ThaiPublica > สัมมนาเด่น > “ดร.เอนก” เทียบ 2 นครา “ประชาธิปไตยไทย-ประชาธิปไตยโลก” ขออย่าด่วนสรุป “ฝ่ายตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย”

“ดร.เอนก” เทียบ 2 นครา “ประชาธิปไตยไทย-ประชาธิปไตยโลก” ขออย่าด่วนสรุป “ฝ่ายตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย”

17 ตุลาคม 2014


ความคลาสสิกของทฤษฎี 2 นคราประชาธิปไตย โดย “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์”ถูกตอกย้ำด้วยปรากฏการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 ครั้ง ในรอบ 2 ทศวรรษ

ก่อนหน้านี้ 22 ปี มีเหตุการณ์ “ม็อบมือถือ” เพื่อต่อต้านรัฐบาล พล.อ. สุจินดา คราประยูร ในปี 2535 และจบลงด้วยเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

14 ปีต่อมา เกิดแนวต้านรัฐบาลไทยรักไทย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ด้วย “ม็อบพันธมิตรฯ” เหตุจบลงด้วยผลเป็น “รัฐประหาร 49”

9 ปีถัดมา พรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายรัฐประหาร 49 ก่อตัวเป็น “ม็อบมวลมหาประชาชน” ผลที่ออก คือ “รัฐประหาร 57”

“ดร.เอนก” ในวัย 60 ปี มีประสบการณ์เปลี่ยนผ่านความขัดแย้งการเมืองไทยมา 5 ครั้ง หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 โครงสร้างการบริหารประเทศไทยเพิ่มเป็น 4 ฝ่าย มีทั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐบาล, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

“ดร.เอนก” เสนอแนวทาง “3 นครา ประชาธิปไตย 3 ฝ่าย” ภายใต้สมติฐานว่า “ถ้าเราฝากความหวังไว้กับ 250 คน เชื่อว่าการปฏิรูปประเทศไทยไม่สำเร็จ” จึงต้องให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมกันตั้งโจทย์ในการเปลี่ยนผ่านประเทศอีกครั้ง

จากบรรทัดนี้ไป คือข้อสรุป-ข้อเสนอและบทเรียนใหม่ของ “ดร.เอนก” ในบริบท “ประชาธิปไตยไทย ประชาธิปไตยโลก”

มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางประเทศไทย” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยจะไปรุ่งหรือไปยุ่ง” และ ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในหัวข้อ ดำเนินรายการโดย วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี เมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557
มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางประเทศไทย” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยจะไปรุ่งหรือไปยุ่ง” และ ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในหัวข้อ ดำเนินรายการโดย วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี เมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557

ที่ผมจะพูดอาจจะไม่เกี่ยวกับประเทศไทยเท่าไหร่ แต่ว่าฟังแล้วได้แง่คิดอะไรก็แล้วแต่ละท่านจะไปคิด วันนี้ไม่ได้พูดในฐานะ สปช. เพราะยังไม่ได้เปิดประชุม แต่มีคนมาแสดงความยินดีกับผมมากจริงๆ มากกว่าตอนเป็นหัวหน้าพรรคอีก มากกว่าตอนเป็น ส.ส.

ผมอยากจะมองประชาธิปไตยไทยที่ไม่แยกขาดจากประชาธิปไตยโลก ผมคิดว่าเราเห็นปัญหาประชาธิปไตยไทยที่เป็นเรื่องเฉพาะของไทยมากเป็นพิเศษ คือเรารู้สึกว่าประชาธิปไตยไทยช้ามาก เต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มี 6 ตุลาคม 2519 มีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีเหตุการณ์ 2549 และมีเหตุการณ์ 2556-2557 ก็เลยอยากจะชวนพวกเราให้มามองประชาธิปไตยไทยโดยมองไปที่ประชาธิปไตยอื่นๆ ที่มีในโลกนี้ด้วย

ผมคิดว่าไม่มีพรหมลิขิตที่ตราไว้ล่วงหน้าว่าในที่สุดแล้วประเทศเราต้องเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะเป็นแบบตะวันตก เพราะว่าความจริงแล้วประชาธิปไตยเป็นผลจากความขัดแย้ง ต่อสู้ แข่งขัน ประท้วง กดดัน ปราบปราม ประนีประนอม และก็ปรองดอง กันไปเรื่อยๆ ของหลายฝ่าย

ไม่แน่ว่าประชาธิปไตยจะเป็นระบอบที่ทั่วโลกรับมาใช้ ที่ชัดเจนที่สุดคือจีน ซึ่งกำลังเติบใหญ่ท้าทายตะวันตกในทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ เวลานี้จีนก็มั่นคงยืนยันว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างแน่นอน เวียดนาม ลาว คิวบา เกาหลีเหนือ ก็ยังไม่มีทีท่าที่จะเป็นประชาธิปไตย

เราอาจจะมองว่าประเทศเหล่านั้นล้าหลัง แต่รัสเซีย อีก 1 มหาอำนาจของโลก รวมทั้งยูเครน เบลารุส ซึ่งก็เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง เป็นมหานำอาจของโลกทีเดียว รวมถึงเอเชียกลางทุกประเทศ จอร์เจีย อาบีเรีย อิหร่าน ก็รับแต่การเลือกตั้งและการมีพรรคที่ให้แข่งขันกันได้เอามาใช้ แต่ก็ไม่ได้นำหลักเสรีนิยมของตะวันตกมาใช้ด้วย

ในโลกที่นับวันจะไม่อยู่ในร่มเงาของมหาอำนาจตะวันตกอย่างเดียว ยังมีมหาอำนาจตะวันออกที่เข้มแข็งอยู่ด้วย ในทางการเมืองเราอาจจะไม่ต้องรับความคิด กลไก กติกา ของตะวันตกมาเป็นมาตรฐานแต่อย่างเดียว การปกครองที่ดีอาจจะไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นไปได้ ผมยังรักประชาธิปไตย แต่พูดเพื่อให้เราเปิดใจให้กว้างขึ้น

เราควรเปิดให้มีที่มีทางสำหรับความสร้างสรรค์และจินตนาการที่กว้างขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ที่อยากย้ำตั้งแต่ต้น เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ให้กว้างขึ้น ด้วยกระบวนทัศน์ที่หลงใหลตะวันตกน้อยลง ผมกลับได้ข้อสรุปใหม่ๆ ประชาธิปไตยแบบดั้งเดิมก็ไม่ได้ผูกขาดเป็นของตะวันตกเท่านั้น ไม่เป็นไปอย่างที่เราเข้าใจกัน คือไม่ได้เริ่มที่กรีซโบราณหรือเอเธนส์โบราณเมื่อ 2500 ปีมาแล้วอย่างที่พวกเราเข้าใจกัน

ก่อนจะมีประชาธิปไตยที่กรีซโบราณ เรามีประชาธิปไตยที่คล้ายกันที่สุเมเรีย ก็คือดินแดนที่เป็นอิรักกับอิหร่าน แต่ในเวลานั้นเรียกว่าสุเมเรีย และก็คือฟินิเชีย ตอนนี้คือเลบานอน ทั้งสุเมเรียและฟินิเชียไม่ใช่เผ่าอารยัน ทั้ง 2 อยู่ในเอเชียตะวันตกไม่ใช่ยุโรป ฟินิเชียอยู่ในเอเชียที่เป็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ไกลจากกรีซและโรมัน

ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ วงวิชาการตะวันตกแต่เดิมเชื่อว่าอะไรที่ใช้อยู่ในตะวันตกนั้น ล้วนต้องเป็นชาวตะวันตกที่เป็นผู้สร้าง เช่น ประชาธิปไตย ก็เชื่อว่าเกิดในกรีซ คนกรีซเป็นผู้สร้าง แต่ว่าปัจจุบันคนตะวันตกก็เริ่มเปิดตาและเปิดใจใหม่ว่า ตะวันตกเองอาจรับความคิด กลไก สถาบันและหลายๆ อย่าง ไม่ว่าศาสนาหรือการเมือง จากดินแดนรอบข้างคือเอเชียตะวันตกมากทีเดียวจากแอฟริกาตอนเหนือด้วย นับจากอียิปต์ สุเมเรีย เมโสโปเตเมีย ฟินิเชีย เยรูซาเล็ม ในทางศาสนานั้นยอมรับกันมานานแล้วว่าตะวันตกรับศาสนาคริสต์จากชาวเซเนติก ที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนมโดยเฉพาะจากเยรูซาเล็ม ในทางศิลปะวัฒนธรรมนั้นยอมรับกันว่า กรีซและโรมรับอิทธิพลจากอียิปต์และอิหร่านไม่น้อย

แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด น่าตื่นเต้นที่สุด ตอนนี้ตะวันตกเริ่มยอมรับว่า ก่อนที่จะมีประชาธิปไตยกรีซโบราณนั้น บางดินแดนที่อยู่นอกโลกตะวันตก เช่น สุเมเรียและฟินิเชีย หรือแม้กระทั่งอินเดียโบราณ มีการเลือกตั้ง มีการประชุมโบราณ มีสภาอาวุโส สภาวรรณะต่างๆ ที่คอยแนะนำกำกับ หรือให้ประชามติ ฉันทามติ แก่ผู้ปกครอง กษัตริย์ จักรพรรดิได้เช่นกัน

จริงๆ แล้วคำว่า demos ที่กรีซเรียกประชาธิปไตย ที่กรีซเรียกประชาชน สามัญชน เป็นที่มาของคำว่า democracy หรือที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย ที่จริงมาจากคำว่า dumu ซึ่งเป็นภาษาสุเมเรีย และในสุเมเรียมีการเอาถั่วเขียวก้อนอิฐมาใช้แทนบัตรเลือกตั้ง ในการเลือกผู้แทน ผู้นำ มานาน เป็นไปได้ว่ากรีซเจริญมาทีหลัง น่าจะได้ความคิด กลไก กติกา เรื่องประชาธิปไตยมาจากสุเมเรียและฟินิเชีย โดยเฉพาะชาวฟินิเชียที่เดินทางค้าขายรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาช้านาน ทั้งยังเป็นผู้คิดประดิษฐ์ตัวหนังสือที่ฝรั่ง กรีซ รับเอามาประยุกต์แปลงจนกลายเป็นอักษรกรีซโบราณ จึงน่าเป็นไปได้ที่ความคิดและวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีมาก่อนในฟินิเชีย ได้เผยแพร่ไปยังกรีซโบราณด้วย

ประเด็นนี้สำคัญ ประชาธิปไตยจึงเริ่มต้นเป็นของเราชาวตะวันออกด้วย หาได้เป็นอะไรที่เกิดในดินแดนวิเศษคือตะวันตกเท่านั้น หาได้มีชาวตะวันตก ฝรั่งผิวขาวเท่านั้น ที่รู้จักใช้ประชาธิปไตย ชาวตะวันออกก็มีประเพณีประชาธิปไตย รู้ประชาธิปไตยและใช้ประชาธิปไตยมาตั้งแต่เนิ่นนาน อย่างน้อยก็นานเท่าๆ กับตะวันตก แต่ผมคิดว่าน่าจะรู้มาก่อนตะวันตกซะด้วยซ้ำ

คำว่าประชาธิปไตยแต่ดั้งเดิมของเราด้วยนั้น จะฟังแล้วสมจริงมากขึ้นอีก หากถ้าย้ำไปด้วยว่าแม้อินเดียในยุคพุทธกาลก็เป็นประชาธิปไตยไม่น้อย สุทโธทนะราชบิดาของพระพุทธองค์นั้นไม่ได้เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์แบบกษัตริย์ไทยหรือกษัตริย์เอเชียอาคเนย์ที่เราคุ้นเคย ท่านเป็นราชาที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์แห่งแคว้นสักกะ ร่วมกันปกครองแคว้นนี้อย่างสามัคคีธรรม คำว่าสามัคคีธรรมใกล้เคียงกับประชาธิปไตยโบราณของกรีซ แคว้นสักกะของพระพุทธองค์ที่ปกครองแบบสามัคคีธรรมมีการประชุมสภา มีการลงมติ มีการรักษามติ มีการนำมติไปปฏิบัติ สุทโธทนะเป็นคนในวรรณะกษัตริย์ที่โดดเด่นแต่ยังไม่ใช่ราชาผู้ผูกขาดอำนาจรัฐไว้ในมือตนเองเยี่ยงกษัตริย์หรือจักรพรรดิสมบูรณาญาสิทธิ์ อินเดียในตอนนั้นไม่ใช่แคว้นสักกะเท่านั้น มีการปกครองแบบสามัคคีธรรม ถ้าเรียกแบบตะวันตก ก็เป็นสาธารณรัฐโบราณ ในสมัยต่อๆ มาจึงเกิดรัฐขนาดใหญ่เกิดมีจักรพรรดิขึ้น

เราอาจจะกล่าวได้ว่า หากไทยเราจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว จะเป็นไปได้หรือเปล่า ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ตอนต้นผมบอกไม่มีพรหมลิขิตอะไรที่เขียนไว้ล่วงหน้า ว่าเราจะเป็นประชาธิปไตย ทำ 14 ตุลาคม แล้วอาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย มันขึ้นอยู่กับอะไรอีกหลายๆ อย่าง

แต่ว่าตอนนี้ผมก็จะเติมเข้าไปว่า เราน่าจะเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะเลียนแบบจากฝรั่ง แต่เพราะมารดาแห่งอารยธรรมของเราคือ อินเดีย หรือชมพูทวีป ครั้งหนึ่งเคยมีประชาธิปไตย ศาสนาพุทธของเราเองก็มีธาตุ มีแก่น จากสังคมประชาธิปไตยโบราณมากกว่าที่เราคิด เราจึงไม่ควรมีปมด้อย ปมกำเนิดอะไรที่จะใช้ประชาธิปไตยไม่ได้ ใช้ประชาธิปไตยไม่เป็น

มองให้กว้างขึ้นอีกจะทำให้เห็นอีกประเด็นก็คือ ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากการมีคนดี มีธรรม มีจิตสำนึกประชาธิปไตย เขียนรัฐธรรมนูญที่ดีเอาไว้ และบังคับทุกฝ่ายให้มาอยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ ให้ทุกฝ่ายทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อันที่จริงอังกฤษที่หลายคนมองว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเสียด้วยซ้ำ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ทำประชาธิปไตยตามอังกฤษ เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อสร้างประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง แบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง

ส่วนฝรั่งเศสหลังจากล้มลุกคลุกคลานตั้งแต่ปี 1789 เป็นเวลา 200 กว่าปี สลับไปมาระหว่างประชาธิปไตยรัฐระบบสภากับระบบประธานาธิบดี ในที่สุดเมืองมาถึงสมัยนายพลชาลส์ เดอ โกล เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา จึงตัดสินใจไม่เอาแบบใดทั้งนั้น หากเลือกสร้างแบบใหม่ขึ้นมาคือระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ต่างจากอังกฤษ ต่างจากอเมริกา

ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

สรุปในตอนนี้ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ของผูกขาดของตะวันตกเท่านั้น และในหมู่ประเทศตะวันตกเอง ประชาธิปไตยก็มีหลายระบบ อย่างน้อยก็มี 3 ระบบใหญ่ๆ คือ รัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี และอนาคตอาจจะมีมากกว่า 3 ระบบนี้

ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องของความสร้างสรรค์ ความริเริ่ม การทดลองของประเทศต่างๆ ด้วย ไม่ใช่เรื่องของการไปรับเอาของดีของวิเศษจากประเทศหนึ่งมาพยายามใช้ มาลอกเลียนเป็นสำคัญ หากไม่กล้าหรือไม่เก่งพอที่จะเสนอหลักนิยมใหม่ๆ ออกแบบรัฐธรรมนูญเสียใหม่ สร้างระบบที่เป็นของตนเองให้มากขึ้น ก็ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงสมบูรณ์ได้

คือจะอาศัยจากการไปลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญประเทศนั้นประเทศนี้อย่างเดียวคงไม่ได้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องกล้าสร้างระบบของเราขึ้นมา แต่ยืนยันว่านี่ไม่ใช่คำพูดไพเราะที่มาแทนคำว่าเผด็จการ ประชาธิปไตยแบบไทยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นข้ออ้างของฝ่ายเผด็จการ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามองไปให้กว้างแล้ว ประชาธิปไตยแทบทุกแห่งในโลก รวมทั้งในตะวันตกเอง เป็นเรื่องของการต่อสู้ ขัดแย้ง แข่งขัน ประชัน ซึ่งกินเวลานาน ต้องย้ำคำว่า “นาน” บางครั้งเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หลายครั้งเป็นความรุนแรง เป็นการปราบปราม หลั่งเลือด พลีชีพ การปฏิวัติ ไม่น้อย

ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมือง เป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมหรือบริการ เปลี่ยนสังคมซึ่งประกอบด้วย ชาวนา ชาวไร่ ในชนบทเป็นสำคัญ ไปสู่สังคมเมือง ซึ่งมีชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา และกรรมกรเป็นหลัก เปลี่ยนวัฒนธรรมจากการที่มองคนส่วนใหญ่เป็นไพร่ ทาส หรือผู้น้อย ให้เป็นเสรีชน ประชาชน ราษฎร หรือพลเรือน ที่มีเสียงทางการเมืองและทั่วถึงและเท่าเทียมกับชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

ในอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร กว่าจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ จริงๆ ก็ยังไม่สมบูรณ์ แต่มันสมบูรณ์ตามมาตรฐานปัจจุบัน ก็ตกเข้ามาถึงปี 1929 แล้ว ตรงกับปี 2472 เขาเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก่อนหน้าที่เราจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แค่ 3 ปีเท่านั้น

ที่ว่าประชาธิปไตยอังกฤษ เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ในความหมายที่ยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิหย่อนบัตรเมื่ออายุ 18 เท่ากับผู้ชาย ก่อนหน้านั้นผู้หญิงอังกฤษหย่อนบัตรได้อายุ 30 ขณะที่ผู้ชายหย่อนได้อายุ 18 ปี ก่อนหน้านั้นไปอีก ประชาธิปไตยอังกฤษหาได้ยอมให้ทุกชนชั้น ทุกฐานะ มีสิทธิหย่อนบัตรอย่างทั่วถึง คนชนชั้นกลางมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1832 เท่านั้นเอง ตรงกับสมัยราชกาลที่ 3 หรือ 4 มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่หย่อนบัตรคะแนนเสียงได้ ในปี 1832 ที่ผมกล่าว อังกฤษรับความคิดเสรีนิยมปฏิบัติแล้ว จำกัดอำนาจของกษัตริย์ลงไปมากแล้ว ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่ได้เพราะพระบรมราชองค์การเท่านั้น ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากเสียงข้างมากในรัฐสภาด้วย และมีการเลือกตั้งเข้ามาในสภาสามัญมากว่า 100 ปี แต่ว่าการเลือกตั้ง 100 กว่าปีนี้นั้นมีแต่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงการเลือกตั้ง

จากปี 1832 ที่ให้ชนชั้นกลางมีสิทธิหย่อนบัตร ต้องรอมาถึงปี 1860 เศษๆ ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 จึงยอมให้กรรมกรและคนจนในเขตเมืองมีสิทธิเท่าเทียมกับชนชั้นกลางในการหย่อนบัตร และก็ต้องรอมา 20 กว่าปี ในปี 1880 จึงมีสิทธิในการหย่อนบัตรไปถึงเกษตรกรในชนบท

ที่จริงใช้คำว่ารออาจจะไม่ถูก เพราะสิทธิในการหย่อนบัตรได้มาจากการเรียกร้อง ประท้วง เดินขบวน กดดัน จากคนชั้นกลาง และต่อมากรรมกร คนจนในเมืองต่อด้วยเกษตรกรในชนบทและต่อด้วยกลุ่มสตรีตามลำดับไม่ขาดสาย เผชิญกับการปราบปราม จับกุม เข่นฆ่า จากอำนาจรัฐอยู่บ่อยๆ ควบคู่กับการต่อสู้ทางความคิดและสติปัญญา มีการนำเสนอความคิดที่ทีแรกพิสดารมากสำหรับยุคนั้น คือเชื่อว่าคนเราไม่ว่าอายุเท่าไหร่ เพศไหน การศึกษาและสถานะเศรษฐกิจสังคมสูงต่ำอย่างไร ก็ควรมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากัน ทั่วถึงกัน ประชาชนในคำว่าประชาธิปไตยนั้นในที่สุดต้องนับรวมกับคนจน คนชั้นล่าง คนที่มีการศึกษาไม่มากด้วย

ประชาธิปไตยในอังกฤษไม่เคยคืบหน้าอย่างราบรื่น สงบ ปราศจากการต่อสู้ดิ้นรนของคนระดับกลางและล่าง ไม่มีหน้าไหนในประวัติศาสตร์อังกฤษที่จะไม่มีเรื่องของการประท้วง ชุมชุม กบฏ ปะทะ นองเลือด ตรงกันข้าม ประชาธิปไตยอังกฤษ ได้มาด้วยการต่อสู้ ขัดแย้ง ประนีประนอมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างฉับพลันอย่างที่พวกเราเข้าใจ

แม้ว่าต่อมาด้วยการปกครองของ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งเป็นผู้เผด็จการ แต่ในเวลาไม่กี่ 10 ปีอังกฤษก็กลับฟื้นพระมหากษัตริย์ขึ้นอีก เลือกที่จะเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หาที่จะเลือกเป็นสาธารณรัฐ และถึงจะใช้ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงมีพระราชอำนาจและบทบาทไม่น้อย แม้จะลดลงแต่ก็ไม่ได้ประทับอยู่เหนือการเมืองในตอนแรก ความหมายของราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ ในตอนแรกนั้นหมายความว่าพระมหากษัตริย์จะครองราชย์ได้ต่อเมื่อรัฐสภาเห็นชอบ และหากพระมหากษัตริย์พระพฤติมิชอบ รัฐสภาถอดถอนได้

แต่ตลอดเวลาทั้งศตวรรษที่ 18 ที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้น พระมหากษัตริย์อังกฤษยังคุมบริหารและนโยบายของรัฐด้วย ทรงโปรดเกล้าให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล แม้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภาด้วยก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็กุมเสียสมาชิกรัฐสภา ทั้งขุนนางและสภาสามัญชนได้ไม่น้อย ทรงจัดตั้งคณะพระสหายในหมู่สมาชิกรัฐสภาไม่น้อย พบว่า พระเจ้าจอร์จ ที่ 3 ในปี 1784 ทรงมีพระสหายเช่นนี้อยู่ในสภาสามัญชน 200 คน นอกจากนั้นยังทรงสนับสนุนให้เงินทองแก่นักการเมืองทั้งหลายที่จงรักภักดีเป็นพิเศษด้วย

จวบจนถึงสมัยที่พีลเป็นนายกรัฐมนตรีกรีซ ปี 1841 แล้ว คำว่าราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญจึงเริ่มเข้าใกล้ความหมายปัจจุบัน ในปีนั้นพระมหากษัตริย์ทรงยุบสภา ประชาชนกลับเลือกพรรคที่ไม่ทรงโปรดให้กลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ โดยที่ก่อนหน้าที่พระมหากษัตริย์ทรงแสดงเปิดเผยว่า ไม่โปรดปรานนายกรัฐมนตรีรัฐบาลใด ประชาชนก็จะรู้เองและจะไม่เลือกพรรคนั้นให้กลับคืนเป็นรัฐบาลอีก

จนถึงสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย เป็นยุคทองที่อังกฤษเป็นเจ้าโลก ครอบคลุมอาณานิคมทั่วทุกทวีปนอกยุโรป พระนางเจ้าวิกตอเรียทรงครองราชย์ใกล้เคียงกับรัชกาลที่ 5 ของเรา การเมืองของชาติ มหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกนี้ ที่เรายกย่องเป็นต้นแบบประชาธิปไตยนี้ ก็ยังเป็นการแบ่งอำนาจกันระหว่างนักการเมือง พรรคการเมืองกับพระมหากษัตริย์

จนถึงปี 1846 พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาจริงๆ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรียุบสภาในนามของพระมหากษัตริย์ และพระนางเจ้าวิกตอเรีย ยังทรงแนะนำ รัฐบาล รัฐมนตรี ได้อย่างสะดวกพระทัยว่ารัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลของฉัน รัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีของฉัน ซึ่งวันนี้คำว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือรัฐมนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ใช้เรียกกันในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นเพียงภาษาราชการ เป็นคำสุภาพแสดงออกซึ่งมารยาทเท่านั้น

สรุปได้ว่าราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญที่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น เริ่มจริงๆ ได้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 ค.ศ. 1600 กว่าๆ พอถึงสิ้นศตวรรษที่ 18 ในช่วง ค.ศ. 1700 กว่าๆ ก็ยังเป็นระบอบประสงค์ แบ่งอำนาจพอๆ กันระหว่างรัฐสภากับพระมหากษัตริย์ ต้องรอมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ใน ค.ศ. 1800 กว่าเป็นต้นมา รัฐสภาจึงเริ่มเหนือกว่า และพอถึงปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 รัฐสภาก็เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด เป็นอันว่าสมัยพระนางวิกตอเรีย พระมหากษัตริย์ก็พ้นไปจากการเมืองได้จริง กลายเป็นประเพณีใหม่ของราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า 200 ปี จากปลายศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ในอังกฤษมีการขับเคี่ยวและปรองดองประนีประนอมกันระลอกแล้วระลอกเล่า บางครั้งพระมหากษัตริย์กลับมามีอำนาจสวนกระแสเสียด้วยซ้ำ เช่น หลังยุคครอมเวลล์ปกครองประเทศอย่างเผด็จการที่ผมกล่าว พระมหากษัตริย์ถูกยกเลิกไปแล้วก็กลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่บทเรียนสำหรับเราก็คือ ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง มีสิทธิมีเสียงมีความคิดมีบทบาท มีพรรค มีนักการเมืองที่เข้มแข็งและมีวินัย พระมหากษัตริย์ในอังกฤษก็พ้นจากการเมืองได้

