ThaiPublica > เกาะกระแส > ห้องเรียนอนาคต อนาคตประเทศไทย กับ Samsung Smart Learning แค่เปิด “พื้นที่-โอกาส” โลกของเด็กก็เปลี่ยน

ห้องเรียนอนาคต อนาคตประเทศไทย กับ Samsung Smart Learning แค่เปิด “พื้นที่-โอกาส” โลกของเด็กก็เปลี่ยน

3 ตุลาคม 2014


ห้องเรียนนำร่อง ห้องเรียนอนาคต โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย
ห้องเรียนนำร่อง ห้องเรียนอนาคต โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย

ห้องเรียนทดลอง ห้องเรียนนำร่อง ที่ดำเนินการมากว่า 1 ปี เริ่มเห็นผลลัพธ์ของการ “ปรับ” และ “เปลี่ยน” ทั้งครูและนักเรียนที่เป็นโค้ชให้กันและกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่ให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนชีวิตจริงๆ

ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ว่าประเทศไทยจะปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ได้มีโอกาสตามไปดูการประเมินโครงการ Samsung Smart Learning ที่โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ได้พบได้เห็นว่าแค่การเปิดห้องเรียนทดลองเพียงหนึ่งห้อง ซึ่งเป็นการ “เปิดพื้นที่เล็กๆ ให้เด็กๆ ” เท่ากับเป็นการให้ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เด็กต่างค้นพบตัวตนและศักยภาพของตัวเอง

ยิ่งตอกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปการศึกษา บางครั้งไม่ต้องทำให้ยิ่งใหญ่ เทอะทะ แค่ให้ “พื้นที่-โอกาส” โลกของเด็กก็เปลี่ยนและเชื่อว่าเด็กก็จะเปลี่ยนโลกได้ด้วย

การสร้างห้องเรียนอนาคตซึ่งเป็นโครงการนำร่องและทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองของซัมซุง วันนี้เริ่มเห็นผลที่จับต้องได้ วัดผลได้จากแววตาที่ส่องประกายความสุขของเด็กๆ ในโครงการ เพราะห้องเรียนนำร่องนี้ไม่ใช่แค่ห้องเรียนอนาคต แต่เป็นห้องเรียนชีวิตที่เด็กได้เรียนรู้ โดยเชื่อมโยงห้องเรียนที่เรียนเป็นแท่งๆ และความรู้แยกเป็นกล่องๆ ไม่สามารถปะติดปะต่อกันเองได้ ห้องเรียนอนาคตได้สร้าง “กระบวนการเรียนรู้” เชื่อมโลกในห้องเรียนและนอกห้องเรียนมาผูกเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ทำให้เด็กคิดได้ คิดเป็น คิดถูก และทำได้ ทำเป็น ทำถูก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

ผลลัพธ์จากห้องเรียนทดลอง ในวันนั้นเด็กๆผลิตสื่อเพื่อนำเสนองาน “แม่น้ำอิง สายน้ำแห่งชีวิต” ซึ่งเป็นแม่สายหลักที่ผ่านชุมชนของพวกเขา ผ่านวิดีโอ 6 ตอน ที่เล่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนริมแม่น้ำอิง ที่ทำให้เด็กๆ ค้นพบรากบรรพบุรุษ เห็นความสำคัญของแม่น้ำอิงที่เป็นทุนของชุมชนในการทำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้ รู้จักการบริหารจัดการน้ำว่าจะทำอย่างไรให้ทั่วถึงไม่แก่งแย่งกัน มีการศึกษาค้นคว้าคุณภาพน้ำเพื่อหาคำตอบในการดูแลรักษาแม่น้ำอิง การสำรวจสภาพและปัญหาการพังของตลิ่ง การพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขป้องกัน ทำอย่างไรที่จะให้มีน้ำในแม่น้ำอิงตลอดไป เพราะเขารู้ว่าแม่น้ำอิงคือสายเลือดของชุมชนซึ่งจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษา

วิดิโอแม่น้ำอิง สายน้ำแห่งชาติ ตอน ฅน..น้ำอิง

http://youtu.be/BdI0XKkp0Og

ภาพรวมจากสื่อวิดีโอ 6 ตอน หากดูแบบไม่คิดอะไรก็มองว่าเป็นการผลิตสื่อที่ดีและเป็นการเล่าเรื่องราวหนึ่งเท่านั้น แต่หากมองให้ลึกลงไปจะค้นพบผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมผ่านสื่อเหล่านี้ว่านี่คือห้องเรียนชีวิตที่เด็กๆ ทำงานเป็นกลุ่ม สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้และยอมรับความคิดต่างกว่าจะถกเถียงออกมาเป็นโครงงาน รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ปลูกฝังการเรียนรู้ประชาธิปไตย ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อวางแผนการทำงานผ่านการเขียนสตอรีบอร์ด รู้จักการบริหารจัดการเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย แบ่งงานกันทำ เป็นการฝึกทักษะให้รู้จักตัวตน เป็นต้น

แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ เด็กๆ ได้เรียนรู้เศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยที่ไม่ต้องยัดเยียดให้เด็กเรียน แต่เป็นการเรียนรู้จาก “การสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่” จากสิ่งที่เขาคุ้นชินในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เรียกวิชาสังคม วิชาการเมือง วิชาเศรษฐกิจ วิชาสิ่งแวดล้อม นั่นเอง รวมทั้งเป็นการฝึกทักษะความถนัดในการทำงานของแต่ละคน เป็นการดึงศักยภาพตัวตนของเด็กแต่ละคนให้ค้นพบตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรอจนเรียนจบปริญญาตรีว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร

เด็กนักเรียนบรรยายโครงงานแม่น้ำอิง
เด็กนักเรียนบรรยายโครงงานแม่น้ำอิง

ห้องเรียนอนาคตขณะนี้เป็นห้องเรียนทดลอง แต่ออกแบบโดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และสร้างสรรค์ผลงานจากการค้นคว้าของตัวเด็ก เพื่อพัฒนาทั้งในแง่ของทักษะการเรียนรู้ (learning skill) และทักษะการวิจัย (research skill)

นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center กล่าวว่า โครงการนี้เทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบที่เล็กมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องของสภาวะแวดล้อม อาทิ การจัดห้องเรียน การจัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ เทคโนโลยีการเรียนรู้ หนังสือที่สามารถค้นคว้าได้ทันที สื่อดิจิทัลต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และศักยภาพของเด็ก ตัวเทคโนโลยีจะทำให้เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เน้นการพัฒนาครู ทำอย่างไรให้ครูสอนน้อยและเรียนรู้ไปร่วมกันกับเด็ก

ทั้งนี้จะมีเวิร์กชอปสนับสนุนให้ผู้บริหาร เด็ก คุณครู ได้มีการผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ การตั้งโจทย์ problem-based learning (การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก) ต่อมาก็ให้เขาลองทำโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาชุมชน หรือประเด็นที่เด็กอยากรู้เอง มีเรื่องราวหลากหลายตั้งแต่ใกล้ตัว จนถึงเรื่องราวใหญ่ถึงชุมชน เสร็จแล้วก็จะมีการประเมินผล ติดตาม ด้วยการวิจัยแบบ narrative research (วิจัยเชิงพรรณนา) และสุดท้ายก็หวังว่าจากกระบวนการทั้งหมดนี้จะมีการพัฒนาโมเดลขึ้นมาเพื่อทำให้โรงเรียนสามารถบูรณาการได้ ทั้งกับโรงเรียนเอง และต่อขยายผลให้กับโรงเรียนใกล้เคียง

