ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายทวายเตรียมร้องรัฐบาลพม่า-ไทยรับผิดชอบโครงการทวายฯ ก่อนให้สัมปทานใหม่ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน 12-13 พ.ย.นี้

เครือข่ายทวายเตรียมร้องรัฐบาลพม่า-ไทยรับผิดชอบโครงการทวายฯ ก่อนให้สัมปทานใหม่ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน 12-13 พ.ย.นี้

11 พฤศจิกายน 2014


หลังจากที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2553 นั้นได้ก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย เช่น การยึดที่ดิน, การโยกย้ายชาวบ้านและการชดเชยที่ไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรม, การไม่ชดเชยให้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับที่ดินทำกินและป่าไม้, รวมไปถึงผลกระทบต่าง ๆ นานาที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน และไม่มีผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการรายใดเลยที่เข้ามารับผิดชอบต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ และในขณะนี้ กลุ่มท้องถิ่นในทวายกำลังวิตกกังวลกับกระแสข่าวที่รายงานว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะได้รับสัมปทานใหม่อีกครั้งเป็นระยะเวลา 75 ปี โดยที่ไม่มีการกล่าวถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่

สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยแสดงความรับผิดชอบและจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อเป็นหลักประกันถึงความโปร่งใส โดยต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการ และการเกี่ยวข้องของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา โดยจะยื่นรายงาน “เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง” ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2557 นี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่ผู้นำอาเซียนและผู้นำระดับโลกจะพบปะกันนี้ เป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 2 ของปี และเป็นโอกาสที่ผู้นำของพม่าและไทยจะได้ร่วมหารือเพื่อจัดการประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายรร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ทั้งนี้โครงการทวายฯ ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้บันทึกข้อตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า

ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวหลายฝ่ายคาดหวังว่ารัฐบาลพม่าจะประกาศผู้ร่วมทุนในโครงการรายใหม่ให้กับบริษัทไทย 2 แห่ง คือ บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมมือกับ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการในระยะเริ่มต้น อันรวมถึงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือขนาดเล็ก โรงไฟฟ้า ถนนสองเลน อ่างเก็บน้ำ และระบบโทรคมนาคม ซึ่งในปี 2556 รัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยเข้ามาถือครองโครงการและสิทธิในการให้สัมปทาน ซึ่งได้จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในรูปแบบพิเศษคือ บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด โดยรัฐบาลพม่าและไทยถือหุ้นกันคนละครึ่ง

บ้านของประชาชนในท้องถิ่น ที่ในอนาคตต้องถูกรื้อเพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยประชาชนจะถูกให้ย้ายออกไปอยู่ในบ้านพักที่มีการปลูกให้อยู่ทดแทน
บ้านของประชาชนในท้องถิ่น ที่ในอนาคตต้องถูกรื้อเพื่อรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยประชาชนจะถูกให้ย้ายออกไปอยู่ในบ้านพักที่มีการปลูกให้อยู่ทดแทน

ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม 2557 สมาคมพัฒนาทวายและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้นำเสนอรายงาน “เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ในด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการ รายงานฉบับนี้ระบุให้เห็นว่า หมู่บ้านประมาณ 20 ถึง 36 แห่ง (ประมาณ 4,384 ถึง 7,807 ครัวเรือน หรือ 22,000 ถึง 43,000 คน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนเชื่อมต่อ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องอพยพโยกย้าย

ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อ้างว่า สัมปทานของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายยังไม่ได้รับการอนุมัติ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ต่อผลกระทบด้านลบที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐของไทยหลายรายได้กล่าวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยว่า รัฐบาลพม่าและบริษัท อิตาเลียนไทยฯ, มิใช่รัฐบาลไทย, ควรต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม สมาคมพัฒนาทวายเชื่อว่า เนื่องจากรัฐบาลพม่าและไทยต่างร่วมทุนกันในบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ และตามที่ได้ระบุไว้ใน ‘กรอบการตกลงใหม่’ รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงมีความรับผิดชอบโดยตรงในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและผลกระทบด้านลบใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ

“เราไม่ได้ต่อต้านโครงการ แต่เรากำลังเรียกร้องความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ในการจัดการกับความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นจากโครงการในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้เคยตอบว่า นี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขา แต่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ กลับประกาศว่า ขณะนี้บริษัทชนะการประมูลรอบใหม่เพื่อพัฒนาโครงการในระยะ เริ่มต้น สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร” ตัน ซิน ผู้ประสานงานสมาคมพัฒนาทวาย กล่าว