ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดตำรา “ดร.ผาสุก-สังศิต” ค้นวิชาโกง วงการตำรวจ “ส่วย-สินบน-บ่อน-ซื้อตำแหน่ง” เชื่อ “ถ้าโกงแค่ 5 พันล้าน ตำรวจจะผอมกว่านี้เยอะ”

เปิดตำรา “ดร.ผาสุก-สังศิต” ค้นวิชาโกง วงการตำรวจ “ส่วย-สินบน-บ่อน-ซื้อตำแหน่ง” เชื่อ “ถ้าโกงแค่ 5 พันล้าน ตำรวจจะผอมกว่านี้เยอะ”

26 พฤศจิกายน 2014


ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูดไปในทิศทางเดียวกัน กรณีจับกุมนายตำรวจใหญ่ระดับผู้บัญชาการและพวกว่า “จะเล็กหรือใหญ่ ผิดก็คือผิด อย่าไปเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยว มันเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจใดปกป้องได้” และยุคนี้ “ใหญ่แค่ไหนก็จับ”

เมื่อปรากฏการณ์กรณี “ส่วย” และการวิ่งเต้น ซื้อ-ขายตำแหน่งในวงการสีกากีกระหึ่มดังขึ้น สร้างความสะเทือนไปทั้งวงการตำรวจและทหาร มโหฬารที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ทำให้สังคมหันมาจับจ้อง ติดตาม คดีการทุจริตในวงการตำรวจ อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง
ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการที่เคยทำวิจัยเรื่องคอร์รัปชันมาหลากหลายรูปแบบ กล่าวในรายการ “คม ชัด ลึก” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ถึงกรณีการจับกุมนายตำรวจระดับสูงเพราะพัวพันเรื่องการทุจริตว่า “ตำรวจโกงเก่งทุกประเทศ”

ดร.สังศิตบอกว่า “ถ้าการคอร์รัปชัน ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีตัวเลขเงินปีละแค่ 5,000 ล้านบาท ตำรวจจะตัวผอมกว่านี้เยอะ” เขาเชื่อว่า ตัวเลขการทุจริตจะมากกว่าที่ปรากฏเป็นข่าวอีกไม่น้อยกว่า 3 เท่า

ในจัวหวะที่ทุกฝ่ายต้องการจะแก้ปัญหานี้ “ดร.สังศิต” จะตีเหล็กตอนร้อนด้วยการ เตรียมยื่น “ข้อเสนอ” เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เพื่อแก้ไขตำรวจทุจริต และแก้ระบบรวมศูนย์อำนาจนายตำรวจ 2 แสนคน ที่อยู่ในอำนาจภายใต้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่เพียงผู้เดียว โดยจะเสนอให้มีระบบตรวจสอบผ่านองค์กรอิสระที่ปลอดจากอำนาจตำรวจด้วยกัน มีอำนาจลงโทษตำรวจได้

“ดร.สังศิต” บอกว่า กรณีล่าสุดนี้ คือความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรี เป็นประวัติศาสตร์การตรวจสอบทุจริตของวงการตำรวจ

ในอดีต ทั้งนักการเมืองแท้ๆ อย่างนายชวน หลีกภัย เคยกล่าวถึงปัญหาการซื้อตำแหน่งของวงการตำรวจ โดยให้สัมภาษณ์ใน Far Eastern Economic Review ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (สิงหาคม 2535) ไว้ว่า “ในอดีตอาจจะมีการซื้อตำแหน่งโยงใยไปถึงระดับรัฐมนตรี…ปัญหาอยู่ที่ระบบด้วย เรากำลังเสนอให้มีการปฏิรูประบบ”

มีนักการเมืองที่เคยเป็นตำรวจ อย่าง ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก็เคยกล่าวถึงวงการตำรวจว่า “การรับผลประโยชน์ตามน้ำ หลายกรณีมิได้ใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ใช้จ่ายเพื่อผู้บริหารสถานีตำรวจด้วย”

ประกอบกับการทำวิจัยเรื่อง “คอร์รัปชันในภาครัฐ: ความเห็นและประสบการณ์ของครัวเรือน” ของ “ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ระบุว่าตำรวจเรียกรับผลประโยชน์ในปีที่ผ่านมา 1,792 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ที่ครัวเรือนต้องจ่ายเทียบกับส่วนราชการอื่น

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเรื่อง “คอรัปชั่นกับประชาธิปไตยไทย” ในปี 2537 ที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า “ระบบตำรวจไทยมีลักษณะบางด้านที่คล้ายคลึงกับระบบกินเมืองในสมัยโบราณ”

งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า หลังการปฏิวัติ 2475 ถึงราวปี 2531 องค์กรตำรวจยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพิทักษ์ผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐ มีบทบาทในการกำจัดศัตรูทางการเมือง เพื่อประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มใหม่

ในยุคที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ (พ.ศ. 2494-2500) มีการใช้อำนาจตำรวจกำจัดศัตรูทางการเมือง มีการกักขังภรรยาของผู้ต้องหา เพื่อบังคับให้ยอมรับผิด มีการตายอย่างลึกลับของนักโทษการเมืองภายใต้การอารักขาของตำรวจ

สมัยที่จอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นอธิบดีกรมตำรวจ มีกรณีการกล่าวหาผู้ใหญ่บางคนในกรมตำรวจว่าใช้ตำแหน่งสั่งอนุมัติซื้อที่ดินจากญาติของตนเองในราคาแพงเพื่อสร้างสถานีตำรวจบางแห่ง มีการทุจริตเก็บค่าคุ้มครองกิจการทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย มีการยักยอกเงินสวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อย

ปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจ ถูกพูดถึงทั้งในงานวิจัย วิจารณ์ ในแง่ลบ ตลอดมาหลายทศวรรษ ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงนโยบายการปฏิรูปตำรวจทุกยุคทุกสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเรียกกรมตำรวจไว้ว่า “กรมทศกีฬา คือวิ่งกันทั้งสิบทิศ”

รูปแบบการคอร์รัปชันในวงการตำรวจ ในอดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้จะมีการเปลี่ยนระบบบังคับบัญชาและโครงสร้างอำนาจใหม่ จากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง “ดร.ผาสุก” ศึกษากรณีการคอร์รัปชันในสถานีตำรวจ โดยแบ่งเป็นฝ่ายๆ ดังนี้

งานฝ่ายป้องกันและปราบปราม มีรายได้จากบ่อนพนัน หวยเถื่อน หวยใต้ดิน โรงแรมม่านรูด โรงน้ำชา ผู้ที่ต้องการจะเปิดบ่อนต้องเสียเงินให้กับตำรวจท้องที่ กองปราบปราม และกองกำกับการสอบสวน ทั้งจ่ายรายสัปดาห์และรายเดือน โดยวิธีการคือ นายทุนจะเข้าไปติดต่อกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง หรือกองบัญชาการขึ้นไป และต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ด้วย กรณีต่างจังหวัดจะมีการค้าไม้เถื่อนร่วมกับนายทุน เก็บค่าหัวคิวรถประจำทาง รีดไถผู้ประกอบการรถบรรทุก การตั้งด่านตรวจค้น หรือตั้งจุดสกัด

งานฝ่ายสืบสวน สายนี้มีโอกาสทุจริตสูงกว่าสายงานอื่น มีหน่วยงานปฏิบัติการใต้ดิน อย่างลับๆ ทั้งจากบ่อน โรงงาน การค้าทอง หมู่บ้านจัดสรร การจ่ายเงินในสายนี้เหมือนกับงานในฝ่ายป้องกันและปราบปราม แต่ในส่วนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องจ่ายต่างหาก

งานฝ่ายสอบสวน โอกาสในการทุจริตในสายนี้ ในแต่ละครั้งจะมีผลกระทบต่อรูปคดีอย่างมาก หรือบางครั้งสามารถทำให้ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากการถูกลงโทษตามกฎหมายได้ เพื่อให้มีการล้มคดีหรือพลิกสำนวนจากผิดให้พ้นผิดหรือลดโทษได้ กรณีคดีมีหลักฐานมาก โอกาสที่ตำรวจจะเรียกรับผลประโยชน์ก็มากตามไปด้วย

การส่งส่วย จะมีการส่งรายได้ให้กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยแบ่งตามสัดส่วน ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะได้มาก ลดหลั่นลงมาตามลำดับ นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยวางแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คอร์รัปชันแล้วจับไม่ได้ “เนื่องจากตำรวจชั้นผู้น้อยหาส่งส่วยให้นาย”

มีการกล่าวกันว่า หากมีการจ่ายเงินไปจำนวนหนึ่งแล้ว มั่นใจได้ 100% ว่าจะไม่มีใครกล้าแตะต้องทำลายการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในยุคอดีต มีการพูดถึงนายตำรวจน้ำดี และกล้าแตะต้องธุรกิจที่ผิดกฎหมาย อย่าง พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และ พล.ต.ต. เสรี เตมียเวส (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส) อดีตผู้บังคับการวิทยาการภาค 3

ผลประโยชน์จากการเลื่อนขั้น แต่งตั้ง โยกย้าย มีการพิจารณาจากระบบ “โควตา” ที่มีทั้ง “เด็กฝาก” หรือบางรายที่มีการส่งสัญญาณว่า “มีผู้ใหญ่ขอมา” ซึ่งจะมีการเสนอรายชื่อเป็น “โผ” ส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ว่ากันว่าราคาของตำแหน่ง มีการปั่นสูงขึ้นทุกสมัย

โดยข้อมูลในปีที่ทำวิจัย (2537 ) ระบุว่า การเสียเงินวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งในท้องที่เกรดเอ ต้องจ่าย 1-5 ล้านบาท บางรายต้องมีการโอนที่ดินให้เป็นจำนวนมาก เพื่อแลกกับตำแหน่ง ขณะที่ตำแหน่งในกองบัญชาการสอบสวนกลาง, นครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธร ต้องมีการซื้อเก้าอี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท พร้อมกับต้องมีการส่งส่วยที่ได้จากผลประโยชน์ในกองบัญชาการนั้นให้กับผู้บังคับบัญชาอีกต่างหาก เป็นรายเดือนเป็นหลักล้านขึ้นไป

ปรากฏการณ์ที่สังคมช็อกกับภาพทรัพย์สิน ของมีค่ามหาศาล ของสะสม ในบ้านนายตำรวจระดับสูง ที่ถูกระบุว่ามาจากการทุจริต เรียกรับผลประโยชน์หลายรูปแบบ “สังศิต” วิเคราะห์ว่า “แสดงให้เห็นถึงนายตำรวจผู้นั้นมีบุญบารมีสูง ดังนั้น เมื่อตำรวจวิ่งเต้นขอขึ้นตำแหน่ง ต้องดูว่านายชอบอะไร ชอบพระ ก็ต้องหาพระไปให้ ชอบเงิน ก็หาเงินมาให้”

การปราบปรามคอร์รัปชัน ที่เป็นความมุ่งมั่นทางการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ คสช. ทั้งนายพล นักกฎหมายระดับพญาอินทรีย์ และนักยุทธวิธี 14 คน จะขยายผลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปถึงระดับไหน ระทึกใจควรค่าแก่การติดตามอย่างยิ่ง