“อย่างที่เราเห็นการนำเสนอวิดีโอ 6 ตอน เป็นเรื่องของแม่น้ำอิง ที่น้องๆ นำเสนอ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปจนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องเล็กๆ ไปถึงเรื่องใหญ่ๆ โครงการเหล่านี้ทำให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และคำตอบมาจากฝึกฝนโดยการสืบค้นข้อมูล การรวบรวมความคิดเห็นในการเล่าเรื่อง จนกระทั่งตัดออกมาเป็นคลิปพวกนี้ เป็น digital storytelling (การบอกเล่าเรื่องราวแบบดิจิทัล) ซึ่งจริงๆ เราต้องย้ำเรื่องผลที่ได้ เราไม่ต้องการที่จะสอนให้เด็กผลิตสื่อ สิ่งที่เราต้องการคือให้เด็กผ่านกระบวนการเรียนรู้มากกว่า กระบวนการที่จะติดอยู่กับตัวเขา ไม่ว่าจะออกจากโครงการนี้ไป จบจากโรงเรียนนี้ไป เขายังใช้กระบวนการนี้ได้ต่อเนื่องต่อไปในชีวิตของเขา ในการทำงานของเขา แน่นอนสิ่งที่เขาได้จากกระบวนการนี้ เขาเปลี่ยนตัวเองจาก passive learner (ผู้คอยรับการเรียนรู้) เป็น active learner (ผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง) เมื่อเป็น active learner สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองรู้และสามารถสื่อสารให้กับคนอื่นๆ ได้ คิดว่าน่าจะเป็นการสร้างที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเยอะกว่า” นายวาริทกล่าว

ในฐานะที่เป็นผู้สังเกตุการณ์และได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการของภาคธุรกิจอื่นๆที่มีแนวคิดสอดรับกัน โครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ โครงการของหลายๆภาคส่วนของธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนและสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ แต่ถ้าภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ก็จะเกิดการขับเคลื่อนที่มีพลัง ที่สามารถนำไปสู่การสร้างคน สร้างชุมชน สังคมและประเทศที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่สังคมพยายามเรียกร้องว่าจะต้องสร้างสังคมที่ยั่งยืน สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง วันนี้เราน่าจะมีคำตอบของเส้นทางที่จะเดินไปสู่ความยั่งยืน เพราะการสร้างคน การหล่อหลอมจากกระบวนการเรียนรู้จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิตของเขา นี่คือความยั่งยืนที่แท้จริง

และนี่คืออนาคตประเทศไทยและความยั่งยืนที่สร้างได้ จับต้องได้

นักเรียนชั้นมัธยมปีที่3 โรงเรียนเทิงวิทยาคม(ซ้ายไปขวา)นางสาวอนงค์นาถ ตันต้าว  นางสาวตะวันฉาย ไชยานตร นายธนภูมิ สุโพธิณะ  และ นายทินกร คิดดี
นักเรียนชั้นมัธยมปีที่3 โรงเรียนเทิงวิทยาคม(ซ้ายไปขวา)นางสาวอนงค์นาถ ตันต้าว นางสาวตะวันฉาย ไชยานตร นายธนภูมิ สุโพธิณะ
และ นายทินกร คิดดี

เสียงจากเด็กๆ

หากฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆ ในโครงการซัมซุงฯ ที่ได้ทำโครงงานจากปัญหาในชุมชนของพวกเขาได้แก่ นางสาวอนงค์นาถ ตันต้าว นางสาวตะวันฉาย ไชยานตร, นายธนภูมิ สุโพธิณะ, นายทินกร คิดดี และ นายรณชัย คำปิน นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย

ไทยพับลิก้า : อยากให้เล่าห้องเรียนอนาคต เป็นอย่างไร

ตะวันฉาย : มันเป็นการสร้างความมั่นใจ จริงๆ แล้วหนูไม่ค่อยกล้าพูด พอได้ทำโครงการนี้ทำให้หนูกล้าพูดขึ้น มีความรับผิดชอบขึ้น จากที่ว่าตอนนั้นหนูอาย ไม่ว่าจะพูดกับใคร (หัวเราะ) ครูมาสอน พี่ๆ ที่มาเวิร์กชอป เขามาสร้างความรู้ สร้างให้คิดเป็นระบบมากขึ้น ทำให้กล้าพูดมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : คืออนาคตตัวเราเองที่จะก้าวต่อไป

