ThaiPublica > เกาะกระแส > อลหม่านปัญหา ช่อง 3 จอดำ ผู้จัดละครวุ่น – นักวิชาการชี้ต้องแก้ปัญหาที่โครงข่าย อาร์เอสฟ้อง ปธ.กสท. ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีลิขสิทธิ์บอลโลก 2014

อลหม่านปัญหา ช่อง 3 จอดำ ผู้จัดละครวุ่น – นักวิชาการชี้ต้องแก้ปัญหาที่โครงข่าย อาร์เอสฟ้อง ปธ.กสท. ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีลิขสิทธิ์บอลโลก 2014

2 ตุลาคม 2014


หลัง ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2557 กรณีสั่งให้โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลต้องปลดสัญญาณช่อง 3 ลงตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. ให้เลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 11 ต.ค. นี้ เป็นผลให้ช่อง 3 ยังสามารถออกอากาศได้อยู่ โดยระหว่างนี้ช่อง 3 ต้องจัดการเรื่องออกอากาศคู่ขนานให้เรียบร้อย ต่อมา มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. แจ้ง ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนานได้ ไม่ผิดกฎหมายเมื่อ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา ด้วยการยกกฎหมายโทรคมนาคมอ้างอิงให้เป็นผู้ประกอบกิจการด้วยตัวเองได้ ทำให้ช่อง 3 ดิจิทัลสามารถซื้อเนื้อหาช่อง 3 แอนะล็อกมาออกอากาศ แต่ต้องทำหนังสือยื่นผังรายการที่จะนำมาออกอากาศพร้อมทั้งเซ็นรับรองว่าจะรับผิดชอบและควบคุมเนื้อหาเอง

ด้านพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสท. และรองประธานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กลับเห็นแย้งว่าการออกคู่ขนานกับการซื้อเนื้อหาเป็นคนละเรื่อง ต้องตีความเรื่องนิติบุคคล เตือนช่อง 3 ระวังเสี่ยงผิดกฎหมาย ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แนะ หากช่อง 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ยื่นฟ้องศาลได้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ก.ย. บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7 ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ ตามที่ประธานบอร์ด กสท. ได้เสนอความเห็นส่วนตัวให้แก้เปอร์เซ็นต์การเช่าเวลาของช่องดิจิทัลเป็น 100% จากเดิม 40% ซึ่งเท่ากับว่าผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการด้วยตนเอง แต่เป็นการให้ผู้อื่นประกอบกิจการแทนทั้งหมด โดยต้องการให้คณะกรรมการ กสท. แก้ปัญหาด้วยแนวทางอื่น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ช่อง 3 กับ กสทช.: ประเด็นทางกฎหมายและสังคมที่มากกว่าภาวะจอดำบนเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม”

เสวนาวิชาการในหัวข้อ "ช่อง 3 กับ กสทช.: ประเด็นทางกฎหมายและสังคมที่มากกว่าภาวะจอดำบนเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม"
เสวนาวิชาการในหัวข้อ “ช่อง 3 กับ กสทช.: ประเด็นทางกฎหมายและสังคมที่มากกว่าภาวะจอดำบนเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม”

โดยมีนักวิชาการหลากหลาย อาทิ รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ. ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ดำเนินรายการโดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากนี้ผู้จัดละครหลายรายยังเข้าร่วมเสวนาด้วย เช่น พงษ์พัฒน์และธัญญา วชิรบรรจง, ปาจรีย์ ณ นคร, จริยา แอนโฟเน่, อรุโณชา ภาณุพันธุ์ และจันจิรา จูแจ้ง เป็นต้น

ผู้บริโภคถูกจับเป็นตัวประกัน ทุกคนต้องเคารพกติกาในการแก้ปัญหา

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า สังคมไทยอยู่ได้ด้วยการเคารพกฎกติกา ต้องไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร ต้องคุยกัน อย่าให้ใครเดือดร้อน ผู้บริโภคเหมือนถูกจับเป็นตัวประกันเพราะทุกคนล้วนอ้างประโยชน์ของผู้บริโภค หากช่อง 3 มีช่องทางที่จะทำให้สามารถออกอากาศแบบคู่ขนานได้เหมือนช่องอื่นก็ควรทำให้จบ นี่คือภารกิจของช่อง 3 ยังเหลือเวลาอีก 10 วัน น่าจะคุยกันได้

