ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > โรดแมปประชาธิปไตย-เลือกตั้ง 2559 เส้นทางร่างรัฐธรรมนูญ 12 เดือน

โรดแมปประชาธิปไตย-เลือกตั้ง 2559 เส้นทางร่างรัฐธรรมนูญ 12 เดือน

20 ตุลาคม 2014


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ผู้ที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่า โรดแมปในการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอาจล่าช้าเกินกว่า 1 ปี นับจากนี้

และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเลือกตั้งทั่วไป อาจจะไม่เกิดขึ้นภายใน พ.ศ. 2558

ตามเหตุผลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ระบุล่าสุด (15 ตุลาคม 58) ว่า เส้นทางไปสู่การเลือกตั้งในโรดแมปขั้นที่ 3 ของ คสช. จะขยายออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ “ถ้ามัวแต่ตีรันฟันแทงต่อสู้กันไปตลอดจะทำอะไรไม่ได้ แล้วประเทศจะไปได้หรือ…อย่ามาคาดคั้นกับผมมากเรื่องนี้ ต้องดูตามโรดแมป จะทำตามโรดแมปได้หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องมาด้วยรัฐธรรมนูญและผลของการปฏิรูป 11 เรื่อง บางเรื่องต้องใช้ระยะเวลายาว จากนั้นใครมาเป็นรัฐบาลก็เข้ามาแก้ต่อ”

นายกรัฐมนตรี แบ่งรับ-แบ่งสู้ ผลักวาระไปที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะมีการสรรหาขึ้น 36 คน มาจาก สปช. 20 คน จาก สนช. 5 คน จากคณะรัฐมนตรี 5 คน และอีก 5 คน มาจากคณะ คสช. เพื่อร่วมจัดทำเส้นทางสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง

สอดรับกับความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม ที่เริ่มเปิดเส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญให้ทอดยาวไว้ตั้งแต่มีการประกาศรายชื่อ สปช. 250 คน

นายวิษณุอธิบายเส้นทางการร่างรัฐธรรมนูไว้ว่า “หลังจากมี สปช. ภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือน สปช. จะต้องให้การบ้านคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น 4 เดือน คณะกรรมการยกร่างฯ จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ หากไม่เสร็จตามกำหนดให้ยุบกรรมาธิการนี้ทิ้ง แต่หากแล้วเสร็จให้ส่ง สปช. พิจารณา และให้เวลาแก้ไขภายใน 1 เดือน เมื่อ สปช. ไม่ต้องการแก้ไข ให้กรรมการตรวจสอบอีก 2 เดือน รวมแล้ว 10 เดือน ส่งกลับไปยัง สปช. ให้พิจารณาภายใน 1 เดือน โดยไม่มีการแก้ไข ทำได้แค่รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ และหาก สปช. ไม่รับถือว่ารัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยกร่างและ สปช. ต้องยุบทั้งหมด และเลือก สปช. ใหม่ทั้งหมด”

“หาก สปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ 12 เดือน”

ในขั้นตอนนี้ มิได้หมายความว่าจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งได้ทันที แต่ต้องมีการยกร่างกฏหมายลูก หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกอย่างน้อย 3 ฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลาร่างอีกประมาณ 2 เดือน

กฏหมายลูกที่ต้องยกร่าง อาทิ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในกรณีรัฐธรรมนูญกำหนดว่ายังมีคณะกรรมการเลือกตั้ง ก็ต้องจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

เส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง จึงยังมีอุปสรรคและใช้เวลาอีกหลายขั้นตอน ทั้งปัจจัยด้านความมั่นคง ที่ คสช. ต้องติดตามทุกระยะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุการเมืองระหว่างทางกลับไปสู่การเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังอาจมีเทคนิคทางกฎหมาย ที่อาจทำให้เกิดกรณีที่คณะกรรมาธิการ “ยกร่างไม่เสร็จ” ก็สามารถกลับไปตั้งต้นกระบวนการใหม่ได้ โดยไปเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือก สปช. เลือกกรรมาธิการยกร่างใหม่ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนนี้ ต้องต่อเวลาไปอีก 4 เดือน เป็นอย่างน้อย

และแม้ว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่นายวิษณุ ร่างเค้าโครงไว้ จะใช้เวลาประมาณ 12 เดือน แต่หากขั้นตอนสุดท้ายเกิดขัดข้องทางเทคนิคหรือมีอุบัติเหตุทางการเมือง ส่งผลสะเทือนทำให้ สปช.ลงมติ “ไม่รับร่าง” กระบวนการ และเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็ถือว่า “ตกไป” ต้องไปตั้งต้นใหม่ ต่อเวลาได้อีก 12 เดือน

ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ได้กำหนดไว้ด้วยว่า จะสามารถเริ่มกระบวนการใหม่ได้กี่ครั้ง บอกโดยนัยว่า ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในปี 2558(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

เส้นสู่การเลือกตั้งปี 2559

บรรดานักการเมืองตัวจริง-เสียงจริง ที่อยู่นอกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่นอกวงสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันในเวลานี้ว่า ความหวังที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2558 แทบเป็นไปไม่ได้ และมีความเป็นไปได้สูงว่า บทบัญญัติที่ว่าด้วยกฏหมายลูกเรื่องกรรมการการเลือกตั้ง ไม่น่าจะอยู่ในสารระบบรัฐธรรมนูญ เพราะในงบประมาณ 2558 ไม่มีการบัญญัติเรื่อง “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง” ขณะที่เงินในกองทุกนี้ปี 2557 ถูกสั่งให้ส่งคืนคลังไปแล้ว ประกอบกับใน “พิมพ์เขียว” กรอบร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอเรื่อง “ศาลเลือกตั้ง” แนบท้ายไว้แล้ว

แหล่งข่าวระดับแกนนำ และผู้สนับสนุน “ทุน” เลือกตั้ง ของพรรคการเมืองขนาดกลางพรรคหนึ่ง วิเคราะห์ว่า การไม่มีกำหนดระยะเวลาในการเลือกตั้งภายใน 1 ปี นับจากนี้ จะทำให้แต่ละพรรควางแผนทางการเงินได้ โดยบางพรรคแกนนำคาดการณ์กันว่า ต้องจัดสรรเงินไว้สนับสนุนอดีต ส.ส. ลูกพรรคอีก 12 เดือน เป็นอย่างต่ำ แต่หากไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน บางพรรคก็อาจไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ลูกพรรคอีกต่อไป

ขณะที่การ “ต่อสาย” ของอดีตนักการเมือง กับนายทหารระดับสูงของกองทัพ และนายทหารที่เกษียณในปี 2557 เพื่อสร้างเครือข่ายในการก่อตัวเป็น “พรรคทหาร” ก็ยังมีหลายสาย หลายสาขา ทั้งพรรคการเมืองที่ส่งบุคคลระดับอาวุโสเข้าไปเชื่อมสายไว้ใน สปช. และการติดต่อแบบส่วนตัวกับอดีตนักการเมืองพรรคใหญ่นอกสภา โดยใช้สายสัมพันธ์หลายกลุ่ม อาทิ นายทหารบูรพาพยัคฆ์, วงศ์เทวัญ, กลุ่มศิษย์เก่านิติจุฬาฯ, กลุ่ม วปอ. และเครือข่ายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในนาม “เซนต์คาเบรียลคอนเนกชัน”

ความเคลื่อนไหวใต้ดิน คลื่นใต้น้ำ เพื่อก่อตั้งพรรคทหาร จึงยังพลิ้วไหว ไม่ชัดเจน ตราบใดที่ยังไม่มีการกำหนดเส้นทาง-ขีดเส้นตาย ไปสู่การเลือกตั้งที่แน่นอน

ประกอบกับมีร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับพิมพ์เขียว คสช.” ออกมาล่วงหน้า ยิ่งทำให้สถานะของอดีต ส.ส. และว่าที่ ส.ส. ต่างอยู่ในสถานภาพที่ไม่แน่นอน

“ร่างพิมพ์เขียว” ที่อาจถูกกำหนดเป็นเค้าโครงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกมอบให้สถาปนิกการเมือง-สมาชิก สปช. 250 คน เพื่อออกแบบประเทศไทย ตั้งแต่วันวันแรกที่ลงทะเบียน

ข้อกำหนดใน “พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ” ด้านการเมือง ที่สรุปโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ กำหนดให้ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งผ่าน สนช. ให้ผู้สมัคร ส.ส. มีอายุ 30 ปีขึ้นไป จำกัดวาระไม่เกิน 2 วาระ ห้ามบุคคลกระทำผิดต่อสถาบันลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง ส.ส. และ ส.ว.