ตะวันฉาย : ใช่ ให้เราเดินก้าวต่อไป

ไทยพับลิก้า : อยากให้อธิบายว่าในทางปฏิบัติเป็นห้องเรียนอนาคตอย่างไร

ธนภูมิ : น่าจะเป็นแบบว่า เป็นการปฏิรูปการเรียนของไทยใหม่ อย่างเช่น ไม่ใช่การเรียนอยู่ในห้อง แต่การออกไปหาความรู้ด้วยตัวเอง ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น และการที่เราไปหาความรู้ที่เราสนใจเอง ถ้าเราเรียนด้วยความที่เราชอบ มันดีกว่าโดนบังคับเรียน ครับ

ไทยพับลิก้า : แล้วเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างไรกับตัวเอง

ธนภูมิ : คือแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน ไปทำงานกันเป็นทีม ช่วยเหลือกัน พอเราได้ความรู้ เรามาบอกต่อ เล่าต่อกัน แชร์ความรู้ เราได้ความรู้เพิ่ม เพื่อนก็จะได้ความรู้จากเราไปด้วย

ไทยพับลิก้า : หนูมองว่าสิ่งที่ทำจะต่อยอดให้เป็นห้องเรียนอนาคตและอนาคตประเทศไทยอย่างไร

ตะวันฉาย : หนูมองว่าการต่อยอดไปให้รุ่นน้อง จากที่พวกหนูทำงานอย่างนี้ (ทำงานเป็นกลุ่มแบ่งงานกันทำ ทำโครงงานเรื่องแม่น้ำอิง สายน้ำแห่งชีวิต) ส่วนรุ่นน้อง มาทำต่อเรื่องปลาร้า ที่เกี่ยวโยงกับแม่น้ำอิง

รณชัย : จริงๆ ที่เราทำเกี่ยวกับแม่น้ำอิง เพราะแม่น้ำอิงส่วนหนึ่งเกี่ยวกับรายได้ รายได้จากการเกษตร มันเยอะมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เรากิน คลุกข้าวทุกวัน คือปลาร้า น้องๆ ปีนี้สนใจ จึงเลือกที่จะทำปลาร้า ตอนนี้เป็นขั้นตอนการวางแผนโครงงานอยู่

ไทยพับลิก้า : ขอกลับมาที่คำถามห้องเรียนอนาคตในความเห็นของน้องรณชัย

รณชัย : ห้องเรียนอนาคต สำหรับผมมันน่าจะใกล้เข้ามาแล้ว เหมือนกับว่าเรากำลังเดินไปทีละก้าวๆ กำลังไปสู่ห้องเรียนอนาคตจริงๆ เหมือนตอนนี้เราก้าวมาเกือบครึ่งทางแล้ว ไปสู่ห้องเรียนอนาคตที่เราฝันไว้ เช่น ในห้องเรียนต้องมีเทคโนโลยี ในห้องเรียนต้องมีกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แบบเดิม

ไทยพับลิก้า : ตัวนักเรียนต้องทำอย่างไรที่จะเข้าสู่ห้องเรียนอนาคต

รณชัย : ผมว่าพวกเราน่าจะปรับตัวไม่ยาก เราได้ทำแบบนี้มาตั้งแต่ ม.1 แล้ว

ไทยพับลิก้า : ที่ว่าปรับตัวมาแล้วมันคืออะไร

รณชัย : คือกระบวนการคิดแบบโครงงาน คิดจากปัญหา ให้พวกเรานำเสนองาน

ไทยพับลิก้า : คุณสมบัติของการอยู่ในห้องเรียนอนาคต ต้องมีอะไร มีทักษะแบบไหน จำเป็นต้องมีไหม

รณชัย : เราต้องมีความสามัคคีเป็นอย่างแรก เราต้องเข้ากับทุกคนในชมรมให้ได้ ต้องรู้จักกันให้หมด ทำงานด้วยกันให้ได้ อันนี้คืออันแรกเลย เพราะเราต้องไปด้วยกัน อันที่สอง ต้องคิดให้เป็นระบบ การวางแผนแต่ละอย่าง ถ้าเราออกความเห็นไปหลุดโลก เราต้องกลับมาให้ได้ ต้องมีใครสักคนหนึ่งแทรกขึ้นมาว่ามันหลุดโลกไปไหม เราต้องกลับมาย้อนคิดใหม่ เช่น เราศึกษาแม่น้ำอิง แต่เราไปศึกษาในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแม่น้ำอิง

