ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งอนุมัติงบ 726 ล้าน ปั้นเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ โยก สสว. จากกระทรวงอุตสาหกรรม ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี

“พล.อ.ประยุทธ์” สั่งอนุมัติงบ 726 ล้าน ปั้นเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ โยก สสว. จากกระทรวงอุตสาหกรรม ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี

6 ตุลาคม 2014


หนึ่งในโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
หนึ่งในวาระแห่งชาติของรัฐบาล
หนึ่งในยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558
หนึ่งในเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)
ทั้งสี่แผนงาน คือ ต้องการเพิ่มสัดส่วนขนาดมูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้มีอัตราสูงขึ้น

โดยในแผนฯ 11 ระบุจะเพิ่มมูลค่าขนาดมูลค่าของเอสเอ็มอีให้ได้ 40% ของจีดีพี ขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนขนาดมูลค่าเอสเอ็มต่อจีดีพีให้ได้ 38%

ยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 รวมทั้งแผนปฏิบัติการทำงานของรัฐบาล (Action Plan) ก็ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ข้อที่ 1 ด้านการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานที่ดีของประเทศ มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์คือ “จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง และกลุ่มที่ปรับตัวเข้าสู่ตลาดอาเซียนด้วย”

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้มีการสั่งการให้จัดทำ “ยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วนปี 2558” ของอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี เพื่อผลักดันทุกมิติของเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

ในคราวเดียวกันนั้น ได้มีการอนุมัติงบประมาณ 726.7 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี เพื่อดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เร่งด่วน ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร, การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธุรกิจเอสเอ็มอีออนไลน์, โครงการ “1 มหาวิทยาลัย 1 อาชีวะ 100 เอสเอ็มอี” และการจัดทำทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสูงและมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของเอสเอ็มอี

เป้าหมายของการอนุมัติงบประมาณในครั้งนี้ นอกจากต้องการเพิ่มสัดส่วนขนาดของเอสเอ็มอีต่อจีดีพีให้ได้ตามป้าหมาย 38-40% ยังได้ตั้งเป้าหมายให้มีการเพิ่มการจดทะเบียนนิติบุคคลเอสเอ็มอีขึ้นอีก 50,000 ราย ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็จะให้ความสำคัญต่อกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในช่วงปี 2558-2559 ใน 11 สาขา คือ ก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม บริการด้านการศึกษา การเกษตร ขนส่งและโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว บริการด้านสุขภาพ สมุนไพร เครื่องสำอาง เทคโนโลยี และพลังงาน

“ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไม่ขึ้นทะเบียนเพราะกลัวเรื่องระบบการจ่ายภาษี แต่การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอีครั้งนี้ นอกจากจะเป็นฐานภาษีแล้ว การเข้าสู่ระบบที่ภาครัฐกำหนดไว้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีได้ เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่า เอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจ้างแรงงานจำนวนมาก และดำเนินบทบาทสนับสนุนให้แก่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ ด้วย”

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีมาก ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้มีประสิทธิภาพ เห็นผลเป็นรูปธรรม จะมีการปรับโครงสร้างการบริการในส่วนนี้ โดยจะมีการโยกสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่เคยอยู่ในการกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม ไปขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 61/2557 ที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลที่ สสว. รายงานว่าในปี 2556 เอสเอ็มอีมีมูลค่า 4.45 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37.4% ของจีดีพีรวมของประเทศที่มูลค่า 11.90 ล้านล้านบาท หากพิจารณาสถิติย้อนหลัง 5 ปี (2551-2555) อัตราการขยายตัวค่อนข้างน้อย ในแต่ละปีขยายตัวไม่ถึง 2%

มูลค่าเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ โครงสร้างของอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี เมื่อจำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจพบว่า ในปี 2556 สัดส่วนของภาคบริการขยายตัวสูงสุดถึง 34.8% ประกอบด้วยกิจการโรงแรม ภัตตาคาร ขนส่ง การสื่อสาร และภาคอสังหาริมทรัพย์ สวนทางกับภาคการผลิตที่มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552-2556 กลุ่มนี้ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องเรือนและเคมี เคยขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี อัตรา 32.3% ในปี 2553 จากนั้นลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2556 ลดเหลือ 29.6%

ในการส่งออกของอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 7.57 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.45% จากช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยทั้งปี 2556 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีรวม 1.76 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุดคืออัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติก ยาง และผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยยาง

ทั้งนี้ จำนวนอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในปี 2556 มีทั้งสิ้น 2,763,997 ราย ครอบคลุมทั้งภาคการค้า บริการ และการผลิต

Web

อย่างไรก็ตาม สสว. ได้จัดทำแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 3 (2555-2559) มีเป้าหมาย 5 ด้าน ประกอบด้วย

1. เอสเอ็มอี จดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 250,000 รายในปี 2559
2. เอสเอ็มอีในสาขาเป้าหมายได้รัพฒนากรพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่น้อยกว่า 30,000 รายภายในปี 2559
3. เครือข่ายเอสเอ็มอีได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งไม่น้อยกว่า 60 เครือข่ายต่อปี
4. ปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจได้รับการพัฒนาปรับปรุง แก้ไข ลดอุปสรรค และเอื้ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
5. การบริหารจัดการส่งเสริมเอสเอ็มอี มีประสิทธิภาพและทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น

อนึ่ง มาตรการด้านการเงิน ตามแผนจะมีการค้ำประกันสินเชื่อให้อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีรวม 370,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMES HALAL TRADE บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย วงเงินค้ำประกันรวม 1,000 ล้านบาท, โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการใหม่ ที่มีอายุการก่อตั้งไม่เกิน 3 ปี วงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท, โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 วงเงินค้ำประกัน 240,000 ล้านบาท (โครงการระยะที่ 1-4 จำนวน 119,000 ล้านบาท)