ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ “ราก” ของปัญหาความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ เหตุจาก “บริโภคนิยม ความยากจน ขาดการปฏิบัติ”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ “ราก” ของปัญหาความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ เหตุจาก “บริโภคนิยม ความยากจน ขาดการปฏิบัติ”

16 ธันวาคม 2014


20141216_095003
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 16 ธันวาคม 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ในงาน OECD/Thailand Seminar on Financial Inclusion and Financial Literacy in Asia ถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและสร้างความรู้ทางการเงิน ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน

“หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมผู้ว่าการธนาคารกลางถึงได้มางานสัมมนานี้ ทั้งที่ปัจจุบันควรจะให้ความสนใจและเป็นห่วงต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในหลายภาคส่วนหลัก ซึ่งต้องขอบอกว่าความรู้ทางการเงินและการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน แท้จริงแล้วเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต่อการพัฒนาในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ถือว่ายังเป็นความท้าทายของผู้วางนโยบายในหลายภาคส่วน ที่จะหาทางออกที่เหมาะสมกับประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย” ดร.ประสารกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัจจัยที่เป็น “ราก” ของพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความรู้และการเข้าถึงทางการเงิน ได้แก่

1) ความยากจน ซึ่งทำให้ประชาชนมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิตและนำไปสู่การเป็นหนี้ ซึ่งการเป็นหนี้ประกอบกับความยากจนที่เผชิญอยู่ สุดท้ายจะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยากจะหาทางออกได้ แม้จะมีความรู้ทางการเงินเพียงพอ

2) การเติบโตของลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งเริ่มมีความสำคัญเหนือการยับยั้งชั่งใจของผู้บริโภคและนำไปสู่การใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณาของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่พยายามชักจูงให้ผู้บริโภคกู้เงินด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วและง่ายดาย เป็นการสร้างความเข้าใจผิดและพฤติกรรมการทางเงินที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งปัจจุบันผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ได้รับทราบและเตรียมปรับปรุงเรื่องดังกล่าวแล้ว

3) ขาดการประยุกต์ใช้ความรู้ทางการเงิน เพื่อจัดการการเงินส่วนบุคคล ทำให้การส่งเสริมความรู้ทางการเงินซึ่งถูกออกแบบมาอย่างดีไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ เปรียบเสมือนการรักษาสุขภาพที่คนส่วนใหญ่ทราบข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่มีเพียงส่วนน้อยที่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

นอกจากปัจจัยที่เป็น “ราก” ของปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีความท้าทายที่สำคัญจากภาวะเศรษฐกิจที่ถูกสะสมมาบางประการ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดของการสร้างความรู้และการเข้าถึงทางการเงินอีกด้านหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา, ผู้บริโภคบางส่วนยังแสวงหาบริการทางการเงินจากหนี้นอกระบบ ซึ่งสร้างภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่สูงแก่ครัวเรือน รวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสม, การแข่งขันของสถาบันการเงิน ซึ่งมีการกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค จนผู้บริโภคอาจขาดความรอบคอบในการตัดสินใจได้ เป็นต้น

ดร.ประสารกล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท. ได้ให้ความสำคัญและมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยในเบื้องต้นได้ก่อตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยมีการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับผู้บริโภคเป็นพันธกิจหลักประการหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ศคง. ได้มีความพยายามส่งเสริมความรู้ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสถานการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงมากเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ว่าส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากความกังวลเรื่องราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใดๆ แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลดีต่อภาระต้นทุนในประเทศโดยรวม เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ

“การซื้อขายตราสารการเงิน หรือการไหลออก ดูแล้วยังบางอยู่ เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ ตลาดเงินไม่ได้มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งยังเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค” ดร.ประสารกล่าว

ดร.ประสารยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการค้ำประกันและจำนอง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ว่าขณะนี้สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งหนังสือถึงประเด็นแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมายัง ธปท. เรียบร้อยแล้ว และกำลังให้เจ้าหน้าที่พิจารณาอยู่ แต่ในเบื้องต้นเห็นว่ามีเหตุผลพอสมควร โดยหลังจากนี้ ธปท. คงต้องมีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายก่อน แล้วจะนำเสนอกระทรวงการคลังเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายอาจมีการแก้เพียงบางส่วนเท่านั้น

“ในส่วนที่มีการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวออกไปจากเดิมอีกสักหน่อยเพื่อให้มีเวลาพิจารณาทบทวนให้รอบคอบกันอีกครั้งนั้น คิดว่าเป็นข้อเสนอที่ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการหารือในที่ประชุมกันอีกครั้ง” นายประสารกล่าว