ไทยพับลิก้า : นั่นหมายถึงการเคารพสิทธิของคนอื่น เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ตะวันฉาย-ธนภูมิ : ใช่ค่ะ–ใช่ครับ ความเห็นต่างไม่ใช่ว่าจะผิด เอาความคิดเห็นคนนั้นคนนี้มารวมๆ กัน

รณชัย : จริงๆ ผมว่าความรู้ที่แชร์กันมีคุณค่ามากกว่าความรู้ของตนเองออกความเห็น

ไทยพับลิก้า : นอกจากกระบวนการเรียนรู้ที่ได้แล้ว นี่คือการสร้างความยั่งยืนจริงๆ ใช่ไหม

ธนภูมิ : ตอนนี้ไม่ได้หยุดแค่รุ่นเรา ตอนนี้มีรุ่นน้อง ตอนเราอยู่ ม. 2 เราเป็นผู้ดำเนินการ… มี ม.3 คอยเป็นที่ปรึกษา และน้อง ม.1 เป็นผู้ติดตามอยู่ ตอนนี้เราอยู่ ม.3 เราเป็นที่ปรึกษา ม.2 เป็นผู้ทำ น้อง ม.1 อีกรุ่นหนึ่งก็พร้อมที่จะมาแทนที่ เพื่อสืบสานไปเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : นี่คือการที่เพื่อนสอนเพื่อน เพื่อนสอนน้อง นี่คือกระบวนการห้องเรียนอนาคต

ธนภูมิ : ใช่ครับ

ไทยพับลิก้า : โครงการนี้ทำให้วิถีชีวิต วิธีคิดเปลี่ยนไปไหม

รณชัย : เปลี่ยนไปเยอะมาก

ไทยพับลิก้า : เปลี่ยนอย่างไร

รณชัย : อย่างตอนที่ไม่มีเน็ต (อินเทอร์เน็ต) การนำเสนอเราใช้กระดาน ให้เขียนบนกระดาน ให้ยกมือๆ แจกเปเปอร์ไป ไปให้ปรึกษาเป็นกลุ่ม แล้วนำเสนอหน้าห้อง แต่พอมีแท็บเล็ต ง่ายมาก แค่เขียนในเอสโน้ต ออกจอทีวีเลย หากนำเสนอ นั่งคุย ให้เพื่อนซักถามได้แชร์กัน แอกทีฟได้เยอะมาก มันง่ายสะดวกขึ้น

ไทยพับลิก้า : อันนั้นในแง่เทคโนโลยี แต่ในแง่ที่มันจากข้างในตัวเราอย่างไร มันเปลี่ยนอย่างไร

ธนภูมิ : มันเปลี่ยนจากการแบ่งเวลาเล่น เวลาเรียน เวลาทำงาน เช่น ก่อนที่เราจะทำโครงงาน เราจะมีแต่วันที่เรียนกับวันที่เล่น คือ 2 วันที่เราหยุดเสาร์อาทิตย์ เราจะเล่นอย่างเดียว แต่พอมีโครงงานนี้ เราออกจากบ้านมา 1-2 วัน เพื่อทำงานให้เสร็จ เวลาเล่นน้อยลง

ไทยพับลิก้า : ดีไหม

ธนภูมิ : ก็ดี เพราะเราเป็นคนแบ่งเวลาเอง ไม่มีปัญหากับคนอื่นด้วย

ไทยพับลิก้า : เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไร

ตะวันฉาย : คิดเก่งขึ้น เกรดเพิ่มขึ้น จาก ม.1 เกรดต่ำมาก พอทำงานนี้คิดเป็นระบบมากขึ้น คิดเป็นแบบแผนมากขึ้น เกรดก็พุ่งพรวดเลย (ยิ้มอย่างภูมิใจ)

