ThaiPublica > เกาะกระแส > เกือบ 2 ปีกรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้ทำตามคำสั่งศาล กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ กรณีปนเปื้อนสารตะกั่ว

เกือบ 2 ปีกรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้ทำตามคำสั่งศาล กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ กรณีปนเปื้อนสารตะกั่ว

9 พฤศจิกายน 2014


คพ. แจงแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ต้องผ่านมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ด้านประชาสังคมกังวลว่าข้อสรุปของแผนคือปล่อยให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ ดังที่ คพ. เสนอมาโดยตลอดและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเห็นชอบด้วย

จากการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งมีข้อชี้แจ้งเรื่องขั้นตอนต่อไปของการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จาก คพ. ว่า แนวทางการฟื้นฟูที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเสนอมานั้น จะส่งต่อไปยังคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ ภาคประชาสังคม คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูฯ และงบประมาณก่อนนำไปปฏิบัติจริง

ด้านภาคประชาสังคมมีความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า กระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ซึ่งมาจากคำพิพากษาของศาลนั้นไม่ควรมีลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อนไปจนถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมองว่า คพ. สามารถตัดสินใจได้เองและยื่นของบประมาณการฟื้นฟูจากคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง หรือผ่านแค่คณะกรรมการควบคุมมลพิษก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากว่ามีคำสั่งศาลชัดเจนว่าให้ คพ. มีหน้าที่ดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลที่ว่า สุดท้ายแล้ววิธีการปล่อยให้ลำห้วยคลิตี้ฟื้นฟูเองตามธรรมชาติจะกลายเป็นข้อสรุปของการฟื้นฟูในครั้งนี้ เพราะในอดีตคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเคยมีมติให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติมาก่อน

นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว ตามคำตัดสินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นหน้าที่ของ คพ. ซึ่งสามารถกำหนดแนวทางการฟื้นฟูและเบิกจ่ายงบประมาณจากรัฐมาดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ หรือส่งต่อให้กับคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นหลังจากมีคำพิพากษาก็เพียงพอเพราะเป็นคณะบุคคลที่รู้และเข้าใจปัญหาของคลิตี้มาโดยตลอด หรือจะต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมมลพิษด้วยก็ได้ เพราะยังถือว่าทำงานเกี่ยวข้องกัน โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

“เหตุผลที่ คพ. มีขั้นตอนการอนุมัติแผนฟื้นฟูคลิตี้ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ น่าจะเป็นเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่สิ่งที่กังวลคือ ขณะนี้แนวทางการฟื้นฟูที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังขาดความชัดเจนในหลายด้าน และยังมีแนวคิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติเป็นแนวทางสำคัญที่เสนอกับ คพ. ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับที่ คพ. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเคยเสนอมาตั้งแต่คดียังไม่สิ้นสุด” นายสุรชัยกล่าว

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติและผู้นำคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคม กล่าวว่าเมื่อมีคำพิพากษาจากศาลแล้ว ทาง คพ. สามารถยื่นเรื่องของบประมาณโดยตรงจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม. มีหน้าที่อนุมัติเท่านั้น ไม่มีสิทธิหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธ

โดยหลังจากที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 22 คน จ.กาญจนบุรี ยื่นฟ้อง คพ. ต่อศาลปกครองขอให้ปฏิบัติหน้าที่ในการกำจัดมลพิษและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชดใช้ค่าเสียหายจากการละเลยล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วยที่ผ่านมาให้แก่ผู้ฟ้องคดีมาตั้งแต่ปี 2547 จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ คพ. กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจ และวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน ทราบอย่างเปิดเผยโดยปิดประกาศในที่สาธารณะของชุมชน และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน รายละ 177,199.55 บาท ภายใน 90 วันนับแต่คดีสิ้นสุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

ต่อมา คพ. ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านทั้ง 22 ราย และลงพื้นที่สำรวจการปนเปื้อนของตะกั่วที่คลิตี้ทั้งในลำห้วย ดิน และพืชผัก ทุก 3 เดือน และแจ้งให้ชาวบ้านทราบ รวมถึงว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เคลื่อนย้ายบ่อฝังกลบตะกอนดินเดิมที่เคยตักขึ้นมาจากท้องลำห้วยเมื่อปี 2542-2543 นำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 4 หลุม จากที่มีอยู่ 8 หลุม ด้วยงบประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556

นอกจากนี้ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาศึกษา สำรวจ และเก็บตัวอย่างในลำห้วยคลิตี้ แล้วนำตะกอนไปวิเคราะห์หาตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ หลังจากนั้นสรุปเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อหาวิธีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่เหมาะสมที่สุด โดยลงนามสัญญาว่าจ้างเฟสแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 ระยะเวลาว่าจ้าง 120 วัน ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เริ่มทำงานเฟสสอง โดยการจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบเพื่อสรุปแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในคลิตี้ทั้งหมด 4 ครั้ง โดยขณะนี้จัดไปแล้ว 2 ครั้ง และจะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2557

ทั้งนี้ยังว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หมั่นตั้งธรรม ด้วยงบประมาณ 5,495,500 บาท เพื่อสร้างฝายดักตะกอนใหม่ที่จุด KC4 และ KC4/1 เนื่องจากฝายหินเรียงเดิมทรุดตัวลงและพังทลายไปมากแล้ว โดยในสัญญาว่าจ้างระบุเวลาก่อสร้าง 10 พฤษภาคม 2555 – 5 มกราคม 2556 แต่การสร้างฝายทั้ง 2 แห่งล่าช้าจากกำหนดการและมาเสร็จสิ้นเมื่อต้นปี 2557

จากการดำเนินงานของ คพ. เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ล่าช้าและยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลคือ “กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู” ซึ่งปัจจุบัน คพ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นมา “กำหนดแผนงานและวิธีการฟื้นฟู” อยู่ ซึ่งแนวทางที่เสนออยู่ในตอนนี้ยังหนีไม่พ้นเรื่องการฟื้นฟูตามธรรมชาติ

สำหรับวิธีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ คพ. เสนอมาโดยตลอดก่อนที่ศาลจะพิพากษาคดี และแม้ศาลจะมีคำพิพากษาคดีแล้ว คพ. ก็ยังมีท่าทีที่จะใช้วิธีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จนคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ ภาคประชาสังคมซึ่งแต่งตั้งขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษา ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อ คพ. ข้อหนึ่งว่า

“คณะทำงานฯ คัดค้านท่าทีและความเห็นของกรมควบคุมมลพิษหลังศาลตัดสินยืนยันจะใช้แนวทาง ให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งหมายถึงการไม่ดำเนินการฟื้นฟูใดๆ และได้พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์จากระยะเวลาการใช้วีธีดังกล่าวนับสิบปีแล้วว่าแนวทางให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วที่มีผลกระทบต่อชุมชนได้จนถึงปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษจึงต้องเปลี่ยนวิธีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เพื่อให้ปริมาณการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนคลิตี้โดยเร็ว”

คพ. เสนอและมีมติฟื้นฟูลำห้วยตามธรรมชาติมาโดยตลอด

ปัญหาตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่คลิตี้ กว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีความชัดเจนเรื่องการจัดการตะกอนดินบนบกว่ากำจัดโดยการฝังกลบ ส่วนตะกอนดินในลำห้วยในอดีต คพ. เคยสั่งให้บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขุดลอกลำห้วยบางส่วนขึ้นมาแล้วนำไปฝังกลบ แต่แนวทางการฟื้นฟูคลิตี้ด้วยวิธีการฟื้นฟูตามธรรมชาติยังคงเป็นแนวทางหลักที่ คพ. เสนอมาตลอดโดยอ้างมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

จากการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในห้วยคลิตี้ของ คพ. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงปี 2547-2549 (อ้างอิงจากเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์หมายเลข 3 ของ คพ. ในปี 2551) พบว่า มติในที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวทางที่ คพ. เสนอ คือการปล่อยให้ลำห้วยฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ

เริ่มจากวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 คพ. ประชุมร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานการประชุมข้อหนึ่งระบุว่า การปนเปื้อนในตะกอนมีแนวโน้มคงที่ เนื่องจากปล่อยให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติและไม่มีกิจกรรมใดๆ รบกวน

ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2548 ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คพ. จึงเสนอให้ปล่อยลำห้วยคลิตี้ฟื้นฟูเองตามสภาพธรรมชาติ ซึ่งในที่ประชุมก็มีมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของ คพ.

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 คพ. ได้เชิญคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาประชุมเพื่อหาแนวทางจัดการตะกอนในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเหล่าคณาจารย์มีมติเห็นด้วยกับวิธีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ แม้ว่าในการประชุมคณาจารย์จะเสนอแนวทางการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่นๆ ด้วยก็ตาม

ทั้งนี้จากรายงานการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ด้วยวิธีทางธรรมชาติของ คพ. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ยังระบุว่า หลังจากที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ คพ. ชดเชยค่าเสียหายแก้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดี คพ. ในขณะนั้น มีคำสั่งให้สำนักจัดการคุณภาพน้ำจัดประชุมเพื่อหาข้อสนับสนุนการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ โดยการประชุมนี้นำโดยนายอนุพันธ์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ และนายอนุกูล สุธาพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนน้ำเสียอุตสาหกรรม อาจารย์จากสถาบันการศึกษา 7 คน และนักวิชาการอีก 5 คน รวมเป็น 14 คน โดยในที่ประชุมมีมติให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยวิธีการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ เพราะมีความเหมาะสมในแง่ของสภาพพื้นที่

จากแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ คพ. เสนอมาโดยตลอดและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเคยมีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อบวกกับขั้นตอนการอนุมัติแผนฟื้นฟูที่ คพ. ชี้แจงว่าต้องผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมนั้น จะทำให้แผนฟื้นฟูพ้นจากวิธี “ฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ” ได้หรือไม่ เพราะผ่านมากว่า 10 ปีแล้วปัจจุบันสารตะกั่วปริมาณมากก็ยังคงอยู่ในลำห้วยคลิตี้เช่นเดิม

เอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์หมายเลข 3 ของ คพ. ซึ่งลำดับเหตุการณ์การฟื้นฟูกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ เพื่อแก้ต่างคำฟ้องที่ว่าปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

โดยในปี 2551 ขณะที่คดีชาวบ้านคลิตี้ล่างรวม 22 คนฟ้อง คพ. ข้อหาละเลยต่อหน้าที่ในการประสานงาน และดำเนินการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมนั้น ด้าน คพ. ได้ยื่นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์เพื่อปฏิเสธคำฟ้องของชาวบ้านว่า ตั้งแต่ปี 2541-2551 ทาง คพ. ได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสารตะกั่วที่คลิตี้มาโดยตลอด ส่วนเรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้นั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมติในปี 2548 ปล่อยให้ลำห้วยฟื้นฟูตามธรรมชาติ

ในช่วงปี 2541-2551 คพ. ได้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้กรณีปนเปื้อนสารตะกั่วมาตลอด โดยลงพื้นที่ตรวจสอบมลพิษในน้ำ ตะกอนดิน สัตว์น้ำ แล้วนำมาวิเคราะห์ผลสารตะกั่วรวม 24 ครั้ง อีกทั้งจัดประชมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ดังนั้นจึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

ด้านการขุดลอกตะกอนในลำห้วยคลิตี้ มีช่วงระยะดำเนินการตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2541 – 23 มีนาคม 2543 โดย คพ. สั่งให้บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของโรงแต่งแร่ซึ่งปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยคลิตี้ขุดลอกตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้ออกไปกำจัด โดยสรุปแล้วมีการประชุมหารือช่วงเกือบ 2 ปีรวม 7 ครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ให้บริษัทขนดินตะกอนปริมาณ 1754 กลับไปยังโรงแต่งแร่ และขุดหลุมฝังกลบ 3 แห่ง เพื่อฝังตะกอนดิน 846 ตัน รวมถึงสร้างฝายดักตะกอน KC4 และ KC4/1

ด้านการก่อสร้างฝายหินทิ้งเพื่อดักตะกอนและสูบออกไปกำจัด คพ. ได้ดำเนินการตั้งแต่ 27 มีนาคม 2543 – กุมภาพันธ์ 2545 โดยสั่งให้บริษัทตะกั่วฯ ขุดลอกตะกอนดินเพิ่มเติม และปรับปรุงแก้ไขหลุมฝังกลบตะกอนดินเดิม และมีการประชุมหารือเรื่อยมารวม 4 ครั้ง จนกระทั่งบริษัทสร้างฝายสำเร็จในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2545

หลังจากนั้น คพ. มีคำสั่งให้บริษัทตะกั่วฯ เตรียมแผนการสูบตะกอนบริเวณฝายหินทิ้ง ส่วนทางด้าน คพ. ได้ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงพฤษภาคมถึงกันยายน 2547

นอกจากนี้ คพ. ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องแนวทางแก้ไขการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 เพื่อติดตามการปนเปื้อนสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 เมษายน 2548 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติยังไม่ประกาศพื้นที่คลิตี้เป็นเขตควบคุมมลพิษตามความเห็นของของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเห็นควรปล่อยให้ลำห้วยฟื้นฟูตามสภาพธรรมชาติ

แม้แต่ในการประชุมเพื่อหาแนวทางจัดการตะกอนในลำห้วยคลิตี้ร่วมกับคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ก็เห็นด้วยกับวิธีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ แม้ว่าจะมีทางเลือกอื่นๆ มาเสนอด้วยก็ตาม

สำหรับการติดตามผลการดำเนินงานทั้งเรื่องการสร้างฝายและการตรวจการปนเปื้อนสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม ทาง คพ. ได้ชี้แจ้งว่า มีคำสั่งให้บริษัทตะกั่วฯ ปรับปรุงแก้ไขฝายหินทิ้ง และลงพื้นที่ตรวจสอบและรายงานผลให้ชาวบ้านทราบมาโดยตลอด