ThaiPublica > คอลัมน์ > Beyond the Grid: พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับทุกคน

Beyond the Grid: พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับทุกคน

4 พฤศจิกายน 2014


ปริพันธ์ เอื้อวิทยา
เจ้าหน้าที่โครงการอวุโส มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation)

English Version “Beyond the Grid : Solar Power for Everyone”

ก้าวข้ามระบบส่งไฟฟ้าในอดีตสู่ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายศูนย์

โซลา8

ในยุค 1980s การได้เป็นเจ้าของเกมกด (โซลาร์เซลล์) ของญี่ปุ่น เป็นฝันของเด็กไทยที่เติบโตในยุคนั้น

ทุกวันเสาร์ที่อับชื้นในกรุงเทพฯ ผมจะต้องเข้าไปเบียดอยู่กับเพื่อนใต้ต้นไม้เพื่อแย่งชิงประกายแสงที่มีจำกัด ภายใต้เงาแดดที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เป้าหมายของเกมกดนั้นไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน เพียงแค่ขับยานอวกาศฝ่าฝูงอุกกาบาตออกไปได้ก็ชนะแล้ว

แต่ที่ซับซ้อนกว่านั่น ก็คือการขยับร่างและแขน (นอกจอ) แข่งกับเพื่อนเพื่อแย่งชิงพลังงานแสงแดดที่มีจำกัด หากผมพลาดพลั้งไป เกมกดของผมก็จะไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

มันเป็นเกมที่สามารถผนวกเอาการแข่งขันในจอ กับการแข่งขันนอกจอไว้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก (เรียกได้ว่าเป็นเกม augmented reality ยุคบุกเบิกทีเดียว)

แม้แต่ในบริเวณโรงเรียน ก็จะมี “นักเลง” เกมกด จับจองที่นั่งข้างหน้าต่างห้องสมุดหรือตามลาน เพื่อแข่งกันเข้าถึงพื้นที่ร่ม ซึ่งมีประกายแสง “โซลาร์”ส่องลอดเข้ามา

จริงๆ แล้วเทคโนโลยีพลังงาน “โซลาร์” นั้น มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล

โซลา6

คนรุ่นผมโชคดีที่มีโอกาสคลุกคลีกับเทคโนโลยีพลังงานโซลาร์ตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการศึกษาก็ตาม

ในปัจจุบันเราสามารถนำพลังงานโซลาร์มาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมไปถึงการให้พลังงานกับเมืองทั้งเมืองเพื่อลดต้นทุนพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เราจะพบเห็นป้ายสัญญาณจราจรและไฟถนนที่ใช้พลังงานโซลาร์มากขึ้น รวมถึงระบบพลังงานโซลาร์บนหลังคาที่แพร่หลายมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น 99% ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้แล้วเนื่องจากมีการขยายระบบสายส่งสายจำหน่ายไปถึงพื้นที่ห่างไกล

ดังนั้น อาจจะมีคำถามว่า พลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทอย่างไรในบริบทเช่นนี้ ในเมื่อมีประชากรไทยเพียงแค่ 1% ที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้า คำตอบคือ พลังงานหมุนเวียนนั้น มีบทบาทที่สำคัญมากในการเสริมความมั่นคงให้กับประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง ล้วนแล้วแต่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยนั้นมีทรัพยากรพลังงานที่จำกัด และยังต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านต่างๆ ในการจัดหาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น แรงต่อต้านจากสาธารณชนต่อโครงการพลังงานขนาดใหญ่ และความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและเขมรที่แต่เดิมเคยเป็นแหล่งส่งออกพลังงานให้ประเทศไทย อุปสรรคเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในขณะที่ต้นทุนพลังงานหมุนเวียน (ที่ไม่รวมถึงเขื่อนขนาดใหญ่) ได้ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสนับสนุนเชิงนโยบาย

ราคาของพลังงานโซลาร์มีโอกาสจะลงอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนถูกกว่าพลังงานฟอสซิลในอนาคตอันใกล้นี้

ในขณะที่ประเทศไทยได้ออกนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น นโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์บนหลังคา และแผนพลังงานทดแทน 10 ปี ที่ได้ตั้งเป้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนถึง 25% ภายในปี 2021 ก็ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ ว่าควรพัฒนาไปในทิศทางใด

ผลการศึกษาวิจัยโดยสถาบันวิจัยพลังงานได้ชี้ให้เห็นว่า การเชื่อมโยงระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ (distributed renewable energy system) ซึ่งมีขนาดกำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ จะช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงสูงขึ้นภายใต้เงื่อนไขของกฎระเบียบและการบริหารจัดการที่เกื้อหนุน ในระบบดังกล่าวจะมีการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายอยู่ใกล้เมืองใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบส่งและระบบจำหน่าย

นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยสามารถมีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กระทบกับความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าอย่างการกระโดดขึ้นของราคาพลังงานฟอสซิล ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดน้อยลง และสภาวะภูมิอากาศโลกที่กำลังเปลี่ยนอย่างรุนแรง

ขณะเดียวกัน หากประเทศไทยมีพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์มากขึ้น ยังช่วยลดความพึ่งพิงต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่อีกด้วย

แม้ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้า แต่ก็ยังต้องพบความท้าทายด้านต่างๆ ต่อการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ข้อจำกัดด้านแหล่งเงินทุน นโยบายและระเบียบการเชื่อมต่อระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับระบบไฟฟ้า เงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขั้นตอนการออกใบอนุญาตและการดำเนินงานที่ซับซ้อน

เสาโทรคมนาคม (กับชุมชนโซลาร์)

โซล่า5

อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนรูปแบบธุรกิจสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากทั่วโลกที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวไปพร้อมกัน เช่น โครงการพลังไฟฟ้า Smart Power for Rural Development Program ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์

โครงการดังกล่าวส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกใช้ไฟฟ้าได้จากระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก (mini-grids) เพื่อใช้สำหรับไฟส่องสว่างและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ทำโครงการนำร่องในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โครงการดังกล่าวตั้งเป้าหมายให้บริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Companies–ESCOs) นำไฟฟ้าไปบริการหมู่บ้านรวมทั้งหมด 1,000 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 1 ล้านคน ภายในสามปีข้างหน้า (ปี ค.ศ. 2014-2017)

นอกจากนี้ เรายังจะสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเชื่อมต่อระหว่างระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก กับระบบไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ (central grid) เพื่อให้ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่ปลายสาย และเพิ่มความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้าในภาพรวมได้

งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ แสดงให้เห็นว่าในประเทศอินเดียนั้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนชนบทประมาณ 50% จะต้องได้รับการจัดหาด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ระบบไฟฟ้ารวมศูนย์แบบเดิมๆ ซึ่งวิธีจัดหาที่จะช่วยได้รวมถึงการใช้ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กด้วย การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการเริ่มต้นเช่นเดียวกับในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่จะช่วยดึงผู้เล่นที่หลากหลายมาช่วยกันสร้างโมเดลการลงทุนที่ยั่งยืน

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จึงได้ร่วมกับบริษัทจัดการพลังงาน บริษัทโครงข่ายโทรคมนาคม นักลงทุน องค์กรไม่แสวงหากำไร และภาครัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

รูปแบบของชุมชนโซล่า Mini-Grid (รอบเสาโทรคมนาคม)
รูปแบบของชุมชนโซล่า Mini-Grid (รอบเสาโทรคมนาคม)

หนึ่งในยุทธศาสตร์คือการดึงให้ลูกค้าไฟฟ้ารายใหญ่อย่างเจ้าของเสาสัญญาณโทรคมนาคมที่กำลังขยายตลาดในชนบทอย่างรวดเร็วมาเป็นพันธมิตร

เนื่องจากบริษัทพลังงานโซลาร์ต้องการความมั่นคงในแง่ของการขายไฟฟ้า จะพึ่งพิงการขายไฟฟ้าให้ชุมชนอย่างเดียวก็อาจจะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการเอาเสาโทรคมนาคม (และความมั่นคงทางการเงินของบริษัทโทรคมนาคม) มาผนวกเป็นเนื้อเดียวกันกับชุมชน จึงเป็นการลดความเสี่ยงให้กับบริษัทโซลาร์

นอกจากนี้แล้ว บริษัทโทรคมนาคมยังได้ประโยชน์จากการลดการพึ่งพิงไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลได้อีกด้วย

โครงการของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ยังสนับสนุนบริษัทโซลาร์ด้วยการให้เงินกู้ รวมทั้งทำการสำรวจและเก็บข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในหมู่บ้าน

มีการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ และสนับสนุนการเติบโตของวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนและความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนที่มากกว่าความต้องการไฟส่องสว่าง

ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะช่วยดึงดูดให้บริษัทจัดการพลังงานต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

โซล่า3

จากการดำเนินการของโครงการดังกล่าว ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เช่น บนเกาะแห่งหนึ่งในแม่น้ำคงคาที่ไม่เคยมีไฟฟ้ามาหลายทศวรรษ ก็ได้เกิดคลื่นลูกใหม่ของนักลงทุนพลังงานรายย่อยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถมีไฟฟ้าใช้และกระตุ้นให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ต่อชาวบ้าน

ในหมู่บ้านห่างไกลที่ชื่อว่าบาเรียชัก (Bariar Chak) นายราจา แรม พยาบาลประจำหมู่บ้าน มีแนวคิดในการขยายธุรกิจที่จะช่วยส่งเสริมการสาธารณสุขของหมู่บ้าน จากเดิมที่เขาจะมีกระต๊อบเล็กๆ ที่ชายขอบหมู่บ้านซึ่งจะมีตู้ไม้เป็นที่เก็บยา เมื่อโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์มาตั้งบนเกาะแห่งนี้ เขาก็สามารถที่จะเปิดร้านขายยาที่ใช้ตู้เย็นเก็บยาได้ เพราะเขามีไฟฟ้าใช้แล้ว

โซล่า2

โซล่า

ในรัฐบิฮาร์ ซึ่งหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีไฟฟ้าใช้เพียงแค่วันละ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น นายทเมศร์เคยต่อเฟอร์นิเจอร์ให้ลูกค้าด้วยเครื่องตัดไม้ไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล และต้องซื้อน้ำมันดีเซลถึง 15-20 ลิตรทุกเดือนในราคาประมาณ 400 บาท (800 รูปี)

สำหรับเขาแล้ว มันไม่แพงที่จะซื้อ แต่ควันน้ำมันดีเซลและเสียงการเดินเครื่องดีเซลนานๆ ทำให้รู้สึกอึดอัดมาก หลังจากที่เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมัน เขาก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เดือนละกว่า 100 บาท ซึ่งเงินที่ประหยัดได้นี้เขานำไปจ้างลูกจ้างได้มากขึ้นและยังพอที่จะสามารถซื้อไฟฟ้าสำหรับหลอดไฟเพิ่มอีก 2-3 ดวง รวมถึงเปิดพัดลมได้เพิ่มอีก 4 ชั่วโมงทุกวัน

ในขณะที่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ของประเทศไทยกำลังมีพัฒนาการขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองได้

นอกจากนี้แล้ว นวัตกรรมพลังงานแบบใหม่นี้ยังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจซึ่งทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบไฟฟ้าได้

เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะวางยุทธศาสตร์ในการเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มประเทศอาเซียนในการเป็นผู้นำของระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ และสร้างนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมและต้นทุนต่ำสำหรับการใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังคงมีประชากรกว่า 130 ล้านคนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้

สำหรับอนาคตอันใกล้นี้ ทางมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้กลั่นกรองมาจากประเทศอินเดีย ไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (จากการขยายตัวของโมเดลธุรกิจพลังงานหมุนเวียน) เพื่อให้ประชาการในชนบทในภูมิภาคอื่นๆ ของทวีปเอเชียและแอฟริกาสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้