ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ประยุทธ์” ขู่ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. เรียกบุคคลขัดแย้งรายงานตัวเพิ่ม – “วิษณุ” เร่งผ่าน กม. 71 ฉบับ – วางกรอบร่างรัฐธรรมนูญตั้ง 10 กมธ. ชงภาษีมรดกเข้า สนช.

“ประยุทธ์” ขู่ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. เรียกบุคคลขัดแย้งรายงานตัวเพิ่ม – “วิษณุ” เร่งผ่าน กม. 71 ฉบับ – วางกรอบร่างรัฐธรรมนูญตั้ง 10 กมธ. ชงภาษีมรดกเข้า สนช.

5 พฤศจิกายน 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดย พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่เสียสละตั้งใจทำงานให้บ้านเมืองมีความสงบสุข และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความเคลื่อนไหว ความขัดแย้งทางการเมือง ที่เริ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับไปวุ่นวายเหมือนเดิม และจะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าด้วยความยากลำบาก

“หากไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ถ้าจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ก็จะเริ่มจากกฎหมายปกติ จากเบาไปหาหนัก จนถึงใช้กฎอัยการศึก และมาตรา 44 (ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.) แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือต้องใช้อำนาจพิเศษ ก็ต้องทำ รวมถึงการเรียกบุคคลที่มีความเห็นขัดแย้งให้มารายงานตัว เพื่อปรับทัศนคติรอบใหม่ก็ทำได้” พล.ต. สรรเสริญอ้างถึงคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี

จากนั้น ที่ประชุมได้รับทราบการรายงานความคืบหน้าด้านความมั่นคง ซึ่งรายงานโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ รายงานด้านต่างประเทศ, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และนายวิษณุ เครืองาม รายงานด้านกฎหมาย และความคืบหน้าด้านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานว่า ร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจถ้อยคำแล้ว มี 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก และประมวลรัษฎากรการให้ 2. พ.ร.บ.การบริหารเมืองพิเศษแม่สอด 3. ร่างแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการจำนำ จำนอง 4. พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ 5. พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กหรือกฎหมายอุ้มบุญ 6. พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ

ทั้งนี้ มีกฎหมายที่รอโปรดเกล้าฯ ตามขั้นตอน 7 ฉบับ อยู่ในชั้นกรรมาธิการ 58 ฉบับ กฎหมายที่เตรียมประกาศใช้ภายในปี 2557 มี 6 ฉบับ เช่น 1. พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ 2. พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกและการอนุมัติเอกสารทางราชการ 3. พ.ร.บ.วิธีการปฏิบัติราชการของข้าราชการทางปกครอง 4. พ.ร.บ.การดำเนินคดีแบบกลุ่ม กรณีความเสียหายเดียวกัน 5. พ.ร.บ.งาช้างและการคุ้มครองสัตว์ 6. พ.ร.บ.คืนบำเน็จบำนาญข้าราชการ

ในส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีประเด็นที่ต้องทำทันทีตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีอยู่ 6 ประเด็น คือ 1. เร่งผลักดันการปฏิรูปพลังงาน 2. ปฏิรูปด้านการศึกษา 3. ปฏิรูประบบราชการ เน้นหนักกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสอดรับกับนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี 4. ปฏิรูปกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยอาจจะแยกกระทรวง 5. การป้องกันการทุจริต 6. วางกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ 7. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เช่น ดีเอสไอ ศาล ทหาร และอัยการ

สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญ มีกรอบการยกร่าง 4 ด้าน คือ 1. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด 11 ด้าน บทบาทขององค์กรที่ควรมีและไม่ควรมี เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชน, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม, คณะกรรมการการเลือกตั้ง 2. รับข้อเสนอของ สปช. ไปดำเนินการ 3. รับฟังความคิดเห็นประชาชน 4. ประเด็นที่คณะกรรมาธิการทั้ง 36 คนระดมสมองกันเอง

