ThaiPublica > คนในข่าว > จาก “ปฏิบัติการกำจัดแมลงวันและฝูงพยัคฆ์” สู่ “ปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอก 2014” ของสี จิ้นผิง

จาก “ปฏิบัติการกำจัดแมลงวันและฝูงพยัคฆ์” สู่ “ปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอก 2014” ของสี จิ้นผิง

13 พฤศจิกายน 2014


รายงาน:อิสรนันท์

แม้อดีตผู้นำแดนมังกรหลายต่อหลายคน รวมไปถึงอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และอดีตนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า จะให้สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้สิ้นทราก แต่คำมั่นสัญญานั้นก็เหมือนกับเป็นเพียงลมปากที่ปลิวหายไปกับสายลม เพราะจนถึงทุกวันนี้การทุจริตคอร์รัปชันยังคงระบาดไปทั่วทุกระดับชั้น โดยเฉพาะในหมู่ญาติโกโหติกาและคนสนิทของผู้นำจงหนานไห่หลายต่อหลายคน และอาจจะรวมไปถึง “ปู่เวิน” ซึ่งแม้จะเป็นขวัญใจของประชาชนด้วยค่าที่มากน้ำใจมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนอยู่เสมอๆ โดยไม่ถือเนื้อถือตัว ก็ไม่วายตกเป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่กำลังจะถอดหัวโขนทิ้่ง ว่าปล่อยให้ญาติสนิทใช้ชื่อไปทำมาหากินจนร่ำรวยมหาศาล

โดยตัวการที่เผยแพร่ข่าวนี้เป็นแห่งแรกก็คือเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ที่อ้างผลการตรวจสอบผลประกอบการของบริษัทเอกชนและสถิติของทางการจีนแล้วพบว่า คนในครอบครัวของปู่เวิน ทั้งลูกชายลูกสาว พี่ชายและพี่เขย ได้ลงทุนในธุรกิจต่างๆ มากกว่า 2,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 81,000 ล้านบาท) ส่วนนางหยาง ซื่อหวิน แม่ของนายเวิน ซึ่งช่วงที่ตกเป็นข่าวนั้นมีอายุมากถึง 90 ปีแล้ว ได้หอบเงิน 120 ล้านดอลลาร์ ไปลงทุนในบริษัทประกันแห่งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ทนายความของปู่เวินนั้นนอกจากยืนยันว่าปู่เวินไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของคนในครอบครัว ยังพยายามป้องกันไม่ให้คนในครอบครัวแอบอ้างอิทธิพลของตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะนางหยางนั้น ไม่มีรายได้หรือสินทรัพย์อื่นใดตามข่าวของนิวยอร์กไทมส์ มีแต่เงินเดือนและเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเท่านั้น

แม้ว่าจะชี้แจงและตอบโต้รวมไปถึงเซ็นเซอร์ข่าวของนิวยอร์กไทมส์ ตัวการเผยแพร่ข่าวนี้ แต่คนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า “ถ้าไม่มีมูล หมาไม่ขี้” ตอกย้ำรอยด่างพร้อยในวงสังคมแดนมังกรว่าคนจีนกับการคอร์รัปชันเป็นของคู่กันตลอดมา

นายสี เจิ้น ผิง ที่มาภาพ : http://www.thenewstribe.com/wp-content/uploads/2014/11/Xi-Jinping.jpg
นายสี จิ้นผิง ที่มาภาพ: http://www.thenewstribe.com/wp-content/uploads/2014/11/Xi-Jinping.jpg

แต่ความเชื่อนี้ก็เริ่มคลอนแคลน นับตั้งแต่สี จิ้นผิง ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประมุขคนที่ 5 แห่งจงหนานไห่เมื่่อเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยตลอดช่วง 2 ปีนี้ สี จิ้นผิง ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่เพียงแต่ค่อยๆ รื้อฟื้นการปกครองภายใต้หลักนิติรัฐของขงจื่อ เมิ่งจื้อ หานเฟยหรือแมคเคียเวลลีแห่งแดนมังกร ที่เน้นว่า “ใครทำผิดก็ต้องรับโทษตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน” ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ปานไหนก็ตาม

