ThaiPublica > คอลัมน์ > เล่าเรื่องเก่า หม่อมเต่ากับไอ้เตา (ตอนที่ 2)

เล่าเรื่องเก่า หม่อมเต่ากับไอ้เตา (ตอนที่ 2)

1 ธันวาคม 2014


ในตอนที่หนึ่ง (ใครยังไม่ได้อ่านไปหาดูได้ในเฟซบุ๊กของผมเมื่อ 29 พ.ย.) ผมได้เล่าเรื่องสำคัญบางเรื่องที่หม่อมเต่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ทำให้กับประเทศแล้วผมโชคดีได้มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงที่ท่านเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง (2532-2535 ซึ่งย่อมเป็นแค่บางเรื่องเท่านั้น เรื่องอื่นๆ ที่ท่านทำประโยชน์ไว้คงยังมีอีกมากมายที่ผมไม่ได้ร่วมรู้เห็น)

หลังจากนั้นท่านได้ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร (ซึ่งก็ฝากผลงานไว้ที่สองกรมนี้อีกมากมาย เช่น เรื่องการเริ่มระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนับเป็นการปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ จนทำให้เป็นรายได้สำคัญที่สุดของรัฐ) จนกระทั่งได้เป็นปลัดกระทรวงการคลังในปี 2538 เมื่ออายุได้เพียง 53 ปี ทำท่าจะเป็นปลัดไปนานทีเดียว มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่ท่านได้เป็นปลัดนั้น นายกฯ สมัยนั้น (คุณบรรหาร ศิลปอาชา) อยากตั้งคนอื่น แต่กลัวว่าจะวุ่นวายเพราะท่านโดดเด่นด้านผลงานมานาน

หม่อมเต่านั้น ท่านเป็นข้าราชการดาวรุ่งมาตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม นอกจากผลงานแล้วฝีปากก็ยังโดดเด่นขึ้นชื่อ ด้านประวัติการศึกษาของท่านนั้นก็เป็นยอด จบ Cambridge เกียรตินิยม แล้วไปจบโทที่ Kennedy School ของ Harvard อีก ท่านเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ใหญ่และปลัดกระทรวงทุกคนมาแต่ไหนแต่ไร อย่างครั้งหนึ่ง มีรองปลัดฯ ท่านหนึ่งเชิญผมไปพบ แล้วขอให้ผมไปโน้มน้าวหม่อมเต่าให้สนับสนุนให้เอาบริษัทสหโรงแรมไทย (ที่เป็นเจ้าของที่ดินและถือหุ้นโรงแรมเอราวัณ) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเล็กๆ มีพนักงานไม่ถึงสิบคน เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมถามว่าทำไมท่านไม่โน้มน้าวเองล่ะ ท่านตอบว่า “ผมเสนอท่านปลัดพนัสไปแล้ว ท่านว่าให้ไปถามหม่อมเต่า แล้วมีคนบอกว่าจะโน้มน้าวหม่อมเต่า ให้ตามไอ้เตา” ผมได้แต่บอกว่า ถ้าผมสะเออะไปเสนอเรื่องนี้ คงโดนเตะ โดนด่า โดนเยาะเย้ยติดดินแน่นอน เพราะมันเป็นเรื่องไม่สมควร ต้องขอตัวครับ

แม้ผมจะถูกท่านใช้งานฟรีบ่อยๆ แถมถูกถากถางเยาะเย้ยสารพัดตลอดทาง แต่ก็ทำประโยชน์ให้ผมเองไม่น้อยทีเดียว นอกจากจะได้โอกาสเรียนรู้มากมายทุกครั้ง ยังทำให้มีชื่อเสียงอย่างไม่คาดคิดอีกด้วย ความที่หม่อมเต่าท่านกว้างขวางในแวดวงราชการและสังคมทั่วไป เป็นที่ยอมรับว่าเก่งกาจฉลาดเฉลียว ทำให้หลายครั้งที่มีผู้ใหญ่ที่ผมไม่เคยเจอะเจอ รู้จักผมผ่านท่าน “คุณต้องเป็นคนเก่งมากทีเดียว เพราะหม่อมเต่า (ไอ้เต่า) เขาบอกว่าคุณโง่น้อยที่สุดในแวดวงนักการเงินในเมืองไทย”

ช่วงที่ท่านเป็นปลัดกระทรวงนั้น เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงปลายของฟองสบู่ ใกล้จะระเบิดเต็มที ท่านเคยปรารภให้ฟังว่า “ไอ้คำว่า soft landing นั้นมันมีแต่ในนิยาย ในสังคมประชาธิปไตยไม่มีทางทำให้คนยอมกัดลูกปืน (bite the bullet) ก่อนเกิดฉิบหายได้” และในที่สุดเราก็เกิดมหาวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นตอนกลางปี 2540 เมื่อต้องลอยตัวค่าเงินในวันที่ 2 ก.ค. หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงเดือน ในวันที่ 28 ก.ค. ท่านก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวง โดยให้ย้ายไปอยู่สำนักนายกฯ ซึ่งท่านก็ลาออกจากราชการทันที หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ไทยก็ลงนามใน letter of intent ขอรับความช่วยเหลือจาก IMF (ผมไม่แน่ใจว่าสองเรื่องนี้เกี่ยวกันหรือเปล่านะครับ) ท่านพูดง่ายๆ เรื่องถูกปลดแล้วลาออกว่า “ก็ใช้หนี้แผ่นดินมานาน คิดว่าพอสมควรแล้ว ไปทำอย่างอื่นได้แล้ว”

แต่พอกลางปี 2541 หลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถูกกดดันจนต้องลาออกสองคนติดต่อกัน รัฐบาลชวน หลีกภัย โดย รมต.คลัง “ธารินทร์ นิมมานเหมินท์” ก็แต่งตั้งท่านเป็นผู้ว่า ธปท. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งนับเป็นภารกิจรับใช้ชาติที่สำคัญมากของท่านอีกวาระหนึ่ง เพราะ ธปท. ในเวลานั้น ต้องถือว่ากำลังอยู่ในภาวะ “ล้มละลายในด้านความน่าเชื่อถือ” เนื่องจากดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนผิดพลาด นำทุนสำรองไปต่อสู้การเก็งกำไรจนหมด แถมจัดการกับสถาบันการเงินได้ไม่ดี มีความเสียหายมาก ถูกตราหน้าว่าเป็นจำเลยสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด ที่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่รับกรรม แต่ลุกลามไปทั่วภูมิภาค ข้ามไปไกลถึงเกาหลีใต้ (ความจริงแล้ว ในความเห็นผม ถึงแม้ ธปท. จะมีส่วน แต่รากฐานปัญหาที่แท้จริงเกิดจากการที่แทบทุกคนในระบบเศรษฐกิจมีส่วนร่วมสร้างฟองสบู่นี้ขึ้น ทั้งผู้ลงทุน ทั้งธุรกิจ ทั้งผู้ให้กู้ ผมเคยวิเคราะห์ไว้ในบทความ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”)

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ต้องใช้ความพยายามอย่างมากโดยร่วมมือกับรัฐบาลในการสร้างความน่าเชื่อถือกลับคืนมา ต้องสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาทและระบบการเงิน หาวิธีเพิ่มทุนเพื่อให้ธนาคารเอกชนยังดำเนินการต่อไปได้ ต่อรองกับ IMF (คุณธารินทร์และหม่อมเต่า นับเป็นคู่ดูโอ้ที่ทำงานเข้าขากันเป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติมีเสถียรภาพได้ และกลับมาเริ่มตั้งตัวได้ใหม่) งานสำคัญอันหนึ่งของท่านคือ การกำหนดให้ใช้ระบบ “เป้าหมายเงินเฟ้อ” (inflation targeting) เป็นหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือสำคัญ

หม่อมเต่าเคยเล่าให้ฟังว่าแต่ “พอมาอยู่แบงก์ชาติก็ตาสว่าง ได้ความรู้มากมาย แถมทำให้รู้ว่าถูกหลอกมาตลอด แต่คนแบงก์ชาติก็พอๆ กัน ฉลาดกว่าพวกคลังขึ้นมานิดเดียว สนามหน้าวังบางขุนพรหมแทบไม่ต้องใช้เครื่องตัดหญ้า ใช้พนักงานเดินเล็มเอาก็พอ ที่นี่ดอกเตอร์เยอะแยะทำอะไรไม่ค่อยเป็น แถมคับแคบไม่คบใคร กินข้าวก็กินกันเอง แต่งงานยังแต่งกันเองเป็นหลายร้อยคู่เลย ไม่รู้จักเปิดหูเปิดตา” (คนมักคิดว่าท่านชอบดูถูกคน แต่ผมว่าจริงๆ แล้วท่านกดดันท้าทายให้คนทำงานหนัก ให้คิดมากๆ มากกว่าจะเหยียดหยามใครจริงจัง)

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ : http://news.mcot.net
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ : http://news.mcot.net

ในช่วงที่ท่านเป็นผู้ว่า ธปท. นั้น ความสัมพันธ์กับผมไม่ค่อยจะราบรื่นนัก เนื่องด้วยผมถูกขอให้ย้ายจากการเป็น CEO บล.ภัทร ให้มาเป็น CEO ของ บง.ภัทรธนกิจ เพื่อแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากวิกฤติ ซึ่งหม่อมเต่าท่านจะค่อนข้างเอาเรื่องจริงจังกับผู้บริหารสถาบันการเงินที่มีปัญหา ท่านไปขอตัวนักกฎหมายจากกรมอัยการมาเป็นผู้บริหารแบงก์ชาติหลายคนเพื่อฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่ท่านเชื่อว่าทำให้เกิดความเสียหาย

ในส่วนของผม พอมาบริหาร บง.ภัทรธนกิจ ทำการ due diligence ตัวเองแล้วก็พบว่า การให้สินเชื่อมีความเสียหายมาก น่าจะมี NPL สูงเกือบ 60% มูลค่าทางเศรษฐกิจแท้จริงติดลบกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งพอรายงานประธานกรรมการ คุณบัณฑูร ล่ำซำ แล้วก็มีความเห็นด้วยกันว่า ไม่น่าจะทู่ซี้ดำเนินกิจการต่อไปได้ เลยเข้าพบ รมต.คลังและผู้ว่าแบงก์ชาติช่วงประมาณปลายปี 2541 เพื่อเสนอแผนการที่จะปิดกิจการโดยให้รัฐในฐานะผู้คำ้ประกันเงินฝากเสียหายให้น้อยที่สุด นั่นคือ แยกส่วนสินทรัพย์ดีและเสียออกจากกัน ขาย บล.ภัทรให้ฝรั่ง Merrill Lynch ได้เงิน 5,200 ล้านบาท แล้วเสนอโอนสินทรัพย์ดีให้ธนาคารกสิกรไทย ส่วนสินทรัพย์เสียแยกมาตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์โดยตีราคาตามที่ควรจะเป็น ให้ธนาคารกสิกรไทยรับบริหาร ถ้ามีกำไร ส่วนใหญ่ต้องแบ่งให้แบงก์ชาติ แต่ถ้าขาดทุน ธนาคารกสิกรไทยต้องรับภาระไป ซึ่งตามแผนนั้น รัฐต้องรับภาระประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าน้อยกว่าครึ่งถ้าเทียบกับสถาบันการเงินอื่นในขนาดเดียวกันที่มีปัญหา แล้วรัฐแก้ไขด้วยวิธีอื่น (เช่น ปรส. หรือให้ควบรวมตั้งไทยธนาคาร เป็นต้น)

แน่นอนครับ ข้อเสนออย่างนี้ย่อมเป็นที่ขัดเคืองของ รมต.คลัง และผู้ว่าแบงก์ชาติ เราได้รับอนุมัติให้ขาย บล. ได้ กับให้ทำ tender offer เอาหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่การเลิกกิจการปิดบริษัทนั้นท่านยังไม่ยอม โดยท่าน รมต. บอกว่า “สถานการณ์ของประเทศยังย่ำแย่ จะมาสร้างเรื่องซำ้เติมความเชื่อมั่นขึ้นมาอีกได้ยังไง พวกคุณต้องอดทนเพื่อชาติกันบ้าง” ซึ่งเราก็เลยต้องพยายามบริหารต่อไปก่อน โดยแก้ไขเรียกคืนหนี้ทุกทางเพื่อบรรเทาความเสียหายให้รัฐ

พอถึงกลางปี 2542 คุณปั้นและผมได้ขอเข้าพบท่าน รมต.คลังและผู้ว่าการอีกครั้ง เพื่อเสนอแผนปิดกิจการตามที่เคยเสนอ ผมยังจำเหตุการณ์การประชุมที่บ้านมนังคศิลาในวันนั้นได้ดี พอเราเสนอแผน คุณธารินทร์ท่านตัดบทว่า “เหตุการณ์กำลังจะไปได้ดี ทุกอย่างกำลังเดินหน้าได้ พวกคุณจะมาทำลายบรรยากาศอีกแล้ว” ผมเลยนำร่างจดหมาย (ที่ยังไม่ได้ลงนาม) ที่เตรียมมาเสนอท่าน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ผู้บริหารบริษัทเงินทุนที่ตระหนักว่าฐานะทางการเงินย่ำแย่จะต้องแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าควบคุมดำเนินการแทน มิฉะนั้นจะมีความผิด

