ThaiPublica > เกาะกระแส > ละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เบื้องหลังการนำเสนอประวัติศาสตร์คนเล็กคนน้อยที่ยิ่งใหญ่

ละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เบื้องหลังการนำเสนอประวัติศาสตร์คนเล็กคนน้อยที่ยิ่งใหญ่

12 ตุลาคม 2014


ในอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ 15-19 ตุลาคม 2557 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) เรื่องราวของนายจำกัด พลางกูร จะถูกนำมาแสดงใหม่อีกครั้ง โดยคณะละครขอบฟ้า ในชื่อละครเวที“เพื่อชาติ เพื่อ humanity”

นายจำกัด พลางกูร สมาชิกเสรีไทยสายในประเทศ เดินทางไปแจ้งข่าวและเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงครามเนื่องจากไม่ได้เห็นด้วยกับกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยขณะนั้น ที่เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีนระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2486

แต่กว่าจะได้พบกับ เจียง ไคเช็ก “จำกัด” ต้องพบเจออุปสรรคมากมาย ประวัติศาสตร์ของเขาถูกนำกลับมากล่าวถึงอีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาแนวคิดและความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจของคนเล็กๆ คนหนึ่ง

พรศิลป์

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ผู้รับบทเจียง ไคเช็ก และนาย ปิยศิลป์ บุลสถาพร ผู้รับบท จำกัด พลางกูร และเป็นผู้กำกับละครเวทีเรื่องนี้ ในนามกลุ่มขอบฟ้า เครือบริษัทสำนักพิมพ์ victory นอกจากนี้ยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เท็กซ์ด้วย ว่าทีมงานทั้งสองว่ามีแนวคิดเบื้องหลังการแสดงนี้อย่างไร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ผู้รับบทเจียง ไคเช็ก

ไทยพับลิก้า: ข้อถกเถียงเรื่องแท้ที่จริงแล้ว จำกัด พลางกูร มีความจำเป็นที่ต้องไปเมืองจีนหรือไม่ คิดเห็นอย่างไร

พรศิลป์: เจียง ไคเช็ก เหมือนกับมีแนวคิดว่าจะให้อิสรภาพกับประเทศไทยอยู่แล้ว ทำไมต้องไป หรือว่าคาดการณ์ได้แล้วว่าจะต้องช่วย มีบันทึกที่เขาไปค้นพบ มันก็เป็นข้อมูลที่พบว่ามีการประกาศวิทยุ (ว่าจีนจะให้อิสรภาพกับไทย) ไม่ได้เป็นปริศนาอะไรเพราะเจียงได้ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว

ผมคิดว่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญว่าการที่เขาจะคิดแล้วจะพูดหรือไม่พูดออกมา แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราจะได้อิสรภาพมาโดยอัตโนมัติ หากเราตั้งสมมติฐานว่าถ้าไม่มีจำกัดไปก็เหมือนได้อยู่แล้ว คนเขาก็จะเถียง

แต่โดยธรรมชาติมนุษย์ทั่วไป ถ้าไม่ไปก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะว่าเขาอาจจะคิดอยู่ แต่ว่าไม่มีความรู้สึกแข็งแรงพอที่จะช่วยในกรณีที่จำเป็นจะต้องช่วยหนักหนาอะไร ถ้าจะต้องถูกฝ่ายพันธมิตรมีความเห็นต่าง หรือในไคโร ในอีก 6 เดือนต่อมาที่ไปประชุมกับรูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แล้วก็บอกว่าขอให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม ซึ่งตอนนั้นอังกฤษมีความตั้งใจที่จะเอาประเทศไทยเป็นประเทศในอารักขา

มันก็เกิดจากที่จำกัดไปพบหา คือ ถ้าเราคิดแบบมนุษย์ทั่วไป คนคนหนึ่งได้รับการยอมรับว่าถูกแต่งตั้งมาจากประเทศไทย ซึ่งตัวเจียง ไคเช็ก ก็สืบทราบ ไม่ใช่ให้พบง่ายๆ เมื่อมาพบแล้วแน่นอนว่าความรู้สึกก็แน่นหนาขึ้น ลึกๆ อาจจะอยากช่วย และพอมีคนมาก็ปฏิบัติจริง ช่วยจริง