รวมไปถึงการปัดฝุ่นวรรณกรรมเก่าแก่นับพันๆ ปีของจีนขึ้นมาใช้ใหม่ควบคู่กับแนวทางของเหมา เจ๋อตุง เพื่อเป็นกำแพงขวางกั้นวัฒนธรรมตะวันตกที่รุกคืบเข้ามาอย่างไม่อาจยับยั้งได้ สียังมีอาญาประกาศิตให้ลงดาบฟันบรรดา “แมลงหวี่แมลงวันและฝูงพยัคฆ์” ที่ทุจริตคอร์รัปชัน ยักยอกเงินหลวง หรือผลาญเงินงบประมาณในโครงการที่เปล่าประโยชน์ ให้หนักหน่วงมากขึ้น ไม่ใช่แค่ปลดจากตำแหน่งเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงอาจต้องโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต โดยไม่ไว้หน้าใครๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแมลงหวี่แมลงวันหรือปลาซิวปลาสร้อย ซึ่งก็คือข้าราชการระดับล่างทั่วไปที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงที่สามารถจับกุมได้ง่ายๆ ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดหรือประเภทกินตามน้ำ หรือจะเป็นพยัคฆ์หรือเสือใหญ่ อันหมายถึงข้าราชการระดับสูงทั้งพลเรือนและทหาร ตลอดจนผู้นำระดับสูงภายในพรรค ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงนักการเมืองทั้งดาวรุ่ง-ดาวร่วง

นอกจากนี้ ผู้นำจงหนานไห่ยังได้ทยอยออก “บัญญัติ 100 ประการ” เพื่อเป็นแนวทางให้ข้าราชการทุกระดับนำไปปฏิบัติเพื่อจะป้องกันการทุจริตไปในตัว อาทิ งดจัดงานเลี้ยงหรูหรา งดรับของขวัญราคาแพง ห้ามมีเมียน้อย ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ชน การลดเงินเดือนและอภิสิทธิ์ของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจราว 30 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันที่มีรายได้สูงสุดไม่เกินปีละ 6 แสนหยวน (ราว 3.1 ล้านบาท)

ตลอดจนสั่งระงับแผนก่อสร้างสถานที่ราชการของรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งที่ตกแต่งอย่างสุดแสนอลังการเกินตัว อาทิ การผลาญงบประมาณกว่า 30 ล้านหยวน (ราว 152 ล้านบาท) เพื่อก่อสร้างศูนย์ราชการขนาดใหญ่ที่เมืองฟู่หยาง มณฑลอานฮุย หนึ่งในมณฑลยากจนที่สุดในประเทศ โดยภายในศูนย์ราชการแห่งนี้ตกแต่งอย่างหรูหรา ประดับผนังด้วยทองคำและโคมไฟระย้า เลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์ของฝรั่งเศส จนมีการเรียกขานในเชิงประชดประชันว่าเป็น “ทำเนียบขาวของจีน”

หรืออาจจะถึงขั้นยุบกระทรวงทบวงกรมหากพบว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ดังกรณีที่รัฐบาลได้สั่งยุบกระทรวงการรถไฟเพื่อปรับโครงสร้างการบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ยังจับกุมหลิว จื้อจวิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟ ฐานรับสินบน ในโครงการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จนทำให้การเดินรถมีมาตรฐานต่ำ และศาลได้ตัดสินประหารชีวิตอดีตรัฐมนตรีผู้นี้ด้วย ฯลฯ

ผู้อำนวยการสำนักงานปราบปรามคอร์รัปชันแห่งชาติจีนเผยว่า แค่ช่วงไตรมาสของปีนี้ มีข้าราชการราว 10,840 ราย ถูกสอบสวนในข้อหาทุจริตเพิ่มขึ้นถึง 19.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันรวม 8,222 คดี มากกว่าเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 24 เปอร์เซ็นต์ โดย 82 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกตรวจสอบเกี่ยวข้องกับการรับสินบนเป็นเงินกว่า 50,000 หยวน (ราว 265,000 บาท) หรือยักยอกเงินหลวงเป็นเงินกว่า 100,000 หยวน (530,000 บาท) และผลการตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการที่ทำผิดจริงจนถูกดำเนินคดีจำนวน 3,095 ราย เพิ่มจากปีที่แล้ว 7.4 เปอร์เซ็นต์

ในบรรดา “พยัคฆ์ตัวใหญ่” ที่ถูกจับและถูกศาลตัดสินสถานหนักนั้น รวมไปถึงโจว หย่งคัง อดีตบิ๊กความมั่นคงผู้มีอำนาจล้นฟ้าในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงในประเทศ และคนสนิทอีกกว่า 300 คน ไม่ว่าจะเป็น ป๋อ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคสาขาเมืองฉงชิ่ง และอดีตคู่แข่งสี จิ้นผิง ในศึกชิงตำแหน่งผู้นำจงหนานไห่ ที่ถูกศาลตัดสินด้วยโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาทุจริตและยักยอกเงินหลวง หรือหลี่ ชุนเฉิง อดีตรองเลขาธิการพรรคสาขามณฑลเสฉวน คนใกล้ชิดของโจว หย่งคัง ที่ถูกปลดและถูกขับออกจากตำแหน่งเมื่อปลายเดือน เม.ย. ในข้อหาทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง อันหมายถึงการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ

อายัดทรัพย์โจว หย่งคัง เสือเฒ่าวัย 71 ปี ราว 450,000 ล้านบาท

ในส่วนของโจว หย่งคัง เสือเฒ่าวัย 71 ปี ซึ่งนอกจากจะถูกปลดจากตำแหน่งและถูกกักบริเวณภายในบ้านพักระหว่างรอการสอบสวน ยังถูกอายัดทรัพย์สินมูลค่าอย่างน้อย 90,000 ล้านหยวน (ราว 450,000 ล้านบาท ) ที่ซุกซ่อนอยู่ในชื่อของคนในครอบครัวและพวกพ้อง ในจำนวนนี้รวมไปถึงบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวน 37,000 ล้านหยวน พันธบัตรทั้งในและนอกประเทศรวมมูลค่า 51,000 ล้านหยวน นอกเหนือจากบ้านพักในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และในอีกห้ามณฑลที่ถูกยึดพร้อมกับคฤหาสน์ อพาร์ตเมนต์ ราว 300 หลัง/ห้อง มูลค่ารวม 1,700 ล้านหยวน ภาพเขียนร่วมสมัยหลายภาพที่มีมูลค่าในตลาดสูงถึง 1,000 ล้านหยวน และขบวนรถยนต์กว่า 60 คัน ไม่นับรวมเหล้าราคาแพง ทองคำ เงิน และเงินสดทั้งสกุลเงินท้องถิ่นและต่างประเทศ

ในส่วนของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็มีการกวาดล้างการคอร์รัปชันครั้่งใหญ่เช่นกัน ด้วยการจับกุมพลเอกซู่ ไฉโฮ่ว อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะพร้อมลูกเมีย เลขานุการ รวมทั้งพลโทคู จวิ้นซาน อดีตรองผู้บัญชาการฝ่ายพลาธิการของกองทัพ ทหารคนสนิทในข้อหาฉ้อโกงและยักยอกเงินหลวงด้วยการชักส่วนแบ่งจากการขายที่ดินของกองทัพจำนวน 2,000 ล้านหยวน เข้ากระเป๋าตัวเองถึง 6 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงรับสินบน นำเงินกองทุนของรัฐไปใช้ในทางที่ผิด ใช้อำนาจในทางมิชอบ และใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย อาทิ สร้างวิลล่า 7 หลัง ริมแม่น้ำในเมืองผู่หยาง มณฑลเหอหนาน บ้านเกิด หรือการให้บัตรเดบิตวงเงิน 20 ล้านหยวน เป็นของขวัญแต่งงานของบุตรสาวพลเอกซู่ นับเป็นนายทหารยศสูงสุดที่ถูกฟ้องดำเนินคดีทุจริตฉาว หลังจากพลเรือโทหวัง โส่วเย่ ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ให้รอลงอาญา โทษฐานฉ้อโกงเมื่อปี 2549

