ThaiPublica > เกาะกระแส > บ้าน คอนโด ผุดกว่า 400 โครงการหลังจาก สผ. ให้ผ่านอีไอเอในปี 2557

บ้าน คอนโด ผุดกว่า 400 โครงการหลังจาก สผ. ให้ผ่านอีไอเอในปี 2557

19 ธันวาคม 2014


ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส
ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส

ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโสเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557) สผ. ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ไปทั้งสิ้น 586 โครงการ โดยโครงการที่พักอาศัยผ่านความเห็นชอบมากที่สุดถึง 446 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 76 ของโครงการทั้งหมด รองลงมาคือโครงการด้านเหมืองแร่ 47 โครงการ อุตสาหกรรม 31 โครงการ พลังงาน 30 โครงการ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 โครงการ และคมนาคม 13 โครงการ ขณะที่ปีงบประมาณ 2556 สผ. เห็นชอบอีไอเอ 3,894 โครงการ และปีงบประมาณ 2555 เห็นชอบอีไอเอ3,042 โครงการ

อีไอเอที่ส่งมาที่ สผ. มี 7 ประเภทโครงการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 มีทั้งสิ้น 3,994 โครงการ ได้แก่ ประเภทบริการชุมชนและที่พักอาศัย 3,036 โครงการ,เหมืองแร่ 279 โครงการ, อุตสาหกรรม 240 โครงการ, พลังงาน 203 โครงการ, คมนาคม 115 โครงการ,อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 105 โครงการ และแหล่งน้ำและเกษตรกรรม 16 โครงการ

“เฉพาะปี 2557 นี้มีโครงการใหม่ๆ ที่เพิ่งส่งเข้า สผ. เป็นครั้งแรกเกือบ 1,000 โครงการ โดยส่วนใหญ่คือที่พักอาศัย 726 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และยังมีเหมืองแร่ 49 โครงการ พลังงาน 46 โครงการ อุตสาหกรรม 29 โครงการ คมนาคม 16 โครงการ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 15 โครงการ และแหล่งน้ำและเกษตรกรรม 5 โครงการ” ดร.เกษมสันต์กล่าว

Web

สำหรับอีเอชไอเอที่กำหนดให้มีตั้งแต่ปี 2550 นั้น จนถึงปัจจุบันมีอีเอชไอเอเสนอเข้ามารวม 27 โครงการ แบ่งเป็นประเภทอุตสาหกรรม 10 โครงการ ปิโตรเคมี 8 โครงการ พลังงาน 4 โครงการ คมนาคม 3 โครงการ แหล่งน้ำ 1 โครงการ และเหมืองแร่ 1 โครงการ โดยคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ให้ความเห็นชอบแล้ว 18 โครงการ แต่มีโครงการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการแล้วเพียง 8 โครงการเท่านั้น ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) 15 โครงการ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ 14 โครงการ

ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาในการทำรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอทั้งสิ้น 72 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือบริษัทฯ ที่ได้รับใบอนุญาต 3 ปี จำนวน 54 แห่ง และบริษัทฯ ที่ได้รับใบอนุญาต 1-2 ปี จำนวน 18 แห่ง โดยบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำอีไอเอและอีเอชไอเอเหล่านี้จะต้องมีผู้ชำนาญการประจำนิติบุคคลอย่างน้อย 1 คน ซึ่งได้รับใบอนุญาตจาก สผ. เพื่อตรวจสอบและเซ็นรับรองอีไอเอหรืออีเอชไอเอก่อนที่จะส่งมายัง สผ.

สำหรับกลุ่มของบ้าน คอนโด ฯลฯ บริษัท ไท-ไท วิศวกร จำกัด มีอีไอเอผ่านมากที่สุดในปี 2557 คือ 27 โครงการ นับจากเดือนมกราคมถึงตุลาคม ซึ่งราคาเริ่มต้นในการทำอีไอเอเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อโครงการ บริษัทอื่นๆ ที่ทำอีไอเอด้านที่พักอาศัย เช่น บริษัท เอิร์ท แอนด์ ซัน จำกัด บริษัท ซีเอ็มเอส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด บริษัท ภูเก็ต เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด และบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด”

ส่วนบริษัทที่ปรึกษาอีไอเอในโครงการประเภทอื่นๆ มีดังนี้ ประเภทอุตสาหกรรมคือ บริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย มีอีไอเอผ่าน 5 โครงการ ประเภทปิโตรเคมีคือ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด มีอีไอเอผ่าน 6 โครงการ ประเภทเหมืองแร่คือ บริษัท เอ บี อี เอ็น เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด มีอีไอเอผ่าน 10 โครงการ และประเภทพลังงานคือ บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด มีอีไอเอผ่านบริษัทละ 8 โครงการ

รายชื่อบริษัทที่ปรึกษาEIA

นายเกษมสันต์ให้ความเห็นต่อกรณีอีไอเอกำหนดขึ้นโดยพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ในส่วนที่ 5 มาตรา 46 -51 ที่กำหนดให้โครงการหรือกิจการต้องจัดทำอีไอเอ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่แท้จริง ซึ่งต่อมา ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องทำอีไอเอ รวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการทำอีไอเอ โดยกำหนดโครงการหรือกิจการที่ต้องทำอีไอเอไว้ทั้งสิ้น 35 ประเภท ดังนี้

การทำเหมืองแร่, การพัฒนาปิโตรเลียม, โครงการระบบขนส่งปิโตรเลียมและน้ำเชื้อเพลิงทางท่อ, นิคมอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่มีกระบวนการผลิตทางเคมี, อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ, อุตสาหกรรมคลอร์-แอลคาไลน์ ที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบในการผลิต, อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ

อุตสาหกรรมที่ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์, อุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล, อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า, อุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่หรือหลอมโลหะที่ไม่ใช้เหล็กหรือเหล็กกล้า, อุตสาหกรรมผลิตสุรา แอลกอฮอล์ เบียร์ และไวน์, โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสีย โรงไฟฟ้าพลังความร้อน, ระบบทางพิเศษ, ทางหลวงหรือถนน, ระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ราง, ท่าเทียบเรือ, ท่าเทียบเรือสำราญกีฬา

การถมที่ดินในทะเล, การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างในทะเล, โครงการระบบขนส่งทางอากาศ, อาคาร, การจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยหรือการพาณิชย์, โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล, โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ, อาคารอยู่อาศัยรวม, การชลประทาน, โครงการทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1, การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ และประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก

ส่วนอีเอชไอเอนั้นเกิดจากบัญญัติในมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่กำหนดให้ศึกษาและประเมินผลกระทบโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพไว้ทั้งหมด 11 ประเภท ดังนี้

การถมทะเลหรือทะเลสาบ, เหมืองแร่, นิคมอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมถลุงแร่หรือหลอมโลหะ, การผลิต กำจัด ปรับแต่งสารกัมมันตรังสี, โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม, โครงการระบบขนส่งทางอากาศ, ท่าเทียบเรือ, เขื่อนกักเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน