ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.อนุมัติแพคเกจช่วยสวนยาง 5.8 หมื่นล้าน- งบฯผูกพันข้ามปี 1.9 แสนล้าน แก้กฎหมายปิดช่องดาราเลี่ยงภาษี

ครม.อนุมัติแพคเกจช่วยสวนยาง 5.8 หมื่นล้าน- งบฯผูกพันข้ามปี 1.9 แสนล้าน แก้กฎหมายปิดช่องดาราเลี่ยงภาษี

21 ตุลาคม 2014


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ :http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ :http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีการอนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ที่สำคัญดังนี้

อนุมัติงบช่วยชาวสวนยาง 58,500 ล้านบาท

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ รวมเป็นเงิน 8,500 ล้านบาท ซึ่งจะตรวจสอบบัญชีรายชื่อชาวสวนยางก่อนที่จะเริ่มจ่ายเงินให้ชาวสวนยางได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2557

โครงการที่ 2 การใช้วงเงินอนุพันธ์กันชนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ไปรับซื้อยางจากในตลาดและจากสหกรณ์เข้าเก็บในสต็อกไว้ขาย โครงการที่ 3 ใช้วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท จาก ธ.ก.ส. ให้สหกรณ์ชาวสวนยางไปซื้อยางแผ่นมาอัดเป็นก้อนขายให้ อ.ส.ย.

โครงการที่ 4 การให้วงเงินสินเชื่อกับผู้ประกอบการธุรกิจน้ำยางข้นจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการไปรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรมาทำน้ำยางข้น และโครงการที่ 5 การให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท กับชาวสวนยางรายย่อยที่มีสวนยางไม่เกิน 15 ไร่ โดยชาวสวนยางสามารถไปกู้เงินกับ ธ.ก.ส. ที่เตรียมวงเงินไว้ให้จำนวน 10,000 ล้านบาท

สั่งสภาความมั่นคงทำยุทธศาสตร์งบประมาณ 2559

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 โดยให้เพิ่มสภาความมั่นคง (สมช.) เข้าร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณด้วย เพื่อให้เป็นไปตามแผนบูรณาการงบประมาณทั้ง 18 แผนงาน ซึ่งจะแตกต่างไปจากเดิมที่รัฐบาลจะให้สำนักงบประมาณ จัดทำยุทธศาสตร์ร่วมกับสำนักงานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ โดยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาลเป็นแนวทาง แต่ไม่ได้รวมแผนด้านความมั่นคงไว้ด้วย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่จะเพิ่มเติมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ส่วนกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้บรรจุไว้ในงบประมาณปี 2558 นั้น ในกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2559 ขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าหากว่ายังมี ก็สามารถเสนอตั้งงบประมาณได้

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวถึงรายละเอียดจัดทำงบประมาณ และการจัดทำปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 โดยเห็นสมควรให้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการตามแนวทางในการจัดทำงบประมาณที่สำนักงบประมาณนำเสนอ คือ 1. การให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการ ทั้งในมิตินโยบายสำคัญของรัฐบาล และมิติของพื้นที่ต่างๆ โดยให้บูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และไม่ซ้ำซ้อน และจัดทำเป็นแผนบูรณาการรวม 18 แผนงาน ซึ่งแต่ละแผนงานจะมีคณะกรรมการบูรณาการโดยรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการบูรณาการงบประมาณ

2. ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนงบลงทุนเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2559 โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาให้ส่วนราชการทำแผนงบลงทุนเบื้องต้นให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และนโยบายเรื่องความมั่นคง และนโยบายรัฐบาลที่สำคัญ โดยให้ทุกส่วนราชการนำเสนอแผนงบลงทุนเบื้องต้นโดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีและรองนายกฯ ที่กำกับดูแลแต่ละกระทรวง ซึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะส่งมาให้สำนักงบประมาณพิจารณากรอบงบลงทุนเบื้องต้น ก่อนนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อจัดทำเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ต่อไป

3. การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น โดยพิจารณาถึงความพร้อมและความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีอยู่ มาประกอบการพิจารณาในการทำงบประมาณปี 2559

สำหรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จะเริ่มตั้งแต่ 21 ต.ค. 57 จนถึงนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 4 ก.ย. 58 โดยแยกเป็นขั้นตอนดังนี้ 1. การทบทวนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 กำหนดเวลาตั้งแต่ ต.ค. 2557 – ม.ค. 2558 2. การวางแผนงบประมาณ กำหนดเวลาตั้งแต่ ต.ค. 2557 – ม.ค. 2558 3. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี กำหนดเวลาตั้งแต่ 14 ม.ค. 2558 – 15 พ.ค. 2558 4. การอนุมัติงบประมาณ กำหนดเวลาตั้งแต่ พ.ค. 2558 – ก.ย. 2558

ทั้งนี้ ทุกส่วนราชการจะต้องส่งคำขอมาถึงสำนักงบประมาณภายในวันที่ 18 ก.พ. 2558 ส่วนการหารือเรื่องกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายและการคาดการณ์รายได้ประจำปี 2559 นั้น จะมีการประชุมร่วมกันของ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ในวันที่ 14 ม.ค. 2558

นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติผูกพันงบประมาณข้ามปีงบประมาณ 2558 รวม 1,587 รายการ วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท

อนุมัติเพิ่มงบโครงการพระราชดำริ 327.5 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) รวม 327,511,200 บาท เพื่อดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 21 โครงการ ในรายการงบกลาง ปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 199,732,200 บาท และงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินไม่เกิน 127,779,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติประกอบด้วย โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ฝายห้วย โซน 2 พร้อมระบบส่งน้ำอำเภอปัว จังหวัดน่าน, ฝายน้ำล้นบ้านโพธิ์ศรี อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร, ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำลำพะยัง อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์, โครงการชลประทานเมืองกาญจนบุรี, ปรับปรุงระบบส่งน้ำฝายผันน้ำเสริมฝายบ้านสายบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, โครงการอนุรักษ์ต้นรักและการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากยางรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, โครงการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริสวนป่าสิริกิติ์ที่ 11 (ฟาร์มบ้านขุนแตะ) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่, โครงการจัดทำระบบภูเขาเปียก วัดทิพยสุคนธาราม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี และโครงการการแก้ไขปัญหาไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการพัฒนาด้านบูรณาการ อื่น ๆ

แก้กฎหมายปิดช่องดาราเลี่ยงจ่ายภาษี

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการปรับปรุงมาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมขึ้น โดยกำหนดให้คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเสียภาษี โดยการให้บุคคลแต่ละคนในคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล นำเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลไปถือเป็นเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนตามสัดส่วน และให้บุคคลแต่ละคนดังกล่าวนำเงินได้พึงประเมินไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นของตนเพื่อเสียภาษีในนามแต่ละคน ขณะเดียวกัน กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญคำนวณเงินได้สุทธิว่าด้วยวิธีหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยไม่ให้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นเหมา

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่ดังกล่าว จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้จัดเก็บได้อย่างครบถ้วน จากที่ก่อนหน้านี้ตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเป็นหน่วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว และกำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้มาแล้ว เป็นเงินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ขณะที่การจัดตั้งคณะบุคคลเป็นไปได้ง่าย ไม่มีการตรวจสอบ เช่น ผู้ที่จับกลุ่มสร้างภาพยนตร์ สร้างละคร หรือเล่นหุ้น จึงถูกใช้เป็นวิธีการหนึ่งในการวางแผนภาษีอย่างแพร่หลาย โดยผู้เสียภาษีจะจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อกระจายเงินได้พึงประเมินเพื่อสร้างรายจ่าย จึงทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ นอกจากนี้ พบว่ามีผู้เสียภาษีโดยใช้ห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นหน่วยภาษีเพื่อกระจายรายได้เช่นกัน จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย