ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สัญญาณอนาคตส่งออกไทย เหตุเศรษฐกิจโลกฉุด ขีดความสามารถถดถอย แนวโน้มระยะยาวไทยย่ำแย่

สัญญาณอนาคตส่งออกไทย เหตุเศรษฐกิจโลกฉุด ขีดความสามารถถดถอย แนวโน้มระยะยาวไทยย่ำแย่

1 ตุลาคม 2014


ดัชนีการส่งออกมีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เมื่อหลายสำนักทางเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คาดการณ์ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยปี 2557 จะอยู่ในระดับหดตัว จึงเป็นสัญญาณความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 7 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันการส่งออกกลับเติบโตต่ำว่าที่เคยเป็นมา โดยการคาดการณ์ล่าสุดในรายงานนโยบายการเงินของ ธปท. ระบุว่าการส่งออกหดตัว -0.4% ต่ำกว่าช่วงปี 2542-2556 (ไม่รวมปี 2552 เนื่องจากเกิดวิกฤตการเงินโลก) ที่ไทยส่งออกได้เฉลี่ยสูงถึงปีละ 12% จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

สำหรับอุปสรรคสำคัญของการส่งออก นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว ปัญหาเชิงโครงสร้างก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เคยให้สัมภาษณ์ถึง “ความเข้มแข็งของประเทศไทยในปัจจุบัน” ในการปาฐกถาพิเศษเปิดศูนย์ “Financial Communication Center” คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 23 มิถุนายน 2557 ว่า

“เศรษฐกิจการเงินช่วยสนับสนุนความเข้มแข็งได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ทำด้านอื่น ผ่านไปสักพักหนึ่ง เศรษฐกิจการเงินก็รับไม่ไหว ตัวอย่างเช่น การส่งออก แต่ก่อนเราพูดถึงการส่งออกประเทศโต 20% ตอนนี้จะเห็นทันทีว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว เหตุใดเราถึงไม่สามารถฟื้นด้านส่งออกได้เร็วเหมือนเศรษฐกิจโลก ตัวนี้ก็ชี้ได้ว่าเรามีข้อกำจัดบางอย่างอยู่ หรือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เราก็รู้ว่าการขนส่งสินค้าของเราต้นทุนค่อนข้างสูง ไม่นับเรื่องการเดินทางของคนเองก็ไม่ได้สะดวกนัก หรือจะเป็นเรื่องฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่เราเคยภูมิใจ พวกฮาร์ดดสก์ไดรฟ์ซึ่งใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) แต่ปัจจุบันเขาใช้สมาร์ทโฟนแล้ว ซึ่งเราผลิตไม่ได้ ภาคอิเล็กทรอนิกส์เราจึงไม่เติบเหมือนบางประเทศ หรือเรื่องแรงงานที่ออกนอกประเทศเร็วๆ นี้ก็กระทบการผลิตในประเทศ เหล่านี้เป็นความท้าทายทั้งสิ้น เศรษฐกิจการเงินอย่างเดียวเอาไม่อยู่”

การส่งออกของไทย

เมื่อหันกลับมาดูตัวเลขการส่งออกในปัจจุบัน เฉพาะปี 2557 จนถึงเดือนสิงหาคม ขยายตัวติดลบไปแล้วกว่า -1.4% ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีเพียง 2 เดือนเท่านั้นที่การส่งออกเติบโต คือเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมิถุนายน ซึ่งเติบโตเพียง 2.1% และ 3.8% ตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลล่าสุดเดือนสิงหาคม การส่งออกหดตัวไปถึง -6.6% ตามข้อมูลของ ธปท. และ -7.4% ตามข้อมูลของ สศค.

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่าสาเหตุที่เดือนสิงหาคมการส่งออกหดตัวมากกว่าเดือนอื่น นอกจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการส่งออกทองคำที่ลดลง ซึ่งไม่สะท้อนภาคการผลิตหรือการลงทุน เมื่อหักออกไปการส่งออกเดือนนี้จะหดตัวเพียง -1.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยไปยังตลาดต่างประเทศ มีเพียงตลาดประเทศอาเซียนกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม) ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

“ส่วนหนึ่งสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของบ้านเขาเหมือนกัน อย่างเช่น หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่เคยขยายตัวได้ดี ตอนนี้หดตัว (-8.7%) ส่วนหนึ่งสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจอียูและญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา เรื่องของอียูก็ทราบอยู่แล้วว่าเป็นผลจากการเมืองในภูมิภาค ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีเรื่องของการขึ้นภาษี ทำให้ไม่ได้ขยายตัวเท่าที่ควร อีกตัวหนึ่งก็คือภาคปิโตรเคมี ซึ่งสะท้อนจากจีนที่เป็นตลาดหลัก ก็หดตัวด้วย (-3%)” ดร.รุ่ง กล่าว

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเดือนสิงหาคม สินค้าเกษตรส่งออกมากขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยรวมเติบโต 9.4% เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ดี แม้จะมีปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำอยู่ ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 4.5% ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่จากข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี ทำให้การฟื้นตัวของไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

กำลังการผลิต

การลงทุนภาครัฐ-เอกชน

การบริโภคภาคเอกชน-รัฐ

ด้านศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกรายเดือนของไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนท้ายๆ ของปี 2557 ตามอานิสงส์ปัจจัยทางด้านฤดูกาลรับช่วงเทศกาลทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ และจากการเร่งใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในตลาดยุโรป แต่เนื่องจากภาพรวมการส่งออกที่มีสัญญาณซบเซามายาวนานตลอดช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 (ซึ่งยังคงหดตัวลงร้อยละ 1.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) และสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังมีภาพไม่แน่ชัดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ส่งผลให้ปรับลดการส่ง

ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยพยากรณ์ว่า “การฟื้นกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกในปีนี้เป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่มีความยากมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสินค้าส่งออกของไทยยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มตกต่ำ ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังก้าวไม่ทันกับเทคโนโลยี”

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ประเมินว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยประมาณ 1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยังวิเคราะห์ด้วยว่า การส่งออกที่หดตัวเดือนนี้ มีปัจจัยสำคัญทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน กำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และผลกระทบจากการขึ้นภาษีการค้าในญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกสินค้าหลักหลายรายการของไทยยังคงไม่ฟื้นตัว

ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์บางรายเริ่มย้ายการผลิตไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของไทย เพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ในอินโดนีเซียที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยในระยะต่อไป และเมื่อประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางที่ยังคงตกต่ำ จะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้และในอนาคตขยายตัวได้ไม่มาก