ThaiPublica > คอลัมน์ > ความสำเร็จของเวียดนามกับศักยภาพของอาเซียน

ความสำเร็จของเวียดนามกับศักยภาพของอาเซียน

13 พฤศจิกายน 2014


กล้า กรวิก

หนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพของอาเซียนมาโดยตลอด คือ ความแตกต่างทางเศรษฐกิจของประเทศภาคีที่มากจนเกินไป อันทำให้ผลประโยชน์ของภาคีอาจจะไม่สอดคล้องกัน และส่งผลต่อความร่วมมือในเชิงนโยบายในที่สุด

ในฐานะประเทศตลาดเกิดใหม่ วันนี้เวียดนามกำลังเข้าสู่ลู่วิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันเพื่อนบ้านอื่นๆ และดูเหมือนว่า เวียดนามจะทำงานของตนได้ค่อนข้างดี

ในปี 2555 นิตยสาร Foreign Policy กลับขนานนามให้เวียดนามเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ตัวใหม่ หลังจากที่เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลอดระยะเวลากว่า 26 ปีที่เปิดประเทศด้วยนโยบาย “ดอย มอย” ที่ผ่านมา เวียดนามมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 5.3 ต่อปี ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับสองของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น

ในฐานะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก เวียดนามหนีไม่พ้นต้องเจอกับการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าเช่นเดียวกับไทย แต่เวียดนามก็สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี มีการคาดการณ์ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ในขณะที่สถาบันทางเศรษฐกิจชั้นนำหลายแห่งทำนายไว้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีหน้าจะสูงถึงร้อยละ 6 และอาจสูงถึงร้อยละ 7 ในช่วงระหว่างปี 2559–2660 ถ้าหากเวียดนามรักษาสภาพแวดล้อมและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ได้

กล่าวเฉพาะส่งออก เวียดนามมีการส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 14.2 ใน 9 เดือนแรกของปี ในขณะที่ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการส่งออกก็นับว่าน่าสนใจมาก ในปี 2557 เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริการายใหญ่ที่สุดของอาเซียนไปแล้ว โดยมีสัดส่วนการส่งออกในปัจจุบันมากถึงร้อยละ 22 ของการส่งออกของอาเซียนไปยังสหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์มองว่า ตัวเลขนี้น่า “มหัศจรรย์” ไม่น้อยเมื่อพิจารณาว่าเวียดนามและสหรัฐอเมริกาเคยรบกันหนักหน่วงเพียงใด เมื่อ 15 ปีที่แล้วเวียดนามส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพียงแค่ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียงแค่ร้อยละ 1 ของการส่งออกจากอาเซียนไปยังสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเวียดนามส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 29,400 ล้านเหรียญสหัรฐฯ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 36 เท่า เลยทีเดียว คาดการณ์กันว่า ในปี 2663 เวียดนามจะมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอดีตศัตรูหมายเลขหนึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของการส่งออกของอาเซียนไปยังตลาดแห่งนี้

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลทำให้ความยากจนลดลงอย่างรวดเร็ว ใน 9 เดือนแรกของปี 2557 ความยากจนในเวียดนามลดลงมากถึงร้อยละ 21.7 นักวิเคราะห์มองว่า แม้จะยังมีครัวเรือนเวียดนามอีกกว่า 300,000 ครัวเรือน ที่ยังรับว่ายากจน ทว่า การลดลงของครัวเรือนที่ยากจนก็นับว่าน่าพอใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับประเทศน่าลงทุนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสารทรงอิทธิพลอย่าง The Economist จัดอันดับเวียดนามให้เป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจสำหรับเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นอันดับ 5 ของโลก จะเป็นรองก็เพียงกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) เท่านั้น นอกจากค่าจ้างแรงงานถูกแล้ว เสน่ห์ของเวียดนามที่ดึงดูดทุนทางชาติคือ ทรัพยากรธรรมชาติและการเป็นประเทศเปิดใหม่น่าค้นหา เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเวียดนามส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 40) มีเป้าหมายไปที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่และการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งมุ่งไปยังธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2548 นักท่องเที่ยวที่มีเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางเพียงแค่ 2.9 ล้านคนเท่านั้น ทว่าในปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยวของเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 7.5 ล้านคน เลยทีเดียว

นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดเงินลงทุนของต่างชาติ กล่าวได้ว่า รัฐบาลเวียดนามดำเนินนโยบายค่อนข้างเป็นมิตรกับทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปัจจุบันเวียดนามมีความหนาแน่นของถนนสูง (สัดส่วนของความยาวถนนต่อพื้นที่) กว่าประเทศที่ได้ชื่อว่าถนนเยอะอย่างไทยและฟิลิปปินส์เสียอีก

แน่นอนว่า การพัฒนาของเวียดนามไม่ได้มีแต่ด้านบวก เวียดนามยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่หลายประการ อาทิ การพึ่งพิงทุนต่างชาติมากเกินไป การที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่รอดได้ยากทางธุรกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว

ทว่า อย่างน้อยความสำเร็จของเวียดนามแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไป สัญญาณบวกนี้ ไม่ใช่สัญญาณเฉพาะสำหรับเวียดนามเท่านั้น หากแต่เป็นสัญญานที่ส่งถึงเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย