ThaiPublica > เกาะกระแส > ขยะไทย ขยะโลกกว่าครึ่งคืออาหาร แต่ประชากร 1 ใน 8 คนอยู่ในสภาพอดอยาก

ขยะไทย ขยะโลกกว่าครึ่งคืออาหาร แต่ประชากร 1 ใน 8 คนอยู่ในสภาพอดอยาก

18 พฤศจิกายน 2014


จากปัญหาขยะประเทศไทยที่กลายเป็นวาระแห่งชาติ พบว่าร้อยละ 64 คือขยะอาหารที่ปนเปื้อนและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ด้านสถานการณ์อาหารของโลกพบว่า มีการสูญเสียและทิ้งขว้างอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1.3 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่สูญเสียผักผลไม้สดประมาณครึ่งหนึ่งไประหว่างทางจากฟาร์มสู่ตลาด ในขณะที่ทุกวันประชากร 1 ใน 8 ของโลกกลายเป็นคนอดอยาก

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) และเทสโก้ โลตัส ร่วมมือกันจัดงาน “Save Food for A Better World ลดการสูญเสียเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มอาหารให้โลก” เพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาวิกฤติขยะอาหาร เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการสูญเสียทรัพยากร และเพิ่มอาหารให้ผู้หิวโหยทั่วโลก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557

นายสากล ฐินะกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีปริมาณขยะมูลฝอย 26.77 ล้านตัน ซึ่งในปริมาณนี้มีขยะอาหารมากถึงร้อยละ 64 เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอย 9,000 ตันต่อวัน แต่มีขยะอาหารถึงร้อยละ 50

ในขณะที่ประเทศไทยมีความสามารถในการกำจัดขยะไม่ถึงร้อยละ 70 ของขยะที่เกิดขึ้น ทำให้มีขยะมูลฝอยตกค้างจำนวนมาก อีกทั้งการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบที่ไม่ถูกต้องของประเทศที่มากขึ้น 2,024 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 2,490 แห่ง จึงก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนมลพิษจากขยะสู่ดิน แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรคและส่งผลต่อภาวะโลกร้อนจากก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกองมูลฝอย

จากปัญหาด้านการจัดการมูลฝอยดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการผลักดันให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องขยะจากเดิมที่เน้นการกำจัดทิ้งมากที่สุด มาเป็นเน้นเรื่องการลดสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยยึดหลัก 3Rs ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) นำมาใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากขยะ เช่น ผลิตพลังงาน ทำปุ๋ยหมัก โดยทำให้เหลือมูลฝอยที่ต้องกำจัดทิ้งให้น้อยที่สุด

“แก้ปัญหาขยะอาหารด้วยหลัก 3Rs เพื่อให้ขยะกลายเป็นศูนย์ (Zero Waste) คือ reduce ขยะอาหารโดยการกินให้หมดจาน สั่งอาหารแต่พอดี reuse ขยะอาหารโดยนำเศษอาหารที่เหลือเลี้ยงสัตว์ และ recycle โดยคัดแยกขยะอื่นๆ ออกจากขยะอาหาร แล้วนำขยะอาหารมาทำปุ๋ย น้ำหมักจุลินทรีย์ แก๊สชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ” นายสากลกล่าว

นายสากล ฐินะกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, Dr. Rosa S.Rolle, Senior Agro-Industries and Post-Harvest Officer, UNFAO และนายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้จัดการ แผนกกิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส
(จากซ้ายไปขวา)นายสากล ฐินะกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, Dr. Rosa S.Rolle, Senior Agro-Industries and Post-Harvest Officer, UNFAO และนายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้จัดการ แผนกกิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส

ด้าน ดร.โรซา โรล (Rosa S.Rolle) ผู้อาวุโสด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและวิทยากรหลังการเก็บเกี่ยวแห่ง UN FAO (Senior Agro-Industries and Post-Harvest Officer-UNFAO) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติขยะอาหาร โดยโลกผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงประชากร 7 พันล้านคน แต่กลับสูญเสียและทิ้งขว้างอาหารประมาณ 1.3 พันล้านตันทุกๆ ปี มูลค่ารวม 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ทุกๆ วันประชากรโลก 1 ใน 8 คน กำลังอดอยากและ 1 ใน 4 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะขาดสารอาหาร ดังนั้น หากโลกสามารถลดการสูญเสียหรือทิ้งขวางอาหารได้เพียง 1 ใน 4 ของปัจจุบันจะทำให้มีอาหารเพียงพอสำหรับผู้หิวโหยอีก 870 ล้านคนทั่วโลก

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ขยะอาหารเกิดในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ช่วงการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง จนถึงร้านค้าและถึงมือผู้บริโภค โดยสร้างผลกระทบทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เพราะทำให้สูญเสียอาหาร ขาดความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงขยะอาหารยังสร้างก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก และสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ และพลังงานที่ใช้เพาะปลูกอาหารโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อาหาร และทำให้อาหารราคาสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค

“เราสูญเสียอาหารตั้งแต่ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวพืชผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา โดยผักและผลไม้ร้อยละ 15-50 และธัญพืชร้อยละ 12-37 ที่เพาะปลูกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้สูญเสียไประหว่างเส้นทางจากฟาร์มสู่ตลาด เนื่องจากยังไม่เข้าใจตลาด เกิดปัญหาแมลงและโรค ขาดเทคโนโลยีในการผลิตที่ดี และไม่ได้รับการนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงมีการบริหารจัดการในการบรรจุและขนส่งที่ไม่ดีเพียงพอ” ดร.โรซากล่าว

สำหรับการทิ้งขว้างอาหารของผู้บริโภค ดร.โรซา กล่าวว่า เกิดจากนิสัยการซื้อที่ไม่เหมาะสม โดยประเทศที่กำลังพัฒนาจะซื้ออาหารสดบ่อย เก็บอาหารไว้ที่บ้านไม่มากและให้ความสำคัญเรื่องราคา จึงทำให้เหลืออาหารทิ้งจำนวนมากเนื่องจากการเน่าเสียหรือหมดอายุ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีนิสัยซื้ออาหารไม่บ่อย และเก็บไว้ที่บ้านจำนวนมาก รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ นอกจากนี้ การทานอาหารไม่หมดจานก็เป็นสาเหตุสำคัญของการทิ้งขวางอาหารเช่นเดียวกัน

จากปัญหาระดับโลกเรื่องขยะอาหารที่ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญอยู่ UNFAO จึงได้นำเสนอกลยุทธ์ในการลดการทิ้งขว้างอาหารทั้งระดับนโยบาย เช่น คิดภาษีสำหรับอาหารที่ทิ้งขว้างซึ่งเกาหลีและญี่ปุ่นได้นำไปใช้แล้ว รวมถึงประเทศจีนได้ปรับลดจำนวนอาหารบนโต๊ะจีนลงด้วย ส่วนธุรกิจบริการด้านอาหารก็ให้คิดเงินลูกค้าหากทานไม่หมดหรือสนับสนุนให้ลูกค้าเก็บอาหารที่ทานไม่หมดกลับบ้าน

สำหรับกลยุทธ์ระดับชุมชนและองค์กร UNFAO ได้จัดตั้งธนาคารอาหารเพื่อแก้ปัญหาความอดอยาก โดยจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมารวบรวมอาหารจากสถานที่ต่างๆ และนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่ไม่สามารถซื้ออาหารเองได้ ซึ่งเริ่มทำแล้วในประเทศสิงคโปร์ อินเดีย และออสเตรเลีย

ส่วนกลยุทธ์ระดับองค์กรพัฒนาและพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มพลเรือน นักวิชาการ ต้องสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม รวมถึงให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิค ให้คำปรึกษาและสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและทิ้งขว้างอาหาร

ทั้งนี้ UNFAO ได้เปิดตัวแคมเปญ Save Asia-Pacific ซึ่งเป็นแคมเปญระดับภูมิภาคภายใต้โครงการ Global Save Food เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 เพื่อกระตุ้นความสนใจและตระหนักเรื่องการสูญเสียอาหารและการทิ้งขวางอาหารที่เป็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการทานเหลือทิ้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ด้านนายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้จัดการ แผนกกิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า โลกมียอดสูญเสียอาหารโดยเปล่าประโยชน์ประมาณร้อยละ 31 โดยสูญเสียไประหว่างเพาะปลูกและผลิตร้อยละ 15 ระหว่างการจัดจำหน่ายร้อยละ 1 และจากการบริโภคร้อยละ 15 ดังนั้นเทสโก้ โลตัส ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารจึงคิดแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างความร่วมมือกับภาคีทั้งลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน โดยใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรเข้าไปช่วยเหลือใน 3 ด้าน คือ ลดการสูญเสียอาหารจากระบบห่วงโซ่อุปทาน ลดการทิ้งอาหารโดยสร้างกระแสสังคมถึงภัยจากขยะอาหาร และเปลี่ยนการสูญเสียอาหารให้กลายเป็นมื้ออาหาร

สำหรับการลดการสูญเสียอาหารจากระบบห่วงโซ่อุปทาน เทสโก้ โลตัส ได้เน้นการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร และช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูก และลดปัญหาพืชผลล้นตลาดจนกลายเป็นขยะอาหาร โดยให้เกษตรกรปลูกพืชตามความต้องการของตลาดและให้ความรู้ด้านเพาะปลูกเพื่อลดความเสียหายของผลผลิตและสามารถกำหนดเวลาเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งการบรรจุหีบห่อที่ดีและการจัดส่งที่รวดเร็วทำให้อาหารมาถึงร้านค้าและผู้บริโภคได้เร็วขึ้น 1-2 วัน ทำให้ยืดอายุอาหารสดได้เพิ่มขึ้นด้วย

“เทสโก้โลตัสรับซื้อผักและผลไม้สดโดยตรงจากเกษตรกรมา 2 ปีแล้ว โดยปัจจุบันรับซื้อตรงประมาณร้อยละ 80 ของผักและผลไม้สดทั้งหมด และจะทำให้กลายเป็นร้อยละ 100 ภายใน 1-2 ปี ซึ่งการซื้อโดยตรงในขณะนี้ทำให้มีของสดเพิ่มขึ้นในร้านปีละกว่า 10 ตัน และลดสินค้าด้อยคุณภาพจากแหล่งผลิตจากร้อยละ 2.15 เป็นร้อยละ 0.13 รวมถึงทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้และไม่ประสบปัญหาสูญเสียผลผลิตเพราะสินค้าล้นตลาด” นายชาคริตกล่าว

นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ได้สร้างเพจ “Tesco Lotus community –ชีวิตดี ชุมชนดี กับเทสโก้ โลตัส” เพื่อกระตุ้นสังคมให้สนใจเรื่องการเก็บอาหารสดให้นานขึ้น การแปรรูปอาหาร ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียอาหารในครัวเรือนโดยไม่จำเป็น รวมถึงป้องกันการเกิดขยะอาหาร โดยนำอาหารที่ไม่เหมาะแก่การจำหน่ายไปบริจาคเป็นมื้ออาหารให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งได้ริเริ่มมอบโครงการ “ปันไข่ให้น้องอิ่ม” ในปี 2557 โดยนำไข่ไก่ฟองที่มีสภาพดีจากแพ็คไข่ที่แตกหักจากศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดลำลูกกาไปบริจาคแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม จังหวัดปทุมธานี

“อาหารสดในเทสโก้ โลตัส คิดว่ามีเหลือทิ้งไม่ถึงร้อยละ 1 เพราะมีการวางแผนที่ดีและรัดกุมมากในการสั่งของเข้ามาขายในร้าน ซึ่งหากเราวางแผนที่ดีมากพอก็จะไม่เหลืออาหารสดเหลือทิ้งเลย แต่ในกรณีที่มีขยะเหลือทิ้งเราก็กำจัดทิ้งตามกระบวนการโดยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด สำหรับโครงการบริจาคอาหารนั้นในปีหน้าจะขยายผลไปยังศูนย์กระจายสินค้าที่ขอนแก่นด้วย” นายชาคริตกล่าว