พร้อมกันนี้ ผู้บริหารของมณฑลต่างๆ อย่างน้อย 10 มณฑล ก็กำลังแกะรอย “ข้าราชการตัวเปล่าเล่าเปลือย” ซึ่งหมายถึงข้าราชการที่ซุกซ่อนความร่ำรวยด้วยการถ่ายโอนสมบัติที่ได้มาโดยมิชอบให้แก่ลูกเมียที่จัดการให้เดินทางไปอาศัยในต่างประเทศเป็นการถาวร ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายของจีน แต่ก็เท่ากับเปิดช่องทางในการโยกย้ายทรัพย์สินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายไปให้ลูกเมียที่อยู่เมืองนอก จากนั้นก็พยายามตบตารัฐด้วยการแสดงตนว่าเป็นข้าราชการ “ตัวเปล่าเล่าเปลือย” ไม่มีฐานะหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาเพียงน้อยนิด แม้จะมีคำถามตามมาว่าเหตุใดเงินเดือนข้าราชการจึงสามารถนำไปเลี้ยงครอบครัวหรือวงศาคณาญาติในต่างประเทศได้ ก่อนที่ตัวเองจะหาช่องทางหลบหนีไปเสวยสุขในต่างประเทศพร้อมครอบครัวทันทีที่มีโอกาส ไม่เช่นนั้นถ้าถูกจับได้มีหวังถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกนำตัวขึ้นศาล ว่ากันว่าเฉพาะที่มณฑลกวางตุ้งเพียงมณฑลเดียว ข้าราชการกว่าพันคนมีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตจากการส่งครอบครัวไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ

ที่มาภาพ : http://www.chinahush.com/2014/09/10/operation-fox-hunting-2014-chinas-new-tactic-against-fleeing-government-officials/
ที่มาภาพ: http://www.chinahush.com/2014/09/10/operation-fox-hunting-2014-chinas-new-tactic-against-fleeing-government-officials/

ปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอก 2014

และข้าราชการกลุ่มนี้นี่เองที่เป็นเป้าหมายใหม่ของสี จิ้นผิง ในการไล่ล่านำตัวกลับมารับโทษในประเทศ ภายใต้แผน “ปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอก 2014” หลังจากแผนขั้นแรกในการจัดการกับบรรดา “แมลงหวี่แมลงวันและฝูงพยัคฆ์” เริ่มเห็นผลมากขึ้น ในแผน “ปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอก 2014” ระยะ 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นมา พุ่งเป้าไปที่การจะกระชากตัวข้าราชการเหลี่ยมจัดและอาชญากรเศรษฐกิจ ที่หอบเงินที่ได้มาจากการทุจริต การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ และการยักยอกทรัพย์ หนีไปเสวยสุขในต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศให้ได้ ไม่ว่าจะหนีไกลสุดขอบฟ้าแค่ไหนหรือเนิ่นนานหลายสิบปีแล้วก็ตาม เชื่อว่ามีอยู่อย่างน้อย 11 ราย ที่หอบเงินหนีคดีมาแล้วกว่า 10 ปี และมีอยู่ 2-3 ราย ที่หอบเงินหนีตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2523

ทั้งซินหัวและประชาชนรายวัน กระบอกเสียงของทางการเผยว่า ข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชันและอาชญากรเศรษฐกิจชื่อดังนับพันๆ คนได้หอบเงินหนีไปเสวยสุขในต่างประเทศถึงกว่า 40 ประเทศ โดยสวรรค์บนดินที่อาชญากรเหล่านี้ชอบหนีไปกบดานตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือสหรัฐฯ คานาดา ออสเตรเลีย และประเทศในเอเชียอาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นแดนดินถิ่นเจ้าพระยา กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมทั้งในแอฟริกา เฉพาะที่แดนอินทรีอเมริกาประเทศเดียวมีอดีตข้าราชการกังฉินและอาชญากรเศรษฐกิจหนีไปกบดานกว่า 150 คน นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบโอนเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปต่างประเทศผ่านการฟอกเงินและโพยก๊วนนอกระบบ จากข้อมูลของกลุ่มโกลบัล ไฟแนนเชียล องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กที่เพิ่งเปิดเผยเพิ่มเติมเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่าระหว่างปี 2548-2554 เชื่อว่ามีการแอบนำเงินที่ได้มามิชอบออกจากจีนถึงกว่า 2.83 ล้านล้านดอลลาร์

นับจากปี 2551 เป็นต้นมา ทางการปักกิ่งได้พยายามนำตัวผู้ต้องหากลับมาลงโทษ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่หนีไปอยู่ในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์และแอฟริกาอย่างยูกานดา กัมพูชา และอินโดนีเซีย จากรายงานของศาลสูงสุดระบุว่า ปีที่แล้ว มีอาชญากรเศรษฐกิจถูกส่งตัวกลับ 762 คน มีเงินถูกยึดกลับเป็นของรัฐกว่า 10,000 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ 69 คน ต้องอาศัยความร่วมมือกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปลให้ช่วยออกหมายจับระหว่างประเทศในข้อหาคอร์รัปชัน ยักยอกทรัพย์ ทุจริต และรับสินบน หนึ่งในผู้ต้องหาที่ตามจับได้คืออดีตข้าราชการชาวฉงชิ่งซึ่งต้องคดียักยอกทรัพย์ 60 ล้านหยวน (ราว 300 ล้านบาท) ตั้งแต่เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

ส่วนในช่วง 100 วัน ของปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอกนั้น ปรากฏว่ามีข้าราชการทุจริตและอาชญากรเศรษฐกิจ 180 คน ถูกจับกุมและถูกส่งตัวกลับมาชดใช้กรรมในประเทศ ในจำนวนนี้ 104 คน มาจากการไล่ล่าของตำรวจจีนภายใต้การประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศนั้นๆ อีก 76 คน มาจากการเกลี้ยกล่อมอย่างละมุนละม่อมจนยอมมอบตัวด้วยความสมัครใจ รวมไปถึงอาชญากรเศรษฐกิจ 44 คน ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบถึงกว่า 10 ล้านหยวน หรือกว่า 50 ล้านบาท

“หวัง ชีซาน” กระบี่มือหนึ่งแขนขวาของสี จิ้นผิง

สำหรับกระบี่มือหนึ่งที่เปรียบเสมือนแขนขวาของสี จิ้นผิง ในปฏิบัติการนี้ก็คือหวัง ชีซาน วัย 66 ปี นักประวัติศาสตร์ผู้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการประจำของคณะโปลิตบุโร อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 7 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในแดนมังกรในยุคนี้ ที่สำคัญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการตรวจสอบด้านวินัย หรือนัยหนึ่งก็คือผู้คุมกฎและวินัย มีหน้าที่ดูแลเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันโดยตรง

ส่วนหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ตามไล่ล่า “หมาจิ้งจอก” ที่กบดานอยู่ในต่างประเทศก็คือกระทรวงสันติบาล ซึ่งได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อไปปฏิบัติการในต่างประเทศ ประกอบไปด้วยตำรวจผู้มากประสบการณ์จากสำนักงานสอบสวนอาชญากรรมเศรษฐกิจและหน่วยสันติบาลท้องถิ่น รวมทั้่งการดึงตำรวจหญิงเข้าร่วมด้วย เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว ตำรวจหญิงจะมีความละเอียดอ่อนและช่างสังเกตมากกว่า อีกทั้งยังมีความสามารถในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และยังสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน

พร้อมกันนี้ กระทรวงใหญ่ๆ รวมทั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ยังได้ออกแถลงการณ์อีก 7 ฉบับ ส่งไปยังสถานทูตและสถานกงสุลในต่างประเทศ เรียกร้องให้อาชญากรเศรษฐกิจที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำยอมมอบตัวเองแต่โดยดีก่อนวันที่ 1 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ ถ้าใครยอมมอบตัวก็จะได้รับโทษสถานเบาลงแทนโทษหนัก ยิ่งถ้าผู้ต้องหายินยอมคืนเงินค่าเสียหาย โทษก็จะยิ่งเบาลงหรืออาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษ

ผลักดันสมาชิกเอเปกส่งกลับอาชกรเศรษฐกิจ

ที่มาภาพ : http://newshour-tc.pbs.org/newshour/wp-content/uploads/2014/11/458738992-1024x508.jpg
ที่มาภาพ: http://newshour-tc.pbs.org/newshour/wp-content/uploads/2014/11/458738992-1024×508.jpg

ระหว่างการประชุมเอเปกที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปหมาดๆ ผู้นำจงหนานไห่ ในฐานะเจ้าภาพการประชุม ยังได้ผลักดันมาตรการความร่วมมือกับภาคีสมาชิกเอเปก 21 ประเทศ ให้ร่วมกันจัดตั้งกลไกปราบปรามการคอร์รัปชันและสร้างความโปร่งใสเพื่อจะได้ส่งกลับอาชญากรเศรษฐกิจเหล่านั้นกลับไปรับโทษของประเทศนั้นๆ หวังจะทะลวงอุปสรรคและปัญหานานัปการกรณีหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ ไม่ค่อยยอมให้ความร่วมมือในการส่งนักโทษกลับไปที่จีน อ้างว่ากระทรวงยุติธรรมของจีนไม่เป็นอิสระเพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรค อีกทั้งเกรงว่าจะถูกลงโทษสถานหนักเกินไป

ที่สำคัญก็คือ แม้ว่าจีนจะลงนามในสนธิสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนและข้อตกลงทางกฎหมายกับ 38 ประเทศ แต่ก็ไม่ได้ทำกับสหรัฐฯ คานาดา เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย จึงเป็นช่องโหว่ให้ผู้ร้ายหนีไปประเทศเหล่านี้ได้ หรือหากถูกจับก็พยายามเตะถ่วงการส่งตัวกลับไปประเทศจีนหรืออิดเอื้อนไม่ยอมส่งตัวให้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้องค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศและหุ้นส่วน รวมไปถึงพันธมิตรอย่างองค์การนิรโทษกรรมสากลและอ็อกซ์แฟม ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้กลุ่มจี -20 ยุติการสนับสนุนขบวนการลักลอบขนเงินออกจากประเทศทางอ้อม รวมทั้งให้ยุติการช่วยปิดบังความลับด้านการเงิน ซึ่งเท่ากับช่วยเหลืออาชญากรเศรษฐกิจและการเงินโดยตรง โดยเฉพาะการให้ที่ซ่อนเงินที่ได้มาโดยมิชอบจากประเทศกำลังพัฒนาที่คาดว่าสูงถึงปีละล้านล้านดอลลาร์ผ่านบริษัทที่ช่วยให้สามารถหลบเลี่ยงภาษี

กรณีที่โด่งดังที่สุดและใช้เวลาดำเนินการหลายปีก็คือกรณีของไล่ จางซิน นักโทษหนีคุกที่จีนต้องการตัวมากที่สุดหลังจากหอบครอบครัวหนีไปแคนาดาตั้งแต่ปี 2542 พร้อมกับเดินเรื่องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยโดยอ้างว่าการตั้งข้อหาว่ายักยอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่เมืองเซี่ยเหมิน ทางตะวันออกเฉียงใต้ มีแรงจูงใจทางการเมือง และถ้าหากถูกส่งตัวกลับก็อาจจะถูกทรมานหรือถูกประหารชีวิต แต่ศาลแคนาดาใช้เวลานานในการตรวจสอบจนแน่ใจว่าจีนจะไม่ทรมานหรือประหารชีวิตนักโทษผู้นี้ ก่อนจะตัดสินปฏิเสธคำร้องขอของไล่ จางซิน และตัดสินให้เนรเทศแต่ไม่ได้ให้ส่งตัวกลับไปจีน ไล่ จางซิน ถูกตำรวจจีนจับกุมและศาลจีนได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่มีข่าวว่าพี่ชายของไล่ จางซิน และพนักงานบัญชีคนหนึ่งเสียชีวิตในคุก แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าด้วยเหตุใด

