ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติอาหารอาบพิษ : ค่า MRL ตัวเลขเล็กๆ ที่เบื้องหลังคือผลประโยชน์มหาศาล

วิกฤติอาหารอาบพิษ : ค่า MRL ตัวเลขเล็กๆ ที่เบื้องหลังคือผลประโยชน์มหาศาล

9 ตุลาคม 2014


สืบเนื่องจากเรื่องสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ ที่ทางไทยพับลิก้าได้นำเสนอไป ไม่ว่าจะเป็นข่าว “เปิดผลสำรวจ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ”พบสารพิษตกค้างกว่า 50% ในผักผลไม้ทั้งในห้างค้าปลีก-ตลาดทั่วไป ระบุเครื่องหมาย “Q” เยอะสุด” และข่าว ““มกอช. – กรมวิชาการเกษตร – โมเดิร์นเทรด” หารือเครียดแนวทางคัดกรองสินค้า ยัน “Q” ได้มาตรฐาน – ขอข้อมูล Thai-PAN สอบข้อเท็จจริง” รวมทั้ง ข่าว “Thai-PAN แจงวิธีการสุ่มตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ยันข้อมูล-ข้อชี้แจง “มกอช.””

สำหรับประเด็นที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงของฝ่ายต่างๆ คือ การใช้ค่า MRLs หรือ ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในการตรวจสอบว่า ผัก-ผลไม้ ที่นำมาวางขายนั้นผ่าน “มาตรฐาน” หรือไม่

MRLs คืออะไร

MRL

ค่า MRLs นี้ มีชื่อเต็มๆ ว่า Maximum Residue Limits อันเป็นค่าที่บ่งบอกถึง “ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่สามารถมีได้” ในผัก-ผลไม้ รวมไปถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่อาจมีการตกค้างจากสารเคมีเกษตรทางอ้อม อาทิ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่อาจได้รับสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนจากอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฟาง แกลบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ค่า MRLs นี้จะถูกกำหนดขึ้นโดยหน่วยงานเฉพาะของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่เป็นผู้กำหนดค่า MRLs คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ที่รู้จักกันในชื่อย่อ “มกอช.” ซึ่งในการกำหนดค่า MRLs แต่ละค่านั้น ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตสารเคมีทางการเกษตรจะต้องทำการ “ขึ้นทะเบียน” สารเคมีแต่ละชนิดที่จะนำมาจำหน่ายให้เรียบร้อย ต้องผ่านการรับรองว่าสามารถนำมาใช้กับพืชแต่ละชนิดได้

การกำหนดค่า MRL

โดยทั่วไปแล้ว สารเคมีชนิดหนึ่งๆ สามารถนำมาใช้กับพืชได้หลายชนิด ดังนั้น ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องทำการขึ้นทะเบียนสารเคมีของตนให้ครอบคลุมกลุ่มพืชที่เกษตรกรสามารนำสารเคมีไปใช้ได้

ในการขึ้นทะเบียนสารเคมี ต้องผ่านการทดลองหลายขั้นตอน การทดลองแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูง และใช้ระยะเวลานาน โดยเฉพาะสารเคมีที่สามารถนำไปใช้กับพืชได้หลายชนิด จะต้องทำการทดลองกับพืชทุกชนิดที่สารเคมีนั้นสามารถนำไปใช้ได้ ทำให้ผู้นำเข้าและผู้ผลิตหลายแห่งเลือกทำการทดลองเพื่อขึ้นทะเบียนเฉพาะพืชที่เป็น “พืชตลาด” ผู้คนนิยมรับประทาน หรือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ดังนั้น การขึ้นทะเบียนสารเคมีของบรรดาผู้ผลิต และผู้นำเข้าสารเคมีเกษตร จึงส่งผลต่อการกำหนดค่า MRLs เนื่องจากทาง มกอช. จะต้องนำผลการขึ้นทะเบียนมาจัดทำค่า MRLs แล้วนำมาเทียบกับค่ามาตรฐานของโดเด็กซ์ และมาตรฐาน MRLs ของสหภาพยุโรปและอาเซียน ร่วมกับข้อมูลฐานการบริโภคของคนไทย (supervised trial) และนำข้อมูลของทางองค์กรอนามัยโลก (WHO) มาประเมินความปลอดภัยทั้งในระยะยาวและแบบเฉียบพลัน ก่อนจะผ่านความเห็นจากคณะกรรมการอีกขั้น จึงจะออกมาเป็นค่า MRLs สำหรับใช้ตรวจสอบได้

ขบวนการMRL

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า“ในพระราชบัญญัติ (พรบ.) วัตถุอันตราย 2551 ได้กำหนดให้ ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเคมีเกษตรต้องทำการขึ้นทะเบียนสารเคมีใหม่ทั้งหมด โดยทะเบียนใหม่จะมีอายุ 6 ปี หากไม่ทำการขึ้นทะเบียนภายในปี 2554 จะไม่สามารผลิตหรือนำเข้าได้ ผู้ประกอบการจึงต้องเลือกขึ้นทะเบียนสารเคมีที่นำไปใช้กับพืช-ผักสำคัญๆ ก่อน จนถึงตอนนี้ การขึ้นทะเบียนสารก็ยังไม่ครอบคลุมพืชทุกชนิดทุกกลุ่ม ทำให้ทาง มกอช. กำหนดค่า MRLs ไม่ได้ ”

ปัญหาสารเคมีตกค้าง กับสิ่งที่แต่ละฝ่ายดำเนินการ

เนื่องจากค่า MRLs เป็นค่าที่กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่มีได้ในสินค้าเกษตร หากค่ายิ่ง “ต่ำ” นั่นหมายถึงปริมาณสารพิษที่ตกค้างในสินค้าเกษตรนั้นมีได้น้อย และหากค่า MRLs ของสารเคมีแต่ละชนิดคลอบคลุมจำนวนพืชมากชนิด ผู้บริโภคจะแบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพน้อยลง

ขณะเดียวกันก็เป็นภาระต่อผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเคมีเกษตร เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทดลองใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการใช้ “ชุดทดสอบสารพิษในอาหาร” (test kit) ในการตรวจสอบผัก-ผลไม้ ที่ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ (modern trade) หรือตลาดสินค้าเกษตร ให้เป็นหลักในการคัดกรองสินค้าเกษตรก่อนนำมาวางจำหน่ายอาจไม่เพียงพอ เนื่องจาก test Kit สามารถใช้วัดปริมาณการตกค้างได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น

“ถ้าสินค้าต้องส่งห้องทดลองทั้งหมด ตรงนี้ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และภาระทั้งหมดก็จะต้องตกอยู่ที่ผู้บริโภค อย่างเช่น ผักบุ้ง กำละไม่กี่บาท หากต้องผ่านการตรวจในห้องทดลอง ราคาขายก็จะขยับสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งคงไม่มีใครอยากซื้อ” ผู้ประกอบการจากแหล่งค้าปลีก-ค้าส่งชั้นนำรายหนึ่งกล่าว

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยให้เครื่องหมาย Q แก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ด้านผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ก็ได้มีการผลักดันเชิงรุกในการเข้าไปสนับสนุน ให้ความรู้เกษตรกรในการใช้สารเคมี ส่วนเกษตรเองก็เริ่มหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น หลายแปลงผลิตผ่านการรับรองมาตรฐานแปลงเกษตร GAP

อย่างไรก็ตาม ผักผลไม้เหล่านี้ยังไม่สามารถการันตีได้ว่ามีความปลอดภัยกับผู้บริโภคจริง เนื่องจากผลการตรวจสอบของ Thai-PAN ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2557 ระบุว่าพบสารพิษตกค้างในผัก-ผลไม้เกินมาตรฐานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสินค้าที่ได้มาตรฐาน Q แม้ทาง มกอช. จะมีการออกมาชี้แจงในกรณีดังกล่าว นำผลการสุ่มตรวจของทาง มกอช. ออกมาเปิดเผย พร้อมขอข้อมูลจากทาง Thai-PAN มาทำการวิเคราะห์ ก็ยังไม่สามารถคลายความกังวลของผู้บริโภคลงได้ เนื่องจากยังไม่มีผลการตรวจที่แน่ชัดตรงกันจากทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งนี้ นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการ “ผู้ผลิตวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีคุณภาพ” เพื่อเป็นกรอบให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้นำเข้าสารเคมีเกษตร ดำเนินการต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามกฎหมาย โดยจะออกหนังสือรับรองผู้ผลิตวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีคุณภาพให้ผู้ที่ผ่านการประเมิน ซึ่งหนังสือรับรองนั้นจะมีอายุ 3 ปี

ก่อนหน้านี้มีโครงการสำหรับผู้ประกอบการค้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีคุณภาพมาระยะหนึ่ง และจากข้อมูลล่าสุด นายดำรงค์กล่าวว่า ตามที่กรมได้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่สุ่มเก็บตัวอย่างมาจากร้านค้าต่างๆ พบว่ามีร้านที่จำหน่ายวัตถุอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานประมาณ 3-5% จากทั้งหมด 35,000 ร้านค้าทั่วประเทศ

