ThaiPublica > เกาะกระแส > แอมเนสตี้ร่วมกับอียูจัดกิจกรรมยุติโทษประหารชีวิต-ประเทศใดยกเลิกและยังใช้อยู่

แอมเนสตี้ร่วมกับอียูจัดกิจกรรมยุติโทษประหารชีวิต-ประเทศใดยกเลิกและยังใช้อยู่

13 ตุลาคม 2014


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “At The Death House Door” เพื่อถ่ายทอดประเด็นการใช้โทษประหารชีวิตและกระบวนการยุติธรรมในสหรัฐอเมริกา

วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ที่กำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการมีชีวิต อีกทั้งโทษประหารยังเป็นการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้แอมเนสตี้เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามพันธกรณีที่เคยให้ไว้ และขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะพิจารณายกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และที่สําคัญ เป็นการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในสังคมทุกๆ คน

อีกทั้งขอร่วมเป็นกําลังใจให้รัฐบาลหามาตรการป้องกันอาชญากรรมต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้สังคมไทยเกิดการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสงบสุขและสันติอย่างแท้จริงต่อไป จึงใช้กิจกรรมนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ จุดหนึ่งที่เชิญชวนให้คนในสังคมได้เกิดการเสวนาและคิดทบทวนในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนนี้ และตระหนักถึงความสําคัญของการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

“At The Death House Door” สารคดีจากสหรัฐฯ ที่สะท้อนความจริงที่น่าเศร้าของโทษประหารชีวิต ทั้งต่อผู้คนรอบข้างและต่อสังคม โดยเฉพาะสังคมอเมริกันที่ยังคงเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นจำเป็นต่อการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเชื่อว่าสามารถป้องกันอาชญากรรมได้ ผ่านการเล่าเรื่องจากชีวิตจริงจากศาสนาจารย์แดนประหาร คาร์รอลล์ พิกเกตต์ ซึ่งตลอดการทำงานในแดนประหารเขาได้อัดเทปเล่าเรื่องระหว่างที่นักโทษกำลังจะถูกประหารด้วยการฉีดยาทุกคนรวม 95 คน และหนึ่งในนั้นมีกรณีหนึ่งที่เขามั่นใจว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นคือ นายคาลอส เดอ ลูนา ที่พิสูจน์ได้ว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์หลังจากที่เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ซึ่งคดีดังกล่าวกลายเป็นคดีกรณีศึกษาที่โด่งดังมากในสหรัฐอเมริกาถึงกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับโทษประหารชีวิตแม้จะมีหลักฐานยืนยันเพียงพอว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์

ในการเสวนาหลังจากดูภาพยนตร์ดังกล่าว นายวิทยา ปานศรีงาม ศิลปินนักแสดง นักธุรกิจ และนักอนุรักษ์มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ชอบที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสะท้อนให้เห็นว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพิกเกตต์จากคนที่เห็นด้วยหรืออาจจะเฉยๆ กับโทษประหารชีวิตเนื่องจากปู่ของเขาถูกฆาตกรรมและพ่อของเขาปลูกฝังให้ต้องเข้มแข็งและมองว่าการฆ่าสิ่งที่ควรฆ่านั้นไม่ผิด มาเป็นคนที่ต่อต้านและรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารหลังจากการทำงานเป็นศาสนาจารย์แล้วพบว่ามีผู้บริสุทธิ์ต้องโทษประหารชีวิต

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เทปทั้ง 95 ตลับของพิกเกตต์ ซึ่งเปรียบเสมือนกับวิญญาณหรือสัญลักษณ์ของคนคนนั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นเป็นผู้บริสุทธิ์หรือผู้กระทำผิดจริง ซึ่งหากมองกลับมาที่สังคมไทย ในระบบราชทัณฑ์ที่จับคนไปขังไว้แล้วพอครบกำหนดก็ปล่อยออกมาเท่านั้น ไม่ได้มีการบำบัดหรือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตหรือจิตใจของนักโทษให้ดีขึ้นเพื่อให้เขาออกมาใช้ชีวิตที่ดีได้ในสังคมภายนอก อย่างที่พิกเกตต์เชื่อว่า ดนตรีและการร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ที่เรือนจำเป็นการบำบัดให้คนมีจิตใจดีขึ้น

