ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย(ตอนที่ 5) : 2 เดือนความคืบหน้าเมกะโปรเจกต์รถไฟทางคู่ – รถไฟฟ้า

ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย(ตอนที่ 5) : 2 เดือนความคืบหน้าเมกะโปรเจกต์รถไฟทางคู่ – รถไฟฟ้า

24 กันยายน 2014


ซีรี่ส์ ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย ในตอนที่แล้วพูดถึง ข้อเท็จจริงรถไฟไทย (ตอน 3) : 125 ปีสร้างรางได้ 4,430 กม. – ปี 2554 มีถนน 463,795 กม. มากกว่าทางรถไฟเกิน 100 เท่า ดังนั้นเพื่อติดตามความคืบหน้าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากกระทรวงคมนาคมแถลงแผน 8 ปี โครงข่ายคมนาคมขนส่งไทย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ยุทธศาสตร์ คือ 1) โครงการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางเดิม หรือรถไฟทางคู่เดิม ขนาดราง 1 เมตร ทั้งหมด 7 เส้นทาง และ 2) โครงการวางมาตรฐานใหม่สำหรับอนาคต หรือรถไฟทางคู่เส้นใหม่ รางขนาดมาตรฐาน 2 เส้นทาง รวม 9 เส้นทาง

ความคืบหน้าถึงปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ “โครงการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางเดิม” มี 1 เส้นทางที่พร้อมประมูลราคาด้วยวิธี E-Auction ทำสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้แก่ เส้นทางแก่งคอย-คลอง19–ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในตุลาคม 2557

ขณะที่มีโครงการที่ออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และเอกสารประกวดราคาการจ้าง แล้วเสร็จ 5 เส้นทาง ได้แก่

1. เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น
2. เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
3. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน
4. เส้นทางมาบกะเบา-นครราชสีมา
5. เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ

ทั้งนี้ รายงานอีไอเอของเส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และ รฟท. ได้มีหนังสือขออนุมัติโครงการเสนอกระทรวงคมนาคมเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติก่อสร้าง ขณะที่อีก 4 โครงการ รอคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) พิจารณาเห็นชอบรายงานอีไอเอ ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเห็นชอบต่อไป

ส่วนเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด จัดทำอีไอเอและเอกสารประกวดราคา ซึ่ง รฟท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2558 แล้ว คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2559

ด้านยุทธศาสตร์ “โครงการวางมาตรฐานใหม่สำหรับอนาคต” อีกสองเส้นทาง คือ 1. เส้นทางหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด 2. เส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี สำนักงานนโยบายและแผนงานขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2557 ผูกพันปี 2558 เพื่อใช้ศึกษาและออกแบบกรอบรายละเอียด (definitive design) จัดทำรายงานอีไอเอและเอกสารประกวดราคา

ความคืบหน้ารถไฟทางคู่

ความคืบหน้ารถไฟทางคู่

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ด้านยุทธศาสตร์ “เชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล” หรือรถไฟฟ้าทั้งหมด 10 สาย ระยะทาง 464 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการ 4 โครงการ (บางส่วน) ระยะทาง 100 กิโลเมตร และกำลังก่อสร้างส่วนต่อขยายอีก 4 โครงการ ระยะทาง 89 กิโลเมตร (ดูรูป)

ความคืบหน้ารถไฟฟ้า

รถไฟ-3

รถไฟ-2

ปัจจุบันมีโครงการ “อยู่ระหว่างประกวดราคา” 1 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขายเอกสารประกวดราคา สัญญาที่ 1-4 ไปเมื่อ 2-15 มกราคม 2557 และกำหนดยื่นซองประมูลเมื่อ 11 เมษายน 2557 แต่สุดท้ายต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากผู้ซื้อซองเรียกร้องให้ปรับปรุงเงื่อนไขหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติและการให้คะแนน

ขณะที่มีโครงการ “พร้อมประกวดราคา” ปี 2557-2558 จำนวน 6 โครงการ ระยะทางรวม 143.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 282,520 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดอยู่ระหว่างนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ได้แก่

1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) ระยะทาง 36 กิโลเมตร วงเงิน 56,691 ล้านบาท
2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงิน 95,108 ล้านบาท
3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-พัฒนาการ-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 54,644 ล้านบาท
4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงหัวหมาก-บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทางรวม 25.5 กิโลเมตร วงเงิน 38,955 ล้านบาท
5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงิน 6,018 ล้านบาท
6) โครงการแอร์พอร์ทเรลลิงค์ต่อขยาย ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร วงเงิน 31,104 ล้านบาท

รถไฟ

ความคืบหน้ารถไฟ