ในทุกวันนี้ การตีความมาตรฐานก็คือพระมหากษัตริย์ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หากยังอยู่เหนือการเมืองนั้น ในอังกฤษเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้กับการเมืองสมัยใหม่ เพราะชาวอังกฤษเถียงกันว่า ทำให้คนในอังกฤษและสหราชอาณาจักรเป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน มีพระมหากษัตริย์ที่เทิดทูนองค์เดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุโรปมีพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอีก 7 ประเทศ นอกจาก สหราชอาณาจักรแล้วก็มี สเปน เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก มองไปที่ยุโรปแล้ว คงจะเป็นการพูดคิดเร็ว อาจจะบอกว่าราชาธิปภายใต้รัฐธรรมนูญในโลกนี้จะเป็นอดีตในเวลาอันรวดเร็ว

ในยุโรปนั้น นอกจากจะมีราชาธิปไตยอยู่ 7 ประเทศ แทบทุกราชาธิปไตย โดยเฉพาะประเทศ สแกนดิเนเวีย 3 ประเทศ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นั้นจะเป็นดินแดนที่แข็งแกร่งรุ่งเรืองและเท่าเทียมกันที่สุดในทวีปก็ว่าได้

วกกลับมาคิดต่อว่า ประชาธิปไตยในไทยนั้นจัดอยู่ในขั้นวิกฤติได้หรือไม่ หากตอบว่าได้ เหตุผลก็คือถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อมาหลายครั้งแล้ว มีคนเจ็บหลายพัน มีคนตายหลายร้อย กระทั่งมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆ ที่เคยเป็นที่ยอมรับ จนในระยะหลังๆ นี้ความขัดแย้งบานปลายไปทั่วประเทศ หลายครั้งกระทบเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนัก ถึงขั้นที่ทำให้รัฐล่มสลายหรือล้มเหลว สังคมแยกเป็น 2 สี 2 ฝ่าย ลงไปถึงระดับครอบครัวและเพื่อนมิตร เป็นที่จดจำกันทั่วโลก ไม่มีใครแน่ใจว่า 2 สี 2 ฝ่ายนี้จะสมัครสมานกันได้อีกรึเปล่า แม้คณะ คสช. หรือรัฐบาลพยายามสร้างสมานฉันท์ แต่บ้านเมืองอาจจะไม่กลับมาสู่ความสงบสุขสามัคคีได้ง่ายๆ และเร็ววัน หลายท่านแน่ใจเลยว่าการเมืองไทยไม่มีวันปลอดจากการแทรกแซงของทหาร รัฐประหารที่ผ่านไปอาจจะไม่ใช่รัฐประหารครั้งสุดท้าย

ที่กล่าวในตอนต้น หากจะเอาเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนผันมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เป็นเครื่องวัด 82 ปีของไทยก็ไม่ถือว่ายาวผิดปรกติ แน่นอน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งเวลานี้ดูเกือบจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ นั่นก็ใช้เวลาร่วม 50 ปี มาเลเซียก็ใช้เวลาร่วม 50 ปี อินเดียก็ใช้เวลา 50 ปี อินเดียเพิ่งจะมาเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ในแง่ที่ว่า พรรคเอาชนะพรรคของพวกเนห์รู คานธี ได้อย่างเด็ดขาดเป็นครั้งแรก นั่นก็ร่วม 60 ปีที่เดินทางมา นานพอๆ กับการเดินทางสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย

แต่ถ้ามองไกลไปลาตินอเมริกา ก้าวแรกของประชาธิปไตยที่นั่นไม่ได้ช้ากว่าประชาธิปไตยอเมริกาเหนือเท่าไหร่ เริ่มในปี 1820 เศษๆ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังกล่าวไม่ได้ว่าประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ มีที่ใดที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้ว

ตลอดระยะเวลาร่วม 200 ปี ลาตินอเมริกามีประชาธิปไตยที่ง่อนแง่น สลับกันระหว่างทรราชย์กับอนาประชาธิปไตย อยู่เสมอ การยึดอำนาจโดยทหาร ตามด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เกือบจะเป็นเรื่องปรกติในลาตินอเมริกา อย่างที่เราเห็นในไทย

ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมอยากจะบอกว่าประชาธิปไตยไทยไม่ได้พัฒนาลุ่มๆ ดอนๆ เป็นพิเศษอยู่ประเทศเดียว เราไม่ได้ผิดปรกติมากนัก นี่ก็ไม่ใช่เรื่องดีที่เราควรจะสบายใจหรือดีใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหดหู่ท้อแท้ ว่าเป็นชะตากรรมเฉพาะตัวของเรา

ถ้าเทียบกับอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ต้นแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ระยะเปลี่ยนผ่านของเราก็ไม่ถือว่ายาวนานมากนัก แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เราสบายใจและรอคอยต่อไปโดยไม่ทำอะไร แต่ก็จะทำให้เราทำอะไรอย่างเร่งรีบ ด้วยใจที่สงบ สำรวมและถ่อมตนมากขึ้น ฝรั่งเศสใช้เวลาจากปี 1789 มาสู่ขั้นที่ประชาธิปไตยลงตัว มั่นคง สมบูรณ์ก็เมื่อปี 1950 เศษๆ รวมเวลาที่ฝรั่งเศสเดินทางก็ 200 ปี ขณะเดียวกัน อังกฤษ เริ่มตั้งแต่ 1686 มาครบถ้วนก็เมื่อปี 1929 อย่างที่บอกว่าคนทุกเพศ ทุกฐานะ ทุกการศึกษา ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีสิทธิลงคะแนนเสียงเท่าเทียมกัน อังกฤษใช้เวลาเดินทางราว 250 ปี