แต่หากเกิดเหตุจอดำขึ้นจริง ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องที่เคเบิลเป็นลูกโซ่ ตนไม่เชื่อว่าช่อง 3 จะปล่อยให้จอดำแน่นอน

การกำกับดูแลต้องมีกฎเกณฑ์ชัด

รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า ถ้าตลาดเสรีสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้วก็ไม่ควรจะไปยุ่ง ถ้าตลาดดำเนินไปเองไม่ได้ค่อยเข้าไปกำกับ เช่น คนที่ไม่ได้ดูฟรีทีวีก็หาทางทำให้ได้ดู รายการดีๆ นั้นไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว อย่างไรตลาดก็จะเลือกสรรรายการที่คนดูมากอยู่แล้ว ควรเข้าไปกำกับสิ่งที่ตลาดทำไม่ได้มากกว่า

รศ.สุธรรมยังได้นำเอกสารเรื่อง “เมื่อจอดำเพราะถูกสั่ง” มาเผยแพร่ในงานสัมมนาด้วย ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญว่า การกระทำด้านทางปกครองของ กสทช. หลักเกณฑ์ที่ต้องนำมาพิจารณาคือ หลักกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย หลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ หลักการกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และพอเหมาะพอควรแก่เหตุ

ปัญหาที่แท้จริงเป็นลักษณะของการต่อรองประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องยึดถือกฎหมายเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ใช่ดุลยพินิจ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาทุกครั้งไป สุดท้ายเมื่อปราศจากกฎเกณฑ์ที่แน่นอนมาใช้เป็นเครื่องต่อรองก็จะปราศจากกฎเกณฑ์ที่แน่นอนมาบังคับใช้ การแก้ปัญหาโดยมองหาสมดุลของผลประโยชน์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นครั้งๆ ไปนั้นเป็นการนำอำนาจรัฐมาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตน

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะมันเป็นการแทรกแซงโดยผิด แต่ดุลยพินิจกับกฎหมายที่ออกมา ต้องออกมาให้เขาเข้าใจ ถ้าคุณจะออก Must Have/Must Carry ภายใน 5 ปี ให้เขาเตรียมตัว ว่าจะยังไม่ให้เขาโผล่ที่ไหน จะให้โผล่ที่ไหน นี่ยังไม่ได้พูดถึง Mobile TV/Internet TV ที่จะให้โผล่ก็ยังไม่ทราบ ผู้ประกอบการเตรียมตัวไม่ทัน ที่อื่นเขาให้ความสะดวกช่องใหม่กับช่องเก่ามาเกิดด้วยกัน แต่แผนนโยบายของเราไม่มีให้อะไรเลย แก้ยากยิ่งกว่าแห พอประมูลเสร็จแล้วจะมาบังคับให้เขาคู่ขนาน เผอิญช่องอื่นเปลี่ยนด้วยกลไกของแต่ละช่องที่ยากจะคู่ขนานเองเท่านั้นเอง มาบอกว่าช่อง 3 ไม่อยากคู่ขนานมันไม่ใช่ เขาก็เปลี่ยนด้วยนโยบายของเขา ไม่ได้มีกฎมาบังคับตั้งแต่แรก ถ้ามีกฎบังคับตั้งแต่แรกเขาก็เตรียมตัวที่จะคู่ขนาน แล้วจะมาแก้กฎแต่ละอย่างซึ่งมันเป็นยิ่งกว่าแห ตรงนี้คือใยแมงมุมทั่วประเทศไทยเลย แล้วก็จะใยแมงมุมทั่วอาเซียนต่อไป เพราะระบบจะพัวพันเพี้ยนไปหมดเลย” รศ.สุธรรมกล่าวส่งท้าย

