ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อความเหลื่อมล้ำคุกคามเกม

เมื่อความเหลื่อมล้ำคุกคามเกม

27 พฤศจิกายน 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมที่อยู่บนเครื่องเล่นแบบอื่นๆ ประเด็นถกเถียงมักจะอยู่ที่ว่า เกมที่มีความรุนแรงนั้ัน จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทำให้ผู้เล่นนำเอาพฤติกรรมแบบที่มีในเกมไปกระทำในโลกนอกเกมหรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุด การเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง มีการเข่นฆ่ากันด้วยสรรพาวุธภายใต้นานาวิธี จะทำให้ผู้เล่น โดยเฉพาะเด็กๆ มีทัศนคติ พฤติกรรม และอารมณ์ ที่ก้าวร้าวขึ้นหรือไม่

ทว่า ในยุคนี้ เมื่ออุปกรณ์พกพาสารพัดชนิดที่สามารถเชื่อต่อกับอินเทอร์เน็ต สามารถเป็นเวทีแห่งใหม่สำหรับการเล่นเกมต่างๆ และเกมต่างๆ ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าถึงความเป็นเจ้าของให้ง่ายขึ้น ด้วยการที่หลายๆ เกมนั้นไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาอีกต่อไป แต่อยู่ในรูปแบบของการสามารถได้มาครอบครองโดยไม่ต้องเสียทรัพย์สินอันใดในเบื้องต้น แต่หารายได้จากการขายพื้นที่โฆษณา หรือการใช้เงินจริงซื้อสิ่งของต่างๆ ภายในเกม (in-app purchase) ในการนี้ ถ้าพูดถึงกรณีการใช้เงินจริงซื้อสิ่งของต่างๆ ภายในเกม ปัญหาแบบใหม่ได้เกิดขึ้น โดยที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกตเห็น

ที่มาภาพ : http://wpuploads.appadvice.com/wp-content/uploads/2012/07/iap.jpg
ที่มาภาพ : http://wpuploads.appadvice.com/wp-content/uploads/2012/07/iap.jpg

ปัญหาที่ว่านี้ก็คือ การที่ความรุนแรงของโลกจริงได้แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกม

ในเกมแบบดั้งเดิม ที่ลักษณะการเป็นเจ้าเกิดขึ้นได้โดยการซื้อขาด จ่ายเงินแล้วก็ได้ครอบครอง ไม่มีเรื่องเงินทางตรงใดๆ มาเกี่ยวข้องอีกต่อไป (ไม่นับค่าไฟและค่าเสียโอกาสจากการเอาเวลาในการเล่นเกมไปทำอย่างอื่นที่จะได้เงิน) การที่ผู้เล่นจะ “เก่ง” ในเกมเป็นเรื่องของการให้เวลาไปกับการฝึกฝนทักษะการเล่น เพราะในเกมลักษณะนั้น ผู้เล่นจะเล่นมากเท่าใดก็ได้ตามแต่ที่สภาพร่างกายหรือปัจจัยภายนอกอย่างสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางบ้าน (พ่อ แม่ แฟน หรืออะไรก็ตามที่มากระทบเวลาในการเล่นได้) จะเอื้ออำนวย แต่ในเกมลักษณะใหม่นี้ ลำพังแค่มีเวลา มีสภาพร่างกายที่เพียบพร้อม หรือไม่มีปัจจัยแวดล้อมภายนอกมาข้องเกี่ยว ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เก่งในเกมได้เสมอไป

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ อย่างไรเสีย ผู้ผลิตและพัฒนาเกมก็จำเป็นที่จะต้องหารายได้จากเกมที่ตัวเองผลิตและพัฒนาขึ้น ดังนั้นแล้ว แม้ในเวลาที่ได้เกมมาครอบครอง การดาวน์โหลดจะเป็นไปโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางตรงใดๆ แต่ในความเป็นจริง ยังมีข้อจำกัดในการเล่นมากมายที่รอคอยผู้เล่นอยู่เบื้องหน้า และหากอยากจะผ่านมันไปได้อย่างรวดเร็ว ล้วนจำเป็นจะต้องใช้เงินไปกับการซื้อ “ตัวช่วย” ต่างๆ ทั้งสิ้น

ความปรารถนาจะเอาชนะผู้อื่น เก่งกาจกว่าใคร หรืออย่างน้อยๆ คือเล่นเกมได้อย่างสบายใจโดยไม่รู้สึกต่ำต้อยกว่าผู้เล่นคนอื่นๆ เหล่านี้ย่อมมีมาตั้งแต่สมัยการเล่นเกมแบบซื้อขาด แต่ในยุคสมัยอย่างนั้น ผู้เล่นที่ต้องแข่งขันด้วยนั้นก็มีอยู่ไม่กี่คน เต็มที่ก็เพียงผู้ที่พบหน้าค่าตากัน สามารถพูดคุยกันโดยเห็นหน้าพบปะ หรือก็คือเพื่อนฝูงที่เล่นเกมอย่างเดียวกัน แต่ในยุคต่อมา นับตั้งแต่เกมออนไลน์ประเภทต่างๆ ที่ต้องเล่นในคอมพิวเตอร์ มาจนถึงยุคที่เล่นในแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน อีกทั้งโซเชียลมีเดียยังเติบโตกว้างขวางจนโลกหดแคบลง คู่เปรียบแข่งในการเล่นเกมก็ย่อมมีจำนวนมากมายขึ้นอย่างเหลือคณานับ เพราะมันไม่ใช่โลกที่แค่มีคนเป็นแสนเป็นล้านเล่นเกมเกมเดียวไปพร้อมกับเรา แต่มันคือโลกแบบนั้นที่เราสามารถมองเห็นความเป็นไปในการเล่นเกมเดียวกับเราของผู้คนเป็นแสนเป็นล้านนั้นด้วย

เราเล่นเกมเพราะอะไร คำตอบที่ชัดจนที่สุดก็คือ เพื่อหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง เกมต่างๆ คือรูปแบบหนึ่งของการตอบสนอง “สิ่งขาด” อันไม่อาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง การประสบความสำเร็จหรือเก่งกาจในเกมนั้นอาจเป็นสิ่งที่หลายคนหมิ่นแคลนว่าเป็นเพียงความสำเร็จลวงๆ แต่ในเชิงความรู้สึกแล้วละก็ นั่นเป็นสิ่งที่ตอบคำถามได้เป็นอย่างดีว่าทำไมคนส่วนหนึ่งนั้นถึงรักใคร่ในการเล่นเกมจนเป็นชีวิตจิตใจ ก็ในเมื่อชีวิตจริงนั้นประสบความยากเย็นเหลือเกิน จะพยายามเพียงใดก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จในเรื่องที่ต้องการ การได้รู้สึกประสบความสำเร็จอย่างสาสมแก่ความพยายามที่เกิดขึ้นในการเล่นเกมก็ย่อมหล่อเลี้ยงตัวตนและจิตใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี

แต่สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้โดยง่ายก็แต่ในยุคที่ผู้เล่นนั่งเล่นเกมอยู่กับตัวเองเพียงผู้เดียว หรือต้องแข่งขันก็เพียงแต่กับเพื่อนๆ หรือคนรู้จักไม่กี่คน ทว่า เมื่อเข้าสู่โลกของเกมออนไลน์ที่ต้องเล่นในคอมพิวเตอร์ หรือจนกระทั่งเกมที่เล่นในแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งหลายเกมมีลักษณะอย่างที่เรียกเป็นประเภทว่า Mass Multiplayer หรือคือหลายผู้เล่นในจำนวนมหาศาล ก็อย่างที่บอกไปแล้ว ผู้เล่นจะไม่ได้แข่งขันเพียงกับตัวเองหรือคนไม่กี่คนอีกต่อไป แต่คือแข่งขันกับผู้คนอีกมากมายที่สามารถมองเห็นกันได้ผ่านเกมตลอดเวลา

ในสมัยของการเล่นเกมออนไลน์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ในยุคที่เกมออนไลน์ยังไม่คิดค่าบริการใดๆ ในการเล่น การใช้ตัวช่วยได้เกิดขึ้นโดยความพยายามของผู้เล่นเอง นั่นคือเกิดการเสนอซื้อขายอุปกรณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเงินในเกมด้วยการใช้เงินสดจริงๆ และต่อมา ในยุคที่เกมออนไลน์หลายๆ เกมก็ยังไม่มีคิดค่าบริการในการเล่ม แต่เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ ในเกมสามารถซื้อขายได้ในฐานะตัวช่วยสู่ความเก่งกาจ ทางผู้ผลิตเกมก็เริ่มขายอุปกรณ์สุดพิเศษในเกมที่จะช่วยให้ผู้เล่นเก่งกาจกว่าใครๆ ด้วยเงินจริง

มาถึงยุคของเกมที่เล่นในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต การซื้อขายตรงนี้ก็ดูจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ข้อจำกัดในการเล่นเกมที่ได้มาฟรีๆ นั้นมีอยู่ไม่น้อย ในหลายเกมฮิตซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อในที่นี้ (เพราะไม่ได้ค่าโฆษณา) มีการกำหนดจำนวนครั้งที่ผู้เล่นจะสามารถเล่นได้ โดยจำนวนครั้งนี้อาจเรียกได้ง่ายๆ ว่าผู้เล่นมีหน่วยพลังงานในเกมอยู่มากน้อยแค่ไหน อาจต้องใช้พลังงานอย่างน้อยหนึ่งหน่วยในเล่นเกมหนึ่งครั้ง และต้องใช้เวลาจำนวนหนึ่งพลังงานหนึ่งหน่วยนั้นจึงจะฟื้นคืนขึ้นมาพอจะเล่นเกมได้ หลังจากใช้พลังงานไปอย่างหน้อยห้าหน่วยเพื่อเล่นเกมห้าครั้ง ผู้เล่นอาจต้องรออีกอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงจึงจะเล่นได้อีกครั้ง

แต่ผู้เล่นต้องนั่งรอเช่นนั้นเสมอไปหรือ ไม่หรอก ผู้ผลิตและพัฒนาเกมได้ออกแบบให้ผู้เล่นสามารถใช้เงินจริงในการซื้ออุปกรณ์เติมพลัง เพื่อช่วยให้สามารถเล่นเกมต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา

หรือในเกมบางแบบ ที่ในเกมมีลักษณะของการสร้างฐานที่มั่นสำหรับการสู้รบ ซึ่งการสร้างสิ่งต่างๆ ในเกมนั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ในเกม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรอเวลาในการเก็บเกี่ยว ผู้ผลิตและพัฒนาเกมก็ยังเสนอขายตัวช่วยพิเศษที่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถเก็บเกี่ยวทรัพยากรต่างๆ ได้ทันที หรือถ้าทรัพยากรไม่ครบ ผู้เล่นก็สามารถใช้ตัวช่วยพิเศษเหล่านี้ทดแทนทรัพยากรที่ขาดอยู่ และแน่นอนว่าต้องใช้เงินจริงในการซื้อ

หรือ (อีกครั้ง) ในบางเกม ก็จะมีการจัดแคมเปญเป็นช่วงๆ อาจจะเดือนละครั้ง ที่ผู้เล่นต้องต่อสู้กับศัตรูพิเศษเพื่อแลกกับการได้รับอุปกรณ์พิเศษ โดยในแคมเปญนั้น ก็จะมีการเสนอขายหน่วยรบพิเศษที่เป็นคุณแก่การต่อสู้แข่งขันในแคมเปญนั้นๆ ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้เงินจริงซื้อเช่นกัน

ณ จุดนี้ การเล่นเกมจึงไม่อาจเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายในชีวิตจริงอีกต่อไป หรือซ้ำร้ายอาจจะยิ่งตอกย้ำความขาดในชีวิตจริงในระดับที่รุนแรงยิ่งกว่า เพราะลำพังความพยายามอย่างหนักแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้เก่งกาจเหนือใครอย่างว่องไวในเกมได้อีกต่อไป เงินจริงกลายเป็นทางลัดสู่ความเหนือชั้นกว่าคนอื่น การพยายามอย่างเต็มที่โดยไม่ใช้เงินเป็นทางลัดในเกม ไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าผู้เล่นจะได้พบกับความสำเร็จเสมอไป และคนที่มีเงินในโลกจริงมากกว่า ก็สามารถเป็นผู้เล่นที่เหนือกว่าคนที่มีเงินในโลกจริงน้อยกว่า ซึ่งตรงนี้นั้นรุนแรงร้ายกาจกว่าในโลกจริงด้วยซ้ำ เพราะในโลกจริงนั้น บางอย่าง ต่อให้ไม่มีเงินเป็นทางลัด หากใช้ความพยายามไปเรื่อยๆ ก็ยังสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ทว่า การที่เกมกลับกลายมาอยู่ในลักษณะแบบนี้ ก็สะท้อนบางอย่างในโลกจริงเช่นกันว่า บางอย่างนั้น ต่อให้พยายามขนาดไหน หากไม่มีเงินเป็นตัวช่วยแล้วก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ ที่ทำได้ก็แค่ก้มหน้าประคองตัวไปตามฐานะเศรษฐกิจของตัวเองเท่านั้น และมันกำลังเป็นเช่นนั้นทั้งในโลกจริงและในโลกเสมือน

ความรุนแรงในโลกจริงอย่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ได้คุกคามมาถึงโลกเสมือนที่หลายคนตราหน้าว่าไร้สาระแล้ว…