ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ประยุทธ์” สั่ง ครม. ช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง 2.4 พันล้านบาท – แก้สต็อกยาง 2 แสนตัน และย้ำภาษีมรดก ต้องออกให้ได้

“ประยุทธ์” สั่ง ครม. ช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง 2.4 พันล้านบาท – แก้สต็อกยาง 2 แสนตัน และย้ำภาษีมรดก ต้องออกให้ได้

14 ตุลาคม 2014


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เกี่ยวกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ ว่า มาตรการที่เร่งด่วนเฉพาะหน้าคือการเตรียมการแก้ปัญหาฤดูการผลิตข้าวนาปี และมีการแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะกรรมการในการกำกับดูแล มาตรการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2557/58 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่ให้มีการทุจริต นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการแก้ปัญหาราคายางในระยะสั้น และให้ทุกกระทรวงรายงานผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน

สำหรับการบริหารสต็อกยางที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนตันนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สต็อกยางในเวลานี้มีทั้งของภาครัฐและเอกชน ดังนั้นการระบายต้องให้ได้ราคาสูง และต้องไม่ให้ราคาภายในประเทศลดลงด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลเข้าไปอุดหนุน ทำให้เกิดการบิดเบือนราคา

“ถ้าเขาเชื่อมั่นว่ายางเหล่านี้เราคัดคุณภาพไว้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะซื้อเรา แล้วเราก็ต้องถือไว้ให้นานที่สุด ไม่ให้ออกไปชนกับฤดูกาลผลิตใหม่ ต่อไปต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เจรจาซื้อขายกับต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้กำลังเดินทางนี้อยู่ ก็คือทำอย่างไรให้ประเทศที่ใช้ยางมากๆ ให้เขาซื้อในราคาที่สูงขึ้น เพื่อช่วยเราในฐานะที่เป็นพันธมิตรกัน เพราะถ้าซื้อขายตามท้องตลาด ยังไงก็ราคาตกต่ำ เพราะรัฐซื้อกักตุนไว้จากนโยบายอุดหนุน ซึ่งมันทำให้บิดเบือนไปหมด” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ส่วนมาตรการด้านการระบายสต็อกข้าว 18 ล้านตัน พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลกำลังวางแผนมาตรการระยะต่อไป เพื่อรองรับผลผลิตข้าวนาปีฤดูกาลที่กำลังจะออกมา เช่น สนับสนุนให้ชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนแทนที่จะนำมาขายให้รัฐ ซึ่งจะสร้างต้นทุนการเก็บข้าวแก่รัฐเดือนละหลายร้อยล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการสร้างอาชีพเสริมช่วยเหลือในระหว่างฤดูการผลิตหรือช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ เช่น รับจ้างขุดลอกคูคลอง วันละ 200-300บาท เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้ามาตรการปรับโครงสร้างภาษี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เตรียมการใกล้เรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว เรื่องภาษีมรดกและการให้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ประชาชนอย่ากังวล เรื่องภาษีเป็นสัญลักษณ์ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนรวยก็เสียสละแบ่งปัน ถ้าภาษีมรดกออกไม่ได้ ภาษีโรงเรือนก็ออกไม่ได้ แล้วรัฐจะเอารายได้มาจากไหน ตอนนี้ดุลการค้าขาดดุล 2.5 แสนล้าน เงินกู้อะไรอีกเยอะแยะไปหมด แล้วจะเอารถไฟทางคู่ ทางเดี่ยว ก็ฝันเอาละกัน มันก็ต้องมีภาษี แต่ไม่ใช่รีดคนจน”
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า “ภาษีมรดกต้องผ่าน…ต้องช่วยกัน รัฐบาลทำอะไรต้องมีความชอบธรรม กฏหมายเรื่องนี้ ต้องออกให้ได้”

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre
ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre

มติคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ

อนุมัติ พรฏ. เว้นภาษีหนุนท่องเที่ยวหวังเงินสะพัด 3 พันล้าน

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยบุคคลธรรมดาที่มีค่าใช้จ่ายในเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้จำนวนร้อยละ 100 ของค่าใช้จ่าย

มาตรการนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการยกเว้นภาษีให้บุคคลธรรมดา 600 ล้านบาท และนิติบุคคล 400 ล้านบาท แต่จะทำให้เม็ดเงินสะพัดประมาณ 3,000 ล้านบาท

โดยหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา การยกเว้นภาษีทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ การท่องเที่ยว ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

จึงเห็นสมควรกำหนดมาตรการภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ และยกเว้นรัษฎากรให้แก่บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสำหรับเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ

“การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในการอบรมสัมมนาภายในประเทศจะกระตุ้นอุปสงค์ในการใช้บริการธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ และจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในวงกว้าง และการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ในการใช้บริการธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย มาตรการภาษีดังกล่าวคาดว่าจะมีผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาท” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการนี้มีผลตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกา และมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

อนุมัติ 2.4 พันล้านช่วยเกษตกรประสบภัยแล้งทำนาปรังไม่ได้

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงด้วยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ วงเงินรวม 2,401.04 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1,264.53 ล้านบาท และวงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 1,136.61 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของงบกลางรายการนี้ เป็นการขออนุมัติกรอบวงเงินไว้ก่อน

กระทรวงเกษตรรายงานว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำอื่น ๆ มีปริมาณไม่เพียงพอ จึงเห็นชอบการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยให้มีการออกประกาศทางราชการแจ้งพื้นที่ที่ให้งดการส่งน้ำและงดการทำนาปรังในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ รวม 26 จังหวัด

ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยในพื้นที่งดส่งน้ำและงดทำนาปรังให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 1. เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองจะไม่ได้รับการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติด้านการเกษตร 2. เกษตรกรทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานได้รับมาตรการช่วยเหลือเหมือนกัน 3. มาตรการหลัก โดยกรมชลประทานดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อซ่อมคูคลองในฤดูแล้ง จำนวน 7.54 ล้านคนต่อวัน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริมที่ประกอบด้วย โครงการอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง 3,574 ราย รายละ 2,900 บาท โครงการอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย รายละ 4,000 บาท

โครงการฝึกอาชีพในภาคเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรฝึกอาชีพเกษตรกรจำนวน 17,804 ราย แบ่งเป็น 9 หลักสูตร ได้แก่ ปุ๋ยหมัก (รายละ 800 บาท) สารชีวินทรีย์ (รายละ 800 บาท) ถั่วงอก (รายละ 500 บาท) เพาะเห็ด (รายละ 800 บาท) ขยายพันธุ์ไม้ผล (รายละ 500 บาท) ผึ้ง (รายละ 2,950 บาท) แมลงเศรษฐกิจ (รายละ 1,200 บาท) ซ่อมเครื่องจักรกล (รายละ 3,000 บาท) และการแปรรูป/ถนอมอาหาร (รายละ 1,000 บาท)

โครงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จำนวน 150,000 ไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือถั่วลิสง แก่เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกพืชตระกูลถั่ว

โครงการฝึกอาชีพนอกภาคเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 1,385 ราย แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย์และบริหาร ความคิดสร้างสรรค์ และเฉพาะทาง (รายละ 900 บาท)

“โครงการทั้งหมดนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำน้อยในช่วงเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2557/58 ที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ให้มีรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบจากภัยแล้งที่จะเกิดแก่เกษตรกร ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันต่อฤดูเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2557/58 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึง 30 เมษายน 2558” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการ-ที่ปรึกษารัฐมนตรี 21 ราย

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง พลตรี วิทูล บัณฑิตย์ ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอแต่งตั้งศาสตราจารย์สิทธิชัย โภไคยอุดม ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

และแต่งตั้ง นายนพดล กรรณิการ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมกับแต่งตั้งหม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ก.พ.

แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้

1. นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

2. นางสาวอาระยา นันทโพธิเดช รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3. นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

4. นางรวีวรรณ ภูริเดช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

5. นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ในกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 8 ราย ดังนี้

1. นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

2. นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3. นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

4. นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

5. นายสุรพงษ์ เชียงทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

6. นายหทัย อู่ไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

7. นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

8. โอน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 4 ราย ดังนี้

1. นายชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง

2. นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

3. นายสุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

4. นายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง