ThaiPublica > คอลัมน์ > มหาภัยจาก “ถุงลม”

มหาภัยจาก “ถุงลม”

6 พฤศจิกายน 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

airbag หรือถุงลมกันกระแทกในรถมีคุณอนันต์ แต่สำหรับถุงลมที่พองออกในรถด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 1 ใน 20 ของวินาที เมื่อมีการกระแทกแรงๆ จากภายนอกก็ย่อมมีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน

“ถุงลม” เป็นนวัตกรรมที่ช่วยชีวิตคนไว้ได้มากมายถึงกว่า 6,300 ชีวิต และช่วยบรรเทาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้นับไม่ถ้วนในช่วงเวลา ค.ศ. 1990-2000 ที่มีการสำรวจในสหรัฐอเมริกา ในจำนวน 3.3 ล้านครั้งที่ “ถุงลม” ทำงาน นอกจากสร้างประโยชน์ดังกล่าวแล้วก็ทำให้เกิดการตายถึง 175 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ 104 ราย

เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการนั่งข้างหน้าคู่คนขับในรถที่มี “ถุงลม” คู่ กล่าวคือ นอกจากคนขับแล้วยังมีอีกหนึ่งถุงสำหรับคนนั่งคู่ เมื่อเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี หนักไม่ถึง 30 กิโลกรัม ถูก “ถุงลม” ที่พองออกอย่างรุนแรงอัดเข้าศีรษะและอกในช่วงเวลาก่อนถึงจุดที่ถุงจะพองออกเต็มที่ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บ บางรายถึงกับคอขาดก็มี

ไอเดียของ “ถุงลม” ก็คือ ให้มันพองออกเมื่อเกิดการกระแทกขึ้นในทิศทางตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวของรถเพื่อให้เป็นเบาะลมช่วยรับแรงกระแทกอันเกิดจากการที่ร่างกายถูกเหวี่ยงไปข้างหน้า อย่างไรก็ดี หากร่างกายถูกเหวี่ยงไปปะทะก่อนที่ “ถุงลม” พองออกเต็มที่มันก็จะไม่ทำหน้าที่เป็นเบาะ แต่เป็นสิ่งที่พุ่งออกมาปะทะเต็มแรง

เด็กอายุน้อยๆ ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับแรงต้านของ “ถุงลม” มักชอบนั่งข้างหน้าใกล้กระจกหน้าเพื่อให้เห็นวิว ซึ่งตำแหน่งนี้ใกล้กับจุดที่ถุงลมจะพองออกมาด้วยแรงเต็มที่ และเมื่อไม่รัดเข็มขัดนิรภัยด้วยเพราะชอบเต้นไปมาไม่อยู่นิ่งตามประสาเด็ก “ถุงลม” จึงเป็นภัยต่อเด็กเหล่านี้อย่างยิ่ง

คำแนะนำก็คือ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีนั่งข้างหลังตรงกลาง และถ้าหากต้องการเห็นวิวก็ให้หาที่นั่งเสริมให้สูงขึ้นและรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย หากต้องนั่งคู่ข้างหน้ากับคนขับจริงๆ ก็ให้ถอยเบาะออกมาไกลที่สุด และรัดเข็มขัดนิรภัย

ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ การเอาเบาะที่นั่งทารก (ซึ่งหันทางศีรษะไปข้างหน้าเพื่อป้องกันคอบาดเจ็บหากมีการชนเกิดขึ้น) ไปวางบนที่นั่งคู่คนขับโดยหัวทารกตรงกับจุดที่ “ถุงลม” จะพองออกมา

ไม่เพียงแต่ทารกเท่านั้นที่อันตรายในการนั่งข้างหน้าคู่คนขับ คนบางกลุ่มก็อาจตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกัน งานวิจัยของ Craig Newgard แห่ง Oregon Health & Science University ซึ่งนำเสนอต่อ The Society for Academic Emergency Medicine Annual Meeting พบว่า “ถุงลม” ปลอดภัยในที่นั่งข้างหน้าเฉพาะคนมีความสูงระหว่าง 157-177 เซนติเมตร อันตรายมักเกิดกับคนที่เตี้ยกว่า 147 เซนติเมตร และสูงกว่า 188 เซนติเมตร ข้อเท็จจริงนี้พบจากการเก็บข้อมูล 11 ปีของคนขับและคนที่นั่งคู่ 67,284 คนที่ประสบอุบัติเหตุ เหตุผลก็คือ คนตัวเตี้ยและสูงเกินไปจะไม่ได้รับประโยชน์จาก “ถุงลม” อันเนื่องมาตำแหน่งของอวัยวะส่วนหัวและลำตัวที่อาจปะทะ “ถุงลม”

ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ของ “ถุงลม” ก็พบว่าไอเดียของการมีถุงรองรับแรงกระแทกมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1941 แต่ที่ใช้ได้จริงเกิดใน ค.ศ. 1953 โดยนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันชื่อ Walter Linderer และชาวอเมริกันชื่อ John Hetrick ใช้ลมเป็นตัวอัดเข้า “ถุงลม” ซึ่งไม่สามารถเอามาใช้ได้จริงเนื่องจากกลไกที่ปลุกให้ถุงทำงานมาจากการสัมผัสบังโคลนหรือคนขับเป็นผู้บังคับเองดังนั้นจึงช้าไม่ทันการณ์

นักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Yasuzaburou Kobori ประดิษฐ์ “ถุงลม” ที่ทำงานได้ดีกว่า แต่ก็ยังคงใช้ลมอัดเช่นเดียวกัน ในปี 1967 นักวิชาการชาวอเมริกันชื่อ Allen Breed พลิกผันแนวคิด “ถุงลม” โดยประดิษฐ์กลไกที่เป่าลมเข้าถุงได้รวดเร็ว และลมที่อัดเข้าถุงคือก๊าซไนโตรเจนอันเกิดจากการระเบิดของสาร sodium azide เมื่อถูกกระแทก

กลไกแนวนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจน “ถุงลม” มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในสหรัฐอเมริกา การติดตั้งในรถบางรุ่นเริ่มต้นในทศวรรษ 1970 และตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมามีการใช้ “ถุงลม” ในรถเกือบทุกรุ่น สำหรับยุโรปนั้นเริ่มใช้ในต้นทศวรรษ 1990 ส่วนรถญี่ปุ่นนั้น “ถุงลม” เริ่มใช้กันเป็นกอบเป็นกำในทศวรรษ 1980 และพัฒนาขึ้นจนเป็นอุปกรณ์บังคับของรถทุกรุ่นในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน “ถุงลม” ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซอาร์กอนในการเติมถุงลม และมีกลไกอัดลมที่มีประสิทธิภาพมาก ในรถราคาสูงหลายรุ่นมิได้มีเพียงถุงลมเฉพาะที่นั่งข้างหน้าเท่านั้น ยังมี “ถุงลม” เหนือประตู “ถุงลม” ตรงกลางที่นั่ง และอีกหลายตำแหน่งในรถ บางรุ่นของรถ SUV มี “ถุงลม” ที่จะพองออกภายในรถหากรถพลิกคว่ำอีกด้วย

รถบางยี่ห้อมีสวิทซ์ปิดเปิดถุงลมสำหรับที่นั่งคู่คนขับเพราะตระหนักดีถึงภัยที่เกิดจากการพองออกในภาวะที่มิได้พึงประสงค์ มีคำเตือนว่าหลังอุบัติเหตุรถชนกัน หากต้องเข้าไปที่นั่งหน้ารถจะต้องระวังให้ดีเพราะ “ถุงลม” อาจพุ่งออกมาได้หลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้วพอควรเนื่องจากกลไกยังค้างอยู่

ข่าวล่าสุดที่ฟังแล้วน่าตกใจก็คือ มีคนขับรถในสหรัฐอเมริกาสองรายที่เสียชีวิตเนื่องจากถังจุดปฏิกิริยาสร้างลมระเบิดออกมาแรงมากจนถังอัดแตกเป็นเศษเหล็กและฝังเข้าซอกคอคนขับหญิงทั้งสองคนจนเสียชีวิต เมื่อตรวจเช็คก็พบว่า “ถุงลม” ที่จ้างผลิตโดยบริษัท Takata ในญี่ปุ่น โดยหลายบริษัทรถยนต์นั้นบกพร่อง จำเป็นต้องมีการเรียกเข้ามาแก้ไข

รถหลายรุ่นของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ใช้ “ถุงลม” ของบริษัทดังกล่าว ดังนั้นรถกว่า 20 ล้านคันในสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในคิวที่จะต้องแก้ไข ระหว่างนี้คนขับก็ขับไปลุ้นไป

ส่วนคนที่ไม่ต้องลุ้นก็คือคนในประเทศที่ไม่มีการตรวจสำรวจว่า “ถุงลม” ในรถรุ่นต่างๆ ที่วิ่งกันอยู่นั้นเกี่ยวพันกับบริษัท Takata มากน้อยเพียงใด พูดง่ายๆ ก็คือ อะไรที่ไม่รู้ก็ไม่ต้องลุ้น

“ถุงลม” ที่ทำงานเสมออย่างไว้ใจได้และไม่มีส่วนประกอบจาก Takata เจือปนก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและเปลี่ยนอะไหล่ทุก 10-14 ปี เพราะทุกอย่างย่อมมีการเสื่อมสลายเป็นธรรมดา

ไม่มีอะไรที่ดีไปเสียทั้งหมดโดยไม่มีการต้องเอาบางสิ่งไปแลก “ถุงลม” นั้นดีเมื่อเสริมกับการใช้เข็มขัดนิรภัย แต่ก็มีจุดเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กและผู้ใหญ่ได้หากไม่ระวังการใช้ให้ดี

ทั้งหมดนี้กำลังจะบอกว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เพราะทุกอย่างได้มาด้วยการต้องเอาบางสิ่งไปแลกทั้งนั้น ซึ่งหมายถึงว่าชีวิตของมนุษย์ประสบกับ trade-off คือได้แลกกับเสียอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จึงสมควรกระทำด้วยความรอบคอบยิ่ง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 4 พ.ย. 2557