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

“เคยสมัครเข้าไปอบรมอยู่เหมือนกันนะ อบรมแค่ 2วัน ทำการทดสอบนิดหน่อยก็จะได้ใบรับรอง มีอายุถึง 5 ปี แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่ามีการติดมาผลหรือไม่อย่างไร ทั้งที่ผู้ประกอบการค้าสารเคมีเหล่านั้นควรเป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านนี้โดยตรง อย่างเช่น เรียนจบด้านเกษตรมา เพราะต้องเป็นผู้แนะนำสารเคมีให้เกษตรกรนำไปใช้” นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าว

เมื่อปัญหาเชิงระบบ ส่งผลถึงผู้บริโภค

จากการที่ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ มกอช. ทำให้ทราบว่า มกอช. เป็นเพียงหน่วยงานที่กำหนดค่า MRLs ขึ้นมาเท่านั้น ส่วนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการตกค้างของสารเคมีในผลิตภัณฑ์เกษตรจริงๆ คือ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์

“กรณีของสารคาร์โบฟูราน ทางกรมการข้าวก็ได้ทำการวิจัยและอ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่าสารเคมีชนิดนี้ไม่ควรใช้ในนาข้าว แต่กรมวิชาการเกษตรเห็นควรให้มีการขึ้นทะเบียน โดยที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการวิจัยขึ้นมาอีกชุดและอ้างอิงงานวิจัยศึกษาดังกล่าวถึงสารคาร์โบฟูรานที่ใช้ในนาข้าวว่า สารชนิดนี้ไม่มีผลกระทบร้ายแรง ตกค้างก็ไม่นาน ไม่มีแมลงศัตรูที่เป็นประโยชน์ได้รับผลกระทบ และนำข้อมูลดังกล่าวมาเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย” นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

รวมไปถึงหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องนำค่า MRLs นี้มากำหนดเป็นค่ามาตรฐานในการใช้ตรวจสอบการตกค้างของสารเคมีในผลิตภัณฑ์เกษตร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ปี 2554

ดังนั้น การดำเนินงานและการนำค่า MRLs ไปใช้ของ อย. นั้นเป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก แต่การกำหนดค่า MRLs ของ มกอช. อยู่พบพื้นฐานทางการค้า เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค นำตัวเลขที่จัดทำบนพื้นฐานทางการค้าเป็นหลักมาใช้ในการกำหนดมาตรฐานอาหาร ดังนั้นแล้ว อาหารที่เราบริโภคจะมีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่

อีกทั้งยังมีประเด็นถกเถียงว่า กรณีสินค้าเกษตรซึ่งก็อยู่ในความดูแลของกรมวิชาการเกษตรและ มกอช. นั้นจะมีขอบเขตและอำนาจแค่ไหนในการเข้าไปตรวจสอบ และออกร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้เพิ่มเติม เนื่องจากอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนี้เป็นอำนาจของ อย.

และด้วยความเข้าใจว่าค่า MRLs นี้ถูกกำหนดบนพื้นฐานทางการค้า ทำให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ หรือตลาดสินค้าเกษตร ยังคงมีความเข้าใจว่าค่า MRLs ที่ไม่ได้กำหนดนั้นหมายถึงไม่มีค่าในการตรวจวัด ซึ่งทาง อย. และ มกอช.ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในประเด็นดังกล่าว โดยทาง อย. ยืนยันว่ากรณีที่ยีงไม่มีค่า MRL ก็ไม่ควรมีสารชนิดนั้นตกค้างใน ผัก-ผลไม้ แต่ทาง มกอช.ยืนยันว่าสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรใดๆ ที่ยังไม่มีค่า MRL ปริมาณสารตกค้างไม่ควรเกิน 0.01 mg/kg ซึ่งทั่ง 3 ฝ่ายควรเร่งทำความเข้าใจในเกี่ยวกับการใช้ค่า MRLs โดยด่วน เพราะสิ่งนี้สะท้อนถึงมาตรฐานของระบบตรวจสอบ และคุ้มครองผู้บริโภคของไทย

ดังนั้นแล้ว ค่า MRLs จึงเป็นตัวเลขที่มีความเกี่ยวพันเชิงผลประโยชน์มหาศาล ตั้งแต่ผลประโยชน์ของผู้ผลิต ผู้นำเข้าสารเคมีเกษตรที่ต้องทำการขึ้นทะเบียนสารเคมีเพื่อให้บริษัทของตนสามารถทำการค้าสารเคมีเหล่านี้ได้ ผลประโยชน์ของเกษตรกร และผู้ประกอบการ-ค้าปลีกค้าส่ง ที่หากผักผลไม้ที่นำมาจำหน่ายมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานก็อาจทำให้สูญเสียตลาดทางการค้าได้ และสุดท้ายคือผลประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้บริโภค ที่ยังคงต้องแบกรับความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่มีสารพิษตกค้าง “เกินมาตรฐาน” ต่อไป หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น