ฉะนั้นก็เป็นการตอกย้ำว่า การไปครั้งนี้ แน่นอนมันต้องสำคัญกว่าการคาดเดาว่าไม่ไปก็ได้ ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม การไปครั้งนั้นก็เกิดขึ้นจริง ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นแรงกดดันหรือส่งเสริมอันหนึ่งที่ทำให้เจียง ไคเช็ก ช่วยเหลือประเทศไทยอย่างแท้จริง สบายใจ เป็นผลงาน มองอย่างนั้นดีกว่า การมองอีกด้านหนึ่งมีความเสี่ยงสูงเกินไป

การประชุมที่จุงกิงในวันนั้น ก็เป็นวัน เวลา หรือฉากที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ เพราะเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปเลย โอเค อย่างอื่นก็สำคัญหมด แต่อันนี้มันไปได้เป้าที่ตั้งใจไว้ว่าไปพบคนนี้

ไทยพับลิก้า: เหมือนเป็นการยืนยันว่าจีนทำแน่ๆ

พรศิลป์: แน่ๆ ทำให้ตอกย้ำได้ว่าจากการพบครั้งนี้มันเกิดผลแน่ๆ แล้วก็เกิดจริงในอีก 6 เดือนต่อมา

ไทยพับลิก้า: ชอบงานเขียนของใครมากที่สุด?

พรศิลป์: ส่วนใหญ่ผมจะอ่านหนังสือต่างประเทศมาก จริงๆ ไม่ได้ฝังใจกับใครดนใดคนหนึ่ง แต่ว่าที่อ่านแล้วสร้างแรงบันดาลใจก็คือ โทมัส ฟรีดแมน (Thomas L. Friedman) เขียนเรื่อง Globalisation (โลกาภิวัตน์) เรื่องโลกแบน เขาพูดถึงเรื่องการเกิดปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ที่มีการตกลงกัน มีการเปิดเสรี มีผลเกิดขึ้นอย่างไร มองอีกด้านหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ในส่วนหนึ่งที่คนมองว่ามันทำให้มันมีการพัฒนา การค้ารุ่งเรือง การลงทุนมากมาย ซึ่งมันก็จริง

แต่สุดท้าย เมื่อลงไปลึกๆ จริงๆ แล้วก็เกิดความห่างของความมั่งคั่งของคนสองกลุ่มมากขึ้น คือมันดีจริง แต่ในนั้นเองก็ซ่อนด้วยความเหลื่อมล้ำมากมาย แล้วก็พาไปซึ่งอันตรายต่อโลก มีการผลิตมากขึ้น มีการบริโภคมากขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนที่ของสินค้ามันมาก มันเร็ว มันถูก โลกแบนคือทุกอย่างไม่มีขอบเขต มารวมเป็นที่เดียวกันหมดเลย

ส่วนใหญ่ผมจะไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกมันกระทบกับอะไรบ้างด้วย เรื่องโลกร้อน สภาวะวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติก็อ่านมาก อย่าง เจฟฟรีย์ เดวิด แซกส์ (Jeffrey David Sachs) สิ่งแวดล้อม

ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เกือบทั้งหมดผมสนใจ ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการคาดเดาออกไปข้างหน้าว่าถ้าทำอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็เอามาสรุปกับตัวเองวิเคราะห์ไป

ไทยพับลิก้า: ถ้ามีอีกจะเล่นอีกไหม

พรศิลป์: ถ้ามีครั้งที่ 3 ก็เล่น มันคุ้มกับเวลาที่เราเสียไป แล้วก็เป็นประโยชน์ เพราะว่าเรื่องนี้ หนึ่ง เป็นชีวิตจริง สอง เป็นเรื่องที่คุ้มค่าในการเอามาเผยแพร่ให้คนเข้าใจแล้วรู้ในปรากฏการณ์ในช่วงนั้น แล้วเป็นประโยชน์กับคนไทย

น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ชอบ จริงๆ แล้วคนไทยต้องเรียนประวัติศาสตร์ให้มาก มันถึงจะรู้ว่าตัวอยู่ที่ไหน อย่าไปคิดว่าประวัติศาสตร์เขียนถูกเขียนผิดก็ไม่รู้ อย่าไปคิดอย่างนั้น อย่างไรมันก็ต้องมีอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น ถ้าคิดว่าไม่จริง ไม่ตรง ก็ไปหาความรู้เพิ่มได้ อย่าไปบอกว่าประวัติศาสตร์ไม่จริงแล้วก็ไม่เอามันเลย ทุกประเทศมีประวัติศาสตร์หมด มันอาจจะมีในนั้นที่เขียนบ้าง แต่ก็ต้องรู้ไว้บ้าง

ไทยพับลิก้า: อาจจะเป็นเพราะว่าชนนั้นนำส่วนหนึ่งปิดหรือว่ากดให้ประวัติศาสตร์ที่คิดว่าไม่สำคัญต่อสังคมให้หายไป หรือว่าเป็นเพราะสังคมไม่สนใจเอง

พรศิลป์: มันก็ทั้งสองอย่าง ที่เขาพูดกันว่า “คนชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์” อันนี้ก็เป็นเรื่องจริง บังเอิญผู้แพ้ไม่เคยเขียน หรือเคยเขียนแต่ว่าอาจจะยังไม่ได้รับความสนใจ หรือในสังคมปกติที่ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ คนเขียนก็อยู่ในระดับหนึ่ง คนที่เหลื่อมล้ำ ที่มีฐานะต่ำต้อย ไม่มีเวลามานั่งเขียน นั่นก็เป็นธรรมชาติของมัน

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราศึกษาอย่างยุติธรรม เราก็เอาข้อมูลจากตรงนั้นมาศึกษาลึกลงไปได้ ไม่จำเป็นว่าต้องให้เขาเขียนเราถึงจะอ่าน ศึกษาจากตรงนั้นแล้วก็ชี้บ่งลงมาว่าในยุคนั้นคนที่ไม่มีอยู่ในประวัติศาสตร์เลยอาจจะถูกกระทำอะไรบางอย่าง ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคอะไร

ไทยพับลิก้า: อยู่ที่คนสนใจ

พรศิลป์: ใช่ อยู่ที่คนสนใจ และควรจะสนใจ

ไทยพับลิก้า: ละครเวทีก็เป็นสื่อหนึ่งที่จะให้คนมาเรียนรู้และศึกษา

พรศิลป์: ใช่ เพราะผมเองก็ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์ตอนนี้มาก่อน พออ่านแล้ว เห็นแล้ว มีหลักฐานปรากฏจริง มีการวิเคราะห์ มีการค้นหาจริง ไม่ใช่เขียนจากความคิดเฉยๆ มีหลักฐานเด่นปรากฏชัด ก็เลยประทับใจแล้วก็อยากจะให้คนรุ่นหลังได้รับทราบว่ามีคนคนหนึ่งในอดีตทำแบบนี้

ไทยพับลิก้า: จุดเริ่มต้นของการมาเล่นละครเรื่องนี้

พรศิลป์: วันหนึ่งอาจารย์ฉัตรทิพย์โทรไปที่บ้าน ชวนเลย ให้มาเล่น ผมก็ตกใจ บอกว่าผมเล่นไม่ได้ อาจารย์ก็บอกเอาหนังสือไปอ่านก่อน แกส่งหนังสือมาให้อ่านเลย เอาบทละครมาให้ด้วย ผมก็เลยโอเค เล่น ลองเล่นดู พยายาม แล้วก็ไปซ้อม เล่นครั้งแรกก็ต้องไปฟังผู้กำกับเขาชี้แนะ ต้องทำอย่างนี้ๆ เพราะไม่เคยเล่นละครเวทีมาก่อน ต้องเรียนรู้จากตรงนี้ ท่องบทนี่ต้องท่องให้ได้ ถึงแม้จะสั้นๆ แต่ว่ามันจะไปจับจังหวะมือกับท่าทาง ไม่ใช่พูดเป็นนกแก้ว เขาจะบอกว่าต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่ซ้อมแค่บนเวทีนั้น กลับบ้านก็ไปหน้ากระจก

