ThaiPublica > คนในข่าว > ระเบิดการเมืองในรัฐสภาอินโดนีเซียและรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรก

ระเบิดการเมืองในรัฐสภาอินโดนีเซียและรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรก

29 ตุลาคม 2014


อิสรนันท์

คงจะเป็นธรรมชาติของการเมืองในหลายประเทศแถบทวีปผิวเหลืองเอเชียที่ไม่มีวันสงบนิ่งได้นานนัก เห็นได้ชัดจากการเมืองในอิเหนาอินโดนีเซียซึ่งค่อนข้างมีเสถียรภาพมาตลอดช่วง 8 ปีสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน เจ้าของสมญาลับๆ “ซ่อนดาบในรอยยิ้ม” แต่ขณะนี้ การเมืองในประเทศนี้ส่อเค้าวุ่นวายช่วงที่กำลังผ่องถ่ายอำนาจให้กับโจโค วิโดโด หรือ “โจโควี” เจ้าของสโลแกน “ประชานิยมแบบโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน” ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นี้ หลังจากมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ค. จนทำให้ชาวเมืองอิเหนาต้องร้อง “ยี้” ด้วยความผิดหวังถึง 2 ครั้งซ้อน

“ยี้” แรกมีขึ้นเมื่อพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ผนึกกำลังกันกลายเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาผลักดันคนของพรรคฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนฯ และประธานวุฒิสภาคนใหม่ รวมทั้งรองประธานสภาของทั้ง 2 สภา อีก 4 คน ทันทีที่สิ้นคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินชี้ขาดว่าพันธมิตรฝ่ายค้านมีสิทธิเสนอชื่อและแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนฯ เนื่องจากเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ทลายกรอบประเพณีดั้งเดิมที่ว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาจะได้นั่งเก้าอี้ประธานรัฐสภา ตามด้วย “ยี้” ครั้งที่ 2 เมื่อเห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดแรกของโจโควี เพราะเท่ากับตอกย้ำว่าการเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์และการเล่นพรรคเล่นพวก

ทั้งสอง “ยี้” นี้เป็นสัญญาณเตือนโจโควีล่วงหน้าว่าการเมืองในประเทศนี้คงจะทวีความร้อนระอุมากขึ้น หากยังขืนจะคิดแบบนักการเมืองรุ่นเก่าที่หวังจะชนะในเกมการเมืองเท่านั้น โดยไม่ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ หรือต้องพูดจริงทำจริง ไม่ใช่สักแต่ผายลมออกจากปากเหมือนนักการเมืองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องที่ให้สัญญาว่ารัฐบาลกับรัฐสภาจะร่วมกันทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ประชาชนคับข้องใจในความสัมพันธ์ของ 2 สถาบัน

โจโค วิโดโด หรือ โจโควี เจ้าของสโลแกน "ประชานิยมแบบโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน" ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อวันที่ 20 ตค.2557(คนกลาง)ที่มาภาพ : http://cdn.rt.com/files/opinionpost/30/ba/c0/00/joko-widodo.si.jpg
โจโค วิโดโด หรือ โจโควี เจ้าของสโลแกน “ประชานิยมแบบโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน” ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2557 (คนกลาง) ที่มาภาพ: http://cdn.rt.com/files/opinionpost/30/ba/c0/00/joko-widodo.si.jpg

“ระเบิดการเมือง” ลูกแรกของโจโควีมีขึ้นเมื่ออดีตนายพลปราโบโว สุเบียนโต ลูกเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ที่ถูกปลดจากตำแหน่งในข้อหาคอร์รัปชันและสอบตกการเลือกตั้งประธานาธิบดีแข่งกับโจโควี ได้เป็นมือประสานสิบทิศดึงพันธมิตรฝ่ายค้านแดง-ขาว 6 พรรค หรือ เมราห์ ปูตีห์ ประกอบด้วยพรรคโกลคาร์ที่ตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต, พรรคเกรนินทรา, พรรคประชาธิปัตย์ของยูโดโยโน, พรรคเนชั่นแนลแมนเดท, พรรคพรอสเพอรัส จัสทีส และพรรคสหพัฒนา จับมือกันผลักดันเสตยา โนวันโท วัย 59 ปี หัวหน้ามุ้งใหญ่โกลองกัน คาร์ยา ภายในพรรคโกลคาร์ ขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนฯ คนใหม่ได้สมปรารถนาด้วยเสียงสนับสนุนรวมกัน 347 เสียง