หรือกรณีของนางหยาง ซิ่วจู อดีตรองผู้อำนวยการกรมโยธาธิการและผังเมืองในมณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของประเทศ ที่หนีไปสิงคโปร์เมื่อปี 2546 หลังจากถูกสอบกรณีรับสินบนจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 250 ล้านหยวน จนสื่อให้ฉายาว่า “ราชินีแห่งการทุจริตคอร์รัปชัน” ระหว่างที่เธอเตลิดหนีด้วยการเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่ก่อนจะหนีต่อไปยังสหรัฐฯ ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน ถูกสอบสวนว่ามีส่วนพัวกันกับการทุจริตหรือไม่ รวมไปถึงอดีตนายกเทศมนตรีแห่งเหวินโจว จีนได้ขอให้ตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปลออกหมายจับ นางหยางถูกจับได้ที่อัมสเตอร์ดัมในอีก 2 ปีต่อมา แต่ทางการจีนก็ไม่สามารถนำตัวเธอกลับไปดำเนินคดีในประเทศได้ แม้ว่าจะมีการเจรจากับทางการเนเธอร์แลนด์หลายยกแล้วก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของตะวันตกหลายคนให้ความเห็นว่า การขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยักยอกยังง่ายกว่าขอตัวผู้ต้องหากลับไปรับโทษ เห็นได้จากกรณีของออสเตรเลียที่ยอมคืนเงินที่มาจากการยักยอก การทุจริต และการฟอกเงิน ให้ทางการจีนจำนวน 7.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือกรณีที่โด่งดังที่สุดก็คือกรณีของหลิว ตี้หนาน อดีตรองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแซ่และใช้พาสปอร์ตปลอม หลบหนีไปซิดนีย์พร้อมอัญมณีหายาก 25 เม็ด ทองคำหนัก 9 กก. และเงินอีก 19 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ก่อนจะถูกจับกุมแต่ทางการยังไม่ส่งตัวให้ เพียงแค่รับปากจะคืนทรัพย์สินที่อายัดไว้เท่านั้น

แต่ความเห็นของนักวิชาการสายนี้ก็ไม่จริงเสมอไป ดังกรณีของการขออายัดวิลล่ามูลค่า 3 ล้านดอลลาร์ ในริเวียรา ฝรั่งเศส ที่เชื่อว่าเป็นของป๋อ ซีไหล ซึ่งนักธุรกิจคนหนึ่งมอบให้เป็นของขวัญ แต่ศาลฝรั่งเศสยังไม่ยอมรับพิจารณาคดีนี้ไม่ว่าจีนจะร้องขอสักกี่ครั้งก็ตาม เช่นเดียวกับการเจรจากับสหรัฐฯ โดยกระทรวงสันติบาลจีนได้ส่งตัวแทนไปเจรจาและพยายามจะขอให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานติดต่อด้านความร่วมมือทางกฎหมายเป็นประจำทุกปี แต่ก็มีความคืบหน้าน้อยมาก ส่วนแคนาดาก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการคืนทรัพย์สินที่ถูกลักลอบนำออกไปยังต่างประเทศ แต่ก็แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นิตยสารธุรกิจชื่อดังของจีนเปิดเผยว่า ออสเตรเลียเริ่มเป็นจุดหมายปลายทางของข้าราชการทุจริตมากขึ้นในฐานะสวรรค์ที่ปลอดภัยในเรื่องของการหลบเลี่ยงภาษี การมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า การศึกษาก็ดีกว่า และมีชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หนึ่งในนั้นก็คือเซิง ชิงหง อดีตคณะกรรมการประจำของโปลิตบุโรสายเจียง เจ๋อหมิน ที่หนีไปเสวยสุขที่ออสเตรเลีย โดยหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ เฮรัลด์ ทรีบูน รายงานว่า ลูกชายและลูกสะใภ้ของเซิงเป็นเจ้าของคฤหาสน์หรูเก่าแก่อายุ 106 ปี แห่งหนึ่งในซิดนีย์ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2551 ในราคา 32.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 972 ล้านบาท) จากนั้นก็วางแผนทุ่มเงิน 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 135 ล้านบาท) ทุบทิ้งบ้านเก่าแก่สูง 2 ชั้นนี้เพื่อสร้างเป็นอพาร์ตเมนต์สูง 5 ชั้น แต่ทางการซิดนีย์ไม่อนุมัติหลังจากเพื่อนบ้านและเจ้าหน้าที่ร้องเรียนว่าบ้านที่จะสร้างใหม่นั้นใหญ่โตเกินไป แถมการออกแบบก็ไม่ต้องรสนิยม

“นโยบายตะวันฉาย” ข้าราชการทุกคนต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

แม้ว่าหลายฝ่ายจะยอมรับว่าปฏิบัติการล่าหมาจิ้งจอกมีความสำเร็จอยู่บ้างแต่ก็จำกัดอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น นักวิชาการตะวันตกหลายคนให้ความเห็นว่ามาตรการที่คิดว่าได้ผลมากกว่าการไล่จับข้าราชการทุจริตมาลงโทษ ก็คือการประกาศใช้นโยบาย “ตะวันฉาย” นั่นก็คือบังคับให้ข้าราชการทุกคนต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและประกาศให้ประชาชนได้รับรู้กันทั่วไป เพราะจะทำให้ข้าราชการและนักการเมืองต้องคิดทบทวนใหม่หลายตลบว่าจะกล้ารับสินบาทคาดสินบนหรือไม่ และถ้าหากปักกิ่งไม่สามารถสกัดกั้นข้าราชการไม่ให้มีช่องทางที่จะลักลอบขนเงินไปต่างประเทศ เมื่อนั้นโอกาสที่จะหนีไปเสวยสุขในต่างประเทศที่กฎหมายจีนเอื้อมมือไปไม่ถึงก็ยังมีอยู่ เพราะอย่างน้อยหากพ่อแม่ถูกจับและถูกลงโทษสถานเบา แต่ลูกๆ ก็สามารถเสวยสุขราวเทวดาจากเงินที่ฝังอยู่ในประเทศตะวันตก

คำถามอีกคำถามหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้การไล่หมาจิ้งจอกได้ผลในวงจำกัด ก็คือการตั้งคำถามในใจว่าผู้นำจงหนานไห่จริงจังแค่ไหนในการปราบการคอร์รัปชันและการขอร้องให้นานาประเทศให้ความร่วมมือ เพราะถ้าเทียบกับมาตรการใช้ไม้แข็งเต็มที่กับรัฐบาลทุกประเทศที่เชิญทะไลลามะ ผู้นำทิเบต เข้าประเทศหรือกดดันประเทศที่มอบรางวัลให้กลุ่มผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลรวมถึงคณะกรรมการโนเบลแล้ว การขอความร่วมมือจากประชาคมโลกในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนถือว่าอ่อนยวบแทบไม่มีน้ำหนักอะไร เหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยแต่อย่างใดว่าทำไมจีนจึงแทบไม่ได้รับความร่วมมือเต็มที่จากประเทศตะวันตก

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในหลายประเทศจึงแนะว่า ทางที่ดีที่สุดที่จะได้เงินที่ถูกขโมยไปคืนก็คือ รัฐบาลปักกิ่งควรจะอาศัยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชันมาใช้ แต่ข้อเสียก็คือต้องใช้เวลานานพอควร

ผู้เชี่ยวชาญปัญหาจีนกลุ่มหนึ่ง อาทิ ศาสตราจารย์เคอร์รี บราวน์ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้ความเห็นว่า เป้าหมายแท้จริงของการรณรงค์ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้อยู่ที่ต้องการขุดรากถอนโคนการคอร์รัปชันจริงๆ หากอยู่ที่ต้องการจะกวาดล้างผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับพรรคและสี จิ้นผิง ต่างหาก โดยเฉพาะการต้องการจะลดทอนอิทธิพลของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน เนื่องจากข้าราชการส่วนใหญ่ที่ถูกจับและถูกปลดล้วนแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจียง รวมไปถึงโจว หย่งคัง อดีตบิ๊กบอสหน่วยความมั่นคง ซู่ ไฉโฮ่ว หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในกองทัพปลดปล่ยประชาชน และว่าน ชิงเหลียง อดีตเลขาธิการพรรคประจำกวางโจว

“ปฏิบัติการกำจัดแมลงวันและฝูงพยัคฆ์” สู่ “ปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอก 2014” จึงไม่ใช่แค่การกวาดบ้านให้สะอาดปราศจากคนคอร์รัปชัน หากแต่เป็นการต่อสู้กับกลุ่มกบฏภายในพรรคที่ต้องการยึดอำนาจสูงสุดกลับคืนมา