“ไม่ว่าการณ์จะเป็นอย่างไร รัฐบาลจีนก็ยินดีที่จะช่วยให้ประเทศไทยได้รับสถานะเอกราชกลับคืนมา”

มันเป็นประโยคที่สำคัญที่สุดของฉาก ก็ท่อง ขนาดบางครั้งยังลืม เพราะว่ามันงง แต่จะไม่งงถ้าเราทำตัวให้เข้าไปอยู่ในละคร มันก็จะไม่ลืม เราลืมเพราะว่าตัวกับใจไม่ไปด้วยกัน ต้องสวมวิญญาณเจียง ไคเช็ก เข้าไป

ไทยพับลิก้า: อยากจะฝากอะไรให้คนมาดูละครเรื่องนี้

พรศิลป์: อยากจะฝากท่านที่มาดูละครเรื่องนี้ไปแล้ว ขอให้ท่านนึกอยู่เสมอว่าในอดีตประเทศไทยมีคนคนหนึ่งเสียสละตัวเอง แม้ว่าจะต้องถึงกับเสียชีวิต ซึ่งตัวเขาเองก็รู้ว่าอาจจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็ยังได้ทำอย่างนั้น แล้วก็ไม่ทราบว่าจะสำเร็จหรือไม่ คนคนหนึ่งที่คิดได้ขนาดนี้ มันสามารถที่จะเป็นตัวอย่างให้เราเอามาคิดกับตัวเราทุกคนว่า ถ้าประเทศกำลังจะเป็นหรือตกอยู่ในสภาวะใกล้เคียงกันในอนาคต อาจจะต้องนึกถึงคนคนนี้ว่า ถ้าไม่มีคนนี้ในวันนั้น เราก็อาจจะเป็นอะไรไม่รู้ในวันนี้ เพราะฉะนั้น ในอนาคตถ้ามีเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้เราทุกคนสามารถย้อนกลับไปเป็นคนนั้นในวันนั้น ประเทศเราก็จะเป็นประเทศเราต่อไป

เพราะประเทศเป็นพื้นที่ใหญ่ แล้วทุกคนอยู่ที่นี่ ถ้าทุกคนไม่ได้คิดจุดเดียวกันอย่างที่คนคนนั้นเขาคิด ประเทศเราอาจจะล่มสลายไปได้ เพราะประเทศไม่มีตัวตน ทุกคนเป็นหนึ่งประเทศ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า ณ ปี 1945-1946 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนคนนี้อยู่ที่นี่ในประเทศไทยเรา ได้ทำวีรกรรมนี้ไว้บอกเราว่าประเทศไทยจะอยู่ได้ เมื่อถึง ณ วันหนึ่งวิกฤติเราจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศ

ปิยศิลป์

นาย ปิยศิลป์ บุลสถาพร ผู้รับบท จำกัด พลางกูร และผู้กำกับละครเวที จำกัด พลางกูร จากกลุ่มขอบฟ้า ในเครือบริษัทสำนักพิมพ์ victory นอกจากนี้ยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เท็กซ์

ไทยพับลิก้า: จุดเริ่มต้นของการมาทำเรื่องนี้ได้อย่างไร

ปิยศิลป์: ครั้งแรกเราทำเพราะฉลอง 72 ปี ของอาจารย์ปรีชา (ช้างขวัญยืน) กับอาจารย์ฉัตรทิพย์เมื่อปีที่แล้ว พอทำเสร็จแล้วเริ่มมีแนวคิดที่ว่าอยากจะ restage (นำกลับมาแสดงอีกครั้ง) แต่มีข้อแม้กันอยู่ว่าอาจารย์ฉัตรทิพย์อยากให้เรื่องนี้ผ่านไปก่อน 1 ปี ถึงจะกลับมา restage ใหม่ พอครบ 1 ปี พวกเราก็เลยก่อตั้งกันขึ้นมาว่าครั้งนี้เราจะทำ ทำกันเอง

ไทยพับลิก้า: ทำไมถึงต้องเป็นจำกัด พลางกูร ไม่เป็นคนอื่น

ปิยศิลป์: จริงๆ ผมสนใจสายนี้หลายคน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, จำกัด, อาจารย์ป๋วย เป็นคนที่มีความคิด อุดมการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ สนใจอยากรู้ว่าส่วนผสมก่อนที่จะมาเป็นเขาในวันนั้นเกิดจากอะไร อย่างคุณจำกัดทำไมเขาถึงตัดสินใจทำงานภารกิจลับแบบนั้น เติบโตมากับอะไรทำไมถึงได้ละทิ้งสิ่งที่ตัวเองได้ทำมาทั้งชีวิต เราต้องค่อยๆ สืบไปให้เจอต้นรากว่าจริงๆ แล้วตัวละครมันคืออะไร

ผมสนใจความคิดของคนที่สามารถมีอะไรบางอย่างที่เหมือนกันเป็นคนเล็กๆ แต่มีความคิดอะไรบางอย่างที่สามารถทำให้คนอื่นเชื่อได้ คือไม่บอกว่ามีอิทธิพล เอาแค่เชื่อก็พอแล้ว ทำไมคนเล็กๆ คนหนึ่งถึงเชื่อได้ แรงบันดาลใจกว่าจะมาเป็นเขาในวันนี้คืออะไร

ไทยพับลิก้า: แสดงว่าต้องศึกษาประวัติศาสตร์มาพอสมควร

ปิยศิลป์: ไม่มาก เอาแค่เฉพาะเรื่องของคุณจำกัดก็ไม่หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบันทึก แต่ถามว่าไปศึกษาบริบทในตอนนั้นไหมผมว่ามันมากมาย

ไทยพับลิก้า: ที่เราทำเรื่องนี้คนดูจะได้อะไร

ปิยศิลป์: สิ่งที่อยากให้คนดูเห็นมากๆ คือว่า คนแค่คนหนึ่ง แต่ว่าเรามักจะคิดอยู่เสมอว่าเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ทำอะไรเพื่อสังคม ทำอะไรเพื่อประเทศชาติหรือทำเรื่องใหญ่ๆ ไม่ได้หรอกเพราะเราแรงน้อย พอคิดอย่างนี้ทุกคนก็ไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ ไม่เกิดสิ่งที่จะทำให้หลายๆ อย่างพัฒนาไปได้ หรือว่าแม้แต่ว่าไม่เกิดภารกิจอย่างคุณจำกัด

อยากสะท้อนให้เห็นว่าคนเล็กๆ คนหนึ่งสามารถทำอะไรเพื่อชาติ เพื่อ humanity ได้

ผมไม่รู้หรอกนะว่าจำกัดจะไปหรือจำกัดจะไม่ไปแล้วอะไรจะเกิดขึ้น เพราะว่าผมไม่รู้จริงๆ ว่าตอนนั้นเขาทำอะไรกันอยู่ แต่สิ่งที่ผมเห็นคือว่าผมสนใจเฉพาะส่วนของคุณจำกัดที่สามารถเดินทางไป แล้วแรงจูงใจที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วเขาเดินทางไปถึง ผมว่าแค่นี้มันก็มากแล้ว คิดดูว่าในสภาวะแบบนั้นมีคนๆ หนึ่งเรียนจบดีอย่างนั้น มีฐานะทางสังคม อยู่ดีๆ จะไปลำบากเพียงแค่จะได้พบประธานาธิบดีเจียง แค่นี้มันก็ไม่ธรรมดาแล้ว

