ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกหั่นจีดีพีไทย “ครึ่งหนึ่ง” สวนทาง ASEAN – ชี้ปีหน้ายังโตต่ำสุดแค่ 3.5%

ธนาคารโลกหั่นจีดีพีไทย “ครึ่งหนึ่ง” สวนทาง ASEAN – ชี้ปีหน้ายังโตต่ำสุดแค่ 3.5%

6 ตุลาคม 2014


เมื่อ 6 ตุลาคม 2557 ดร.อูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย และ ดร.กิริฏา เภาพิจิตร นักเศรษศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก แถลงข่าวรายงาน East Asia Pacific Economic Update ครั้งที่สองของปี
เมื่อ 6 ตุลาคม 2557 ดร.อูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย และ ดร.กิริฏา เภาพิจิตร นักเศรษศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก แถลงข่าวรายงาน East Asia Pacific Economic Update ครั้งที่สองของปี

เมื่อ 6 ตุลาคม 2557 ดร.กิริฏา เภาพิจิตร นักเศรษศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวรายงาน East Asia Pacific Economic Update ครั้งที่สองของปี โดยปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของประเทศไทยลงเหลือ 1.5% จากเดิม 3% ให้เหตุผลว่าการบริโภคและลงทุนภายในประเทศ และการส่งออก ในครึ่งปีหลังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะปัญหาของภาคการส่งออก ที่จะไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นแล้ว แต่เป็นเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าที่ส่งออก ว่าจะผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาดได้อย่างไร จึงประมาณการส่งออกไม่ได้สูงมาก

ขณะที่การบริโภคของภาคครัวเรือนจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่มากระทบ ส่วนหนึ่งคือความมั่นใจของประชาชนเรื่องรายได้ในอนาคต ซึ่งยังไม่ค่อยแน่นอน รวมถึงปัจจุบันภาคครัวเรือนมีหนี้สูงถึง 80% ของจีดีพี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่ยังไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากการบริโภคและการส่งออกที่ไม่ได้ขยายตัวมากอย่างที่คาดไว้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้ามากนัก สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 60% เท่านั้น

“เรื่องการลงทุน เอกชนจะลงทุนก็ต่อเมื่อเขามีแนวโน้มจะผลิตมากขึ้น ไม่ว่าสำหรับการส่งออกหรือบริโภคภายในประเทศ ซึ่งพอมันเติบโตอย่างช้าๆ การลงทุนเองก็คงไม่ขยายตัวเร็ว พอเรามาดูตัวเลขการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 60% ค่อนข้างน้อย เขาอาจจะคิดว่าไม่ต้องลงทุนหรอก ทำให้กว่าจะลงทุนคงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง” ดร.กิริฏา กล่าว

ประมาณการจีดีพีของธนาคารโลก

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาเมื่อต้นเดือนตุลาคม วงเงิน 364,400 ล้านบาท (ไม่รวมมาตรการเร่งรัดการการอนุมัติคำของเสริมการลงทุน 380 ราย วงเงิน 429,208 ล้านบาท) ซึ่งไม่ถูกรวมในการประมาณการครั้งนี้ น่าจะส่งให้จีดีพีในไตรมาสสุดท้ายของปีเพิ่มขึ้นได้ 0.78% เป็น 2.28% อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยความเสี่ยงด้านอื่นๆ ทำให้ธนาคารโลกคงการประมาณการไว้ที่ 1.5% เช่นเดิม ขณะที่ผลกระทบในปีหน้า น่าจะส่งผลให้จีดีพี เพิ่มขึ้นอีก 1.49%

“ต้องเรียนตามตรงเม็ดเงินที่ลงมันไม่ได้เยอะ ถ้าเทียบกับการบริโภคประมาณ 50% ของจีดีพี แต่การลงทุนภาครัฐมันแค่ 5% เขาก็พยายาม แต่ถ้าจะทำให้ประเทศเคลื่อนได้ มันต้องใช้เงินมากกว่านี้ ซึ่งรัฐคงมีไม่พอ ก็ทำเท่าที่ทำได้ แต่ถ้าจะทำให้รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจมันต้องดี เพราะการบริโภคตั้ง 50% ของจีดีพี” ดร.กิริฏา กล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนพบว่า ประเทศลาว, เมียนมาร์ และมาเลเซีย จีดีพีปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งที่แล้ว เฉพาะเมียนมาร์ที่ปรับเพิ่มเป็น 8.5% จากเดิมคาดไว้เพียง 7.8% โดยสาเหตุสำคัญคือการปฏิรูปเชิงนโยบายและสถาบัน รวมไปถึงนโยบายที่เปิดประเทศมากขึ้น ขณะที่มาเลเซียได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่เข้มแข็งช่วงครึ่งแรกของปี ส่วนตัวขับเคลื่อนหลักของประเทศลาว มาจากการก่อสร้างในภาคทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างเข็มแข็ง

ขณะที่ ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเชีย จีดีพีถูกปรับลดลงเล็กน้อย เพียง 0.1-0.2% โดยผู้วางแผนนโยบายของอินโดนีเชียต้องการปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อจัดการกับปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและความไม่แน่นอนในเงื่อนไขทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ส่วนฟิลิปปินส์ เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ลดลง ขณะที่เวียดนาม มีปัญหาการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากฐานะของธนาคารที่ไม่ดีนัก แม้จะมีการผ่อนปรนนโยบายการเงินแล้วก็ตาม ส่วนประเทศกัมพูชายังคงประมาณการจีดีพีไว้เท่าเดิม ส่งผลให้โดยรวมภูมิภาคปีนี้เติบโตลดลง 4.5% จากเดิม 4.8%