ส่วนสหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งแต่ 1776 มาจนถึง 1960 ปลายๆ จึงจะพูดได้ว่ามาถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว เพราะปี 1960 ปลายๆ มีการแก้ไข้กฎระเบียบหลายอย่างจนคนผิวดำได้ลงทะเบียนเพื่อจะลงคะแนนเสียงได้อย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นคนผิวดำมีสิทธิลงคะแนนเสียงก็จริง แต่ว่าไม่ได้ลงหรอก เพราะการลงทะเบียนมันยุ่งยาก ไม่มีที่ทางสำหรับคนผิวดำซึ่งจน ที่จะไปลงทะเบียนล่วงหน้าได้สม่ำเสมอเท่ากับคนผิวขาว ในอเมริกาใช้เวลาเกือบ 200 ปีถึงจะสมบรูณ์ แต่บางท่านชี้ว่า ประชาธิปไตยอเมริกาน่าจะมาสมบูรณ์จริงๆ ปี 2008 เท่านั้นที่ บารัก โอบามา คนผิวดำคนแรกได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เป็นครั้งแรกที่คนผิวขาวเสียงส่วนใหญ่ยอมรับคนผิวดำเสียงส่วนน้อยมาเป็นผู้นำสูงสุด ถ้านับอย่างนั้นประชาธิปไตยสหรัฐฯ ใช้เวลาร่วม 250 ปีด้วยกัน

กลับมาเรื่องประเด็นความวุ่นวาย โกลาหล ในรอบ 80 ปีของประชาธิปไตยไทย ผมว่าเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เกิดในอังกฤษ มีการขจัดพระมหากษัตริย์ออกไป มีการยกเลิกราชาธิปไตยหลาย 10 ปี มีโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ สถาปนาตัวเองเป็นเผด็จการสามัญชนปกครองแทน มีสงครามกลางเมืองจริงๆ มีสกอตแลนด์มาแทรกแซงแล้วก็กลายเป็นสงครามระหว่างประเทศด้วย ในตอนนั้นสกอตแลนด์กับอังกฤษยังไม่ได้เป็นประเทศเดียวกัน มีการต่อรองกดดัน บีบคั้น ให้พระมหากษัตริย์ลดอำนาจลง แม้จะมีการรอมชอมประนีประนอม และมีการเจรจา แต่ก็มีการกระทบต่อสู้แตกแยกกันอย่างรุนแรง น่ากลัว ประชาธิปไตยของอังกฤษเต็มไปด้วยเรื่องราวของขุนนาง คนชั้นกลาง และประชาชน ลุกฮือขึ้นมาเสนอความคิดที่ก้าวหน้า เสนอให้เปลี่ยนแปลงระบอบเก่าไปจนถึงเรียกร้องให้ถอนรากถอนโคนระบอบเก่าก็มี แต่ในที่สุดชนชั้นนำในอังกฤษก็ยอมรับอำนาจของประชาชน

ความวุ่นวายปั่นป่วน การปะทะขัดแย้ง บีบคั้น กดดัน เจรจา ประนีประนอม ในกระบวนการแปรเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในไทย ต้องมีมากกว่านี้ จะต้องยาวกว่านี้อีกมากมาย อาจจะบอกว่าเรามีวิกฤติเท่าๆ กับการแปรเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในอังกฤษ

ในฝรั่งเศสก็เช่นกัน การปฏิวัติปี 1789 นำมาซึ่งการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีการเข่นฆ่า เสียชีวิตมากมาย ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการปฏิวัติด้วยกัน ทั้งในส่วนของพวกเจ้านาย ผู้ปฏิวัติ และประชาชนทั่วไป ทั้งในกลุ่มในเมือง ในชนบท มิหนำซ้ำยังมีการแทรกแซงจากทหารประเทศอื่นๆ เกิดสงครามรุนแรงไปทั่วยุโรป เสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน มากกว่าการปฏิวัติในอังกฤษเหลือคณานับ

หลังจากสิ้นพระเจ้าหลุยส์ไม่นาน นโปเลียน นายพลของฝ่ายประชาธิปไตยก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ และแทนที่จะเป็นที่ผู้เผด็จการสามัญชนอย่างครอมเวลล์ในอังกฤษ หลังจากที่ นโปเลียน ล้มลง และก็กลับมาเป็นระบบสาธารณรัฐใหม่ แต่ 30-40 ปีต่อมาก็กลับมาเป็นราชาธิปไตยอีก และก็กลับไปเป็นสาธารณรัฐอีก รวมแล้วมีถึง 5 สาธารณรัฐ ก่อนที่ ชาลส์ เดอ โกล จะเปลี่ยนฝรั่งเศสมาเป็นระบอบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดี และสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงยืนยงได้จนถึงทุกวันนี้ จะเห็นว่าประชาธิปไตยในฝรั่งเศสเผชิญกับความวิกฤติรุนแรงนองเลือดกลับไปกลับมายิ่งกว่าอังกฤษเสียด้วยซ้ำ

สำหรับสหรัฐอเมริกามีหนทางสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ก่อนอื่นใช้สงครามกับอังกฤษเป็นเครื่องมือ รบพุ่งกันรุนแรงหลาย 10 ครั้ง กว่าจะได้เอกราชและสาธารณรัฐมา ทหารเสียชีวิตให้ผู้คนไปเป็นหมื่น ต่อมาก็มีสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ซึ่งล้วนเป็นประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช่แบบที่สมบูรณ์ สงครามกลางเมืองได้เผาผลาญบ้านเมืองพินาศย่อยยับทั้งเหนือและใต้ แต่หลังจากสงครามการเมืองยุติลง ประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์ดังที่ได้กล่าวตอนต้นว่าคนผิวดำไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งเท่าคนผิวขาว ทำให้คนผิวดำไม่มีโอกาสและศักยภาพที่เป็นจริงในการหย่อนบัตรทัดเทียมกับคนผิวขาว

ประชาธิปไตยอเมริกันที่เราคิดว่าแสนดีนั้นยังกีดกันคนผิวดำไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมได้เต็มตัว นำมาสู่การประท้วงเดินขบวนครั้งมโหฬาร ที่มาร์ติน ลูเทอร์ คิง เป็นผู้นำ แล้วเขาก็ถูกยิงปลิดชีพ อเมริกาทั้งประเทศเผชิญกับการจลาจลและการปราบปรามอย่างนองเลือด หลายคนมองว่าประชาธิปไตยในอเมริกานั้นสมบูรณ์ขึ้นก็ต่อเมื่อประธานาธิบดี จอห์นสัน มรณกรรมของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง ช่วยปลดปล่อยคนผิวดำให้มีสิทธิมีเสียงในการเมืองได้จริง และสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางสวัสดิการ สังคมและการศึกษาแก่คนผิวดำเหล่านั้น ถ้ามองเช่นนี้แล้ว ประชาธิปไตยอเมริกันสมบูรณ์ในปี 1968 แต่ก็ต้องคอยมาอีก 40 ปี คนผิวดำคนแรกจึงได้เป็นประธานาธิบดี

ปัญหาประชาธิปไตยไทยใช้เวลามากในการเดินสู่เป้าหมายนั้น ถ้านับเป็นปี 80 ปี มันก็ดูเหมือนจะใช่ แต่ว่าความจริงยังมาจากความเข้าใจคาดเคลื่อนของเราเองว่าอังกฤษเป็นประชาธิปไตยต้นแบบมาตั้งแต่ต้นหลายร้อยปีมาแล้ว ส่วนฝรั่งเศสนั้น เราก็คิดว่าหลังจากปี 1879 แล้วประชาธิปไตยฉบับสมบูรณ์ก็เกิดขึ้นแล้ว ส่วนอเมริกาเราก็คิดว่า พลันที่ขับไล่อังกฤษออกไปมีรัฐธรรมนูญขึ้นมา ประชาธิปไตยก็สมบูรณ์แล้ว

น้อยคนไม่รู้ว่า 3 เมืองแม่ของประชาธิปไตยนั้น เต็มไปด้วยความยืดเยื้อ วกวน การต่อสู้ การเจรจา การรอมชอม การประนีประนอม เป็นเหตุให้เรามองประชาธิปไตยของเราเองคาดเคลื่อนไม่ใช่น้อย

ถึงแม้จะเห็นแล้วว่าประชาธิปไตยไทยไม่ได้เผชิญวิกฤติมากนัก ไม่ได้เดินทางมามากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะให้เราอยู่กันสบายๆ ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องรู้ร้อนรู้หนาว คอยไปเรื่อยๆ หามิได้ หากเราใช้เวลาเปลี่ยนผ่านได้น้อยกว่าประเทศต้นแบบก็ต้องรีบทำ หากแปรเปลี่ยนได้โดยไม่เสียเลือดเนื้ออีก ก็จะต้องพยายามทำ

เพียงแต่ว่า ณ เวลานี้เราอย่าท้อแท้ อย่าย่อท้อ และอย่าเชื่อผิดๆ ว่ากลุ่มตัวเองเท่านั้นจะพาบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ รวมทั้งอย่าด่วนสรุปว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ขัดขวางหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ

มาจนถึงขณะนี้ ในความเห็นของผม ไม่มีฝ่ายใดที่จะยอมรับหรือแสดงตนว่าเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยทั้งนั้น มองไปข้างหน้าผมว่าจะเห็นความขับเคี่ยว การชิงไหวชิงพริบ สร้างกำลัง เพิ่มพูนกำลังกันอีก อาจจะมีทหารยึดอำนาจอีก อาจจะมีการก่อความไม่สงบอีก

แต่ผมก็เชื่อว่าเราจะเดินไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้นๆ แต่การจะเดินไปให้ดียิ่งขึ้นจะอาศัยเจตนารมณ์ อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ด้วย ความรู้จำเป็นหมด ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะสร้างประชาธิปไตยก็ต้องมีความรู้ ในบ้านเรามักจะสรุปว่าเรารู้แล้วว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ปัญหาอยู่ที่คนนั้นไม่ยอมทำตามประชาธิปไตย แต่ผมคิดว่า ความเป็นจริงมันสลับซับซ้อนมากกว่านั้น

และผมคิดว่าผมควรจะจบคำบรรยาย

หมายเหตุ: มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางประเทศไทย” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยจะไปรุ่งหรือไปยุ่ง” และ ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในหัวข้อ ดำเนินรายการโดย วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี เมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557