เอกสารนี้ จัดแจกโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน หรือพิมพ์เขียวที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับฟังและรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมของประชาชน ให้ สปช. ไปศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ซึ่งหัวข้อเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง มีสาระสำคัญ 10 วาระ ประกอบด้วย

1. รูปแบบรัฐสภา มีข้อเสนอ 2 รูปแบบ คือ รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน กับรัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอ้อม ซึ่งมีข้อเสนอ 3 แบบ คือ 1) แบบสภาเดี่ยว มีเฉพาะ ส.ส. ทำหน้าที่ตราและปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น 2) แบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา และ 3) แบบ 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และสภาประชาชน

2. พรรคการเมือง ให้ตั้งพรรคการเมืองโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่าย ปราศจากการครอบงำของทุน ห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส. เพื่อออกเสียงสนับสนุนหรือเข้าร่วมประชุม สำหรับการเสนอนโยบายพรรค ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบนโยบายพรรคที่ไม่เป็นประชานิยม และนโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามที่กระทรวงการคลังประกาศไว้

3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกรอบความเห็นที่ต้องแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ จึงมีข้อเสนอ คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง 1) ไม่สังกัดพรรคการเมือง 2) ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี 3) ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา 4) มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีไพรมารี โหวต จากประชาชนในพื้นที่ 5) จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน

6) ห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันลงสมัครรับเลือกตั้ง 7) ให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ การเลือกรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ 8) วิธีออกเสียงลงคะแนน ให้นำคะแนน Vote No มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าคะแนน Vote No มากกว่าให้เลือกตั้งใหม่

9) ยกเลิกลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริต 10) การถอดถอนต้องทำโดยศาลเลือกตั้งและศาลทุจริตคอร์รัปชัน 11) ออกกฎหมายมาตรการลงโทษนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องนักการเมืองทุจริตได้โดยตรง

4. สมาชิกวุฒิสภา ให้มาจากการเลือกตั้งและสรรหา การสรรหาให้มาจากกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้ตัวแทนทุกกลุ่ม จำนวนต้องเท่ากับ ส.ส. เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคการเมือง ห้ามไม่ให้คนที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น ส.ว. และห้าม ส.ว. ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 6 ปี

5. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เสนอรูปแบบการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี 2 วิธี คือ 1) จากการเลือกตั้งโดยตรง ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ หรือ เลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ 2) จากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การตรวจสอบและถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว.

6. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนดและกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความคดีทางการเมือง และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม

7. ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ปรับโครงสร้างเป็นรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไม่ควรจัดในรูปศาลที่มีอายุ 9 ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ต้องแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ มีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการทำงาน และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น

8. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ปรับโครงสร้าง กกต. ให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ ฝ่ายการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. ขณะที่ กกต.จังหวัดต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัด หรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ขณะที่การเพิ่มความเข้มแข็งของ กกต. ต้องหมุนเวียนผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดทุก 3 ปี ให้ กกต. จัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนการวินิจฉัยความผิดให้เป็นหน้าที่ของศาล

9. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการสรรหา ป.ป.ช. จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น

10. การเมืองภาคพลเมือง มีข้อเสนอให้เปิดพื้นที่ให้เข้าร่วมกับภาครัฐในด้านตรวจสอบ มีส่วนร่วมการพัฒนา

ภายใต้ “พิมพ์เขียว” นี้ นายวิษณุคาดการณ์การเมืองการปกครองหลังรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ว่า “ภายหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าความขัดแย้งน่าจะมีอยู่ แต่เป็นความขัดแย้งใหม่จากรัฐธรรมนูญใหม่ หากร่างออกมาไม่ดีและไม่เป็นที่ปรารถนาของประชาชน แต่เชื่อว่าบางส่วนจะได้รับการแก้ไข จากรัฐบาล สนช. และ สปช. ที่เสนอแนวทางปฏิรูปออกมา เชื่อว่าจะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แยกออกมาจากรัฐสภา จากนั้น กระแสปฏิรูปจะมากขึ้น เพราะระยะเวลาภายใน 1 ปี อาจปฏิรูปทุกด้านไม่ทัน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ ที่จะต้องดำเนินการต่อรัฐบาลจากปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญใหม่จะสร้างสภาปฏิรูปใหม่มาเพื่อทำงานไปพร้อมกับรัฐสภา”