ดร ชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ยังไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เนื่องจากเออีซีเป็นกระบวนการระยะยาว รวมทั้งภูมิภาคเองได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว จึงควรมองผลกระทบในระยะยาวมากกว่าที่จะมองในระยะเวลาปีสองปี นอกจากนี้ เออีซี ยังเป็นเพียงข้อตกลงว่าจะเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงจริง ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่า เช่น ต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงในภูมิภาค เป็นต้น

ดร.กิริฏา กล่าวเสริมว่า ภายใต้กรอบเออีซี 3 เรื่องคือ เปิดเสรีการค้า บริการ และแรงงาน 7 วิชาชีพ ปัจจุบันได้มีการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศแล้ว เหลือเพียงประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ที่จะลดภาษีการค้าเหลือ 0% ในปี 2558 ทำให้เหลือแค่ประเด็นการเปิดเสรีแรงงานและบริการ ซึ่งต้องมาตกลงกันเพิ่มเติมอีก

“เออีซี คงไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนมากไปกว่านี้ หมายถึงว่าสิ้นปีหน้าแล้ว พอวันที่ 1 มกราคม มีคนพูดขำๆว่า ตื่นมาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เป็นวันหยุด วันที่ 2 ก็ยังเหมือนเดิม คืออย่างที่เรียนประเทศไทยมีการทำไปบ้างแล้ว คือเปิดเสรีการค้า เหลือด้านบริการและเคลื่อนย้ายคน ซึ่งยังตกลงในระดับปฏิบัติการไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างก็รอๆดูกันอยู่” ดร.กิริฏา กล่าว

จีดีพีต้นปีเทียบกับปัจจุบัน

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยปีหน้า ดร.กิริฎา ระบุว่าไทยน่าจะเติบโตได้ 3.5% โดยมีปัจจัยหลักคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะเติบได้ 10-11% และการลงทุนภาครัฐที่น่าจะเติบโตได้ 10% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำของปี 2557 ซึ่งถ้าเบิกจ่ายได้มากกว่า 80% ก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ขณะเดียวกัน การลงทุนทั้งภาคเอกชนก็จะเริ่มฟื้นตัว จากความมั่นคงทางการเมือง ขณะที่การส่งออกจะได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าปี 2557

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนแล้วยังเติบโตต่ำที่สุด โดย เมียนมาร์ โตสูงสุด 8.5% ขณะที่ประเทศที่โตต่ำรองจากไทยคือ มาเลเซียที่ 4.9% โดยรวมภูมิภาคจะเติบโตได้ 5%

ประมาณการจีดีพีปี 2557 แล

ด้านพัฒนาการเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ชะลอตัวลงเล็กน้อยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าโต 7.1% เป็น 6.9% แต่การเติบโตน่าจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า โดยไม่รวมประเทศจีน ภูมิภาคจะเติบโต 4.8% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 5.3% ในปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจหลักในโลก เพิ่มอุปสงค์ในสินค้าและเร่งการส่งออกของภูมิภาค ส่งผลให้ภูมิภาคนี้ยังคงเป็นยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

“เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะยังคงมีศักยภาพในการเติบโตด้วยอัตราที่สูงและยังสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆในโลก ทั้งนี้ ถ้าผู้กำหนดนโยบาย ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งประกอบด้วย ลดการกีดกันในการลงทุนภายในประเทศ, เพิ่มความสามารถการแข็งขันของภาคส่งออก, การใช้จ่ายของรัฐที่สมเหตุผล” แอ็กเซล ฟาน ทรอตเซนบวร์ก รองประธาน ธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

ขณะเดียวกันได้แนะแนวการดำเนินนโยบายว่า การปฏิรูปของประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการเพิ่มรายได้ของรัฐ และต้องลดนโยบายการอุดหนุนประชาชนเพียงบางกลุ่มที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นการคลังให้สามารถการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ, การใช้จ่ายเพื่อลดความยากจนโดยรวม รวมไปถึงสร้าง “กันชน” ให้กับฐานะการคลัง

ดร.อูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวเสริมว่า มาตรการปฏิรูประบบภาษี ต้อง “ไม่ใช่เพียงแค่เก็บภาษี” เพราะนอกจากการออกระเบียบว่าจะเก็บจากอะไร, อัตราไหนแล้ว ยังต้องมีการสร้างระบบจัดเก็บ ให้สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายหรือที่กฎหมายระบุ นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึง “การใช้จ่ายเงินภาษี” เพื่อให้การจัดเก็บภาษีสามารถนำไปลดความไม่เท่าเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบกันด้วย

ส่วนในระยะยาว ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น, พัฒนาระบบขนส่ง เพื่อสนับสนุนการค้า และเปิดเสรีภาคบริการ รวมไปถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ รายงานยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่ต้องผลิตแรงงานให้มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด โดยต้องพัฒนาจากระบบการศึกษาเฉพาะวัยเด็ก เป็นระบบที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ไม่มีประเทศพัฒนาแล้วประเทศไหนในโลก ที่ไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนใน “ทุนมนุษย์” ดังนั้น ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา ด้วยการพัฒนาครู หลักสูตร สร้างเด็กที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและบริการ เป็นการสร้างความเท่าเทียม ซึ่งต้องอาศัยการปฏิรูประบบภาษี” ดร.อูริค กล่าว