ช่อง 3 เป็นตัวถ่วงตลาดจริงหรือไม่

รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองภาพกว้างของอุตสาหกรรมทีวีในประเทศไทยว่าอยู่ในสภาพที่มีการแข่งขันน้อย ทำให้เกิดการผูกขาด ผู้บริโภคจึงพยายามหาช่องทางอื่นในการรับชมมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดกลุ่มเพย์ทีวี เพื่อที่จะได้ดูรายการที่อยากดู เพราะช่องแอนะล็อกเสนอทางเลือกในน้อย

สิ่งที่เห็นตรงกันคือการสร้างให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น มีทางเลือกต่อผู้บริโภคมากขึ้นด้วย ในการที่จะเดินจากการแข่งขันน้อยรายไปสู่การแข่งขันมากรายตรงนั้นได้มีอุปสรรคพอสมควร ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการทำให้ฟุตบอลที่บริษัทไปประมูลมาต้องไปอยู่ในฟรีทีวี

ผู้ประกอบการรายเก่าได้เปรียบผู้ประกอบการรายใหม่อยู่แล้วในการแข่งขัน ในด้านเนื้อหามองว่าในเกือบทุกช่องเนื้อหาไม่แพ้กันแต่เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ยังยึดติดกับรูปแบบเดิมในการรับชม จึงกลายเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการรายใหม่ในเรื่องเงินทุนโฆษณา ต้องมีการประคับประคอง แต่ต้องไม่เข้าไปมากเกินไป คลื่นความถี่มีจำกัด ปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ใช้ประโยชน์นั้นเหมาะสมหรือไม่ ฝากข้อนี้ไว้พิจารณาด้วย ให้ประชาชนได้ประโยชน์ และผู้ประกอบการอยู่ได้ด้วย ไม่ใช่ถูกกระทำจากผู้กำกับดูแล หากแพ้ควรแพ้จากระบบตลาดเอง หลักนี้สำคัญ

ด้านความเป็นเจ้าของช่อง 3 รศ. ดร.นวลน้อยเห็นว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นคนละนิติบุคคล แต่เป็นกลุ่มเจ้าของเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนละนิติบุคคลแต่มีผู้ที่จะมีสิทธิตัดสินใจในกิจการนั้นๆ เดียวกัน เป็นเจ้าของทั้งปวง ต้องมองในภาพกว้างว่าสุดท้ายแล้วเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่

“ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากจะแพ้ก็ต้องเป็นแพ้จากตลาดไม่ใช่ถูกกระทำจากผู้กำกับดูแล ปัญหาของทีวีดิจิทัลมีหลายเรื่อง ทั้งความไม่พร้อมของผู้ประกอบการหลายๆ ช่อง อีกทั้งลักษณะโครงข่ายก็ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ในตลาดเรื่องของการจัดทำเรตติ้งก็ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง และยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ยังคงเป็นแบบเดิม โดยทั้งหมดถือเป็นปัญหาของทีวีดิจิทัลที่จะต้องเร่งแก้ไข” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ผศ. ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากที่รับชมช่อง 3 แอนะล็อกผ่านเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม การเถียงกันว่าใครเป็นเจ้าของเป็นปัญหารอง กสทช. น่าจะให้ความสำคัญกับการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลหรือมักซ์ (MUX) ให้มากขึ้นมากกว่านี้ เพราะเชื่อว่าเมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อมแล้ว ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินเองว่าช่องทางใดจะเหมาะสมในการรับชม นอกจากนี้ยังต้องมีการประเมินผลหลังจากการมีองค์กรกำกับดูแลด้วย

“อย่างไรก็ดี มีกฎ Must Carry ที่เป็นตัวทำให้การได้ดูทีวีผ่านฟรีทีวีดีมากขึ้น จุดเริ่มต้นของ Must Carry คือการล่มสลายของหนวดกุ้ง มีการลดลงอย่างเป็นระบบเหลือแค่ 33% จากปี 2007 ที่เหลือใช้กล่อง จาน หรือทรู การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิทัลสำคัญมาก เพราะคนไทยติดทีวี 87% ดูฟรีทีวีเป็นหลัก”

ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ทั้ง 4 โครงข่าย

โครงข่ายที่ 1 (MUX #1) กรมประชาสัมพันธ์ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (รหัส: PRD) มีผู้เช่าโครงข่าย คือ เอ็นบีที เอชดี (2) 6 ช่องสัญญาณว่าง[6]

โครงข่ายที่ 2 (MUX #2) โดย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (รหัส: TV5 MUX2) มีผู้เช่าโครงข่าย คือทีวีไฟว์ เอชดี 1 (1) ทีเอ็นเอ็น 24 (16) เวิร์กพอยต์ทีวี (23) ทรูโฟร์ยู (24) วัน เอชดี (31) ช่อง 7 เอชดี (35)

โครงข่ายที่ 3 (MUX #3) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยโมเดิร์นไนน์ทีวี (รหัส: MCOT) มีผู้เช่าโครงข่าย คือ เอ็มคอต เอชดี (30) เอ็มคอตแฟมิลี (14) สปริงนิวส์ (19) วอยซ์ทีวี (21) ไทยรัฐทีวี เอชดี (32) สทท. แอนะล็อก (A-11)[6] 2 ช่องสัญญาณว่าง[6]

โครงข่ายที่ 4 (MUX #4) TPBS ได้ทำการติดตั้งสำเร็จก่อนใคร ซึ่งมีีผู้เช่าโครงข่าย คือ ไทยพีบีเอส เอชดี (3) ไทยพีบีเอส คิดส์ (4) แฮปปี้ แฟมิลี เบอร์ 13 (13) โลกา (15) ไทยทีวี (17) ช่อง 8 (27) เมจิคทรี (28) พาวเวอร์ทรี (33)

เสวนาวิชาการในหัวข้อ "ช่อง 3 กับ กสทช.: ประเด็นทางกฎหมายและสังคมที่มากกว่าภาวะจอดำบนเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม"
เสวนาวิชาการในหัวข้อ “ช่อง 3 กับ กสทช.: ประเด็นทางกฎหมายและสังคมที่มากกว่าภาวะจอดำบนเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม”

ด้านผู้บริหารค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ผู้ผลิตรายการและละครของช่อง 3 นางสาวอรุโณชา ภาณุพันธุ์ กล่าวว่า ดิจิทัลเกิดที่ญี่ปุ่นใช้เวลากว่า 11 ปี กว่าจะเสร็จ เปิดให้ชมทุกทาง ดูทีวีทางมือถือได้ ผลกระทบจากเหตุช่อง 3 ที่จะจอดำในวันที่ 11 ต.ค. นี้ อาจทำให้ผู้ชมกว่า 70% จะไม่ได้ชมรายการของช่อง 3 แอนะล็อกต่อไป จริงๆ แล้วการเปลี่ยนถ่ายต้องมีความพร้อมในทุกๆ ส่วน ในฐานะผู้จัดละครต้องมีการวางแผนงานและดำเนินงานเป็นปี ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศก็มีการวางแผนไปแล้ว

“ได้คุยกับผู้ผลิตรายการรายอื่น เมื่อมีกฎออกมาว่าจะจอดำ โฆษณาถอนทันที เพราะลูกค้าไม่มีความมั่นใจว่าจะได้ออกหรือไม่ การวางแผนงานเกี่ยวพันกันไปหมด กระทบกับธุรกิจและรายการเป็นอย่างมากในด้านโฆษณา อยากให้การเปลี่ยนถ่ายเป็นไปโดยละมุนละม่อม ไม่กระทบกับใคร หากต้องมีการถอนโฆษณาออกไปก็อาจจะขายของไม่ได้ กระทบกันหลายฝ่าย ประเมินไม่ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร”

ล่าสุด 1 ต.ค. มติชนออนไลน์รายงานว่า นายสุพรรณ เสือหาญ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ อาร์เอสบีเอส ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด มหาชน เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ยื่นฟ้อง พันเอก นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ หรือ กสท. ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเหตุให้อาร์เอสได้รับความเสียหาย