ทั้งนี้ นายวิษณุมีข้อเสนอประกอบการพิจารณาด้วยว่า “ระหว่างที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 120 วัน ครม. และ คสช. ควรมีคณะทำงานติดตามยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อเตรียมการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การออกกฎหมายลูก หรืออาจมีการชุลมุนทางการเมืองทำให้รัฐธรรมนูญล่าช้า มีปัจจัยสอดแทรก เกิดข้อขัดแย้ง มีการชุมนุม เกิดความไม่ปรองดอง มีข้อเสนอที่สุดโต่ง ต่อต้านหลักการในรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีคณะกรรมติดตามอย่างใกล้ชิด”

อนึ่ง ในที่ประชุมร่วม ครม. และ คสช. ได้เห็นชอบรายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน ในส่วนของ คสช. 5 คน ประกอบด้วย 1. นายสุจิต บุญบงการ (อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) 2. นายจรูญ อินทจาร (อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ) 3. นายประสพสุข บุญเดช (อดีตประธานวุฒิสภาและอดีตประธานศาลอุทธรณ์) 4. นายบรรเจิด สิงคะเนติ (คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) 5. นายกฤต ไกรจิตติ (อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเอกอัคราชทูตไทยในหลายประเทศ)

สัดส่วน 5 คน ของ ครม. .ประกอบด้วย 1. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2. นายเจษฎ์ โทณวณิก 3. นายปกรณ์ ปรียากร 4. นพ.กระแส ชนะวงศ์ 5. นายวิชัย ทิตตะภักดี

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี มีการอนุมัติหลักการ โครงการ งบประมาณ ที่สำคัญ ตามที่ ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด ร่วมแถลง ดังนี้

อนุมัติเพิ่มงบ 612 ล้านให้พ่อค้ารับซื้อข้าว 4 ล้านตัน เก็บในสต็อก

ครม. อนุมัติเพิ่มวงเงินชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวไปซื้อข้าวเก็บสต็อกอีก 612 ล้านบาท รวมเป็น 927 ล้านบาท พร้อมไฟเขียวแนวทางจ่ายเงินสวนยางไร่ละ 1,000 บาท รับขึ้นทะเบียนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2557 เป็นการอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (กบข.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2557 ที่เห็นชอบให้เพิ่มวงเงินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกปี 2557/58 เพิ่มเติมจำนวน  4 ล้านตัน วงเงินจำนวน 612 ล้านบาท จากเดิม 2 ล้านตัน วงเงิน 315 ล้านบาท รวมเป็น 6 ล้านตัน วงเงิน 927 ล้านบาท แยกเป็น ค่าชดเชยดอกเบี้ย  3% จำนวน 918 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการ จำนวน 9 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติแนวทางและวิธีการจ่ายเงินโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องมีสัญชาติไทย เป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย (1 ครัวเรือน 1 สิทธิ์) ตามทะเบียนเกษตรกร เป็นเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเป็นเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่มีพื้นที่เปิดกรีดอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป โดยสวนยางต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ รวมทั้งเอกสารสิทธิ์ 46 รายการตามหนังสือของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของหัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกในทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรเดียวกัน ทั้งนี้จะมีระยะเวลารับแจ้งเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. – 15 ธ.ค. 2557   
                                      
ส่วนขั้นตอนการจ่ายเงินให้เกษตรกร  ทาง ธ.ก.ส. จะตรวจสอบเอกสารหลักฐานกับบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับอำเภอ และบันทึกข้อมูล พร้อมนัดหมายเกษตรกรรับเงิน ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกร

“คุณชายอุ๋ย” โชว์ผลงานบิกจ่ายงบ 1 เดือนพุ่ง10%


ครม. รับทราบผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 2557 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 โดยเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 3.67 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.08 แสนล้านบาท หรือสูงกว่า 10% ถือว่าเป็นผลงานของ คสช. และรัฐบาลที่ได้เตรียมพร้อมให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายในส่วนที่เบิกจ่ายได้ง่ายก่อน เช่น การซ่อมแซมและการบำรุงตึกอาคารส่วนราชการ การประชุมสัมมนาในประเทศ 