นอกเหนือจากผลักดันคนของพรรคฝ่ายค้านได้ยึดเก้าอี้ประธานวุฒิสภาและรองประธานของ 2 สภา รวม 4 คน ส่งผลให้นักการเมืองหลายคนจากหลายพรรคการเมืองกันพากันวอล์กเอาต์จากที่ประชุมโดยอ้างว่าไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย เนื่องจากกีดกันไม่ให้พรรคการเมืองอีกหลายพรรคมีโอกาสได้ร่วมหารือเพื่อเลือกประธานสภาฯ คนใหม่

ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ว่าไร้มารยาททางการเมืองเป็นที่สุด เพราะควรจะให้โอกาสพรรคการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของโจโควีเสนอชื่อประธานสภาผู้แทนฯ ก่อนในฐานะที่เป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งด้วยที่นั่ง 330 ที่นั่ง

อย่างไรก็ดี รอยยิ้มแห่งชัยชนะของพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค พลันก็กลายเป็นยิ้มค้าง เพราะเพียงแค่ชั่วข้ามคืนที่ได้รับเลือกและให้สัตย์สาบานตนว่าจะช่วยให้ภาพของสภาผู้แทนฯ มีความโปร่งใสและตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น นอกเหนือจาก “ต้องการเปิดประตูสภาผู้แทนฯ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกลไลการตรวจสอบที่มีอยู่มากขึ้น” เสตยาก็ต้องเผชิญกับกระแสการตรวจสอบจากสังคมที่รุมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมกับการสวมหัวโขนนี้หรือไม่ เนื่องจากเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญในคดีทุจริตคอร์รัปชันในหลายๆ คดีด้วยกันตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นประธานสภาผู้แทนฯ ที่ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำงานด้วยซ้ำไป

เสตยา โนวันโท เกิดที่บันดุง ในชวาตะวันตก เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2498 สร้างชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นขุมเงินขุมทองหรือนายทุนใหญ่ของพรรคโกลคาร์ ก่อนจะตัดสินใจสลัดคราบนักธุรกิจมาเล่นการเมืองเต็มตัว และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกในสังกัดพรรคโกลคาร์เมื่อปี 2542 จากนั้นก็ยังได้รับเลือกตั้งติดต่อกันถึง 4 สมัยซ้อน แต่นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรก ก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีทุจริตคอรัปชั่นอย่างน้อย 3 คดีใหญ่ เริ่มจากถูกกล่าวหาในคดีฉ้อฉลในธนาคารบาหลี ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ในฐานะที่เป็นธนาคารหลักในการโอนเงินจำนวน 546,000 ล้านรูเปียห์ (ราว 1,344 ล้านบาท) ให้บริษัทพีที อีรา พรีมา (อีจีบี) ของเสตยา อ้างว่าเป็นค่าคอมมิชชั่นที่อีจีบีช่วยวิ่งเต้นให้ธนาคารบาหลีได้เงินจากการกู้ยืมระหว่างธนาคาร 946,000 ล้านรูเปียห์ (ราว 2,100 ล้านบาท) คืนจากธนาคารหลายแห่งที่ถูกสั่งปิดและอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานธนาคารเพื่อการฟื้นฟู ส่งผลให้ธนาคารบาหลีล้มครืนในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี ศาลก็รีบตัดสินว่าเสตยาไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตนี้ ขณะที่ประธานธนาคารบาหลีถูกตัดสินจำคุกแต่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ

ในปีเดียวกัน เสตยายังถูกกล่าวหาว่าเป็น 1 ใน 8 ส.ส. จากพรรคโกลคาร์ที่รับสินบนรายละ 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 30 ล้านบาท) รวม 8 ล้านดอลลาร์จากรัสลี ไซนัล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดรีเยา แลกกับการออกเสียงสนับสนุนให้เจียดเงินงบประมาณแผ่นดินไปใช้จัดงานกีฬาแห่งชาติรีเยา 2012 ต่อมาเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้ตัดสินให้จำคุกรัสลี ซึ่งสังกัดพรรคโกลคาร์เช่นกัน เป็นเวลา 14 ปีในคดีทุจริตนี้ รวมไปถึงคดีการอนุญาตให้รุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนที่เปลาลาวัน