อนงค์นาถ : เมื่อก่อนหนูชอบเรียนตามเพื่อน พอได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา ได้คิดเป็นตัวของตัวเอง ได้ทำอะไรที่คิดเอง เป็นเราเอง ค้นพบตัวเอง ว่าชอบทำอะไรในงานนี้ เรารู้ว่าหน้าที่ของเราคืออะไร ในการทำงานนี้ พอทำงานนี้เสร็จแล้ว เราเห็นเพื่อนทำงานเราก็ไปช่วยเพื่อน

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะสรุปว่าเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน แบ่งปันซึ่งกันและกัน นี่คือสิ่งเราได้จากโครงการนี้

รณชัย : ใช่ครับ อีกอย่างเราได้เรียนรู้ชุมชนเราด้วย เราไม่รู้เลยว่ากลุ่มของเรามีกลุ่มชาติพันธุ์อีสานที่อพยพจากยโสธรและนครราชสีมาเมื่อ 50 ปีที่แล้วมาตั้งรากฐานที่นี่ อีสานแล้ง เขาเลยอพยพมาที่นี่

ผมต้องขอบคุณซัมซุง สนับสนุนอุปกรณ์ที่เราไม่เคยจับเลย โน้ต อันใหญ่มาก เราใช้แต่โทรศัพท์อันเก่าๆ ไม่อยากจะโชว์เลย (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่าเปิดโอกาสให้เด็กบ้านนอกอย่างเราได้ใช้อุปกรณ์ แต่ที่สำคัญมากกว่าคือแนวคิดที่ได้จากโครงการด้วย อย่างเช่น กระบวนการเรียนรู้จากปัญหา มาประยุกต์กับสิ่งที่อาจารย์สอน และขอบคุณอาจารย์สนับสนุนมาก เรามีทายาทที่สืบต่อ ทายาทซัมซุง

ไทยพับลิก้า : ครูเขาโค้ชหรือสอน

รณชัย : ครูมาโค้ชมากกว่า เช่น บอกว่าเรากำลังหลุดโลก ครูมาตั้งคำถามว่ามันจะหลุดไหม อาจารย์ไม่ได้บอกว่าอันนี้ถูกหรือผิด อาจารย์ตั้งคำถามว่าใช่ไหม เพื่อนคนอื่นคิดอย่างไร แล้วทำให้เรากลับไปคิด ทำให้เราย้อนคิดมากกว่า แต่ถ้าอาจารย์บอกว่าผิด เราจะรู้สึกว่าต้องแก้อย่างไร เราไม่รู้แนวทาง ว่าจะแก้อย่างไร

ทินกร : อาจารย์เขาสร้างให้เรามีแรงบันดาลใจด้วย เช่น ตอนที่เราเหนื่อย เขาถามเราเหนื่อยไหม เราบอกว่าเหนื่อย เขาก็บอกว่าเราอย่าเพิ่งท้อ เราก็จะไม่ท้อ เราจะไม่ถอย

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าระหว่างครูกับนักเรียนคืออยู่กันด้วยใจกับใจใช่ไหม

ทินกร : ใช่ สำคัญมาก อีกอย่างเราได้ประสบการณ์เยอะมาก

รณชัย : ตอนม.1 ไม่สนิทกัน พอได้ทำงานด้วยกัน ไปทำงานด้วย ได้นอนด้วยกัน เครียด ด้วยกัน พองานจะส่งพรุ่งนี้ คืนนี้ต้องเสร็จ เราต้องช่วยกันทำ แบ่งหน้าที่กัน เรารักกันมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : แสดงว่ากระบวนการเรียนรู้ สอนให้หนูรู้จักการจัดการอย่างไรบ้าง