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2557 ที่กำหนดให้แต่ละกระทรวงเร่งรัดทำสัญญาจ้างงานภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้วให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2557 ที่จะช่วยกระจายการสร้างงานและรายได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของเงินงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีในอดีตตั้งแต่ปี 2555-2557 และงบไทยเข้มแข็ง รวมทั้งสิ้น 23,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับรายงานจากสำนักงบประมาณว่าอยู่ระหว่างพิจารณาจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายในกรอบวงเงิน 7,800 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. นี้

ส่วนเงินกู้จากงบไทยเข้มแข็งวงเงิน 15,200 ล้านบาท ต้องเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทราบก่อน ส่วนงบลงทุนในปีงบประมาณ 2557 ที่ยังเหลืออยู่ 1.47  แสนล้านบาท และงบลงทุนปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.-ธ.ค. 2558) วงเงิน 1.29 แสนล้านบาท และเงินกันเบิกจ่ายเหลื่อมปีตั้งแต่ปี 2548-2556 วงเงิน 24,892.4 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยกระทรวงต่างๆ กำลังพิจารณาโครงการที่ต้องการใช้เงินเพื่อแจ้งต่อสำนักงบประมาณต่อไป


สำหรับมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้นำเงินเข้าบัญชีให้กับชาวนาแล้ว 1.42 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 1,730 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทั้ง 3.4 ล้านครอบครัวภายในเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนความคืบหน้าในการจ่ายเงินให้ชาวสวนยางคาดว่าหลัง ครม. เห็นชอบแล้วจะดำเนินการได้ทันที ขณะเดียวกันยังมีความคืบหน้าด้านอื่นอีกทั้งด้านพลังงาน ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านพาณิชย์ ด้านอุตสาหกรรม ด้านการคลัง 

เห็นชอบไทยเว้นภาษี-โควตาสินค้าช่วยประเทศพัฒนาน้อย

ครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (ดีเอฟคิวเอฟ) ให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งมีอยู่ 45 ประเทศทั่วโลก รวม 6,998 รายการ หรือคิดเป็น 73.21% ของรายการสินค้านำเข้าทั้งหมด ให้เป็นไปตามข้อตกลงของประเทศสมาชิกเมื่อครั้งประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อปี 48 ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตาสินค้าจากประเทศพัฒนาน้อยทุกรายการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางด้านการค้ากับประเทศสมาชิก

รายการสินค้าทั้งหมดที่ได้อนุมัติครั้งนี้ เป็นสินค้าที่ไทยไม่กำหนดโควตาและเก็บภาษีนำเข้า โดยในปี 2556 ประเทศไทยได้นำเข้าสินค้าจากประเทศพัฒนาน้อยรวม 7,133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ เป็นสินค้าเกษตร 1,220 รายการ และสินค้าอุตสาหกรรม 5,771 รายการ ซึ่งการให้สิทธิดังกล่าวนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยในการขยายความร่วมมือทางการค้าไปประเทศพัฒนาน้อย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของสินค้า โดยการให้สิทธิครั้งนี้มีระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ ปี 2558-2563

ทั้งนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันผลกระทบอันเนื่องจากการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา เพื่อพิจารณาแนวทางการระงับสิทธิ การใช้มาตรการป้องกันภายใต้โครงการ การทบทวนมาตรการป้องกันผลกระทบ การทบทวนโครงการ และกำกับดูแลโครงการในภาพรวม พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับโครงการ และให้การยกเว้นภาษีสินค้าดังกล่าว และเมื่อกระทรวงการคลังดำเนินการแล้ว ก็ให้กระทรวงพาณิชย์แจ้งข้อมูลไปยังองค์การการค้าโลกต่อไป