“การลงโทษประหารชีวิตคือการตัดปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้ถูกทางที่ต้องย้อนไปหาสาเหตุที่แท้จริงว่าอะไรนำพาให้คนคนหนึ่งต้องกลายเป็นนักโทษ เราต้องปลูกฝังในการศึกษา ทั้งเรื่องศาสนาและคุณธรรม โดยเฉพาะคุณธรรมของผู้ที่มีอำนาจใช้กฎหมาย” นายวิทยากล่าวและว่า หากใช้สื่อถูกทางก็จะสามารถสร้างผลกระทบให้คนเปลี่ยนทัศนคติได้

ในฐานะที่ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง “เพชฌฆาตคนสุดท้าย” ซึ่งรับบทเป็นเพชฌฆาตถ่ายทอดเรื่องราวของคุณเชาวเรศน์ จารุบุณย์ นายวิทยาบอกว่า จากเดิมที่รู้สึกว่าการประหารชีวิตหดหู่ จึงไม่ได้สนใจจะรู้เรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อต้องมารับเล่นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณเชาวเรศน์ โดยการอ่านหนังสือที่เขาเขียน จนทำให้เข้าใกล้การประหารมากขึ้น แต่ในขณะเข้าฉาก ด้วยฉากที่เหมือนจริงมาก ทำให้เกิดความกดดันจนแทบไม่กล้าจับปืนแล้วลั่นไก ต้องตรวจสอบหลายครั้งว่าไม่มีกระสุนอยู่ในปืนแล้ว จากจุดนั้นจึงรู้ว่า ตัวเองไม่กล้าแม้แต่จะคิดที่จะฆ่าใครแม้ว่าเขาจะทำผิด แล้วยิ่งถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยก็ยิ่งรู้สึกผิด แต่คุณเชาวเรศน์ก็จะมีเกราะป้องกันตัวเองว่าสิ่งที่ทำนั้นคือหน้าที่ที่ปลายน้ำ โดยที่ไม่ต้องการจะรู้ว่านักโทษคนนี้เป็นใครหรือทำความผิดอะไรมา

เสวนาภาพยนตร์  At The Death House Door
เสวนาภาพยนตร์ At The Death House Door

“ถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากเห็นภาพประหารชีวิต เพราะไม่ได้ช่วยให้ปัญหายาเสพติด การฆ่าข่มขืน การฆาตกรรม ฯลฯ น้อยลงหรือหมดไปจากสังคมไทย สิ่งที่ต้องแก้ไขคือระบบของสังคมที่บกพร่อง ดังนั้นจึงต้องสร้างระบบ โดยเฉพาะคนให้มีคุณภาพและคุณธรรม และสร้างระบบบำบัดฟื้นฟูนักโทษ สุดท้ายคือ อยากเป็นตัวแทนคุณเชาวเรศน์ในการเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายจริงๆ” นายวิทยากล่าว

ด้านนายโตมร ศุขปรีชา นักคิดและนักเขียนชื่อดัง กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดสะเทือนใจหลายช่วง แต่ช่วงที่สะเทือนใจที่สุดคือประโยคที่ว่า “การประหารชีวิตคือการฆ่าคนที่ฆ่าเพื่อพิสูจน์ว่าการฆ่านั้นเป็นสิ่งไม่ดี” ซึ่งเป็นประโยคที่ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะถ้าการฆ่าไม่ดีก็ไม่ควรจะฆ่า ซึ่งจากปัญหาอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ในมุมหนึ่งก็น่าคิดว่าโทษประหารชีวิตเป็นการแก้ปัญหาหรือว่าสร้างปัญหาให้กับสังคมกันแน่

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การเห็นจอร์จ บุช อยู่ในภาพยนตร์ตอนหนึ่ง โดยออกมาสนับสนุนโทษประหารชีวิตเพราะเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้นั้น ด้านหนึ่งก็คือความเชื่อของบุคคล แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือ บุชเป็นคริสต์คนหนึ่งที่เคร่งในศาสนามาก แต่การฆ่าไม่ใช่สิ่งที่ศาสนาคริสต์สั่งสอน อีกทั้งการพิพากษาคือหน้าที่ของพระเจ้าไม่ใช่ของมนุษย์ ดังนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเองว่า แม้แต่คนที่เคร่งศาสนามากๆ ไม่ว่าศาสนาใด ก็สามารถสนับสนุนการฆ่าคนได้ ยิ่งถ้าเป็นศาสนาพุทธอย่างสังคมไทยส่วนใหญ่ก็ต้องมีพรหมวิหาร 4 และรู้จักการปล่อยวาง ไม่ใช่การแค้นอาฆาต