หม่อมเต่าอ่านร่างเสร็จท่านก็ขยำแล้วปาใส่หน้าผม “ไม่ต้องมาขู่ นี่คุณปั้น คุณช่วยไล่ไอ้โง่โอหังอวดดีนี่ออกไปรอหน้าห้องก่อนเถอะ ไม่งั้นผมจะไม่เจรจากับคุณ เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมจะส่งทีมตรวจสอบชุดใหญ่เข้าไปตรวจภัทร เพื่อเอาคนเข้าคุก” ผมก็ออกมารอแต่โดยดี ไม่ได้นึกโกรธเลยด้วยซ้ำ เพราะผมเข้าใจดีว่าท่านทำหน้าที่ของท่าน ส่วนผมนั้น คุณวิโรจน์ นวลแข เคยสอนไว้ว่า “ยามเป็นหมา ต้องเป็นหมา อย่าไปเผยออวดเป็นเสือ” กับเคยอ่านภาษิตโกวเล้ง “ลูกผู้ชายยืดได้ ต้องหดได้” ก็เลยรับได้สบายมาก

ในที่สุด ทางการก็อนุมัติให้ บง.ภัทรธนกิจ ปิดกิจการตามแผนที่เสนอได้ในเดือน พ.ย. 2542 โดยทางการยอมชดใช้ให้กับผู้ฝากเงิน รวม 4,310 ล้านบาท ซึ่งผมขอยืนยันว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่มีความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่มีอยู่ (ไว้ว่างๆ ผมจะเล่าเรื่องปิด บง.ภัทรธนกิจ ซึ่งผมถือว่าเป็นงาน (ดีล) ที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิตวาณิชธนกรของผมให้ฟังอย่างละเอียดนะครับ)

หม่อมเต่าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. อยู่สามปีเศษ ท่านได้ทำให้แบงก์ชาติของเรากลับมาเป็นสถาบันหลักที่น่าเชื่อถือ มีเกียรติศักดิ์ศรีเหมือนเดิมอีกครั้ง พอมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์แพ้ยับ เหมือนเชอร์ชิลแพ้เลือกตั้งหลังพาอังกฤษชนะสงครามโลก หลังจากนั้นไม่กี่เดือน รัฐบาลใหม่ (พรรคไทยรักไทย) ก็ปลดท่านออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งคุณชายอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เข้าไปแทน ซึ่งท่านบอกเรียบๆ ว่า “ต้องโดนปลดแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าไม่ปลดสิถึงจะเป็นเรื่องแปลก”

ตรงนี้มีเกร็ดเล็กน้อย เคยมีอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติทายปริศนากับผมว่า “มีผู้ว่า ธปท. สามคน คนหนึ่ง ไม่เคยฟัง แต่ได้ยิน อีกคนหนึ่ง ฟังตลอด แต่ไม่เคยได้ยิน คนสุดท้าย ฟัง ได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าเข้าใจหรือเปล่า ทายสิว่า ใครเป็นใคร” คนโง่ๆ อย่างผมคิดไม่ออกจริงๆ ครับ ใครรู้ช่วยเฉลยที

พอมาปี 2552 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หม่อมเต่าก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. จนถึงปี 2555 ซึ่งในช่วงนั้น ครั้งหนึ่งในการสัมมนาวิชาการของ ธปท. (BOT symposium) ซึ่งผมมักไปเข้าร่วมฟังเป็นประจำทุกปี ระหว่างพัก ท่านได้ลุกขึ้นพูดเสียงดัง “มันอยู่ไหนวะ เห็นแวบๆ ในจอ” ว่าแล้วก็เดินตรงมาหาผมพูดโหวกเหวกต่อไปว่า “นี่บรรยง ได้ข่าวว่ากำลังวางระบบ Enterprise Risk Management ให้การบินไทยอยู่ ช่วยมาอธิบายให้พวกแบงก์ชาติหน่อยว่ามันเป็นอย่างไร ผมพยายามบอกพวกเขาว่า แบงก์ชาติที่คุยนักคุยหนาว่าบริหารความเสี่ยงของทั้งประเทศ แต่ตัวเองไม่มี ERM พูดเท่าไหร่ไม่ยอมเข้าใจ ต้องขอให้คนที่โง่พอกันมาช่วยอธิบายหน่อย”

นี่แหละครับ หม่อมเต่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล คนที่ดูเหมือนพูดจาก้าวร้าว ปากร้าย ดูถูกคนอื่น แต่แท้จริงท่านเป็นคนลุ่มลึก ทำอะไรก็มีเป้าหมายที่ดี เพื่อสังคมอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้มีประสิทธิผลที่สุด ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาตินานัปการ ท่านเป็นคนหนึ่งในไม่กี่คนในประเทศนี้ที่ผมเคารพกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ และผมก็โชคดี ที่ได้เจอะเจอ ได้ทำงานกับท่าน ได้เรียนรู้จากท่านอย่างมากมาย

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Ponpanich วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557