ThaiPublica > คอลัมน์ > เพื่อนผมชื่อ TED

เพื่อนผมชื่อ TED

1 ตุลาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ไอเดียใหม่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อชดเชยความอยากรู้อยากเห็นซึ่งช่วยให้สมองกระฉับกระเฉง มีอยู่เว็บไซต์หนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งซึ่งช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว นั่นก็คือ TED.com

TED.com หรือเรียกกันย่อ ๆ ว่า TED หรือ TED Talks เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีของคนไทยจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ก็น่าจะมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่คุ้นเคย เว็บไซต์นี้เป็นเพียงหนึ่งในร้อยของเว็บไซต์ด้านการศึกษาที่สามารถเข้าชมได้ฟรีที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์(ตัวอย่างเช่น Coursera, MIT World, Khan Academy) อย่ามัวแต่เล่น Facebook หรือ Line อยู่ตลอดเวลาเลยครับ สิ่งน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อชีวิตและการทำงานยังมีอยู่อีกมากมาย

ที่มาภาพ : http://www.ted.com/
ที่มาภาพ : http://www.ted.com/

TED รวบรวมคลิปวีดีโอของการนำเสนอสารพัดไอเดียโดยผู้รู้ทั่วโลกที่มีจำนวนถึงประมาณ 40,000 ชิ้น แต่ละคนต้องพูดไม่เกิน 18 นาที (พวกบ้าน้ำลาย น้ำท่วมทุ่ง กรุณาไปให้ไกล) คนทั่วไปเข้าไปดูที่ TED.com ได้โดยไม่เสียเงิน ภาษาที่ใช้คืออังกฤษ แต่กำลังมีการแปลเป็นภาษา ต่างประเทศกว่า 90 ภาษา จำนวนหนึ่งมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ และบางส่วนเป็นภาษาไทยด้วย

แต่ละคลิปผู้ชมจะได้รับฟังไอเดียที่น่าสนใจผ่านการพูดที่ชัดเจน ฉาดฉาน สนุก และมีอารมณ์ขันแทรกในแทบทุกเรื่อง TED ย่อมาจากคำว่า Technology, Entertainment และ Design ซึ่งครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ใครที่ปรารถนาจะได้รับรู้ไอเดียใหม่ ๆ ในชีวิต จะได้ประโยชน์จาก TED มาก

คำขวัญของ TED ก็คือ “Ideas Worth Spreading” โดยต้องการให้เกิดพลังของไอเดียเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ชีวิตของผู้คนและโลก TED ต้องการเป็น clearing house ของความรู้ที่ฟรีเพื่อปลุกเร้าพลังใจ (inspiration)

นอกจากนี้ก็ต้องการเป็น “ชุมชน” ของผู้มีจิตอยากรู้อยากเห็น (curious souls) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย
ขอยกตัวอย่างการพูดของ Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่มีหนังสือดังหลายเล่ม (Predictably Irrational (2008), The Honest Truth about Dishonesty (2010)

เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาพูดถึงเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน เขาบอกว่าโดยปกติคนจะเข้าใจว่าเงินคือแรงจูงใจ แต่จากการทดลองทางจิตวิทยาของเขาก็พบสิ่งที่เขาขอเรียกว่า “Ikea Effect” (ร้านสรรพสินค้าอิเกียของสวีเดนซึ่งเป็นบริษัทขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก)

ร้านนี้ขายเฟอร์นิเจอร์ที่ผู้ซื้อต้องเอาไปประกอบเอง เขาบอกว่าหลังจากประกอบเองแล้วเขารู้สึกว่ามันเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีค่ามากกว่าเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปที่ซื้อมา มีอีกกรณีที่น่าศึกษาในสหรัฐอเมริกาคือการขายผงเค็กที่เพียงใส่น้ำกวนและเข้าเตาอบก็เป็นขนมเค็กสำเร็จรูปแล้ว สินค้านี้ต่อมาขายไม่ออกเพราะผู้ซื้อไม่รู้สึกภูมิใจว่าเป็นขนมเค็กที่ตนเองทำขึ้นมาเอง ดังนั้นต่อมาจึงต้องให้คนซื้อผสมไข่ไก่และนมลงไปเอง ขนมเค็กแบบนี้จะทำให้รู้สึกว่าเป็นขนมเค็กที่ทำขึ้นมาเองจริง ๆ มากขึ้นและมีความภูมิใจ

ผู้เขียนนึกถึง Jigsaw Puzzle ยาก ๆ ที่เราต่อได้สำเร็จ จะรู้สึกภูมิใจและไม่ต้องการให้รื้อออกถึงแม้จะไม่ได้เป็นรูปอะไรที่งดงามเลย (เอาสก๊อตเทปติดข้างหลังและใส่กรอบเก็บไว้ได้) การที่เรารักลูกมิใช่เพราะเขาผูกพันกับเราทางสายเลือดเท่านั้น หากความลำบากยากเข็ญในการเลี้ยงและประสบการณ์ในการเห็นเขาเติบโตขึ้นมาทำให้เรารู้สึกภูมิใจ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กับการทำงานก็คล้ายกัน มันทำให้เกิด “Ikea Effect” ซึ่งเกี่ยวพันกับความภาคภูมิใจ การมีความหมายของงานที่ทำ การมีส่วนสร้างสรรค์ การรู้สึกเป็นเจ้าของ ความท้าทาย ฯลฯ ผู้นำและองค์กรใดที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีจะทำให้คนทำงานมีความสุข ปรารถนาจะทุ่มเทให้องค์กร และมีผลิตภาพ (productivity) เพิ่มขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งก็ได้แก่การที่ศิษย์เก่าคนหนึ่งกลับไปโรงเรียนและนึกถึงแม่บ้านที่ทำอาหารกลางวันให้เด็กรับประทานชั่วนาตาปี (เด็กอเมริกาจะมีคูปองกินอาหารกลางวันที่โรงเรียน) เด็กส่วนใหญ่มองข้ามไม่เห็นความสำคัญ เขาไปจัดงานวันระลึกถึง “Lunch Ladies Hero” จนแม่บ้านเหล่านี้ ซาบซึ้งใจ และปรากฏว่าเด็กอีกกว่า 10 ล้านคนในโรงเรียนอื่น ๆ ก็ทำตาม ไอเดียนี้ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของคนตัวเล็ก ๆ ที่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้รู้สึกขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับ และจะว่าไปแล้วเป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน

TED เกิดขึ้นในปี 1984 โดยเริ่มจากการจัดประชุมปีละครั้งและบันทึกการพูดเป็นเทปไว้ (ในปีแรกคนพูดกล่าวถึง Mackintosh computer / CD-rom / Sony Dics Pact) แต่พอมาถึงปี 2001 Richard Saul Warman สถาปนิกมีชื่อชาวอเมริกันผู้ริเริ่ม TED ก็ขายให้ Christ Anderson เจ้าของคนใหม่หัวก้าวหน้าเอามาทำต่อโดยให้เป็นสมบัติของมูลนิธิ Sapling และขยายต่อยอด TED ออกเป็นเวทีเล็ก ๆ ทั่วโลกที่เรียกว่า TEDGlobal/TED อีกทั้งจัด TED ประจำปีที่คานาดาและสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในทุกทวีปจนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันทุกวันจะมี TED ประมาณ 8 แห่งต่อวันใน 133 ประเทศ

การไปร่วมประชุม TED ใหญ่ประจำปีนั้น บัตรราคา 6,000 เหรียญ (กว่า 180,000 บาท) เป็นเวลา 3-4 วัน มีคนพูดประมาณ 40 คน (กติกาคนละไม่เกิน 18 นาทีเป็นยี่ห้อ และไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ แถมต้องมอบลิขสิทธิ์การพูดนั้นให้ด้วย)

แต่ละวันมีงานเลี้ยงเพื่อให้คนเข้าร่วมได้รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่ว่ามีเงิน 6,000 เหรียญก็ใช่ว่าจะได้เข้าร่วมประชุม การไปร่วมงานนั้นมาจากการเชิญเท่านั้น (สมัครไปได้แต่ต้องเขียนคำอธิบายขอเข้าร่วม)

ทีมงานจะคัดสรร TED talks ที่ดี ๆ มาขึ้นเว็บ โดยมีประมาณ 5-7 การนำเสนอต่ออาทิตย์ จากตัวเลขเดิมที่มีคนมาร่วมงานปีละ 800 คน ปัจจุบันไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านคนที่เข้าชม TED

TED มีโครงการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ปัจจุบันมีผลงานนับหมื่นชิ้นในสารพัดภาษา โดยอาสาสมัครทั่วโลกเกือบ 10,000 คน ที่แปลเป็นภาษาไทยก็มีที่ดังได้กล่าวแล้ว และนับวันจะมีเป็นภาษาไทยมากตอนขึ้น

TED ถูกวิจารณ์ว่าเป็นงานของพวกอภิสิทธิชน (คล้ายกับที่ World Economic Forum วิจารณ์) ทั้งคนร่วมงานประชุมประจำปีและผู้พูดไม่เปิดโอกาสให้คนไม่มีเงินได้เข้าร่วมประชุม คนวิจารณ์ลืมไปว่าคลิปนับหมื่นชิ้นที่เขาคัดเลือกมานั้น คนทั่วโลกถึงยากไร้อย่างไรก็ได้ดูฟรี)

ผู้เขียนขอร่วมช่วยแพร่กระจายเว็บไซต์ดี ๆ เช่นนี้เพราะเท่ากับช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นทางอ้อมเช่นกัน มันเป็น Website Worth Spreading ครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 30 ก.ย. 2557