ในอดีตก็มีคนที่เชื่อว่าฆาตกรจะมีลักษณะภายนอกเฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นฆาตกรและต้องจำกัดคนลักษณะนี้ที่ทิ้งไป ซึ่งฮิตเลอร์ก็มีแนวคิดนี้เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันแนวคิดลักษณะของฆาตกรก็ยังคงมีอยู่โดยเชื่อว่ามียีนจำเพาะที่บ่งบอกความเป็นฆาตกรและพยายามค้นหายีนดังกล่าวอยู่ เพียงแต่มีรูปแบบการถกเถียงที่แตกต่างจากอดีต

ช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยเรียกร้องให้ตัดสินประหารชีวิตเร็วขึ้น ซึ่งกระบวนการยุติธรรมที่เร่งรีบจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ อย่างกรณีฆ่าข่มขืนบนรถไฟและกรณีฆ่าข่มขืนที่เกาะเต่า กฎหมายจึงต้องเปิดกว้างและยืดหยุ่น จะใช้กระบวนการแบบเดียวกันเพื่อสรุปคดีไม่ได้ เพราะหลักการยุติธรรมคือ ปล่อยคนผิด 100 คนดีกว่าฆ่าคนบริสุทธิ์เพียง 1 คน โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐฆ่าคนไปแล้วภายหลังพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ไม่มีใครออกมารับผิดชอบการกระทำที่ผ่านมา ดังนั้น การใช้กฎหมายต้องรัดกุมมากๆ

“คดีฆาตกรรมข่มขืนที่เกาะเต่า ถือเป็นคดีแรกในสังคมไทยที่ทุกคนในสังคมช่วยกันตรวจสอบกระบวนการทางกฎหมายในแนวราบ เพราะที่ผ่านมาคดีต่างๆ ดำเนินการแบบแนวดิ่งจากบนลงล่างมาโดยตลอด ดังนั้น แม้ว่าวันนี้สังคมไทยยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ก็ยังมีความหวังเพราะสังคมมีกระบวนการตรวจสอบแบบใหม่แล้ว” นายโตมรกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ประเทศไทยมีโทษประหารชีวิต ถ้ายังไม่ยกเลิกก็สามารถระงับการใช้ไว้ได้ เพราะโทษประหารชีวิตนั้นเปรียบเหมือนเงาสะท้อนของสังคมนั้นๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร เพราะการฆ่าไม่มีทฤษฎีใดมารองรับเหตุผลในการกระทำนอกจากการแก้แค้น แล้วในขณะที่ประเทศไทยเรียกว่าตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธด้วยก็ยิ่งสร้างความย้อนแย้งในสังคม ทั้งนี้ การประหารชีวิตไม่เพียงสร้างบาดแผลให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังสร้างบาดแผลให้กับทุกคนที่เกี่ยวกันในกระบวนการประหารชีวิตด้วย

จากภาพการใช้โทษประหารของประเทศต่างๆ สีเขียวเข้ม = ไม่มีโทษประหารชีวิต สีเขียวอ่อน= ยกเลิกโทษประหารชีวิตยกเว้นภายใต้สถานการณ์หรือกรณีพิเศษ เช่น เกิดสงคราม สีน้ำตาล = มีโทษประหารชีวิตแต่ในทางปฏิบัติยกเลิกใช้แล้ว สีแดง = ใช้โทษประหารชีวิตอยู่ที่มา :http://en.wikipedia.org/wiki/Use_of_capital_punishment_by_country
จากภาพการใช้โทษประหารของประเทศต่างๆ สีเขียวเข้ม = ไม่มีโทษประหารชีวิต สีเขียวอ่อน= ยกเลิกโทษประหารชีวิตยกเว้นภายใต้สถานการณ์หรือกรณีพิเศษ เช่น เกิดสงคราม สีน้ำตาล = มีโทษประหารชีวิตแต่ในทางปฏิบัติยกเลิกใช้แล้ว สีแดง = ใช้โทษประหารชีวิตอยู่
ที่มา :http://en.wikipedia.org/wiki/Use_of_capital_punishment_by_country

อนึ่งจากการสำรวจของสหประชาชาติเรื่องการพักการใช้โทษประหารชีวิตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปี 2551 พบว่า มี 106 ประเทศที่เห็นด้วย 46 ประเทศไม่เห็นด้วย 34 ประเทศงดออกเสียง และที่เหลือเป็นประเทศที่ไม่ได้มาลงคะแนน

แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล