ThaiPublica > คอลัมน์ > “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (liquid democracy)

“ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (liquid democracy)

23 พฤศจิกายน 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

ยุคนี้ว่ากันว่าเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ประชาธิปไตยก็ถูกตั้งคำถามอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกว่า เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดเท่าที่สมองมนุษย์จะคิดออกจริงหรือ เพราะหันไปทางไหนสภาก็ดูจะถูกครอบงำโดยนักการเมืองที่ไร้สมรรถภาพ ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง หรือไม่ก็มัวแต่ทะเลาะ ต่อปากต่อคำกันจนไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ

ถึงแม้ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะเคยกล่าววาทะอมตะว่า ประชาธิปไตยคือระบบที่ “เลวน้อยที่สุด” ในบรรดาระบบต่างๆ เราก็อดคิดไม่ได้อยู่ดีว่า ในยุคที่เทคโนโลยีแทรกซึมจนกลายเป็น “สังคมก้มหน้า” อย่างเช่นทุกวันนี้ เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วหรือ

โชคดีที่คนเก่งไอทีหลายคนไม่เพียงแต่ครุ่นคิดถึงปัญหานี้เท่านั้น แต่ยังหาวิธีปรับปรุงประชาธิปไตยให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ไปเชื้อเชิญอำนาจนอกระบบมาคว่ำระบอบ

ท้าวความกันก่อนว่า “ประชาธิปไตย” ที่เราเข้าใจกันนั้นทุกวันนี้หมายถึง “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” (representative democracy) คือระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนระดับชาติหรือท้องถิ่น เสร็จแล้วผู้แทนที่ชนะเลือกตั้งก็จะเข้าไปตัดสินใจทำเรื่องต่างๆ แทนเรา เราได้แต่ก่นด่า กดดัน และภาวนาให้ผู้แทนทำงานดี แทบไม่มีสิทธิทำอะไรมากไปกว่านั้น เว้นว่าพอถึงจุดที่ทนไม่ไหวก็ออกมาเดินขบวนประท้วงขับไล่

เมื่อเห็นความไม่เอาไหนของนักการเมืองหลายคนที่เป็นผู้แทน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยจะเรียกร้อง “ประชาธิปไตยแบบทางตรง” (direct democracy) นั่นคือ ให้ประชาชนโหวตตัดสินเรื่องต่างๆ โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านผู้แทนก่อน

ข้อดีของประชาธิปไตยแบบทางตรง คือ ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสาธารณะทุกเรื่องเพราะต้องออกเสียงทุกเรื่อง แต่ปัญหาคือระบบนี้ใช้ได้กับสังคมขนาดเล็ก ประเด็นสาธารณะยังไม่ซับซ้อน ใช้กับสังคมสมัยใหม่ลำบากมาก เพราะไม่มีทางที่เราจะทำให้คนหลักแสนหลักล้านสามารถอภิปรายและโหวตเรื่องต่างๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สนใจไปเสียทุกเรื่อง และไม่มีใครมีความเชี่ยวชาญรอบด้านจนร่วมอภิปรายได้ทุกเรื่องทุกเวลา เราแต่ละคนชำนาญเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น

เราจะนำส่วนที่ดีที่สุดของประชาธิปไตยทั้งสองแบบนี้มาต่อยอดอย่างไรในโลกไร้พรมแดนแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งถูกมองว่าควรทำให้การตัดสินใจรวมหมู่ง่ายดายกว่าเดิมเพราะคนไม่ต้องมาเจอกันตัวเป็นๆ?

คำตอบหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (liquid democracy)

ในระบบประชาธิปไตยแบบลื่นไหล ประชาชนแต่ละคนมีหนึ่งเสียงสำหรับแต่ละเรื่อง สามารถโหวตรับหรือไม่รับญัตติที่ถูกเสนอขึ้นมาอภิปรายได้ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เราสามารถเลือกคนอื่นมาเป็น “ตัวแทน” (proxy) ในประเด็นที่เราเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญของเขามากกว่า เชื่อว่าแนวคิดหรือรสนิยมทางการเมืองของเขาตรงกับเรา หรือยกให้เป็นผู้นำทางความคิดของเรา

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนอาจจะอยากออกเสียงเองในญัตติที่เกี่ยวกับการเงินการธนาคาร เพราะเป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจและพอมีความรู้อยู่บ้าง แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งสนใจแต่ไม่ถนัด อาจมอบอำนาจให้นักสิ่งแวดล้อมคนโปรดเป็นคนออกเสียงแทน ฉะนั้นแทนที่จะมีหนึ่งเสียงของตัวเอง เขาจะมีเสียงของผู้เขียนและคนอื่นๆ ที่มอบอำนาจให้ไปออกเสียงแทนด้วย แต่เฉพาะในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เรามอบอำนาจให้ไปโหวตแทนเท่านั้น

ภาพอธิบายการคำนวณ "เสียง" ผ่านตัวแทนในระบบประชาธิปไตยแบบลื่นไหล ที่มาภาพ:  http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Delegative_democracy,_proxy_voting,_liquid_democracy.svg
ภาพอธิบายการคำนวณ “เสียง” ผ่านตัวแทนในระบบประชาธิปไตยแบบลื่นไหล ที่มาภาพ: http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Delegative_democracy,_proxy_voting,_liquid_democracy.svg

“ตัวแทน” ในระบบประชาธิปไตยแบบลื่นไหลอาจ “ส่งต่อ” เสียงที่ได้รับความไว้วางใจไปให้กับคนหรือองค์กรอื่นเป็นตัวแทนอีกที หรือต่อกันไปเป็นทอดๆ ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนของผู้เขียนไม่มีเวลาติดตามข่าวคราวบ้านเมือง แต่รู้ว่าผู้เขียนตามข่าวและมีความคิดทางการเมืองใกล้เคียงกับเธอ เธอจึงมอบอำนาจให้ผู้เขียนไปออกเสียงแทนในทุกประเด็น ผู้เขียนเอาเสียงของเพื่อนและของตัวเองไปส่งต่อให้กับองค์กรที่เห็นว่ามีแนวทางตรงกับความคิดของเธอในสองประเด็น คือ มอบเสียงให้มูลนิธิ สืบนาคะเสถียร ไปโหวตแทนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และมอบเสียงให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไปโหวตแทนในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค เสร็จแล้วองค์กรทั้งสองนี้ก็อาจจะรวบรวมเสียงไปส่งต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นเรื่องๆ ต่อไป

คำว่า “ลื่นไหล” ในประชาธิปไตยแบบนี้มาจากการที่ทุกคนสามารถมอบอำนาจหรือถอนอำนาจการโหวตแทนได้ทุกเรื่องทุกเวลา และมีสิทธิ “โหวตล้ม” (overrule) การตัดสินใจของตัวแทนได้ทุกเมื่อ ถ้าพบว่าตัวเองไม่เห็นด้วย (ตัวแทนจะรายงานก่อนใช้สิทธิโหวตว่าเขาตั้งใจจะโหวตไปทางไหนเพราะอะไร และการออกเสียงจะไม่ปิดนับคะแนนจนกว่าจะถึงเป้าที่วางไว้)

การพิทักษ์ความเป็นส่วนตัวของประชาชนเป็นค่าตั้งต้นในระบอบนี้ เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรับรู้ว่าองค์กรได้รับมอบหมายจากประชาชนมากี่คนในประเด็นใดบ้าง แต่จะไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร เว้นเสียแต่ว่าเจ้าของเสียงจะเปิดข้อมูลเป็นสาธารณะ แต่ในฝั่งของตัวแทน ความโปร่งใสเป็นค่าตั้งต้น ตัวแทนจะต้องรายงานเจ้าของเสียงว่าโหวตอย่างไรในแต่ละประเด็น เพื่อให้เจ้าของเสียงได้รับรู้ตลอดเวลาว่าเสียงของเขาถูกนำไปใช้อย่างไร และสามารถใช้สิทธิโหวตล้มได้ทุกเมื่อ


คลิปวีดีโออธิบายการทำงานของ “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล”

ในระบบนี้เราสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเฉพาะประเด็นก็ได้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอาจเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเคยโหวตอย่างไรไปบ้างในประเด็นที่เกี่ยวกับการเงิน และเปิดเผยว่าพร้อมที่จะเป็นตัวแทนคนอื่นในประเด็นเหล่านี้ แต่ตั้งค่าผลโหวตในประเด็นที่เกี่ยวกับศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เปิดให้คนอื่นรู้ เพราะมองว่าเป็นศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว เท่ากับว่าระบบนี้ให้แต่ละคนเลือกเอาเองว่าอยากเป็น “สาธารณะ” หรือ “ส่วนตัว” เพียงใด (ยกเว้นว่าตัวแทนจะต้องโปร่งใสกับเจ้าของเสียงดังอธิบายข้างต้น)

ประโยชน์ของประชาธิปไตยแบบลื่นไหลคือ มันช่วยแก้ปัญหา “คนธรรมดาไม่มีเวลาหรอกที่จะมาเรียนรู้ได้ทุกเรื่องเพียงพอที่จะออกเสียงอย่างมีความหมาย” ด้วยการปรับปรุงประชาธิปไตยแบบตัวแทนให้มีความละเอียดลึกซึ้งมากกว่าเดิม – เราไม่ต้องเลือกผู้แทนเพียงคนเดียวมาตัดสินใจแทนเราทุกประเด็น แต่สามารถเลือกคนที่เราชอบในแต่ละประเด็นได้

ทั้งหมดนี้อาจฟังเหมือนเป็นแนวคิดดีๆ ที่อยู่ในกระดาษเท่านั้น แต่ “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” ถูกนำมาใช้ในโลกจริงแล้ว มิหนำซ้ำยังเป็นปัจจัยสำคัญในชัยชนะของพรรคการเมืองจริงๆ อีกด้วย

โปรดติดตามตอนต่อไป.