คดีใหญ่อีกคดีหนึ่งที่เสตยาถูกลากเข้าไปพัวพันด้วย ก็คือคดีที่อากิล มอคตาร์ อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ และอดีต ส.ส. พรรคโกลคาร์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหารับสินบนมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์ (ราว 150 ล้านบาท) จากกลุ่มหัวหน้านักการเมืองท้องถิ่น โดยพยานหลักฐานในชั้นศาลชี้ชัดว่าเสตยาอาจจะเป็นนายทุนหนุนหลังซูการ์โว ผู้ว่าราชการจังหวัดชวาตะวันออก ให้จ่ายสินบนให้อากิล หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างการเลือกตั้งที่ชวาตะวันออก จนต้องยื่นฟ้องร้องต่อศาลเมื่อปีที่แล้ว ไม่นับรวมกรณีที่อากิลได้ฟอกเงินจำนวนมากถึง 160,000 ล้านรูเปียห์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และอีก 20,000 ล้านรูเปียห์ ขณะที่เป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ

อย่างไรก็ดี ประธานสภาผู้แทนฯ คนใหม่ของแดนอิเหนายังคงปากแข็งยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวปฏิเสธทั้ง 3 คดีใหญ่นี้ ไม่นับรวมกรณีที่มีชื่อติดอยู่ในบัญชีของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตฉ้อฉล (เคพีเค) ในข้อหาทุจริตอีกหลายข้อหาด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่ถูกกันไว้ในฐานะพยาน แม้ว่าจากคำให้การในชั้นศาลของพยานหลายคนจะชี้ชัดว่าเสตยามีส่วนพัวพันโดยตรงในคดีเหล่านั้นก็ตาม

สืบเนื่องจากข่าวฉาวโฉ่ดังกล่าว ประธานเคพีเคจึงกล่าวแสดงความเสียใจที่สภาผู้แทนฯ เลือกเสตยาเป็นประธานสภาฯ เพราะอาจจะสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสภาผู้แทนฯ ได้ แต่ไม่เชื่อว่าการแต่งตั้งครั้งนี้จะช่วยฟอกผิดให้เสตยา หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เคพีเคตรวจสอบการกระทำที่อาจขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจากรายงานของเคพีเคระบุว่านับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มี ส.ส. กว่า 70 คนต้องคดีว่าพัวพันกับการคอร์รัปชัน ในจำนวนนี้มีอดีต ส.ส. อย่างน้อย 55 คน ต้องโทษจำคุกในข้อหานี้

ขณะเดียวกัน หัวหน้าผู้ประสานงานการตรวจสอบของกลุ่มฟอรัมเพื่อความโปร่งใสของการจัดทำงบประมาณย้ำว่าการตั้งเสตยาเป็นประธานสภาผู้แทนฯ จะทำให้ขบวนการตรวจสอบการทุจริตฉ้อฉลต้องถดถอยหลัง เนื่องจากกฎหมายให้เอกสิทธิคุ้มครอง ส.ส. จากการถูกสอบสวนในคดีคอร์รัปชัน

ไปๆ มาๆ ระเบิดการเมืองลูกแรกกลับไประเบิดใส่พรรคพันธมิตรฝ่ายค้านเองจนหน้าแตกเย็บไม่ติดเป็นแถวๆ แต่ช่วงไล่เลี่ยกัน โจโควีก็ไม่ได้เปรียบมากขึ้นสักเท่าใดนักเมื่อผลการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีปรากฏว่าประชาชนต่างร้องยี้เป็นแถวๆ ว่าเต็มไปด้วยนักการเมืองน้ำเน่าและเล่นพรรคเล่นพวก แม้ว่าโจโควีจะพยายามชูประเด็นว่ามีผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีมากเป็นประวัติการณ์ถึง 8 คน แต่ก็ไม่ช่วยให้ภาพของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ดูดีขึ้นต่อย่างใด เพราะหนึ่งในรัฐมนตรีหญิงหน้าใหม่ก็คือ ปวน มหารานี บุตรสาวของบุตรสาวอดีตประธานาธิบดีเมกาวะตี ซูการ์โนบุตรี หัวหน้าพรรคการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่นายโจโกวีสังกัด ซึ่งได้รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีประสานงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงอื่นๆ อีกชั้นหนึ่ง

เรตโน เลสตารี ปรีอันซารี มาร์ซูดี รมต.ต่างประเทศที่ติดดิน

เรตโน เลสตารี ปรีอันซารี มาร์ซูดี รมต.ต่างประเทศ อินโดนีเซีย ที่มาภาพ : http://i.guim.co.uk/static/w-620/h--/q-95/sys-images/Guardian/Pix/pictures/
เรตโน เลสตารี ปรีอันซารี มาร์ซูดี รมต.ต่างประเทศ อินโดนีเซีย ที่มาภาพ: http://i.guim.co.uk/static/w-620/h–/q-95/sys-images/Guardian/Pix/pictures/

แม้ว่านักวิชาการแดนอิเหนาอินโดนีเซียต่างพากันร้องยี้ พร้อมกับส่ายหน้าด้วยความผิดหวังในรายชื่อคณะรัฐมนตรีเพราะแทบไม่มีมืออาชีพเข้ามาแทรก จะมียกเว้นก็แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าตั้งคนได้เหมาะสมกับตำแหน่ง แถมยังเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของแดนอิเหนาอีกด้วย เนื่องจากเป็นนักการทูตอาชีพผู้โดดเด่นที่มีกิตติศัพท์ก็เลื่องลือมานานว่าเธอเป็นหญิงเหล็กที่ “ทำงานหนัก เด็ดเดี่ยวและมีวิสัยทัศน์”

เธอผู้เป็นดาวเด่นที่สุดใน ครม. ชุดนี้ก็คือ เรตโน เลสตารี ปรีอันซารี มาร์ซูดี วัย 52 ปี นักการทูตอาชีพมานานเกือบ 30 ปีเต็ม ทันทีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิเทศสัมพันธ์แห่งมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา ในยอร์กยาการ์ตา เมื่อปี 2528 แล้วเริ่มงานแรกที่กระทรวงการต่างประเทศ นับจากนั้นก็กลายเป็นข้าราชการดาวรุ่งที่อนาคตมีแต่สดใส จากการที่เธอพร้อมทำงานหนัก ทุ่มเทเวลาทำงานเต็มที่ และพร้อมจะรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ทำงานแบบข้าราชการทั่วไปที่เข้างานเวลา 8 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น

เรตโน มาร์ซูดี เกิดที่เมืองเซมารัง จังหวัดชวากลาง เมื่อเดือน พ.ย. 2505 และเติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นวัฒนธรรมชวาขนานแท้ “ฉันเป็นผู้หญิงชวาตัวจริง เพราะเหตุนี้ฉันจึงชอบใบเตยหอมและดนตรี” เหนืออื่นใด เธอยึดมั่นในคุณค่าของคำสอนของบรรพบุรุษที่ว่าผู้หญิงชวาจะต้องฉลาด ตื่นตัว และอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งหมดนี้ทำให้เธอเป็นคนติดดินแม้ว่าจะประสบความสำเร็จได้เป็นนักการทูตหญิงที่เดินทางไปประจำการในต่างประเทศตั้งแต่อายุยังน้อย และเพราะความยึดมั่นในวัฒนธรรมของชวา

ทุกครั้งที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ เธอจึงนำภาพวาดและศิลปะพื้นเมืองของชวาติดตัวไปประดับที่สถานทูตทุกแห่งที่ไปประจำการ เริ่มจากการไปประจำการที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะเลขานุการเอกฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญไม่ใช่น้อย เนื่องจากเนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในพันธมิตรใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียและการค้าของ 2 ประเทศ มีมูลค่าสูงถึงปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์

แต่ยังไม่ทันจะอยู่ครบวาระ ด้วยความมีฝีมือ เธอจึงถูกเรียกตัวกลับมาที่จาการ์ตาเพื่อรับผิดชอบงานด้านสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกรมยุโรปและอเมริกา เมื่อปี 2544 แล้วย้ายไปเป็นผู้อำนวยกรมยุโรปตะวันตก อีก 4 ปีต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ขณะที่มีอายุแค่ 42-43 ปีเท่านั้น แล้วก็ถูกเรียกตัวกลับมาเป็นอธิบดีกรมอเมริกาและยุโรป ก่อนจะโยกไปกินตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำเนเธอร์แลนด์ขณะมีอายุแค่ 50 ปี หรือ 15 ปีหลังจากการเคยมาประจำที่กรุงเฮกครั้งแรก ก่อนจะกระโดดขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของแดนอิเหนาในอีก 2 ปีให้หลัง

