ว่ากลุ่มตัวอย่างมีกี่คน

จำนวนคนที่ถูกสัมภาษณ์หรือตอบแบบสอบถามไม่ส่งผลตรงๆ ต่อระดับการเป็น “ตัวแทน” กลุ่มเป้าหมายก็จริง แต่ก็ส่งผลต่อระดับความเที่ยงตรงของผลโพล อัตราผิดพลาด (sampling error) ของโพลส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนคนในกลุ่มตัวอย่าง จำนวนคนยิ่งมาก อัตราผิดพลาดยิ่งน้อย ปัจจุบันอัตราผิดพลาดมาตรฐานของวงการโพลอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ เทียบหยาบๆ ได้ว่าคนทำโพลควรสัมภาษณ์คน 500-600 คนเป็นอย่างน้อย

กฎข้อ 5. รู้เนื้อหาของคำถามจริงๆ ที่ถาม และบริบทของคำถาม

การออกแบบคำถามเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการจัดทำโพล วิธีถามและตัวเลือกปรนัยของคำถามแต่ละข้อเป็นหัวใจของการตีความคำตอบ ลำพังสามัญสำนึกก็บอกเราได้ว่า คำถามที่มีลักษณะ “ชี้นำ” อาจส่งผลต่อคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น ต่อคำถาม “คุณเห็นด้วยกับการคอร์รัปชั่นหรือไม่ ถ้าหากมันทำให้ประเทศเจริญขึ้น?” คนก็มีแนวโน้มจะตอบว่า “เห็นด้วย” เพราะการเรียบเรียงคำถามแบบนี้ทำให้รู้สึกว่า เราไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากคอร์รัปชั่น และไม่ว่าจะคอร์รัปชั่นแค่ไหน “อย่างน้อย” ประเทศไทยก็ “เจริญขึ้น”

โพลแบบนี้ไม่มีตัวเลือก “คุณคิดว่าคอร์รัปชั่นทำให้ประเทศเจริญขึ้นจริงหรือไม่?” ให้ตอบก่อนหน้านั้นเพื่อหักล้างสมมุติฐาน “คอร์รัปชั่นทำให้ประเทศเจริญขึ้น” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำถามชี้นำข้างต้น

นอกจากเนื้อหาคำถามและตัวเลือกที่มีให้ตอบจะสำคัญแล้ว “ลำดับ” ของคำถามต่างๆ ก็สำคัญเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราถามคำถามเกี่ยวกับปัญหาสังคม อาทิ คุณแม่วัยใส เด็กติดยาเสพติด ฯลฯ ก่อนที่จะถึงคำถาม “คุณคิดว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทยวันนี้คืออะไร?” หลายคนจะหยิบยกเอาปัญหาสังคมที่เพิ่งตอบไปก่อนหน้านั้นมาตอบ ทั้งที่ถ้ามานั่งนึกจริงๆ แล้วอาจคิดว่ามีปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่านั้นก็ได้ ปรากฎการณ์นี้เป็นเรื่องปกติเพราะเรามักจะจำสิ่งที่เกิดขึ้นหมาดๆ ได้ชัดกว่า

ด้วยเหตุนี้ โพลที่ดีจึงให้ความสำคัญกับลำดับคำถาม ถ้าจะถามความเห็นว่าอะไรคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย ก็จะตั้งคำถามนี้เป็นคำถามแรก ไม่ชี้นำด้วยการยกปัญหาสังคมใดๆ ขึ้นมาก่อน

หลักการทำโพลที่ดียังมีอีกมาก แต่กฎ 5 ข้อข้างต้นก็น่าจะช่วยให้เราๆ ท่านๆ รู้ทันโพลและนักทำโพลมากขึ้นไม่มากก็น้อย แต่เหนือสิ่งอื่นใด พึงระลึกไว้เสมอว่า ผลโพลอาจไม่เกี่ยวอะไรเลยกับผลงานที่แท้จริง.

ป้ายคำ :