ThaiPublica > คอลัมน์ > พูดไปสองไพเบี้ย….วัฒนธรรมการให้ข่าวของผู้นำไทย

พูดไปสองไพเบี้ย….วัฒนธรรมการให้ข่าวของผู้นำไทย

2 พฤศจิกายน 2014


บรรยง พงษ์พานิช

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสร่วมสนทนาในวงคนกันเอง กับท่านนายกรัฐมนตรี (ในเวลานั้น)

ท่านกำลังอยู่ในอารมณ์หงุดหงิดเต็มที่ เพราะเพิ่งทะเลาะกับสื่อมวลชนมา

“ผมว่า…ปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งของประเทศเรา ก็คือเรื่องคุณภาพของสื่อฯ นี่แหละ …ถามอะไรก็ไม่ได้เข้าท่า แถมเวลาพูดอะไรไป เอาไปรายงานก็ไม่เคยตรงประเด็น เรื่องที่เป็นสาระไม่เขียนถึง ไปเอาแต่กระพี้ เอาแต่เรื่องไร้สาระไปลงข่าว บางครั้งยังตั้งใจบิดเบือนอีก…คุณภาพต่ำขนาดนี้ จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ ได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องตามสาระได้อย่างไร บ้านเมืองมันถึงไม่พัฒนา ประชาชนถึงได้ไม่พัฒนา” ท่านนายกฯ บ่นอย่างหัวเสีย

“ขอประทานโทษนะครับ ในความเห็นผม…ที่สื่อฯ คุณภาพห่วยอย่างนี้ ก็เพราะท่านนายกฯ นั่นแหละครับ” ผมพูดพร้อมกับยกมือไหว้ (เป็นวิธีการปกติของผม เวลาจะวิจารณ์ผู้ใหญ่ผู้โตทั้งหลาย)

“เฮ้ย…ไหงมาโทษผมล่ะ เอ้า…ไหนลองว่ามาซิ” ท่านนายกฯ ให้ขยาย

ผมก็เลยอธิบายความคิดของผมว่า….วัฒนธรรมการให้ข่าวของผู้ใหญ่ไทย ซึ่งไม่เฉพาะแต่นายกฯ หรอกครับ หมายรวมไปถึงรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย นักการเมือง ข้าราชการ และแม้กระทั่งนักธุรกิจ …ที่ดูเหมือนต่างก็พยายามทำตัวเป็นข่าว พยายามแย่งชิงพื้นที่ข่าว พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ทุกที่ทุกเวลา พร้อมที่จะพูดแสดงภูมิปัญญาทุกเมื่อทันทีที่มีไมค์มาจ่อปากนั้น นอกจากจะทำให้ข่าวที่ให้ ความเห็นที่ออก จะไม่ได้ถูกเรียบเรียงเป็นอย่างดี มีสาระ เข้าใจได้ง่ายแล้ว ในบางครั้งกลับสร้างความสับสนให้กับผู้รับข่าวสาร พูดจาขัดกันเองบ้าง ขัดกับที่เคยพูดบ้าง ขัดกับพรรคพวกบ้าง

ที่สำคัญ การที่ผู้ใหญ่ไทย พร้อมที่จะพูดทุกที่ทุกเวลาอย่างนี้ ทำให้สำนักสื่อต่างๆ ต้องใช้ทรัพยากรบุคคล คือ นักข่าว จำนวนมาก เพื่อติดตามการให้สัมภาษณ์สามเวลาหลังอาหารของท่าน ด้วยว่ากลัวจะตกข่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองมหาศาลแล้ว เวลาและทรัพยากรที่จะใช้ในการพัฒนาคุณภาพของนักข่าวก็ย่อมจะมีจำกัดไปด้วย

ผมยกตัวอย่างว่า แทบทุกสำนักข่าวหลัก จะต้องมีนักข่าวและช่างภาพคอยเฝ้าคอยตามท่านนายกฯ อยู่ตั้งสี่ห้าคน ไหนจะต้องประจำทำเนียบ ประจำสภาฯ แถมบางทีต้องเฝ้าถึงหน้าบ้านก็มี ไหนจะรองนายกฯ ไหนจะรัฐมนตรี หัวหน้าฝายค้าน ฯลฯ แต่ละหนังสือพิมพ์มีนักข่าวการเมืองแห่งละร่วมร้อยคน แล้วจะเอาทรัพยากรที่ไหนไปพัฒนาคุณภาพ

ตัวนักข่าวเองนั้นก็ช่างน่าเห็นใจนัก เพราะเวลาส่วนใหญ่ที่ใช้ (อย่าลืมว่า “เวลา” เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของมนุษย์) ก็หมดไปกับการ “รอ” วันๆ รอทั้งวัน ทำงานแค่ไม่กี่นาทีเอง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ productivity จะดีได้อย่างไร นักข่าวส่วนใหญ่มักจะมีรายได้ไม่สูงนัก และเป็นอาชีพที่มีการ turnover สูงมาก

ปกติแล้ว ผู้นำประเทศมักจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการสื่อสารกับประชาชน จะต้องทำตามวาระอันควร และจะต้องมีการเตรียมเนื้อหาสาระอย่างละเอียด ยกตัวอย่าง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการแถลงข่าวตามวาระอันควรเท่านั้น ทุกครั้งจะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า (แม้แต่เรื่องเร่งด่วนที่สุดก็จะแจ้งล่วงหน้าหลายชั่วโมง) โดยเฉลี่ยแล้ว ปธน.สหรัฐฯ จะมีการแถลงข่าว (news conferences) เพียงแค่ยี่สิบกว่าครั้งต่อปีเท่านั้น คนที่พูดน้อยๆ เช่น Nixon หรือ Reagan จะพูดปีละไม่ถึงสิบครั้ง ขณะที่นักพูดอย่าง F.D. Roosevelt ที่พูดบ่อยสุดก็แค่ 70 ครั้งต่อปี (สมัยสงครามต้องสื่อสารมากหน่อยครับ)

พูดถึงการพูดการตอบนักข่าวของผู้นำ ทำให้คิดถึงเรื่องคลาสสิกของ Dwight D. Eisenhower ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐฯ ไอค์นั้นสมัยที่เป็นผู้บัญชาการพันธมิตรในยุโรปสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักสื่อสารชั้นยอด ตอบคำถามนักข่าวได้อย่างชัดเจนกระจ่างทุกเรื่องราว แต่พอมาเป็นประธานาธิบดีกลับได้ชื่อว่าซื่อบื้อ แถลงข่าวฟังไม่รู้เรื่อง ตอบคำถามได้ห่วยแตก พูดผิดพูดถูก (ประมาณมาตรฐาน คอ-นก-รีต นั่นแหละครับ) เลยมีการทำวิจัย ซึ่งพบว่า สมัยเป็นแม่ทัพนั้น เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม นักข่าวต้องส่งคำถามล่วงหน้าห้าโมงเย็น ทีมงานเตรียมการให้ทั้งคืน หาข้อมูล วิเคราะห์คำถาม เตรียมคำตอบ พอถึงเวลาแถลงข่าวตอนสายวันรุ่งขึ้น ไอค์จึงฉาดฉานถูกต้องแม่นยำไปทั้งหมด แต่พอมาเป็นประธานาธิบดีท่านไอค์เกิดอาการฮึกเหิม กลัวจะถูกดูถูกว่าโง่ เลยตอบคำถามสด พยายามเลียนแบบประธานาธิบดีสองคนก่อนหน้า คือ F.D. Roosevelt กับ Harry Truman ที่ถือเป็นอัจฉริยะด้านการสื่อทั้งคู่ ก็เลยแป้ก กลายเป็นตัวตลกของสื่อไป

ทุกคำพูดที่ออกจากปากผู้นำนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สมควรได้รับการไตร่ตรอง มีการเตรียมการอย่างรอบคอบ จำเป็นที่จะต้องมีความถูกต้อง (accurate) มีความสอดคล้อง (coherent) กับนโยบาย และมีความสม่ำเสมอ (consistent) การพูดทุกที่ทุกเวลา อย่างที่เป็นธรรมเนียมของเรานั้น ย่อมยากที่จะรักษาคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ได้ และหลายๆ ครั้งก็เลยกลายเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ให้กับสังคม หรืออาจมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนนำไปยึดถือปฏิบัติ และที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ถ้าเกิดมีการพลั้งเผลอพูดผิด พูดเร็วไป ตัวผู้พูดเลยเกิดต้องมิจฉาทิฐิต้องยึดถือคำพูดตัวทั้งๆ ที่ไม่สมควร เข้าทำนอง ผู้นำทำอะไรต้องไม่เคยผิด

การสื่อสารนั้น สาระความแม่นยำสำคัญกว่าความถี่เยอะครับ อย่าคิดเพียงแต่จะแย่งพื้นที่ข่าว เพราะข่าวที่ห่วยย่อมฉุดความนิยม อย่าว่าแต่ธรรมชาติของสื่อ ของนักข่าว เขามีหน้าที่จับผิดอยู่แล้วด้วย

ถ้าวัฒนธรรมการให้ข่าวของเราเปลี่ยนไปเป็นแบบนานาอารยะ นอกจากประชาชนจะได้ข่าวอย่างถูกต้องแล้ว คุณภาพสื่อก็จะได้พัฒนาไปเอง แถมประหยัดทรัพยากรได้อีกเยอะ

Mark Twain ยอดปราชญ์ เคยพูดไว้ว่า ” “It is better to keep your mouth closed and let people think you are a fool than to open it and remove all doubt.” แปลตรงๆ ได้ว่า “หุบปากไว้แล้วปล่อยให้ผู้คนเขานึกว่าเราโง่ ดีกว่าเปิดปากมาแล้วทำให้เขาหายสงสัย”

หรือโบราณไทยท่านก็สอนมานานแล้วว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 2 พฤศจิกายน 2557