ถึงแม้ว่าจะต้องทำงานหนักในฐานะเอกอัครราชทูตหญิง เรตโน มาร์ซูดี กล่าวว่า เธอคงจะก้าวมาถึงจุดนี้ไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวที่เข้าใจดีถึงการทำงาน โชคดีที่สามีซึ่งเป็นสถาปนิกและลูกชายอีก 2 คน โดยคนโตทำงานอยู่ที่บริษัทบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ้ป ส่วนคนเล็กกำลังเรียนอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา ต่างเข้าใจดีและก็เป็นส่วนสำคัญในการให้กำลังใจ “ฉันไม่ใช่คนที่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ฉันค่อนข้างโชคดีที่คนในครอบครัวจะคอยเป็นกระจกส่องให้เห็นว่าฉันเปลี่ยนไปหรือไม่ ทำให้ฉันใช้ชีวิตแบบติดดินเสมอมา “

นอกเหนือจากครอบครัวแล้ว เรตโนกล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จก็คือผลพวงจากนโยบายเปิดกว้างโดยไม่มีการกีดกันหรือการแบ่งแยกเพศพันธุ์ในกระทรวงการต่างประเทศ เธอเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์เมื่อปี 2548 ว่าทุกวันนี้ในกระทรวงการต่างประเทศมีผู้หญิงเป็นนักการทูตมากขึ้น โดยเปรียบเทียบกับปี 2547 ที่มีนักการทูตหน้าใหม่ 98 คนในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 47 คน ใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งมีนักการทูตหญิง 48 คนจากนักการทูตทั้งหมด 97 คน และแนวโน้มนี้ยังทำต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ สะท้อนถึงการปรับปรุงคุณภาพของนักการทูตหญิงและความสำเร็จของนโยบายที่ให้ความเสมอภาคทางเพศในกระทรวงการต่างประเทศ

ในส่วนของนักการทูตที่เธอเป็นต้นแบบนั้น เรตโนยอมรับว่ามีหลายคนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นซาบัม เซียเกียน อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ ซึ่งภายหลังได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำออสเตรเลีย เรตโนเผยว่าเธอเรียนรู้ในเรื่องการรวบรวมข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องและความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ได้ล่วงหน้าจากเซียเกียนไม่ใช่น้อย พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้จากอาลี อาลาตาส ในฐานะนักการทูตผู้สง่างามและมีน้ำใจ อีกคนหนึ่งก็คือฮัสซัน วีระยูดา เรื่องการต้องตั้งสติทำใจเย็นเวลาเผชิญกับปัญหา และจากอาริซาล เอฟเฟนดี ซึ่งต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

หลังจากมีข้อกังขาว่าผู้หญิงเหมาะกับการเป็นนักการทูตมากน้อยเพียงใด เรตโนชี้ว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะคิดง่ายๆ ว่างานด้านการทูตนั้นเป็นงานในอุดมคดติที่เหมาะกับผู้ชายเท่านั้น แต่ถ้าดูจากองค์ประกอบจริงๆ แล้ว เป็นงานที่หมาะสมกับผู้หญิงไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะดูจากด้านความซื่อสัตย์ ความเห็นอกเห็นใจหรือความสามารถเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น ความระมัดระวังตัวและความละเอียดอ่อน

รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของแดนอิเหนายังเผยถึงเคล็ดลับในการรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้เข้มแข็ง แข็งแรง ผ่องแผ้ว ไม่เครียดและพร้อมจะรับมือกับปัญหาโลกแตก “ตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวันและ 7 วันตลอดทั้งสัปดาห์ ” ว่าทุกวันเธอจะสวดมนต์ ว่ายน้ำ และวิ่งจ็อกกิ้ง

“ฉันจะวิ่งจ็อกกิ้งวันละ 5 กิโลเมตรทุกวัน ในช่วงวันหยุดก็จะต่อด้วยการว่ายน้ำติดต่อกันหนึ่งชั่วโมงรวดโดยไม่หยุดพัก” นอกจากนี้ ถ้าหากมีเวลาขณะต้องรอต่อเครื่องบินที่สนามบินในต่างประเทศ เธอก็จะเปลี่ยนชุดเป็นชุดกีฬาสบายๆ ไปออกกำลังกายในสนามบินนั้นๆ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง และเมื่อเดินทางถึงประเทศที่ต้องประจำแล้ว สิ่งแรกที่จะทำทันทีที่มีโอกาสก็คือต้องวิ่งจ็อกกิ้ง เพราะจะช่วยปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ดี และยังช่วยแก้ปัญหาเจ็ตแล็กหรืออาการอ่อนล้าจากการเดินทางนานๆ ได้ดีที่สุด