ธนภูมิ : จริงๆ บางคนอาจจะคิดว่างานนี้มันยาก จากครั้งแรกเลย รู้สึกว่าการดำเนินการแต่ละอย่างดำเนินการไปอย่างไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่ เขาไม่รู้งานเท่าไหร่ แต่พอเราได้ทำเรื่อยๆ อย่างงานวันนี้ ทำสองวันเสร็จ จัดนิทรรศการ ทุกคนรู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร ของอันนี้ต้องวางตรงไหน วางอย่างไร การนำเสนอต้องทำอย่างไร บริหารจัดการกันเองในกลุ่ม แบ่งงานกันทำ ทำให้ง่ายขึ้น

รณชัย : บางคนอาจจะสงสัยว่าเราทำแต่งานวิจัยหรือเปล่า ได้กระบวนการเรียนรู้มาทำแค่วิจัยหรือเปล่า แต่จริงๆ เราไม่ได้เอากระบวนการเรียนรู้ที่ได้มาทำวิจัยอย่างเดียว เราเอากระบวนการเรียนรู้นำไปประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นได้ไหม ทั้งกระบวนการทำงาน วางแผน ทุกอย่างสามารถประยุกต์ใช้ไหม

ไทยพับลิก้า : การนำความรู้ไปต่อยอด หนูนำสิ่งที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ อย่างไร

อนงค์นาถ : สิ่งที่ได้ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันคือการแบ่งเวลา วันหนึ่งเราจะทำอะไรบ้าง ตื่นเช้า เราต้องอาบน้ำแปรงฟัน มาโรงเรียน เรียนหนังสือ เรียนพิเศษ ถ้ามีงานเอาช่วงเวลาเรียนพิเศษมาทำงาน

ตะวันฉาย : จากเดิมที่แบ่งเวลาไม่ค่อยเป็น เรียนๆ เล่นๆ บ้าดารา แต่พอมาทำโครงการ แบ่งเวลามากขึ้น แบ่งเวลาทำงาน เรียน ทำโจทย์ อ่านหนังสือ

ไทยพับลิก้า : จัดการชีวิตเป็น

ตะวันฉาย : ใช่ค่ะ

อนงค์นาถ : เหมือนเราวางสตอรีบอร์ดไว้ ตอนแรกเราไม่รู้จักสตอรีบอร์ด พอซัมซุงเข้าเรารู้จักสตอรีบอร์ด มันเหมือนกับการวางแผน ใช่ ว่าเราจะทำอะไร และซัมซุงเขามาบอกว่าสตอรีบอร์ดทำอย่างนี้นะ เป็นอย่างนี้ มันก็เข้ากับชีวิตประจำของเรา ว่าวันๆ เราทำอะไร เหมือนเราวางสตอรีบอร์ดเอาไว้

ธนภูมิ : รู้จักมีเหตุผล เช่น เวลาเรานั่งเล่นอยู่ แล้วมีคนบอกว่าให้ไปทำงานนะ เราก็จะคิดว่าทำไมต้องทำงาน เราก็คิดว่าต้องส่งการบ้าน ครูสั่งมา คือต้องหยุดเวลาเล่น กลับมาทำงาน แล้วค่อยกลับไปเล่นต่อใหม่ก็ได้ นี่คือเหตุผล คือเอาเรื่องสำคัญมาก่อนครับ ทำให้เราเป็นคนที่คิดแบบมีเหตุผล คิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น คิดแบบเชื่อมโยงด้วย ว่าถ้าทำอย่างนี้ก็ได้อย่างนี้ ถ้าทำแบบนี้ก็จะได้แบบนี้นะ ทำแล้วจะมีผลกระทบกลับมาหรือเปล่า และเวลาเราทำอะไร เราจะคิดว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วย ทำแค่ตัวเอง

ไทยพับลิก้า : เกิดการกระบวนการเรียนรู้โดยตัวเอง

ทินกร : ก่อนเข้าโครงการ พวกเราคิดอะไรไม่ค่อยเป็น พูดไม่ค่อยเป็น พอเข้ามาเรากล้าแสดงออกมากขึ้น คิดเป็นระบบมากขึ้น เราเอาไปใช้ในการเรียน เรามีการเรียนเก่งเพิ่มมากขึ้น เราอ่านหนังสือ คิดเป็นระบบ