ไทยพับลิก้า: แต่มันก็มีสมมติฐานอันหนึ่งว่าจำกัดอยากจะเป็นผู้นำขบวนการเองหรือเปล่า

ปิยศิลป์: อันนี้ไม่รู้ เคยได้ยินมาเหมือนกัน

ผมสนใจงานที่คุณจำกัดอ่าน ผมเจอว่าเขาอ่านปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) เจอรุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) เจอมาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx) เดการ์ต (René Descartes) งานปรัชญาทั้งนั้นเลย เพราะว่าเขาจบพีพีอี (ปรัชญา การเมืองและเศรษฐกิจ: Philosophy, Politics and Economics) มา เราพูดถึงทั้งสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่กำลังจะเป็น คนพวกนี้มีพลังขับเคลื่อนอะไรบางอย่างที่จะเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่คืออะไร แล้วก็มองถึงสิ่งที่มันควรจะเป็น พอมันได้ทั้ง 2 อย่าง สิ่งที่เห็นคือการลงมือ เพราะเขารู้ว่าที่เป็นอยู่คืออะไรแล้วจะไปทางไหน ได้อย่างไร ผมสนใจกระบวนการแบบนี้

ไทยพับลิก้า: อยากจะฝากอะไรให้คนมาดูละครเรื่องนี้

ปิยศิลป์: ไม่รู้ว่าละครเวทีแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ เพราะว่าตัวละครมาก สิ่งที่ตามมาคือทุนมาก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสร้างละครนี้ได้อีกหรือเปล่า เพราะพวกเราก็ไม่ได้หวังอะไรอย่างที่รู้กัน เงินที่ลงไปทั้งหมดมันไม่พออยู่แล้ว ติดข้อแม้ไว้อีกว่าถ้าขายบัตรหมดเราก็จะมอบส่วนที่เกินให้สถาบันปรีดี

ลองคิดดูว่าคนเข้ามารวมตัวกัน 40-50 ชีวิต แต่ขายบัตร 400-500 บาท เพื่อทำให้คนฉุกคิดได้ว่ามันมีเส้นเรื่องอีกเส้นเรื่องหนึ่งที่รอการปรากฏตัวขึ้นของการเผยแพร่ตัวบท มีความจริงชุดหนึ่งกำลังปรากฏให้คนเห็น

จำกัด พลางกูร

ขอเชิญชมละครเวที ละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เรื่องราวของ จำกัด พลางกูร รายได้จากการขายบัตรหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ สามารถซื้อบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ www.thaiticketmajor.com โทร. 02-262-3456

กำกับการแสดงโดย ปิยศิลป์ บุลสถาพร
เตช เตชะพัฒน์สิริ ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง
และ ณัตถยา สุขสงวน ผู้จัดการคณะละครเวทีเพื่อชาติ เพื่อ humanity

รายชื่อนักแสดง

ปิยศิลป์ บุลสถาพร รับบทเป็น จำกัด พลางกูร
สุรีย์ภรณ์ เรืองรังษี รับบทเป็น ฉลบชลัยย์ พลางกูร (ภรรยาของ จำกัด พลางกูร)
สุรเดช สุวรรณโมรา รับบทเป็น ปรีดี พนมยงค์
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รับบทเป็น เจียง ไคเชก
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ รับบทเป็น หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์
ชลธิศ กรดี รับบทเป็น เตียง ศิริขันธ์
อัมรา ผางน้ำคำ รับบทเป็น นิวาศน์ ศิริขันธ์

บทละครโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ อ.อัจฉรา วติวุฒิพงศ์
ผู้ประพันธ์เพลง ดุษฎี พนมยงค์ ศศิพิสิฐ นิวัธน์มรรคา และเกริกฤทธิ์ เชาว์ปัญญานนท์

เปิดแสดง 15-19 ตุลาคม 2557 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) เวลา 19.00 น.
บัตรราคา 500 บาท นิสิต/นักศึกษา 400 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 080-892-6916.

ติดตามข้อมูลข่าวสารละครเวทีได้ที่ เฟซบุ๊ก “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”